การตรวจร่างกาย (Physical examination) - Update

สารบัญ

  • เกริ่นนำ
  • การตรวจร่างกายเป็นประจำ
  • หลักฐาน
  • ความชุก
  • ประวัติความเป็นมา
  • การตรวจสุขภาพแบบเบ็ดเสร็จ
  • การตรวจสุขภาพก่อนรับเข้าทำงาน
  • ประกันภัย
  • การวินิจฉัย
  • การตรวจคัดกรอง
  • ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย
  • รูปแบบและการตีความ
  • ขอบเขต
  • ประวัติทางการแพทย์
  • สังคมและวัฒนธรรม

เกริ่นนำ

ในการตรวจร่างกาย (Physical examination, Medical examination, หรือ Clinical examination) แพทย์เป็นผู้ตรวจผู้ป่วย (Patient) เพื่อดูอาการ (Medical signs) หรืออาการแสดงความผิดปกติ (Symptoms of medical condition) บางอย่างซึ่งประกอบด้วยชุดคำถามเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ (Medical history) ของผู้ป่วย ตามด้วยการตรวจร่างกายตามอาการที่รายงาน โดยการซักประวัติและการตรวจร่างกายร่วมกันจะช่วยวินิจฉัย (Diagnosis) และวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม ข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในเวชระเบียน (Medical record)

การตรวจร่างกายเป็นประจำ (Routine)

                การตรวจสุขภาพทั่วไป, การประเมินสุขภาพเป็นระยะ, การตรวจร่างกายประจำปี, การตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน, หรือการตรวจสุขภาพแบบเบ็ดเสร็จ (Comprehensive) เป็นการตรวจสุขภาพให้กับผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ โดยปกติแล้ว กุมารแพทย์ (Pediatrician), แพทย์เวชปฏิบัติครอบครัว (Family practice physician), นักกายภาพบำบัด (Physical therapist), ผู้ช่วยแพทย์ (Physician assistant), ผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลที่ได้รับการรับรอง (Certified nurse practitioner), หรือผู้ให้บริการปฐมภูมิ (Primary care provider) อื่นๆ จะเป็นผู้ตรวจ การตรวจร่างกายทั่วไปนี้มักจะรวมถึงการประเมิน HEENT (= Head, Ear, Eye, Nose, Throat) ด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาล เช่น พยาบาลวิชาชีพ และ พยาบาลนักปฏิบัติ (Practical nurse) ที่ได้รับใบอนุญาต สามารถพัฒนาการประเมินพื้นฐานเพื่อระบุสิ่งที่ปกติและผิดปกติ จากนั้นจึงรายงานผลไปยังผู้ให้บริการปฐมภูมิ หากจำเป็นอาจส่งต่อผู้ป่วยไปยังแพทย์เฉพาะทาง (Medical specialist) เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด

                โดยทั่วไปคำนี้ไม่ได้หมายถึงการนัดตรวจสุขภาพของทารกแรกเกิด การตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก (Pap smears) หรือการนัดตรวจผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (Chronic medical disorders) บางอย่าง (เช่น โรคเบาหวาน [Diabetes]) การตรวจสุขภาพทั่วไปประกอบด้วยการซักประวัติทางการแพทย์ การตรวจร่างกาย (อย่างย่อหรือทั้งหมด) และบางครั้งอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory tests) ด้วย นอกจากนี้ยังมีการตรวจสุขภาพเฉพาะทางบางอย่างเพิ่มเติม ได้แก่ อัลตราซาวนด์ (Ultrasound) และการตรวจแมมโมแกรม (Mammography)

                ทั้งนี้การตรวจร่างกายเป็นประจำเป็นรูปแบบหนึ่งของการตรวจคัดกรอง (Screening) ให้แก่คนกลุ่มหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจหาสัญญาณเตือนล่วงหน้าเพื่อป้องกันการเกิดโรคนั่นเอง

หลักฐาน (Evidence)

                แม้ว่าการตรวจสุขภาพประจำปีจะเป็นหลักปฏิบัติที่ทำเป็นประจำในหลายประเทศ แต่การตรวจสุขภาพผู้ป่วยที่ไม่มีอาการกลับไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ (Scientific evidence) สนับสนุนในประชากรส่วนใหญ่ การศึกษาเชิงอภิมานของ Cochrane Collaboration พบว่าการตรวจสุขภาพประจำปีไม่สามารถลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิตได้ และในทางกลับกัน อาจนำไปสู่การวินิจฉัยโรคเกิน (Overdiagnosis) และการรักษาผู้ป่วยที่เกินจำเป็น (Over-treatment) อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้สรุปว่าการพูดคุยกับหมอเป็นประจำนั้นไม่สำคัญ เพียงแต่อาจไม่จำเป็นต้องตรวจร่างกายจริงก็ได้

                องค์กรด้านสุขภาพที่มีชื่อเสียงบางแห่งไม่แนะนำให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี และเสนอให้ปรับความถี่ที่สอดคล้องกับอายุและผลการตรวจครั้งก่อนๆ (ปัจจัยเสี่ยง [Risk factors]) ผู้เชี่ยวชาญของสโมสรอเมริกันสำหรับโรคมะเร็ง (American Cancer Society) แนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเป็นประจำทุกปีในผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และทุกๆ 3 ปีสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี

                การทบทวนการศึกษาอย่างเป็นระบบ (Systematic review) จนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 2006 สรุปว่าการตรวจสุขภาพดังกล่าว ส่งผลให้มีการตรวจคัดกรองอื่นๆ ที่ดีขึ้น (เช่น การตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก การตรวจระดับไขมันในเลือด (Cholesterol screening) และการตรวจเลือดแฝงในอุจจาระ [Faecal occult blood tests]) และผู้ป่วยมีความกังวลน้อยลง หลักฐานดังกล่าวสนับสนุนการตรวจคัดกรองแต่ละอย่างเหล่านี้ อย่างไรก็ตามผลของการตรวจสุขภาพประจำปีที่มีต่อค่าใช้จ่ายโดยรวม, ความพิการ (Disability) และการเสียชีวิต (Mortality) ของผู้ป่วย, การตรวจหาโรค, และจุดยุติขั้นกลาง เช่น ความดันโลหิตหรือคอเลสเตอรอล ยังไม่สามารถสรุปได้ การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าการตรวจสุขภาพได้เชื่อมโยงกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเพิ่มมากขึ้น

                นายจ้างบางรายกำหนดให้ต้องมีการตรวจสุขภาพก่อนการรับเข้าทำงาน แม้ว่าปัจจุบันจะเป็นที่ทราบกันดีว่าองค์ประกอบป้องกัน (Prophylactic) บางอย่างของการตรวจสุขภาพประจำปีอาจก่อให้เกิดอันตราย ตัวอย่างเช่น การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง (ตรงข้ามกับผู้ที่มีอาการหรือเป็นโรคแล้ว) ในทางสถิติมีแนวโน้มที่จะเป็น "ผลบวกลวง" (False positive) กล่าวคือ เมื่อผลการตรวจชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาที่ไม่มีอยู่จริง ส่วนข้อเสียที่อ้างถึง ได้แก่ เวลาและเงินที่สามารถประหยัดได้ด้วยการกำหนดเป้าหมายที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรอง (ข้อโต้แย้งด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (Health economics)), เพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพ (การรักษาพยาบาล [Medicalization]), การวินิจฉัยโรคเกิน (Overdiagnosis), การวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง (เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวที่เกิดจากการเล่นกีฬา (Athletic heart syndrome) ที่ได้รับการวินิจฉัยผิดพลาดว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ [Hypertrophic cardiomyopathy]) และเป็นอันตราย หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิต ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจหาหรือการยืนยันปัญหาทางการแพทย์โดยไม่จำเป็น (ซึ่งมักไม่มีโรคอยู่จริง) หรือในการดำเนินหัตถการเพื่อติดตามผล หลังการตรวจคัดกรองตามปกติ

                การขาดหลักฐานที่ดีตรงข้ามกับการสำรวจเชิงประชากร ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนทั่วไปชื่นชอบการตรวจร่างกายเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้รับการตรวจฟรี (Free of charge) แม้จะแนะนำไม่ให้ตรวจสุขภาพประจำปี แต่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจำนวนมากเป็นผู้ดูแลเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังเสนอให้มีระบบบริการสุขภาพแบบจ่ายตามที่รักษาจริง (Fee-for-service) เพื่อส่งเสริมแนวปฏิบัตินี้ และอีกทางเลือกหนึ่งคือการปรับช่วงเวลาการตรวจคัดกรองให้เหมาะสมกับอายุ เพศ โรคประจำตัว และปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งจะนำไปสู่การตรวจที่หลากหลายและตรงจุดมากกว่า

ความชุก (Prevalence)

                การตรวจสุขภาพประจำปีมักทำในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศในทวีปยุโรปมีการดำเนินการที่แตกต่างกัน ญี่ปุ่นได้ออกฎหมายให้พนักงานประจำต้องได้รับการตรวจสุขภาพปีละครั้ง

ประวัติความเป็นมา

                จุดเริ่มต้นของการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงประจำปียังไม่ชัดเจนนัก แต่ดูเหมือนว่าจะได้รับการสนับสนุนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 ผู้เขียนบางคนอ้างถึงข้อมูลในช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 สำหรับการตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้น เช่น วัณโรค (Tuberculosis) และการตรวจสุขภาพในโรงเรียนตามปัจจัยเสี่ยงประจำปี การมีประกันสุขภาพ (Medical insurance) และอิทธิพลทางการค้าที่เกี่ยวข้องดูเหมือนจะส่งเสริมให้มีการตรวจสุขภาพ แต่การดำเนินการนี้ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในยุคของหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ (Evidence-based medicine) ทั้งนี้มีการศึกษาวิจัยมากมายก่อนที่จะมีคำแนะนำที่พัฒนามาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ในปัจจุบันเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโรคซึ่งจำกัดการใช้

การตรวจสุขภาพแบบเบ็ดเสร็จ (Comprehensive)

                การตรวจสุขภาพแบบเบ็ดเสร็จ หรือที่เรียกว่าการตรวจสุขภาพผู้บริหาร (Executive physicals) โดยทั่วไปจะรวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการ, การเอ็กซเรย์ปอด, การตรวจสมรรถภาพปอด, การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiogram), การตรวจแคทสแกน (CAT scan) ทั่วร่างกาย, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG), การตรวจภาวะหัวใจสลาย (Stress cardiomyopathy), การตรวจอายุหลอดเลือด (Vascular age tests), การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis), และการตรวจแมมโมแกรม (Mammograms), หรือการตรวจต่อมลูกหมาก (Prostate) ขึ้นอยู่กับเพศ

การตรวจสุขภาพก่อนรับเข้าทำงาน

                การตรวจสุขภาพก่อนการรับเข้าทำงาน (Pre-employment examinations) เป็นการตรวจคัดกรองเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของพนักงานที่จะรับ โดยดูจากผลการตรวจร่างกายของพวกเขาซึ่งเรียกว่า ใบอนุญาตทางการแพทย์ก่อนเข้าทำงาน นายจ้างบางรายเชื่อว่าการรับเฉพาะพนักงานที่ผ่านเกณฑ์การตรวจร่างกาย จะทำให้พนักงานโดยรวม ลางานอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วย การบาดเจ็บในที่ทำงาน และโรคจากการทำงานน้อยลง (Occupational disease) แต่ก็มีหลักฐานการวิจัยทางการแพทย์คุณภาพต่ำน้อยมากที่สนับสนุนแนวคิดนี้ ยิ่งกว่านั้น ค่าประกันสุขภาพพนักงานก็จะถูกลงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ควรตรวจบางอย่างตามที่นายจ้างร้องขอ เช่น การเอ็กซเรย์หลังส่วนล่างตามข้อมูลของ สโมสรอเมริกันแห่งเวชศาสตร์อาชีวะและสิ่งแวดล้อม (American College of Occupational and Environmental Medicine) ซึ่งรวมถึงความถูกต้องตามกฎหมายและความจำเป็นทางการแพทย์ในการตรวจร่างกาย และการไม่ตรวจเรื่องดังกล่าว เพื่อทำนายปัญหาในอนาคต

ประกันภัย (Insurance)

                การตรวจสุขภาพอาจดำเนินการภายใต้หลักประกันสุขภาพ (Health insurance) ตามที่กำหนดให้แก่ลูกค้าประกันใหม่และเป็นส่วนหนึ่งของความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล (Insurance medicine) ในสหรัฐอเมริกามีการตรวจสุขภาพให้กับผู้ป่วยแบบครบวงจร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ารับการตรวจตามนัดจากโรงพยาบาลหรือสถานที่รักษาพยาบาลต่างๆ

การวินิจฉัย (Diagnosis)

การตรวจร่างกายส่วนใหญ่เป็นการนัดให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ตัวอย่างเช่น การตรวจร่างกายจะดำเนินการเมื่อผู้ป่วยเข้าพบและบอกอาการของโรคว่ามีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ การตรวจวินิจฉัยเหล่านี้มักจะมุ่งเน้นไปที่อาการหลัก (Chief complaint)

การตรวจคัดกรอง (Screening)

                การตรวจสุขภาพทั่วไป รวมถึงการตรวจร่างกายจะดำเนินการเมื่อผู้ป่วยรายงานว่าไม่มีปัญหาสุขภาพซึ่งมักรวมถึงการตรวจคัดกรองทางการแพทย์ (Medical screening) ในอาการทั่วไป เช่น ความดันโลหิตสูง (High blood pressure) การทบทวนของ Cochrane พบว่าการตรวจสุขภาพโดยทั่วไปไม่ได้ลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง (Cancer) โรคหัวใจ (Heart disease) หรือสาเหตุอื่นใด และไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าส่งผลต่อความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล, กลายเป็นผู้พิการ, ขาดงาน, หรือจำเป็นต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์เพิ่มเติม แม้การศึกษาจะไม่พบผลกระทบต่อความเสี่ยงของการเจ็บป่วย แต่พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) และภาวะเรื้อรังอื่นๆ (Chronic conditions) ในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการตรวจ มีการตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาวิจัยมักไม่สามารถพิจารณาหรือรายงานผลเสียที่อาจเกิดขึ้น (เช่น ความวิตกกังวลโดยไม่มีเหตุอันควรหรือการติดตามผลโดยไม่จำเป็น) และสรุปได้ว่าการตรวจสุขภาพเป็นประจำ "ไม่น่าจะเป็นประโยชน์" ในแง่ของการลดอัตราการเจ็บป่วย (Morbidity) และการเสียชีวิต (Mortality) จากโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็ง

ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย

                การตรวจร่างกายเรียกว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ (Ritual) ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ซึ่งมีประโยชน์ต่อการนัดตรวจอื่นๆ เมื่อผู้ป่วยคิดว่าจะเข้ารับการตรวจร่างกายแต่กลับไม่ได้รับบริการจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาจกังวลว่าจะไม่มีการสืบค้นทางการแพทย์เชิงลึก (Depth of investigation) เกี่ยวกับความเจ็บป่วยของตน, ความถูกต้องของแผนการรักษาและการละเว้น, และความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย

รูปแบบและการตีความ (Format and Interpretation)

                การตรวจร่างกายอาจรวมถึงการตรวจสัญญาณชีพ (Vital signs) เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ (Temperature examination), ความดันโลหิต (Blood pressure), ชีพจร (pulse), และอัตราการหายใจ (Respiratory rate) โดยผู้ให้บริการด้านการแพทย์ใช้ประสาทสัมผัสของการมอง, การฟัง, การสัมผัส, และบางครั้งการดมกลิ่น (เช่น การติดเชื้อ, ภาวะยูรีเมีย (Uremia), และภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ร่วมกับเลือดเป็นกรด [Diabetic ketoacidosis]) ประสาทในการรับรสถูกทำให้ซ้ำซ้อนเนื่องจากความพร้อมของการตรวจทางห้องปฏิบัติการสมัยใหม่ การตรวจด้วยระบบประสาททั้ง 4 เป็นพื้นฐานของการตรวจร่างกาย ได้แก่ การดู (Inspection), การคลำ (Palpation) [ความรู้สึก], การเคาะ (Percussion) [เคาะเบาๆ เพื่อฟังลักษณะเสียงสะท้อน], และการฟังเสียงภายในร่างกาย (Auscultation) [ฟัง]

ขอบเขต (Scope)

                แม้ว่าผู้ให้บริการจะมีวิธีการตรวจร่างกายโดยเรียงตามลำดับของส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ต่างกัน แต่การตรวจทั่วไปจะเริ่มต้นที่ศีรษะ (Head) ไปจนถึงแขนขา (Extremities) รวมถึงการประเมินลักษณะภายนอกของผู้ป่วยและระบบอวัยวะเฉพาะส่วน หลังจากตรวจระบบอวัยวะหลักโดยการดู, การคลำ, การเคาะ, และการฟังแล้ว อาจตามด้วยการตรวจเฉพาะส่วน (เช่น การตรวจทางระบบประสาท การตรวจกระดูกและข้อ) หรือการทดสอบเฉพาะส่วนเมื่อสงสัยว่าเป็นโรคบางอย่าง (เช่น อาการมือกระตุกงอเนื่องจากการขาดแคลเซียมหรืออาการทรูโซ (Trousseau sign)

                ในขณะที่รูปแบบการตรวจร่างกายตามรายการด้านล่างนี้ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามการสอนและการคาดการณ์ของนักศึกษา แต่ผู้เชี่ยวชาญมุ่งเน้นไปที่สาขาเฉพาะของตนและลักษณะของปัญหาที่ผู้ป่วยอธิบาย ดังนั้น อายุรแพทย์หัวใจ (Cardiologist) จะไม่ตรวจระบบประสาทต่างๆ เว้นแต่จะสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยสามารถเดินเข้าไปในห้องให้คำปรึกษา และระหว่างการให้คำปรึกษาจะต้องได้ยิน มองเห็น และเข้าใจคำพูดของตน ในทำนองเดียวกัน ศัลยแพทย์กระดูกและข้อจะตรวจข้อต่อที่มีอาการ แต่ก็อาจตรวจสอบเสียงหัวใจและหน้าอกเล็กน้อยเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโรคหรือสภาวะต้องห้ามในการผ่าตัดที่วิสัญญีแพทย์ (Anesthetist) สังเกตเห็น ทั้งนี้แพทย์ปฐมภูมิ (Primary care physician) เป็นผู้ตรวจอวัยวะเพศชาย (Male genitals) แต่ให้สูตินรีแพทย์ (Gynecologist) เป็นผู้ตรวจอวัยวะเพศหญิง

จากลักษณะบ่งชี้ที่ได้รับระหว่างการซักประวัติและการตรวจร่างกาย ทำให้ผู้ให้บริการด้านการแพทย์สามารถวินิจฉัยแยกโรค (Differential diagnosis) โดยดูจากสาเหตุที่เป็นไปได้ของอาการ การตรวจวินิจฉัยแบบจำเพาะเจาะจง (หรือการบำบัดทดลอง (Empirical therapy) เป็นบางครั้ง) เป็นการยืนยันสาเหตุ หรือให้ความกระจ่างเกี่ยวกับสาเหตุอื่นๆ ที่ถูกมองข้ามไปก่อนหน้านี้ จากนั้นจึงบันทึกผลการตรวจร่างกายไว้ในเวชระเบียน ในรูปแบบมาตรฐานซึ่งอำนวยความสะดวกในเรียกเก็บเงิน (Billing) และผู้ให้บริการรายอื่นสามารถอ่านบันทึกในภายหลังได้

                การตรวจร่างกายที่ไม่ฉุกเฉิน (Elective physical exams) มีความละเอียดมากขึ้น แต่การตรวจร่างกายเป็นประจำปีกลับทำน้อยกว่า เรื่องนี้จึงนำไปสู่บทบรรณาธิการในวารสารทางการแพทย์เกี่ยวกับความสำคัญของการตรวจร่างกายอย่างเหมาะสม

ประวัติทางการแพทย์

                ประวัติทางการแพทย์ (Medical history) และการตรวจร่างกายมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยก่อนที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพขั้นสูง (Advanced health technology) และแม้ในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าในด้านการสร้างภาพทางการแพทย์ (Medical imaging) และการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเทคนิคทางด้านอณูพันธุศาสตร์ (Molecular medical tests) แต่ประวัติทางการแพทย์และลักษณะทางกายภาพยังคงเป็นขั้นตอนสำคัญในการประเมินผู้ป่วยที่ขาดไม่ได้ ก่อนศตวรรษที่ 19 ประวัติทางการแพทย์และการตรวจร่างกายเป็นเพียงเครื่องมือวินิจฉัยเดียวที่แพทย์มี ซึ่งอธิบายได้ว่าทำไมทักษะการสัมผัสและการหยั่งรู้ในการตรวจจึงมีคุณค่ายิ่งสำหรับคำจำกัดความของสิ่งที่สร้างมาเพื่อแพทย์ที่ดี แม้กระทั่งช่วงปลายปี ค.ศ. 1890 โลกก็ยังไม่มีการถ่ายภาพรังสี (Radiography) หรือการส่องกล้อง (Fluoroscopy) มีเพียงการตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiologic testing) ในรูปแบบที่จำกัดเท่านั้น และไม่มีอณูชีววิทยาหรือชีววิทยาระดับโมเลกุล (Molecular biology) อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน นับตั้งแต่จุดที่สำคัญที่สุดของการตรวจร่างกาย ผู้ประเมินบทความได้เตือนว่าเวชปฏิบัติของโรคใดโรคหนึ่งหรืออาการใดอาการหนึ่ง (Clinical practice) และการศึกษาทางการแพทย์ (Medical education) ต้องตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการตรวจร่างกายอย่างต่อเนื่อง และการสอนทักษะการตรวจที่มีประสิทธิผล การเรียกร้องนี้ยังคงดำเนินต่อไป ดังที่แสดงในวรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 21

สังคมและวัฒนธรรม

ผู้คนอยากได้บริการที่เหมาะสมในสถานพยาบาล เมื่อผู้ให้บริการด้านสุขภาพตรวจร่างกายให้กับพวกเขา

ในสังคมตะวันตกหลายแห่งจำเป็นต้องมีการตรวจร่างกายเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมกีฬานอกหลักสูตร (Extracurricular sporting activities) ในระหว่างการตรวจร่างกายแพทย์จะตรวจอวัยวะเพศ (Genitals) รวมทั้งอวัยวะเพศชาย (Penis) และลูกอัณฑะ (Testicles) ด้วย โดยแพทย์อาจขอให้วัยรุ่นไอขณะที่ตรวจถุงอัณฑะ (Scrotum) แม้ว่าจะน่าอายสำหรับวัยรุ่นชาย แต่ก็จำเป็นสำหรับการประเมินไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Inguinal hernias) หรือเนื้องอก (Tumors)

อ่านตรวจทานโดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ

แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Physical_examination [2024, March 15] โดย พชรมน ไกรรณภูมิ