การดูแลผู้สูงอายุ (Elderly care)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 17 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- การดูแลผู้สูงอายุด้านอาหาร
- การดูแลผู้สูงอายุด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและการออกกำลังกาย
- การดูแลผู้สูงอายุด้านขับถ่าย
- การดูแลผู้สูงอายุเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในบ้าน
- การดูแลผู้สูงอายุด้านการติดเชื้อและโรคประจำตัว
- การดูแลผู้สูงอายุด้านสุขภาพจิต
- การดูแลผู้สูงอายุด้านสิ่งแวดล้อม
- ผู้สูงอายุควรดูแลตนเองอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ผู้สูงอายุ (Older person)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- มะเร็ง (Cancer)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- กระดูกหัก (Bone fracture)
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
บทนำ
ผู้สูงอายุ หรืออาจเรียกว่า คนแก่ คนชรา ผู้สูงวัย หรือราษฎรอาวุโส (Older person หรือ Elderly person หรือ Senior citizen) สำหรับประเทศไทย “ผู้สูงอายุ” ตามพระราชบัญญัติผู้สูง อายุ พ.ศ. 2546 หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย
ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มบุคคลที่กำลังทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องในทุกๆประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ทั้งนี้จากการสาธารณสุขและการแพทย์ที่เจริญขึ้น ช่วยให้คนมีอายุยืนขึ้น นอกจากนั้น จากการคุมกำเนิดและสถานภาพทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้การมีบุตรลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่ต้องพึ่งพา มีปัญหาจากการเสื่อมถอยของร่างกายซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการมีโรคเรื้อรังต่างๆซึ่งมักเกิดในช่วงสูงวัย เช่น เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง จากการขาดการเคลื่อนไหวและการออกกำลังกาย จากปัญหาสุขภาพ การมีรายได้ลดลง หรือไม่มีรายได้ และมีปัญหาสุขภาพจิต เพราะเป็นวัยแห่งการพลัดพรากสูญเสีย ดังนั้นจึงเป็นวัยที่ต้องมีการดูแลเฉพาะแตกต่างจากวัยอื่นๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้พอสมควรกับวัย มีสุขภาพแข็งแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อลดปัญหาของผู้สูงอายุเอง ของครอบครัว และของสังคม
โดยทั่วไปการดูแลผู้สูงอายุ (Elderly care หรือ Elder care) ประกอบด้วยการดูแลในด้าน สำคัญคือ
- ด้านอาหาร
- ด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและการออกกำลังกาย
- ด้านการขับถ่าย
- ด้านการป้องกันอุบัติเหตุในบ้าน
- ด้านการติดเชื้อและโรคประจำตัว
- ด้านสุขภาพจิต
- ด้านสิ่งแวดล้อม
อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องของ ผู้สูงอายุ เช่น ความหมายตามกฏหมายไทย ปฏิญญาผู้สูงอายุ วันผู้สูงอายุไทย/โลก ฯลฯ ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ผู้สูงอายุ’
การดูแลผู้สูงอายุด้านอาหาร
ผู้สูงอายุมีความต้องการอาหาร 5 หมู่ กล่าวคือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ /แร่ธาตุ เช่นเดียวกับในคนทุกอายุ แต่เนื่องจากผู้สูงอายุจะเคลื่อนไหวได้น้อยกว่า ออกกำลังกายได้น้อยกว่า มีโรคเรื้อรังต่างๆที่ต้องจำกัดทั้งประเภทและปริมาณอาหารสูงกว่า และร่างกายต้องการอาหารเพื่อการเจริญเติบโตน้อยกว่าวัยอื่นๆ ผู้สูงอายุจึงอ้วนได้ง่ายกว่า ดัง นั้นผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องจำกัดอาหารหลักที่ให้พลังงานมากกว่าคนอายุอื่น นั่นคือการจำกัดอา หารคาร์โบไฮเดรตและอาหารไขมัน แต่บริโภคโปรตีนในปริมาณเท่ากับในผู้ใหญ่ทั่วไป และควรต้องเพิ่มปริมาณผัก-ผลไม้ให้มากขึ้น
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาด้านการย่อยอาหาร เพราะมีการเสื่อมถอยของเซลล์ทุกๆเซลล์ที่รวมถึงในระบบทางเดินอาหาร มีปัญหาของฟันและเหงือก ส่งผลต่อการเคี้ยวอาหาร น้ำลายลดลง ส่งผลทั้งต่อการเคี้ยวและการย่อย ประสิทธิภาพของน้ำย่อย ปริมาณน้ำย่อย และการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ถดถอย เกิดอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และท้องผูกได้ง่าย ดังนั้นผู้สูงอายุจึงควรต้องบริโภคอาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) ย่อยง่าย อาหารรสไม่จัด หลีกเลี่ยงผลไม้ดิบ หรือผักสดชนิดย่อยยาก และหลีกเลี่ยงอาหารประเภททอดน้ำมัน
- โปรตีน ควรต้องเป็นชนิดย่อยง่ายเช่นกัน เช่น จากปลา และไข่ ถ้าจะบริโภคเนื้อแดงควรต้องปรุงให้เปื่อยยุ่ย เป็นต้น ในส่วนของไข่ แพทย์ทุกคนเห็นตรงกันว่า กินไข่ขาวได้สูงถึงวันละ 3 ฟองถ้ากินโปรตีนชนิดอื่นไม่ได้ แต่ในเรื่องของไข่แดงยังคงถกเถียงกันอยู่ เพราะการศึกษาต่างๆยังสรุปไม่ได้ชัดเจน เพราะหลายการศึกษาให้ผลว่า ถ้าไม่มีโรคประจำตัว หรือไขมันในเลือดสูง สามารถกินไข่ที่รวมทั้งไข่แดงและไข่ขาวได้ถึงวันละ 2 - 3 ฟอง แต่แพทย์ทั่วไปยังคงแนะนำให้กินไข่แดงได้ ไม่เกินสัปดาห์ละ 2 - 3 ฟอง
- คาร์โบไฮเดรต ควรเป็นแป้งจากธัญพืชเต็มเมล็ดหรือขัดสีน้อย เพื่อเพิ่ม วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร เลือกที่มีน้ำตาลน้อยที่สุด จำกัดอาหารมีน้ำตาลให้เหลือน้อยที่สุด
- ไขมัน จำกัดไขมันทุกประเภทให้เหลือน้อยที่สุด เพราะเป็นอาหารที่มีประโยชน์น้อยที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ให้โทษมากกว่า โดยเฉพาะโรคของหลอดเลือดต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
- ผัก-ผลไม้ เพิ่มผักผลไม้ให้มากๆอย่างน้อยวันละ 5 มื้อ เพื่อได้วิตามิน เกลือแร่และใยอาหาร ช่วยลดการท้องผูก และไม่ทำให้อ้วน เนื่องจากเป็นอาหารกลุ่มไม่มีพลังงานหรือให้พลังงานน้อย ยกเว้นผลไม้ที่มีรสหวานทุกชนิด ควรจำกัดเช่นเดียวกับการจำกัดอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตและไขมัน
- น้ำดื่ม ดื่มน้ำให้ได้มากๆจะช่วยให้ร่างกายสดชื่น ลดอาการท้องผูก ลดโอกาสเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ลดอาการ ปากคอแห้ง และช่วยละลายเสมหะ ดื่มอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม หรือตามคำสั่งแพทย์ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว
- วิตามินเกลือแร่เสริมอาหาร(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘อาหารเสริม’ และเรื่อง ‘ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร’) ทุกชนิด เมื่อจะรับประทานควรปรึกษา แพทย์ เภสัชกร ก่อนซื้อบริโภคเองเสมอ เพราะตับและไตผู้สูงอายุจะทำงานได้น้อยลง โอกาสเกิดโทษจากผลข้างเคียงของ วิตามินเกลือแร่เสริมอาหาร จึงสูงขึ้นจากการเพิ่มปริมาณสะสมในร่างกาย
- ควรต้องเลิกบุหรี่เพราะมีสารพิษต่างๆมากมาย ก่อให้เกิด โรคหลอดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ โรคกรดไหลย้อน และเป็นสารก่อมะเร็งสำคัญ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งในอวัยวะส่วนศีรษะและลำคอ และโรคมะเร็งเต้านม
- ควรต้องจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะมีผลต่อตับเพิ่มขึ้น จากการที่ตับทำงานได้น้อยลงตามอายุ และยังเป็นสาเหตุของโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ โรคกรดไหลย้อน โรคตับที่รวมถึงโรคตับแข็ง
- ควรต้องจำกัดเครื่องดื่มมีกาเฟอีนให้เหลือน้อยที่สุดเช่น ชา กาแฟ โคล่า เครื่องดืมชูกำลังต่างๆ เพราะมักทำให้ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ใจสั่น และเพิ่มการขับน้ำออกทางปัสสาวะ/ปัสสาวะบ่อย จึงอาจส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียนและ/หรือภาวะความดันโลหิตต่ำโดยเฉพาะเมื่อลุกขึ้นยืนได้(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน’)
- อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุควรได้อาหารหลากหลายชนิด ไม่ควรกินซ้ำๆชนิดเดียวกันต่อเนื่อง เพราะจะเกิดการสะสมสารไม่พึงประสงค์หรือภาวะสารขาดอาหารได้ง่าย
สรุป: การดูแลผู้สูงอายุในด้านอาหารคือ ต้องให้ผู้สูงอายุได้อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ครบ ถ้วน ในปริมาณที่เหมาะสมกับการใช้พลังงานของผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้เกิดโรคน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ไม่ให้เกิดการขาดอาหาร และเพื่อได้สารอาหาร น้ำดื่ม และใยอาหารอย่างพอเพียง
การดูแลผู้สูงอายุด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและการออกกำลังกาย
ควรดูแลให้ผู้สูงอายุได้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย (Physical activity) ทุกส่วนอยู่เสมอเช่น การเดิน การบริหารกล้ามเนื้อและข้อต่างๆที่สำคัญเช่น ข้อเข่า ข้อไหล่ และข้อนิ้วต่างๆ เพราะข้อต่างๆจะติดขัดได้ง่ายจากการเสื่อมถอยของเนื้อเยื่อข้อกระดูกและกล้ามเนื้อเช่น การช่วยงานบ้านที่เหมาะสมกับสุขภาพเช่น กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ ช่วยดูแลหลานที่โตแล้ว แต่การดูแลเด็กอ่อนและเด็กเล็กควรต้องมีผู้ช่วยผู้สูงอายุด้วย
ควรจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวเสมอ ไม่นั่งแช่ดูทีวีหรือนอนอยู่แต่บนเตียง การช่วยกันจัดให้มีการรวมกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนเพื่อกิจกรรมต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ช่วยผู้สูงอายุทั้งสุข ภาพกายและสุขภาพจิต
ส่วนการออกกำลังกาย (Exercise) หมายถึงการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวที่เพิ่มการใช้พลัง งาน นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวร่างกายในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เสมอ เพื่อแนะนำวิธีการในการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพของผู้สูงอายุแต่ละคน
โดยทั่วไปการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุคือ การเดิน ซึ่งเมื่อไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ แพทย์มักแนะนำการเดินวันละประมาณ 20 - 30 นาทีทุกๆวัน ซึ่งในการเดินควรต้องหาสถานที่ให้ปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุโดยเฉพาะการล้ม การใส่เครื่องช่วยพยุงต่างๆเช่น พยุงข้อเท้าและพยุงข้อเข่า รวมทั้งต้องเลือกรองเท้าที่เหมาะสมต่อการเดิน ป้องกันอุบัติเหตุต่อการล้มและต่อข้อต่างๆ ซึ่งทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์และนักกายภาพบำบัดก่อน
การดูแลผู้สูงอายุด้านขับถ่าย
ผู้สูงอายุมีปัญหาในการขับถ่ายเสมอทั้งการปัสสาวะและการอุจจาระ จากการเสื่อมถอยของเซลล์ต่างๆรวมทั้งของกล้ามเนื้อหูรูดต่างๆ
การถ่ายปัสสาวะ ผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายมักมีปัญหาจากการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และการ ปัสสาวะบ่อย ซึ่งผู้หญิงจะพบบ่อยกว่าผู้ชายรวมทั้งอาการรุนแรงกว่า เพราะขาดฮอร์โมนเพศจาก การหมดประจำเดือนถาวร
ดังนั้นในการดูแลผู้สูงอายุจึงต้องใส่ใจในเรื่องนี้ จัดห้องพักอาศัยให้ใกล้ห้องน้ำ เครื่องนุ่งห่มควรต้องใส่ถอดได้ง่าย สอนให้ผู้สูงอายุรู้จักใช้ผ้าอ้อมอนามัย แต่ควรให้ผู้สูงอายุเลือกและทดลองใช้แบบต่างๆด้วยตนเองเช่น แบบเป็นแถบคล้ายใส่ผ้าอนามัยหรือแบบคล้ายกางเกง รวมทั้งในด้านความหนาและกลิ่นของผ้าอ้อมอนามัย
ในการเดินทาง การท่องเที่ยว และกิจกรรมต่างๆควรต้องดูแลในเรื่องห้องน้ำให้สะดวกสำ หรับผู้สูงอายุเสมอ
นอกจากการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แล้ว ผู้สูงอายุหลายท่านยังไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะอุจจาระเล็ด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ผู้สูงอายุไม่อยากเข้าสังคม ดัง นั้นจึงต้องระมัดระวังในเรื่องอาหารเสาะท้องที่ทำให้ท้องเสียได้ง่าย นอกจากนั้นก่อนพาผู้สูงอายุ ไปไหน ควรให้เวลาได้เข้าห้องน้ำถ่ายอุจจาระก่อน และควรต้องฝึกผู้สูงอายุให้ถ่ายเป็นเวลา และมีชุดชั้นในสำรองสำหรับผู้สูงอายุเสมอ
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาจากอาการท้องผูกเสมอ จากกระเพาะอาหารและลำไส้ลดการบีบตัวตามอายุ การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง การไม่ได้ออกกำลังกาย การกินผักผลไม้น้อย ไม่ชอบดื่มน้ำ และอาจจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่รักษาโรคเรื้อรังของผู้สูงอายุเช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ดังนั้นผู้สูงอายุเองและผู้ดูแลจึงควรช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ กินผักผลไม้มากๆ (อาจใช้การหั่นเป็นชิ้นเล็กหรือเลือกชนิดที่เคี้ยวง่ายหรือใช้เครื่องปั่นช่วย ) และดื่มน้ำมากๆ (ตั้งขวดน้ำไว้ให้เห็นและแนะนำให้ดื่มให้หมด)
ผู้ดูแลและครอบครัวควรต้องเข้าใจว่า ปัญหาการขับถ่ายเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ควรรำคาญ หรือแสดงความรังเกียจ ควรต้องช่วยผู้สูงอายุแก้ปัญหา ควรปรึกษาแพทย์/พยาบาล เพราะมีวิธี การทางกายภาพบำบัดที่จะช่วยฝึกกล้ามเนื้อในการขับถ่ายให้แข็งแรงขึ้น และยังมียาช่วยกระตุ้นประสาทควบคุมการขับถ่ายเพื่อช่วยให้กลั้นปัสสาวะ/อุจจาระได้ดีขึ้น
นอกจากนั้นผู้สูงอายุเองควรต้องให้ความร่วมมือดูแลตนเองตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ อย่าขาดกำลังใจเช่น การทำงานต่างๆให้อยู่ใกล้ห้องน้ำไว้ ไม่กลั้นปัสสาวะ/อุจจาระ ระวังเรื่องอาหาร ศึกษาเส้นทางการเดินทางการท่องเที่ยวก่อนเสมอเมื่อต้องเดินทาง เพื่อจัดการปัญหาเรื่องห้องน้ำ และแจ้งครอบครัวถึงความจำเป็นในการเข้าห้องน้ำเสมอ
อีกประการคือ ผู้สูงอายุและผู้ดูแลต้องใส่ใจบริเวณอวัยวะเพศและบริเวณก้น เมื่อมีภาวะกลั้นปัสสาวะ/อุจจาระไม่อยู่ เพราะบริเวณนี้ซึ่งอับชื้นอยู่แล้วจะอักเสบติดเชื้อ ทั้งเชื้อแบคทีเรียรวมทั้งเชื้อราได้ง่าย หรือเกิดเป็นผื่นคันได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งการรักษาจะยุ่งยากกว่าการป้องกันดูแลมาก
ซึ่งการดูแลที่สำคัญคือ การทำความสะอาดทุกครั้งที่มีการปัสสาวะ/อุจจาระทั้งในภาวะปกติและในภาวะกลั้นไม่อยู่โดย
- ล้างบริเวณนี้ด้วยน้ำสะอาด ซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด (ควรเตรียมไว้ล่วงหน้าเสมอในการเดินทาง)
- เมื่ออาบน้ำควรใช้สบู่อ่อนโยน (สบู่เด็กอ่อน) ทำความสะอาดบริเวณนี้เสมอ อย่าใช้สบู่หรือน้ำยารุนแรง
- สวมใส่ชุดชั้นใน กางเกง หรือกระโปรง ชนิดผ้าที่ถ่ายเทอากาศได้ดีเช่น ผ้าฝ้าย 100%
- เปลี่ยนผ้าอ้อมอนามัยบ่อยๆ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ผื่นผ้าอ้อม)
- เมื่อเกิดผื่นหรือแผล ควรเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเบตาดีน และถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 - 3 วัน ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนผื่นหรือแผลลุกลาม
*อนึ่ง การดูแลผิวหนังบริเวณนี้ในผู้สูงอายุที่ต้องนอนอยู่กับที่หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์/พยาบาลเฉพาะกรณีไป ซึ่งผู้ดูแลควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
การดูแลผู้สูงอายุเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในบ้าน
ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุต่างๆได้สูง ที่พบบ่อยคือการล้มและจากการใช้เครื่องใช้ต่างๆ
- จากการล้ม เพราะปัญหาของการเสื่อมถอยของสมอง (การวิงเวียน ความสามารถในการทรงตัว) กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อ การมองเห็น และการได้ยินลดลง ทำให้ผู้สูงอายุลื่นล้มได้ง่าย ดังนั้นจึงต้องจัดบ้านให้ปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ ที่จะลื่นหรือสะดุดล้ม เช่น
- ไม่ควรให้นอนกับพื้น ควรให้นอนเตียงนอน
- เตียงนอนควรเตี้ยในระดับที่ลุกนั่งแล้วเท้ายันพื้นได้พอดี มีที่ยึดเหนี่ยว
- จัดให้ห้องพักอยู่ใกล้ห้องน้ำ
- ไม่มีสิ่งของที่เป็นอันตรายในห้องพัก
- ระมัดระวังเรื่องการใช้พรมปูพื้น
- พื้นห้องน้ำต้องไม่ลื่น (การมีราวจับจะช่วยการทรงตัวได้ดีขึ้น)
- ทางเดินในบ้านต้องสะดวก ไม่วางของเกะกะรวมทั้งบนพื้น
- หลีกเลี่ยงการใช้บันได
- และแสงสว่างตามทางเดินต่างๆทุกที่ ต้องเพียงพอให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
- การเลือกรองเท้าที่กระชับ มีสายรัด หัวท้ายปิด นุ่มสบาย ส้นเตี้ย สะดวกต่อการสวมใส่ และการถอด (ไม่ควรเลือกชนิดมีสายผูกร้อยควรเป็นแถบกาว)
- และการใช้ไม้เท้าช่วยในการเดิน ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญช่วยลดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุ
- *นอกจากนี้ ควรต้องพูดคุยแนะนำกับผู้สูงอายุถึงวิธีใช้อุปกรณ์ต่างๆซึ่งต้องง่ายและปลอดภัย หรือห้ามใช้อะไรบ้าง? เช่น
- ห้ามใช้เตาแก๊ส
- ห้ามจุด ธูป/เทียนไหว้พระ
- และต้องแนะนำผู้สูงอายุในการดูแลตนเอง เมื่อไม่มีคนอยู่บ้าน เป็นต้น
การดูแลผู้สูงอายุด้านการติดเชื้อและโรคประจำตัว
โดยธรรมชาติของการเสื่อมถอยของเซลล์ในทุกๆระบบรวมทั้งระบบสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ผู้สูงอายุจึงมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไปเสมอ ส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่ายและมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง บ่อยครั้งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ ดังนั้น ตัวผู้สูงอายุเอง ผู้ดูแลและครอบ ครัวต้องใส่ใจและร่วมกันรักษา*สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)*อย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอ กาสเกิดการติดเชื้อของผู้สูงอายุ
นอกจากนั้นผู้สูงอายุมักเกิดโรคเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการใช้พลังงานในร่าง กาย เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นตัวผู้สูงอายุเองและ ครอบครัว
- ควรมีการตรวจสุขภาพให้กับผู้สูงอายุสม่ำเสมอ เริ่มได้เลยในทุกอายุ ต่อจากนั้นความถี่ในการตรวจจะขึ้นกับผลตรวจและดุลพินิจของแพทย์
- อีกประการสำคัญคือ ควรให้ผู้สูงอายุได้รับการฉีดวัคซีนตามกระทรวงสาธารณสุขและ/หรือแพทย์/พยาบาลแนะนำเสมอเช่น วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบ บี
นอกจากนั้น เมื่อพบว่าผู้สูงอายุเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ ควรต้องใส่ใจดูแลรักษาปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำเสมอ เคร่งครัดกว่าผู้ใหญ่ทั่วไป เพราะผู้สูงอายุจะเกิดผลข้างเคียงต่างๆได้ง่าย และไม่ควรให้ขาดยา รวมทั้งการพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ควรต้องสม่ำเสมอตามแพทย์นัด
เมื่อผู้สูงอายุมีอาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะเมื่อมีไข้หรือท้องเสีย
- *ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 วัน *ต้องรีบนำผู้สูงอายุพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการรักษาได้ทันท่วงที
- *แต่ถ้ามีอาการมากควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงหรือเป็นการฉุกเฉิน
การดูแลผู้สูงอายุด้านสุขภาพจิต
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาด้านสุขภาพจิตเสมอ รายงานจากกรมสุขภาพจิตของเรา สถิติในปี 2540 ผู้มีอายุ 60-69 ปีฆ่าตัวตาย 207ราย เพิ่มเป็น272 รายในปีพ.ศ. 2549 ทั้งนี้น่ามาจากเหตุผลดังได้กล่าวแล้วว่า วัยสูงอายุเป็นวัยแห่งการสูญเสียและสิ้นพลัง จึงมักมีอาการซึมเศร้า กลัวเหงา ขาดความรัก ไม่เป็นที่ต้องการ และขาดความมีศักดิ์ศรี
ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุจึงต้อง
- ให้ความรักความนับถือเหมือนเมื่อครั้งผู้สูงอายุยังอยู่ในวัยทำงาน
- ให้ความเข้าใจ
- มีเวลาให้บ้าง
- สั่งสอนอบรมให้ลูกหลานยังคงเคารพนับถือ
- ไม่แสดงให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเป็นภาระ หมดคุณค่า เป็นที่ไม่ต้องการ
- หาทางช่วยเสริมสร้างศรัทธาในตนเองให้กับผู้สูงอายุ เช่น
- การได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมผู้สูงอายุด้วยกัน
- การได้มีส่วนร่วมในการดูแลครอบครัวโดยให้เหมาะสมกับสุขภาพผู้สูงอายุ
- การยังเป็นที่เคารพนับถือของคนในครอบครัวที่อาวุโสน้อยกว่า
- ผู้สูงอายุควรมีโอกาสได้เข้าสังคมที่เหมาะสม การที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ขาดเพื่อนในวัยเดียวกัน หรือขาดคนพูดคุยผ่อนคลายความเหงา ยิ่งเป็นการบั่นทอนสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ
- ผู้ดูแลและครอบครัว ควรคอยสังเกตอาการซึมเศร้าของผู้สูงอายุเสมอ เมื่อมีอาการมาก หรือครอบครัวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ควรรีบปรึกษาแพทย์/พามาโรงพยาบาล
การดูแลผู้สูงอายุด้านสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ เช่น ควรจัดบ้านให้สะอาด และถ้าเป็นไปได้ ช่วยให้ผู้สูงอายุได้เห็นแสงแดดหรือมีห้องพักที่แสงแดดส่องถึง เพราะนอกจากช่วยฆ่าเชื้อโรคแล้ว แสงแดดจะมีผลต่อจิตใจให้ความรู้สึกที่สดชื่นและเกิดพลัง ช่วยลดการซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี
มีต้นไม้ดอกไม้แม้จะเพียง 1 - 2 กระถางให้ผู้สูงอายุได้ดูแล ได้มีส่วนร่วม และได้เห็นถึงการมีชีวิตและการเจริญเติบโตซึ่งเกิดจากการดูแลของผู้สูงอายุเอง ซึ่งจะช่วยด้านอารมณ์และจิตใจของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก
ผู้สูงอายุควรดูแลตนเองอย่างไร?
ผู้สูงอายุนอกจากมีความต้องการการดูแลจากครอบครัวและสังคมแล้ว ผู้สูงอายุเองควรรู้ จักดูแลตนเองด้วย เพื่อ
- เป็นที่พึ่งแก่ตนเอง
- แบ่งเบาภาระของครอบครัว
- และเพื่อแบ่งเบาภาระของสังคม
ทั้งนี้ การดูแลตนเองของผู้สูงอายุ ใช้หลักการเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด แต่ในทางกลับกันคือ ใช้ในการดูแลตนเองตามระดับความสามารถของสุขภาพร่างกายในขณะนั้น
ประการสำคัญที่สุด ผู้สูงอายุควรต้องเข้าใจยอมรับในการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตของการดำเนินชีวิตและตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ผู้สูงอายุจึงยังควรต้องรับฟังข่าวสารและเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆที่เหมาะสมกับวัย และพยายามปรับตัวเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างมีคุณภาพ
การเข้าใจทั้งเขาและเรา การยอมรับ และการเรียนรู้ จะนำมาซึ่งอารมณ์ที่แจ่มใส การมีสุข ภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี นำไปสู่การยังคงเป็นที่เคารพนับถือ เป็นที่พึ่งพิงทางอารมณ์จิตใจ ช่วยผ่อนคลายปัญหาทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจทั้งของตนเอง ของครอบครัว และของสังคมได้ ควรต้องตระหนักเสมอว่า ‘ถึงแม้จะเป็นผู้สูงอายุก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและของสังคม’
ที่สำคัญ ผู้สูงอายุควรมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการดูแลตนเองในด้านต่างๆดังกล่าวแล้ว ได้แก่
- ด้านอาหาร
- การเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังกาย
- การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- การควบคุมโรคเรื้อรังต่างๆของตนเองตามคำแนะนำของ แพทย พยาบาล ผู้ดูแล
- การลดอุบัติเหตุของตนเองทั้งในบ้านและนอกบ้าน
- การช่วยเสริม สร้างความน่าอยู่หรือสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบๆบ้าน รวมทั้งของชุมชนสังคม และ
- พยายามดูแลสุขภาพจิตของตนเอง
ซึ่งทั้งหมดที่ได้กล่าวมา เกิดได้จากความเข้าใจ การยอมรับ การเรียนรู้ การรู้ว่าตนเองยังสามารถทำอะไรได้บ้าง การปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาล/ผู้ดูแลแนะนำ และตามคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ จากครอบครัว พยายามปฏิบัติตนเพื่อสามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสมตามวัยและเพื่อไม่เป็นภาระต่อครอบครัว
ทั้งนี้การดูแลตนเองได้และไม่เป็นภาระต่อผู้อื่นจนเกินไป จะช่วยเพิ่มความเคารพนับถือตนเอง และลดอาการซึมเศร้าของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี
ผู้สูงอายุควรตระหนักถึงคุณค่าของตนเองและดำรงคุณค่านั้นไว้เสมอ เช่น
- การเป็นสายใยของครอบครัว
- เป็นผู้ที่มี วัยวุฒิ คุณวุฒิ ที่สามารถให้คำปรึกษาคำแนะนำให้การอบรมสั่งสอน
- การเป็นที่พึ่งพิงทางอารมณ์ เป็นกำลังใจให้กับครอบครัว
- และการช่วยคลี่คลายปัญหาชีวิตทั้งของตนเอง และของครอบครัว
บรรณานุกรม
- พรบ.ผู้สูงอายุ พศ. 2546 http://www.dop.go.th/download/laws/regulation_th_20152509163042_1.pdf [2018,Nov17]
- พรบ. ผู้สูงอายุ พศ. 2560 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/131/36.PDF [2018,Nov17]
- Dietary guidelines for Americans https://www.cnpp.usda.gov/dietary-guidelines [2018,Nov17]
- Hsieh, C. (2005). Treatment of constipation in older adults. Am Fam Physician. 72, 2277-2284.
- Nied, R. et al. (2002). Promoting and prescribing exercise for the elderly. AmFam Physician 65, 419-427
- Older adult falls https://www.cdc.gov/HomeandRecreationalSafety/Falls/adultfalls.html [2018,Nov17]
- Rao, S. (2004). Diagnosis and management of fecal incontinence. AJG. 99,1585-1604
- https://www.dmh.go.th/report/suicide/age.asp [2018,Nov17]