การดูแลผู้สูงอายุ (Elderly care) - Update

สารบัญ

  • เกริ่นนำ
  • ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภูมิภาค
  • ความแตกต่างของผู้ดูแลในด้านเพศ
  • ในประเทศที่พัฒนาแล้ว
    • ออสเตรเลีย
    • แคนาดา
    • สหราชอาณาจักร
    • สหรัฐอเมริกา
  • ในประเทศที่กำลังพัฒนา
    • จีน
    • อินเดีย
    • เนปาล
    • ไทย
  • การดูแลทางการแพทย์ (โดยผู้เชี่ยวชาญ) กับการดูแลที่มิใช่ทางการแพทย์ (เชิงสังคม)
  • การตัดสินใจร่วมกันระหว่างการดูแลเบื้องต้น
  • การให้อิสรภาพแก่ผู้สูงอายุ
  • การปรับปรุงการเคลื่อนไหวทางร่างกาย
  • การปรับปรุงการเคลื่อนไหวทางร่างกายของแต่ลคน
  • ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการไร้ความสามารถ

 


เกริ่นนำ

การดูแลผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัย เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุในด้านการดำรงชีวิต ซึ่งครอบคลุมถึงการบริการดูแลผู้สูงอายุช่วงกลางวัน การดูแลสุขภาพระยะยาว สถานบริบาล (Nursing home) หรือเรียกว่าการดูแลผู้สูงอายุแบบ 24 ชั่วโมง (Residential care) การบริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospice) และการบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้าน

การดูแลผู้สูงอายุมุ่งเน้นที่ความต้องการทางสังคมและส่วนบุคคลของผู้สูงอายุที่อยากแก่อย่างมีศักดิ์ศรี ในขณะเดียวกันก็ต้องการความช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันและการดูแลสุขภาพ โดยส่วนใหญ่การดูแลผู้สูงอายุมักไม่ได้รับค่าจ้าง การดูแลผู้สูงอายุต้องรวมวิธีปฏิบัติและสถานบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน เพราะความต้องการและมุมมองทางวัฒนธรรมต่อผู้สูงอายุทั่วโลกแตกต่างกัน

สมาชิกในครอบครัวเป็นหนึ่งในผู้ดูแลที่สำคัญที่สุดของผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกสาวหรือหลานสาว ครอบครัวและเพื่อนสามารถช่วยเรื่องเงินในการจัดการเรื่องบ้านให้แก่ผู้สูงอายุ ไปเยี่ยมพวกเขา หรือพาพวกเขาออกไปเที่ยวข้างนอก

ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภูมิภาค

เมื่อก่อนการดูแลผู้สูงอายุเคยเป็นหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว และอยู่ในครอบครัวใหญ่ที่มีพ่อแม่พี่น้องอยู่ร่วมกัน แต่ในสังคมสมัยใหม่ สถานบริการภาครัฐหรือองค์กรการกุศลเข้ามาดูแลในเรื่องนี้มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากขนาดครอบครัวที่เล็กลง อายุยืนขึ้น และการกระจายตัวเชิงภูมิศาสตร์ของครอบครัว แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะมีผลต่อประเทศในยุโรปและอเมริกาเป็นที่แรก แต่ในตอนนี้ส่งผลกระทบต่อประเทศในเอเชียมากยิ่งขึ้น

รูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในแต่ละประเทศและภูมิภาคมีความแตกต่างกันอย่างมากและกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้สูงอายุทั่วโลกมีรายจ่ายด้านสุขภาพในทุกกลุ่มอายุมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่กดดันให้จำกัดการมีลูกและขนาดครอบครัวที่เล็กลง

ในประเทศตะวันตก สถานดูแลผู้สูงอายุประกอบด้วยการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุโดยคนในครอบครัว บ้านพักคนชราแบบที่ช่วยเหลือตัวเองได้ สถานดูแลผู้สูงอายุ และชุมชนคนเกษียณอายุที่มีระบบดูแลต่อเนื่อง (Continuing care retirement communities: CCRC) สำหรับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุโดยคนในครอบครัว สถานบริการ องค์กร หรือบุคคลอย่างน้อย 2 คนหรือไม่เกิน 6 คนจะเข้าไปดูแลด้านที่พักและอาหารพร้อมการฟื้นฟูร่างกายให้กับผู้สูงอายุ

เนื่องจากการดูแลผู้สูงอายุและมุมมองทางวัฒนธรรมต่อผู้สูงอายุมีความหลากหลาย จึงต้องมีวิธีการและสถานบริการทั่วโลกที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น หลายประเทศในเอเชีย คนที่มีอายุน้อยกว่ามักจะเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุอัน เนื่องมาจากบรรทัดฐานทางสังคม ในเอเชียการดูแลผู้สูงอายุโดยรัฐ แทบจะไม่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากการเก็บภาษีที่ไม่เพียงพอสำหรับการดูแล ขณะที่การดูแลผู้สูงอายุภาคเอกชนในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ค่อนข้างพบได้น้อย เนื่องจากการตีตราทางสังคมที่มีต่อความกตัญญู (Filial piety) ที่ไม่ดีนัก

การผสมผสานการทำงานกับการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างจะผ่อนคลาย และการระดมทุนจากครอบครัวที่ไม่เพียงพอสำหรับการจ่ายค่าดูแลผู้สูงอายุภาคเอกชน อย่างไรก็ตามสถานดูแลผู้สูงอายุในสังคมเอเชียกำลังเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการผสมผสานการทำงานกับการใช้ชีวิตมากขึ้นและคนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุได้

ความแตกต่างของผู้ดูแลในด้านเพศ

ตามข้อมูลของ Family Caregiver Alliance ผู้ดูแลในครอบครัวส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง:

  • ประมาณการอายุของผู้ดูแลในครอบครัวที่เป็นหญิงที่อยู่ระหว่าง 59% ถึง 75%
  • ผู้ดูแลเฉลี่ยมีอายุ 46 ปี เป็นหญิง แต่งงานและทำงานนอกบ้านซึ่งมีรายได้ประมาณ 35,000 ดอลลาร์ต่อปี
  • แม้ว่าผู้ชายจะให้ความช่วยเหลือบ้าง แต่ผู้หญิงเป็นผู้ดูแลหลักมากกว่าผู้ชายถึง 50%

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว

  • ออสเตรเลีย

การดูแลผู้สูงอายุในออสเตรเลีย ออกแบบมาเพื่อให้ชาวออสเตรเลียทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วม ในด้านค่าใช้จ่ายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ขึ้นอยู่กับรายได้และทรัพย์สินของแต่ละบุคคล ซึ่งก็หมายความว่าผู้พักอาศัย จะจ่ายเพียงสิ่งที่พวกเขาสามารถจ่ายได้และรัฐบาลของเครือจักรภพ (Commonwealth) จ่ายในส่วนที่ผู้พักอาศัย ไม่สามารถจ่ายได้

หน่วยงานทางกฎหมายของออสเตรเลีย (Productivity Commission) ได้เริ่มทบทวนเรื่องการดูแลผู้สูงอายุใน ปี ค.ศ. 2010 และรายงานในปี ค.ศ. 2011 การพิจารณาทบทวนสรุปว่า ประมาณ 80% ของการดูแลผู้สูงอายุในออสเตรเลียเป็นแบบไม่เป็นทางการโดยการดูแลจากครอบครัว เพื่อน และเพื่อนบ้าน รัฐสนับสนุนบริการด้านการดูแลผู้สูงวัยให้กับผู้สูงอายุประมาณ 1 ล้านคน โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่เหล่านี้ ได้รับการสนับสนุนดูแลในระดับต่ำ และอีก 160,000 คนที่ได้รับการดูแลระยะยาว ในปี ค.ศ. 2009 - 2010 รัฐจ่ายค่าดูแลผู้สูงอายุประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์

ความจำเป็นในการเพิ่มระดับดูแลและจุดอ่อนในระบบบริการสุขภาพ (เช่น การขาดแคลนและปันส่วนแรงงานที่มีทักษะไปยังสถานดูแลผู้สูงอายุ) ทำให้มีการพิจารณาใหม่หลายครั้งในปี ค.ศ.  2000 จนสรุปได้ว่า ต้องปฏิรูประบบดูแลผู้สูงอายุของออสเตรเลีย ซึ่งส่งผลต่อรายงานของ Productivity commission ในปี ค.ศ. 2011 พร้อมข้อเสนอให้มีการปฏิรูปในเวลาต่อมา ตามการแก้ไขเรื่อง “การมีชีวิตที่ยืนยาวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า” ในปี ค.ศ.2013 เป็นการให้ความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับความต้องการการดูแลสุขภาพตามที่ประเมินไว้ พร้อมส่วนเพิ่มเติมสำหรับคนไร้บ้าน ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม และทหารผ่านศึก

  • แคนาดา

ในแคนาดามีสถานบริการเอกชนทั้งแบบแสวงหาผลกำไรและไม่แสวงหาผลกำไร แต่เนื่องจากปัจจัยด้านต้นทุน สถานบริการบางจังหวัดจึงดำเนินงานหรือได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงสาธารณสุขจังหวัด ในบ้านพักคนชราของรัฐ ผู้สูงอายุในแคนาดาอาจจะต้องจ่ายค่าดูแลบบบอัตราเลื่อน (Sliding scale) ขึ้นอยู่กับรายได้ประจำปี อัตรานี้ขึ้นอยู่กับว่าจะพิจารณาว่าต้องได้รับ “การดูแลระยะยาว” หรือ “การสงเคราะห์ [อยู่อย่างพึ่งพิง” (Assisted living)

ตัวอย่างเช่น ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2010 ผู้สูงอายุที่อยู่แบบ “การดูแลระยะยาว” โดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลของรัฐ British Columbia ที่เรียกว่า “การดูแลแบบ 24 ชั่วโมง” จะเริ่มต้นจ่ายเงินที่ 80% ของรายได้หลังจากภาษี เว้นแต่รายได้หลังจากภาษีของพวกเขาน้อยกว่า 16,500 ดอลลาร์ ส่วนค่าธรรมเนียมของ “การอยู่อย่างพึ่งพิง” จะคำนวณง่ายกว่าคือ 70% ของรายได้หลังหักภาษี ดังที่เห็นในรัฐ Ontario มีรายชื่อผู้รอเข้าบ้านพักคนชราแบบระยะยาวจำนวนมาก ดังนั้นครอบครัวอาจจำเป็นต้องใช้การบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน หรือจ่ายเงินเพื่ออยู่ในบ้านพักคนชราเอกชน

  • สหราชอาณาจักร

การดูแลผู้สูงอายุในสหราชอาณาจักรได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐมาโดยตลอด แต่จะมีการปันส่วนมากขึ้น ตามรายงานร่วมของ King's Fund และ Nuffield Trust เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุของประเทศเพิ่มสูงขึ้น ผู้ที่มีเงินออมหรือทรัพย์สินอื่นๆ น้อย สามารถเลือกได้ว่าจะรับการดูแลที่บ้านของตนเอง (จากผู้ดูแลชั่วคราว) หรือย้ายไปอยู่สถานดูแลผู้สูงอายุหรือบ้านพักคนชรา จำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือมีมากขึ้น อันเนื่องมาจากประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นและความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ทำให้ผู้คนมีอายุคาด (Life expectancy) ยืนยาวขึ้น แต่รัฐบาลกลับจ่ายเงินช่วยเหลือพวกเขาน้อยลง ผู้คนนับล้านที่ต้องการการดูแล ไม่ได้รับความช่วยเหลือทั้งแบบทางการและไม่ทางการ

ชุมชนวัยเกษียณ หมู่บ้านคนวัยเกษียณ หรือบ้านพักคนชราในสหราชอาณาจักรจำนวนมาก ได้นำเสนอทางเลือกอื่นนอกเหนือจากบ้านพักคนชราสำหรับผู้ที่มีความต้องการการดูแลทั่วไปเท่านั้น ส่วนการจัดหาที่พักแบบเพิ่มพิเศษ (Extra Care) เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีความต้องการที่ซับซ้อนมากกว่า โมเดลเหล่านี้ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระในชุมชนที่อยู่อาศัยหรือบ้านจัดสรรร่วมกับผู้สูงอายุคนอื่นๆ ได้ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น การอยู่อย่างโดดเดี่ยว ในชุมชนเหล่านี้ ผู้พักอาศัยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการดูแลสุขภาพหากจำเป็น

ชุมชนวัยเกษียณทั่วๆ ไป มักมีเอกชนเป็นเจ้าของและดำเนินการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนจากโมเดล 'การดูแลเชิงบริการ' ไปสู่ 'การดูแลเชิงธุรกิจ' หมู่บ้านที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์บางแห่งอาจถูกตรวจสอบด้านความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการเช่าอยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าการจ่ายน้อยลงในตอนนี้และจ่ายมากขึ้นในภายหลัง อาจเหมาะสมกับ 'ผู้รับบำนาญชาวอังกฤษที่มีฐานะมั่งคั่งแต่ขาดแคลนเงินสด'

แม้ว่าผู้ประกอบการในชุมชนวัยเกษียณส่วนใหญ่จะดำเนินการเพื่อแสวงหาผลกำไร แต่ก็มีองค์กรการกุศลบางแห่ง เช่น Extra Care Charitable Trust ที่ดำเนินการในชุมชนวัยเกษียณ 14 แห่งและเป็นองค์กรการกุศลที่จดทะเบียนแล้ว องค์กรการกุศลอาจได้รับเงินทุนเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ เช่น องค์กรตามกฎหมาย การเปิดรับบริจาค มรดก และรายได้จากร้านค้าเพื่อการกุศล นอกจากนี้อาจนำเงินสำรองมาใช้สนับสนุนด้านที่อยู่อาศัย สุขภาพ และความเป็นอยู่ของผู้พักอาศัย และสำหรับการพัฒนาหมู่บ้านใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศที่เพิ่มขึ้น

บ้านพักแบบ Extra Care มีข้อเสนอที่น่าสนใจดังนี้

    • การออกแบบที่อยู่อาศัยที่รองรับการใช้งานเฉพาะและเข้าถึงได้
    • ความปลอดภัยและความมั่นคง เช่น การควบคุมการเข้าออกอาคาร
    • คุณสมบัติครบถ้วนในตัว โดยผู้พักอาศัยจะมีประตูหน้าบ้านของตนเอง และมีสถานะทางกฎหมายในฐานะผู้เช่าที่มีความมั่นคงในการดำรงสถานะภาพ
    • ผู้เช่ามีสิทธิ์ที่จะให้ใครเข้าบ้านก็ได้
    • พื้นที่สำนักงานสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการโครงการ (และบางครั้งก็อาจมีชุมชนที่กว้างขึ้น)
    • พื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกบางส่วน
    • การเข้าถึงบริการดูแลและความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง
    • สัญญาณเตือนภัยจากชุมชนและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ
  • สหรัฐอเมริกา

จากข้อมูลของกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2009 ประชากรสูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวน 39.6 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 12.9% ของประชากรสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 1 ใน 8 ของชาวอเมริกัน ภายในปี ค.ศ. 2030 จะมีผู้สูงอายุประมาณ 72.1 ล้านคนซึ่งมีจำนวนมากกว่าสองเท่าของปี ค.ศ. 2000 โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีคิดเป็น 12.4% ของประชากรในปี ค.ศ. 2000

แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 19% ของประชากรภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งก็หมายความว่าจะมีความต้องการสถานดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆ ไป ตามข้อมูลของ สหพันธ์ผู้ได้รับความช่วยเหลือแห่งอเมริกา (Assisted Living Federation of America) ปี ค.ศ. 2009 ในสหรัฐอเมริกา มีบ้านสงเคราะห์คนชรามากกว่า 36,000 แห่ง โดยผู้สูงอายุมากกว่า 1 ล้านคนเข้ารับบริการในบ้านพักคนชราหรือบ้านโอบอุ้มเหล่านี้

ค่าใช้จ่ายช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตในสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ 22% ค่าใช้จ่ายด้านประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ (Medicare) 26% ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับ Medicare 18% และค่าใช้จ่ายด้านประกันสุขภาพสำหรับผู้ยากจน (Medicaid) 25% จากการศึกษาของ West Health Policy Center เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 พบว่าผู้สูงอายุกว่า 1.1 ล้านคนในโปรแกรม Medicare น่าจะเสียชีวิตก่อนเวลา 10 ปี เพราะพวกเขาไม่สามารถจ่ายค่ายาตามใบสั่งแพทย์ได้ซึ่งต้องใช้เงินเพิ่มถึง 17.7 พันล้านดอลลาร์ สำหรับค่ารักษาพยาบาลที่หลีกเลี่ยงได้จากโรคแทรกซ้อน.

ในสหรัฐอเมริกา ผู้ให้บริการบ้านพักคนชราขนาดใหญ่ส่วนใหญ่รัฐเป็นเจ้าของและบริหารจัดการโดยมุ่งแสวงหาผลกำไร อย่างไรก็ตามจากการศึกษาของ American Health Care Association ในปี ค.ศ. 1995 พบว่ามีบางแห่งที่ไม่แสวงหาผลกำไร อาทิ ผู้ดำเนินการรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา อย่าง Evangelical Lutheran Good Samaritan Society ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรได้จัดการเตียงรองรับผู้สูงอายุไว้ 6,531 เตียงใน 22 รัฐ

เมื่อพิจารณาทางเลือกเหล่านี้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยากจะอาศัยอยู่ในบ้านของตนต่อไป (อยู่ในสถานที่นั้นจนแก่เฒ่า) ผู้สูงอายุจำนวนมากจะค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการทำงาน และต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมที่บ้านหรือย้ายไปยังสถานดูแลผู้สูงอายุ การที่ลูกๆจะช่วยพ่อแม่สูงวัยในการตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะที่ควรเป็นเรื่องยาก บ้านพักคนชราจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน แต่ก็ยังถือว่าแพงสำหรับคนส่วนใหญ่ การบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้านจะทำให้ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในบ้านของตนนานขึ้น

ในสหรัฐอเมริกา มีบริการใหม่ที่สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านได้นานขึ้น นั่นก็คือบริการแบ่งเบาภาระชั่วคราว (Respite care) การดูแลประเภทนี้ช่วยให้ผู้ดูแลมีโอกาสไปเที่ยวพักผ่อนหรือเดินทางเพื่อธุรกิจ และรู้ว่าสมาชิกในครอบครัวจะได้รับการดูแลชั่วคราวที่ดี หากไม่มีบริการนี้ ผู้สูงอายุอาจต้องย้ายไปอยู่บ้านพักข้างนอกอย่างถาวร นอกจากนี้ ยังมีการดูแลเฉพาะอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในโรงพยาบาลอเมริกัน นั่นคือหน่วย ACE (=Acute care of the elderly) ที่ให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน

ทั้งนี้ สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลือกสำหรับการดูแลระยะยาวในสหรัฐอเมริกาได้จากหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ค้นหาผ่านรหัสไปรษณีย์ หรือศูนย์ส่งต่อ (Referral) ผู้สูงอายุ เช่น Silver Living หรือ A Place for Mom นอกจากนี้ รัฐบาลอเมริกัน ยังแนะนำให้ประเมินสถานพยาบาลผ่านเว็บไซต์ โดยใช้ข้อมูลที่รวบรวมจากแหล่งต่างๆ เช่น บันทึกในโครงการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ

ในประเทศกำลังพัฒนา

  • จีน

การสูงวัยของประชากรเป็นปัญหาทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่จีน เนื่องจากนโยบายลูกคนเดียว การย้ายถิ่นจากชนบทสู่ตัวเมือง และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอื่นๆ การดูแลผู้สูงอายุระยะยาวแบบเดิม ที่ดูแลโดยครอบครัวอย่างในอดีตจึงไม่เพียงพออีกต่อไป ตอนนี้บริการเชิงสถาบันและชุมชนกำลังขยายตัวเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น จีนยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจ และจำเป็นต้องสร้างบริการเหล่านี้ พร้อมฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

  • อินเดีย

มุมมองทางวัฒนธรรมในด้านการดูแลผู้สูงอายุของอินเดียคล้ายกับเนปาล ที่ลูกชายเป็นคนดูแลพ่อแม่ ในประเทศเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ชาย ค่านิยมดั้งเดิมจะให้เกียรติและเคารพผู้ที่มีอายุมากกว่าและฉลาดกว่า จากการศึกษาข้อมูลด้านสุขภาพและสภาพความเป็นอยู่ที่ได้จากการสำรวจตัวอย่างแห่งชาติครั้งที่ 60 ของอินเดีย พบว่าผู้สูงอายุเกือบ 1 ใน 4 มีสุขภาพที่ไม่ดี ซึ่งจำแนกเป็นกลุ่ม ได้แก่ คนยากจน คนโสด คนที่มีการศึกษาต่ำ และกลุ่มที่ไม่ได้ทำงานเชิงเศรษฐกิจ

ภายใต้แผน 5 ปีช่วงที่ 11 รัฐบาลอินเดียมีความก้าวหน้าหลายอย่างคล้ายกับของเนปาล ในข้อ 41 ของรัฐธรรมนูญอินเดียระบุว่า ผู้สูงอายุจะได้รับการสนับสนุนประกันสังคม ในด้านการดูแลสุขภาพและสวัสดิการ มาตราของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปี ค.ศ. 1973 ที่ว่าด้วยเรื่องภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ได้ออกคำสั่งให้ลูกต้องดูแลพ่อแม่ของตนหากพวกเขาดูแลตัวเองไม่ได้

  • เนปาล

เนื่องจากข้อได้เปรียบทางสุขภาพและเศรษฐกิจ ทำให้ชาวเนปาลมีอายุคาดเพิ่มขึ้นจาก 27 ปีในปี ค.ศ. 1951 เป็น 65 ปีในปี ค.ศ. 2008 พลเมืองผู้สูงอายุชาวเนปาลส่วนใหญ่ (ราว 85%) อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท จึงไม่ได้รับการสนับสนุนโครงการหรือบ้านพักคนชราจากภาครัฐ เมื่อก่อนพ่อแม่จะอาศัยอยู่กับลูกๆ และในปัจจุบันคาดว่า 90% ของผู้สูงอายุ อาศัยอยู่ในบ้านตัวเอง อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้กำลังเปลี่ยนแปลงเมื่อมีลูกๆ ส่วนใหญ่ต้องออกจากบ้านไปทำงานหรือไปโรงเรียน ซึ่งนำไปสู่ความเหงาและปัญหาทางจิตในผู้สูงอายุชาวเนปาล

แผน 5 ปีช่วงที่ 9 เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกดูแล ทั้งนี้มีการจัดตั้ง Senior Health Facilities Fund ในแต่ละอำเภอ โดย จัดให้มีสถานพยาบาลแก่ผู้สูงอายุ ยาฟรี รวมถึงการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ที่ยากจนในทุกเขต รัฐบาลได้วางแผนที่จะให้ทุนการดูแลสุขภาพฟรีสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและไตที่มีอายุมากกว่า 75 ปีไว้ในงบประมาณรายปี

แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลเนปาลไม่อาจดำเนินการตามทุกแผนได้ เนปาลเป็นประเทศกำลังพัฒนาและไม่สามารถให้ทุนแก่โครงการเหล่านี้ได้ทั้งหมด ภายหลังจากการพัฒนาเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ (Old age allowance: OAA) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มอบเบี้ยผู้สูงอายุรายเดือนแก่พลเมืองทุกคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปและหญิงหม้ายที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนสถานดูแลผู้สูงอายุเอกชนในเวลากลางวันมีจำนวนไม่มากนักและมีเฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น บริการดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้มีราคาแพงมากและเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงได้

  • ไทย

ไทยได้สังเกตการณ์รูปแบบของการจัดกลุ่มผู้สูงอายุที่กว้างขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการคุมกำเนิดและความก้าวหน้าทางการแพทย์ จนนำไปสู่อัตราการเกิดที่ลดลงและผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น รัฐบาลไทยให้ความสนใจและกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มนี้ แต่ก็คิดว่าน่าจะปล่อยให้ครอบครัวดูแลผู้สูงอายุเอง แทนการกำหนดนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับพวกเขา ในปี ค.ศ. 2011 มีบ้านพักคนชราของรัฐเพียง 25 แห่ง โดยแต่ละแห่งมีสมาชิกไม่เกิน 2 - 3 พันคน โปรแกรมดังกล่าวดำเนินการโดยอาสาสมัครเป็นส่วนใหญ่ และมีบริการอย่างจำกัดซึ่งไม่รับประกันว่าจะดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม เนื่องจากมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ลูกจะดูแลพ่อแม่ ดังนั้นจึงต้องการผู้ดูแลส่วนตัว แม้จะมีอาสาสมัครเอกชนให้บริการแต่ก็มีอยู่อย่างจำกัด

แม้ว่าไทยจะมีโครงการต่างๆ มากมายให้แก่ผู้สูงอายุ แต่มักมีคำถามเรื่องความเท่าเทียมนับตั้งแต่เปิดตัวโครงการ จากการศึกษาวิจัย พบว่าผู้สูงอายุที่ร่ำรวยในไทยสามารถเข้าถึงทรัพยากรด้านการดูแลที่หลากหลายมากกว่า ในขณะที่ผู้สูงอายุที่ยากจนมีแนวโน้มที่จะใช้ระบบบริการสุขภาพที่รัฐจัดหาให้มากกว่า อย่างไรก็ตาม มากกว่า 96% ของประชาการในประเทศ มีประกันสุขภาพที่มีระดับการดูแลที่แตกต่างกัน

การดูแลทางการแพทย์ (โดยผู้เชี่ยวชาญ) กับการดูแลที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ (เชิงสังคม)

การดูแลทางการแพทย์และการดูแลที่ไม่ใช่ทางการแพทย์มีความแตกต่างกัน โดยอย่างหลังไม่ได้ให้บริการโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และแทบจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัยหรือกองทุนสาธารณะ ในสหรัฐอเมริกา 67% ของผู้พักอาศัยในสถานสงเคราะห์ ประมาณ 1 ล้านคนจ่ายค่าดูแลด้วยเงินทุนของตนเอง

ส่วนที่เหลือจะได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัว เพื่อน และจากหน่วยงานของรัฐ โปรแกรม Medicare จะไม่จ่ายเงินให้เว้นแต่จำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยพยาบาลวิชาชีพ สถานสงเคราะห์มักจะไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ Medicare อย่างไรก็ตามโปรแกรม Medicare จะจ่ายค่าดูแลสำหรับผู้ดูแลวิชาชีพ หากผู้สูงอายุมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดสำหรับสิทธิประโยชน์ในการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน

ในสหรัฐอเมริกา 32 รัฐ จ่ายค่าดูแลในสถานสงเคราะห์คนชรา ผ่านโครงการสละสิทธิ์โปรแกรม Medicaid [สำหรับคนจน]ในทำนองเดียวกัน ในสหราชอาณาจักร National Health Service ก็จัดหาบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่การดูแลเชิงสังคม [สำหรับคนจน] จะจ่ายโดยรัฐเฉพาะในสกอตแลนด์เท่านั้น ส่วนอังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ไม่สามารถออกกฎหมายในเรื่องนี้ได้

ดังนั้นการดูแลเชิงสังคมจึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่บุคคลจะใช้ทรัพยากรส่วนตัวจนหมด เช่น การขายบ้าน เงินที่มอบให้เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในสหราชอาณาจักรลดลง 20% ต่อคนในช่วง 10 ปีระหว่างปี ค.ศ. 2005 ถึง ค.ศ. 2015 แต่จริงๆ แล้วมันลดลงยิ่งกว่านั้นอีก ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย อ้างว่า คนอังกฤษกลุ่มเปราะบาง ไม่ได้รับในสิ่งที่เขาจำเป็น

อย่างไรก็ตาม การดูแลผู้สูงอายุมุ่งเน้นไปที่การตอบสนองความคาดหวังของลูกค้า 2 ระดับ ได้แก่ ลูกค้าที่เป็นผู้พักอาศัยและลูกค้าที่ซื้อบริการ ซึ่งมักจะไม่เหมือนกัน เนื่องจากญาติหรือหน่วยงานของรัฐอาจเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดูแลแทนผู้พักอาศัย หากผู้พักอาศัยมีอาการสับสนหรือมีปัญหาในการสื่อสาร ก็เป็นเรื่องยากที่ญาติหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะมั่นใจในมาตรฐานการดูแลที่ได้รับ และการปฏิบัติไม่ดีต่อผู้สูงอายุก็เป็นอีกความกังวลหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจ

Adult Protective Services Agency ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่ในการสืบสวนรายงานการละเมิดผู้สูงอายุ (Elder abuse) ในบ้าน พร้อมให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำแก่ครอบครัว นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ที่สามารถช่วยได้ ได้แก่ แพทย์หรือพยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทนายความ และนักสังคมสงเคราะห์

ไทยได้สังเกตการณ์รูปแบบของการจัดกลุ่มผู้สูงอายุที่กว้างขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการคุมกำเนิดและความก้าวหน้าทางการแพทย์ จนนำไปสู่อัตราการเกิดที่ลดลงและผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น รัฐบาลไทยให้ความสนใจและกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มนี้ แต่ก็คิดว่าน่าจะปล่อยให้ครอบครัวดูแลผู้สูงอายุเอง แทนการกำหนดนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับพวกเขา

ในปี ค.ศ. 2011 มีบ้านพักคนชราของรัฐเพียง 25 แห่ง โดยแต่ละแห่งมีสมาชิกไม่เกิน 2 - 3 พันคน โปรแกรมดังกล่าวดำเนินการโดยอาสาสมัครเป็นส่วนใหญ่ และมีบริการอย่างจำกัดซึ่งไม่รับประกันว่าจะดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม เนื่องจากมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ลูกจะดูแลพ่อแม่ ดังนั้นจึงต้องการผู้ดูแลส่วนตัว แม้จะมีอาสาสมัครเอกชนให้บริการแต่ก็มีอยู่อย่างจำกัด

แม้ว่าไทยจะมีโครงการต่างๆ มากมายให้แก่ผู้สูงอายุ แต่มักมีคำถามเรื่องความเท่าเทียมนับตั้งแต่เปิดตัวโครงการ จากการศึกษาวิจัย พบว่าผู้สูงอายุที่ร่ำรวยในไทยสามารถเข้าถึงทรัพยากรด้านการดูแลที่หลากหลายมากกว่า ในขณะที่ผู้สูงอายุที่ยากจนมีแนวโน้มที่จะใช้ระบบบริการสุขภาพที่รัฐจัดหาให้มากกว่า อย่างไรก็ตาม มากกว่า 96% ของประชาการในประเทศ มีประกันสุขภาพที่มีระดับการดูแลที่แตกต่างกัน

การตัดสินใจร่วมกันระหว่างการดูแลเบื้องต้น

ปัจจุบันยังมีหลักฐานไม่ชัดเจนที่จะสรุปว่า การให้ผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพหลายอย่างได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจระหว่างการรับคำปรึกษาระดับปฐมภูมิ (Primary care) นั้นมีประโยชน์ ตัวอย่างการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ได้แก่ การประชุมเชิงปฏิบัติการและการฝึกสอนผู้ป่วยเป็นรายบุคคล ดังนั้นคงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้

การให้อิสรภาพแก่ผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมักกลัวการสูญเสียอิสรภาพมากกว่ากลัวความตายเสียอีก การให้อิสรภาพในการดูแลตนเองจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีอิสรภาพมากขึ้น และทำให้พวกเขารู้สึกได้ถึงความสำเร็จเมื่อทำงานนั้นๆ เสร็จสิ้นด้วยตนเอง ผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือในการดำเนินชีวิตประจำวันมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียความเป็นอิสระในการดูแลตนเอง

เนื่องจากพฤติกรรมส่วนบุคคลจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ดูแล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ดูแลจะต้องมั่นใจว่าพวกเขามีมาตรการในการดูและและส่งเสริมการทำงาน แทนที่จะทำให้ผู้สูงอายุยิ่งมีข้อจำกัดทางกายภาพลดลง ผู้ดูแลพึงตระหนักถึงการกระทำและพฤติกรรมที่ผู้สูงอายุต้องพึ่งพาพวกเขา แต่จำเป็นต้องให้อิสรภาพแก่ผู้ป่วยสูงอายุให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยสูงอายุ ว่าเหตุใดการดูแลตนเองจึงมีความสำคัญ อาจช่วยให้พวกเขาเข้าใจถึงประโยชน์ในการดูแลตนเองได้อย่างอิสระ หากผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมดูแลตัวเองได้ด้วยตนเอง หรือแม้ว่าพวกเขาจะต้องการการดูแลก็ตาม ก็ควรสนับสนุนให้พวกเขาพยายามด้วยตนเองก่อน เพราะการให้อิสรภาพ สามารถทำให้พวกเขารู้สึกถึงความสำเร็จและได้รับอิสรภาพยาวนานขึ้น

ตามการศึกษาวิจัย ในปี ค.ศ. 1976 ด้วยคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากจะมอบหมายหน้าที่ในการทำกิจกรรมประจำวันต่างๆ ให้แก่ผู้พักอาศัยในบ้านพักคนชรามากขึ้นและมีทางเลือกให้พวกเขามากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับหน้าที่ที่เป็นของเจ้าหน้าที่บ้านพักคนชราโดยตรง ผู้พักอาศัยในบ้านพักคนชราแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งจะสามารถเลือกทำกิจกรรมในแต่ละวันได้มากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง โดยให้ผู้บริหารโรงพยาบาลแยกคุยกับแต่ละกลุ่ม กลุ่มแรกจะเน้นหน้าที่ในการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มที่ 2 เน้นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่พยาบาลในการดูแลผู้สูงอายุ

ข้อแตกต่างระหว่างทั้งสองกลุ่มก็คือการให้ต้นไม้แก่ทั้งสองกลุ่ม โดยกำหนดให้ กลุ่มแรกผู้สูงอายุ มีหน้าที่รดน้ำต้นไม้ในแต่ละวัน ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้พยาบาลวิชาชีพ มีหน้าที่รดน้ำต้นไม้ ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มแรกมีความกระตือรือร้นมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีความตื่นตัวมากขึ้น และแสดงพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น การเข้าสังคม การมีส่วนร่วม และการเข้าร่วมกิจกรรมในบ้านพักคนชรา เช่น การชมภาพยนตร์รอบค่ำในบ้านพักคนชรา นอกจากนี้พวกเขายังแสดงให้เห็นถึงการมีสุขภาพและอารมณ์ที่ดีขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังสังเกตเห็นว่าการดำเนินการนี้มีผลประโยชน์ระยะยาว เพราะการรักษาไม่ได้มุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมหรือการกระตุ้นเพียงอย่างเดียว

การออกแบบตกแต่งภายในที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุมีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมความเป็นอิสระของผู้สูงอายุ การบูรณาการ IoT (Internet of Things = อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง) ในบ้านอัจฉริยะ จะมีระบบตรวจสอบระยะไกลเพื่อติดตามกิจกรรมประจำวันของผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง เพราะรู้ว่าระบบจะส่งสัญญาณเตือนแบบตอบรับไปยังผู้ดูแลทันทีในกรณีฉุกเฉิน สิ่งนี้ไม่เพียงช่วยให้ประชากรสูงอายุสามารถอยู่อย่างอิสระและมั่นใจแล้ว แต่ยังนำความอุ่นใจมาสู่เพื่อนและครอบครัวของพวกเขาด้วย

การปรับปรุงการเคลื่อนไหวทางร่างกาย

การมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวเป็นปัญหาด้านสุขภาพ ที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุซึ่งส่งผลกระทบต่อ 50% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปี และอย่างน้อย 1 ใน 4 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี เมื่อผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถในการเดิน การขึ้นบันได หรือการลุกจากเก้าอี้ จะถือว่าพวกเขาเป็นผู้ไร้ความสามารถ (Disable) โดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ไม่สามารถละเลยปัญหานี้ได้เนื่องจากผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ถือเป็นกลุ่มประชากรที่เติบโตเร็วที่สุด

การบำบัด (Therapy) ที่ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงการเคลื่อนไหวในผู้ป่วยสูงอายุ มักเกิดขึ้นจากการวินิจฉัย (Diagnosis) ความบกพร่องจากการรักษา (Treatment) จำเพาะ เช่น ความแข็งแรงลดลงหรือการทรงตัวไม่ดี ซึ่งสามารถเปรียบเทียบระหว่างผู้สูงอายุที่ต้องปรับปรุงการเคลื่อนไหว (Mobility) กับนักกีฬาที่ต้องทำเวลาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ คน

ทั้ง 2 กลุ่มจะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อวัดความก้าวหน้าและนำไปสู่เป้าหมายด้านความแข็งแกร่ง ความสามารถในการใช้ออกซิเจนสูงสุด (Aerobic capacity) และคุณสมบัติทางกายภาพอื่นๆ ผู้ดูแลด้านความสามารถในการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ จะต้องตัดสินใจว่าควรจะเน้นไปที่ความบกพร่องด้านใด และในหลายกรณี ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะพิสูจน์ทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งได้

ปัจจุบันผู้ดูแลหลายคนเลือกที่จะเน้นเรื่องความแข็งแรงและความสมดุลเป็นหลัก การวิจัยใหม่ชี้ให้เห็นว่าความเร็วของแขนขาและความแข็งแรงของแกนกลางลำตัว อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนไหวด้วย เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและความก้าวหน้าในสาขาการดูแลสุขภาพ ช่วยให้ผู้สูงอายุมีอิสรภาพและความคล่องตัวมากขึ้น

ขณะนี้หลายแพลตฟอร์ม (Platform) ได้นำ AI (Artificial intelligence = ปัญญาประดิษฐ์) มาใช้เพื่อแนะนำอุปกรณ์ช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุ โปรแกรมการออกกำลังกายที่วางแผนไว้เป็นอย่างดี สามารถลดอัตราการหกล้มในผู้สูงอายุได้ หากมีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลายประเภท เช่น การออกกำลังกายแสริมการทรงตัว การออกกำลังกายเฉพาะส่วน และการออกกำลังกายแบบแรงต้าน

การปรับปรุงการเคลื่อนไหวทางร่างกายของแต่ละคน

การศึกษาที่มุ่งเน้นการดำเนินการเพื่อปรับปรุงการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุที่บ้าน ยังมีค่อนข้างน้อยมาก พื้นที่ภายในที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ สามารถลดปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุอื่นๆ ได้ บันได ไฟ พื้น และอื่นๆ จะช่วยให้ผู้สูงอายุรับมือกับปัญหาด้านการเคลื่อนไหว การออกแบบตกแต่งภายในยังส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ และหากมีการออกแบบให้แต่ละพื้นที่ในบ้านเหมาะสำหรับการอยู่อาศัย ย่อมทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย สบาย และมีความสุขมากขึ้น

ในการขึ้นไปยังชั้นต่าง ๆ ด้วยบันไดเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะล้ม บันไดที่ออกแบบมาไม่ดี อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุในแง่ของความไม่มั่นใจและกลัวอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม บันไดที่ออกแบบโดยคำนึงถึงหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) และรูปแบบการใช้งานของผู้สูงอายุ จะทำให้ทุกคนใช้งานได้ง่ายขึ้น ลิฟต์บันได (Stair-lift) อาจเป็นตัวเลือกสำคัญในการแก้ปัญหาด้านการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ

แสงสว่างที่เหมาะสมในพื้นที่ภายในช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเดินไปมาในบ้านได้ง่ายขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วคนอายุ 60 ปีต้องการแสงสว่างมากกว่าเด็กชายอายุ 20 ปีถึงสามเท่า หน้าต่าง หลังคากระจก และช่องประตูสามารถรวมแสงธรรมชาติเข้าไปในพื้นที่ภายในได้ อย่างไรก็ตาม การออกแบบช่องอาคารแบบเปิด อาจทำให้เกิดแสงจ้าและเพิ่มความเสี่ยงต่อการล้ม และขัดขวางความสามารถในการทำงานประจำวัน เนื่องจากผู้สูงอายุไวต่อแสงจ้ามากกว่าคนหนุ่มสาว

ผ้าม่าน 2 ชั้น ม่านประดับ มู่ลี่หน้าต่าง หิ้งแสง การติดตั้งกระจกที่มีการส่งผ่านแสงต่ำ หรือระบบพรางแสงภายในโรงเรือนอื่นๆ ล้วนสามารถลดแสงจ้าได้ นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มความสว่างได้ โดยการผสมผสานแสงธรรมชาติเข้ากับแสงประดิษฐ์ประเภทต่างๆ

เมื่อบุคคลลื่นล้มอันเนื่องจากปัญหาด้านการเคลื่อนไหว วัสดุปูพื้นจึงมีบทบาทสำคัญในระดับผลกระทบที่บุคคลประสบหลังจากการล้ม การเลือกวัสดุปูพื้นในบ้านที่เหมาะสม (ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า แต่ละบุคคลจะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน รถเข็นนั่ง หรือไม้เท้า) ยังสามารถแก้ไขปัญหาด้านการเคลื่อนไหวหลายอย่างให้แก่ผู้สูงอายุ อันเนื่องมาจากความแข็งแรงทางร่างกายที่ลดลงหรือการสูญเสียการทรงตัว

สำหรับผู้สูงอายุแล้วไม่ควรเลือกพื้นกระเบื้อง แต่ควรเลือกเป็นพื้นพรม พื้นไม้คอร์ก พื้นไวนิลสำหรับห้องนอน ห้องครัว และห้องน้ำของผู้สูงอายุ กระเบื้องอาจลื่นมากเมื่อเปียกน้ำ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ยังแข็งและเย็นเมื่อเดินเท้าเปล่า ซึ่งทำให้ไม่สามารถเดินเท้าเปล่าในฤดูหนาวได้

ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการไร้ความสามารถ

การไร้ความสามารถ (Incapacity) ถือเป็นกระบวนการทางกฎหมาย ที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวและบางทีก็ตัดสินได้ยาก แต่กำหนดให้บุคคลยื่นคำร้องต่อศาลท้องถิ่นโดยระบุว่า ผู้สูงอายุขาดความสามารถในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การตัดสินใจทางการแพทย์ การลงคะแนนเสียง การให้ของขวัญ การแสวงหาผลประโยชน์สาธารณะ การแต่งงาน การจัดการทรัพย์สินและการเงิน การเลือกว่าจะอยู่ที่ไหนและอยู่กับใคร

กฎหมายของรัฐส่วนใหญ่กำหนดให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอื่นๆ 2 คนจัดทำรายงานเพื่อเป็นหลักฐานของการไร้ความสามารถดังกล่าว และให้บุคคลที่ต้องมีทนายความเป็นตัวแทน เมื่อนั้นจึงจะสามารถเพิกถอนสิทธิ์ตามกฎหมายของแต่ละบุคคลได้ และเริ่มต้นการดูแลทางกฎหมายโดยผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ซึ่งเป็นบุคคลที่ศาลมอบหมายให้รับผิดชอบในการดำเนินการ แทนบุคคลผู้

ทางเลือกสำหรับการไร้ความสามารถทางกฎหมายที่มีข้อจำกัดน้อยกว่า คือการใช้ “หนังสือแสดงเจตจำนงล่วงหน้า” (Advance directive)หนังสือมอบอำนาจ (Power of attorney) และเจตจำนงในการดำรงชีวิต (Living will) บุคคลที่มีเอกสารดังกล่าวควรจัดเตรียมไว้กับทนายความในขณะที่บุคคลนั้นมีความสามารถ เมื่อถึงเวลาที่บุคคลนั้นไร้ความสามารถในการดำเนินงาน ตามที่กำหนดไว้ในเอกสาร บุคคลที่ระบุชื่อ (ตัวแทน) ก็สามารถเข้ามาตัดสินใจแทนตนได้ ตัวแทนมีหน้าที่ต้องกระทำการตามที่บุคคลนั้นประสงค์ที่จะกระทำและกระทำการเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เขา

อ่านตรวจทานโดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ

แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Elderly_care [2023, November 12] โดย พชรมน ไกรรณภูมิ