การเคลื่อนไหว หรือการดิ้นของทารกในครรภ์ (Fetal movement in pregnancy)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

การเคลื่อนไหวหรือการดิ้นของทารกในครรภ์ในภาวะปกติเป็นอย่างไร?

 ในภาวะปกติหากตรวจอัลตราซาวด์ครรภ์ เราจะเห็นทารกในครรภ์มารดาจะเริ่มมีการเคลื่อนไหวตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆคือประมาณ 7 - 8 สัปดาห์และจะเคลื่อนไหวมากขึ้นไปเรื่อยๆตลอดการตั้งครรภ์, แต่ในระยะแรกของการเคลื่อนไหว,มารดาจะ’ยังไม่รู้สึกว่าลูกในครรภ์มีการดิ้น’เนื่องจากทารกยังมีขนาดเล็กมาก

 ในการ’ตั้งครรภ์ครั้งแรก’มารดาจะรู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้นครั้งแรกประมาณอายุครรภ์ 18 - 20 สัปดาห์ โดยความรู้สึกจะคล้ายมีปลามากัดที่ท้องหรือรู้สึกมีกระตุกที่ท้อง, สำหรับ’การตั้งครรภ์ครั้งหลังๆ’มารดาจะรู้สึกว่าทารกดิ้นครั้งแรกตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 16 สัปดาห์ ซึ่ง การที่มารดารู้สึกเร็วขึ้นอาจจากมีประสบการณ์มาก่อนนั่นเอง    

การเคลื่อนไหวหรือการดิ้นของทารกในครรภ์มีความสำคัญอย่างไร?

การดิ้นของทารกในครรภ์

การดิ้นของทารกในครรภ์เป็นสิ่งที่แสดงถึงความมีชีวิตของทารกในครรภ์ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นสัญญาณบอกกับมารดาว่าทารกในครรภ์มีชีวิต หากทารกดิ้นลดลงมากจะเป็นตัวบอกเหตุ ว่าน่าจะเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที หากปล่อยนานไปจน’ไม่รู้สึกว่าลูกดิ้น’ ลูกอาจตายไปแล้ว

สตรีตั้งครรภ์จะสังเกตการเคลื่อนไหวหรือการดิ้นของทารกในครรภ์อย่างไร?

เมื่อแม่/มารดาไปฝากครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้สังเกตการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์เมื่อถึงอายุครรภ์ที่เหมาะสม ทั้งนี้ทารกจะมีวงจรหลับและตื่นสลับกันไป ในช่วงที่ทารกหลับ แม่จะไม่รู้สึกถึงการดิ้นของทารก, ตามปกติทารกจะดิ้น “เกิน 100 ครั้งต่อวัน”, *ดังนั้นหากการดิ้นลดลงมากแสดงว่ามีปัญหาต่อสุขภาพทารกในครรภ์ ต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลด่วน ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด

มีวิธีนับลูกดิ้นอย่างไร?

การสังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์/ลูกดิ้น เป็นการติดตามสภาพของทารกที่จำเป็นสำหรับมารดาทุกคน วิธีที่สอนให้สตรีตั้งครรภ์นับการดิ้นของทารกในแต่ละวันมีหลายวิธี เช่น

  • นับตั้งแต่หลังตื่นนอน: หากมีการดิ้นของทารกอย่างน้อย 10 ครั้งก่อนถึงเวลาเย็น (เป็นเวลา 12 ชั่วโมง) ถือว่าสุขภาพทารกในครรภ์ยังปกติ
  • สังเกตและนับการดิ้นของทารกอย่างน้อย 10 ครั้งในเวลา 2 ชั่วโมง: ถือว่าสุขภาพทารกในครรภ์ยังปกติ
  • สังเกตและนับการดิ้นของทารกอย่างน้อย 4 ครั้งในเวลา 1 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารเช้า กลางวัน เย็น: ถือว่าสุขภาพทารกในครรภ์ยังปกติ (รวมกัน 3 ครั้ง ทารกจะดิ้นอย่างน้อยประมาณ 12 ครั้ง)

ถ้าทารกดิ้นลดลงหมายความว่าอย่างไร? อันตรายหรือไม่? มีสาเหตุจากอะไร?

หากทารกดิ้นลดลงมากจนไม่ถึง 10 ครั้งใน 12 ชั่วโมงที่ผ่านมา จะเป็นการเตือนมารดาว่า อาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับทารก เพราะโดยปกติในแต่ละวันทารกจะมีการดิ้นบ่อยมาก การนับทารกดิ้นเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายที่สุด ประหยัดที่สุดในการที่จะให้สตรีตั้งครรภ์คอยสังเกตความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์

ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ทารกฯดิ้นน้อยมีสาเหตุ/ความสัมพันธ์กับหลายปัจจัย เช่น

  • ภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ของทารก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บcom บทความเรื่อง “ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์”) เช่น ทารกพิการ
  • ภาวะทารกขาดออกซิเจน เช่น ในภาวะน้ำคร่ำน้อย
  • ภาวะเครียดของทารกในครรภ์จากภาวะขาดออกซิเจน: เช่น ในกรณีมารดามีความดันโลหิตสูงจากภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือมีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์
  • นอกจากนั้น ยังพบว่าการที่มารดามีความเครียดมากก็จะส่งผลให้ทารกในครรภ์ดิ้นลดลงด้วย

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อทารกดิ้นลดลง?

ในสมุดฝากครรภ์ส่วนมากจะมีตารางให้มารดาสังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์ในแต่ละวัน และจดบันทึกไว้ สตรีตั้งครรภ์ควรต้องเอาใจใส่ในการสังเกตการดิ้นของทารกและบันทึกผลไว้เพื่อให้แพทย์ดูเมื่อไปฝากครรภ์ตามนัด, *หากทารกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้งใน 12 ชั่วโมงที่ผ่านมา หรือนับการดิ้นของทารกในระยะเวลา 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร เช้า กลางวัน และเย็นแล้วไม่ถึง 10 ครั้ง ก็ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลด่วน/ฉุกเฉิน ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

เมื่อไหร่ต้องไปพบแพทย์?

เมื่อสตรีตั้งครรภ์เริ่มรู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้นแล้ว ทารกจะต้องดิ้นไปเรื่อยๆทุกวัน ไม่มีการหยุดดิ้นหากไม่มีความผิดปกติ, *ดังนั้นหากสตรีตั้งครรภ์เคยรู้สึกว่าลูกดิ้นแล้วแต่ต่อมารู้สึกว่าทารกไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยลง, *ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยด่วน ซึ่งการที่จะรอจนรู้สึกว่าทารกไม่ดิ้น อาจสายเกินไป, *แพทย์จึงแนะนำว่าหากทารกดิ้นลดลงเหลือการดิ้นไม่ถึง 10 ครั้งใน 12 ชั่วโมงก็ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยด่วนแล้ว เพื่อให้แพทย์ตรวจดูความผิดปกติต่างๆทั้งของมารดาและของทารก

แพทย์ดูแลรักษาอย่างไรเมื่อทารกดิ้นลดลง?

เมื่อสตรีตั้งครรภ์ไปพบแพทย์ แพทย์จะมีการซักถามประวัติอาการต่างๆ และมีการตรวจร่างกายมารดาอย่างละเอียด สอบถามเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆในมารดาที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพทารกในครรภ์ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน การดื่มเหล้า การสูบบุหรี่  ฯลฯ

นอกจากนั้น แพทย์จะมีการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ เริ่มตั้งแต่การฟังเสียงการเต้นของหัวใจทารกว่ายังปกติดีหรือไม่ จากนั้นจะมีการตรวจและบันทึกการเต้นของหัวใจทารกประมาณ 20 - 30 นาทีเพื่อหาความสัมพันธ์กับการดิ้นของทารกที่เรียกว่า “Non stress test” หากผลตรวจปกติก็แสดงว่าสุขภาพทารกในครรภ์ยังดีและน่าจะไม่มีปัญหาในระยะเวลา 1 สัปดาห์ถัดไป, แต่หากผลการตรวจผิดปกติ จะมีการบันทึกการเต้นของหัวใจทารกนานเพิ่มขึ้นอีก 20 นาทีรวมเป็นอย่างน้อย ประมาณ40 นาที เผื่อเวลาให้สำหรับทารกที่นอนหลับ และอาจมีการกระตุ้นให้ทารกเคลื่อนไหวด้วยเครื่องตรวจที่ทำให้เกิดเสียง, หากผลตรวจยังผิดปกติขั้นตอนต่อไปจะเป็นการตรวจครรภ์/ทารกในครรภ์ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์เพื่อสังเกตการเคลื่อนไหวของทารกฯ ที่เรียกการตรวจนี้ว่า  Biophysical profile ย่อว่า  ‘BPP/บีพีพี’  

  BPP: คือการตรวจทารกในครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์เพื่อการนับอัตราการเต้นของหัวใจ,  อัตราการหายใจ, ดูการเคลื่อนไหวของร่างกายทารก เช่น แขน ขา,  และตรวจวัดปริมาณน้ำคร่ำเพื่อประเมินความผิดปกติของทารก, โดยการตรวจนี้จะให้เป็นค่าคะแนนออกมา โดยหากค่าคะแนนสูง แสดงว่าสุขภาพของทารกในครรภ์ยังปกติดี สามารถให้มารดาตั้งครรภ์ต่อไปได้หากอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด, แต่หากค่าคะแนนต่ำมากแสดงว่าสุขภาพของทารกในครรภ์มีปัญหา *แพทย์จะพิจารณาให้รีบคลอดก่อนกำหนดหรือคลอดฉุกเฉินทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์*

อนึ่ง:การตรวจอัลตราซาวด์สามารถใช้ดูความผิดปกติอย่างอื่นของทารกฯได้ด้วย เช่น ทารกพิการ และการตรวจอัลตราซาวด์เป็นวิธีที่เห็นการเคลื่อนไหวของหัวใจทารกได้แม่นยำที่สุด

เด็กที่คลอดจากภาวะดิ้นน้อยลงจะปกติเหมือนทารกทั่วไปไหม?

สุขภาพของทารกในครรภ์ และของทารกที่คลอดจากมีภาวะดิ้นน้อยลงจะขึ้นกับอายุครรภ์,  สาเหตุที่ทำให้ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง(เช่น ภาวะรกทำงานไม่ปกติทำให้ทารกฯขาดออกซิเจนเรื้อรัง, หรือมีความผิดปกติที่ตัวทารกฯเอง(เช่น มีโครโมโซมผิดปกติ, มีการติดเชื้อ, เป็นต้น)

หากกรณีที่ทารกขาดออกซิเจนไม่นานจากรกหรือสายสะดือมีปัญหาและคลอดในอายุครรภ์ที่ครบกำหนด  การเจริญเติบโตของทารกหลังคลอดจะเหมือนทารกปกติทั่วไป  

แต่หากทารกในครรภ์ขาดออกซิเจนเรื้อรังและ/หรือรุนแรง, หรือมีความผิดปกติของโครโมโซม, อาจส่งผลให้มีความผิดปกติทางสมองของทารกได้ซึ่งจะมีผลต่อพัฒนาการของทารกในระยะหลังคลอด

หลังคลอดมารดาควรดูแลตนเองอย่างไร?

ในกรณีที่ต้องคลอดทารกแบบฉุกเฉินมักเป็นการผ่าตัดคลอดบุตร การดูแลตนเองของมารดา จะเหมือนหลังการผ่าตัดคลอดทั่วไป (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การผ่าท้องคลอดบุตร), และมารดาอาจได้รับการสืบค้นต่างๆเพิ่มเติมหลังคลอด เช่น การตรวจเลือดหาสาเหตุที่ทำให้ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง,หรือที่ทำให้ทารกมีการเจริญเติบโตช้าในครรภ์ เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อไหร่?

การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปของมารดาที่เคยมีทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงขึ้นอยู่กับวิธีการคลอดว่า คลอดทางช่องคลอดหรือผ่าตัดคลอดบุตร,  อย่างไรก็ตามควรเว้นระยะห่างของการมีบุตรออกไปประมาณ 2 - 3 ปีเพื่อให้มีเวลาเลี้ยงดูบุตรได้อย่างเต็มที่, อีกทั้งควรหาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่างๆของมารดาที่จะมีผลต่อทารกในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเพื่อไม่เกิดปัญหาทารกในครรภ์ผิดปกติเกิดซ้ำอีก

บรรณานุกรม

  1. https://www.uptodate.com/contents/decreased-fetal-movement-diagnosis-evaluation-and-management?source=see_link [2022,June18 ]
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470566/ [2022,June18]