การคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency Contraception)
- โดย นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์
- 25 มีนาคม 2556
- Tweet
สารบัญ
- ความหมาย
- ขบวนการปฏิสนธิเป็นอย่างไร?
- กลไกของการป้องกันการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
- การคุมกำเนิดฉุกเฉินต่างจากการยุติการตั้งครรภ์ไหม?
- วิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินมีอะไรบ้าง?
- ข้อดีของวิธีต่างๆมีอะไรบ้าง?
- ข้อเสียของวิธีต่างๆมีอะไรบ้าง?
- ต้องตรวจร่างกายก่อนคุมกำเนิดฉุกเฉินหรือไม่?
- มีข้อห้ามการคุมกำเนิดฉุกเฉินหรือไม่?
- หลังป้องกันแล้วจะร่วมเพศซ้ำได้หรือไม่?
- ผลข้างเคียงจากยาและจากวิธีอื่นมีอะไรบ้าง?
- หลังใช้ยาหรือใช้วิธีอื่นแล้วถ้ามีเลือดออกทางช่องคลอดควรทำอย่างไร? จะแยกจากตั้งครรภ์ได้อย่างไร?
- ถ้ารับประทานยาแล้วคลื่นไส้อาเจียนยาออกมาจะทำอย่างไร?
- ประจำเดือนจะมาเมื่อไร?
- หลังใช้ยาและวิธีต่างๆ จะใช้ซ้ำได้อีกเมื่อไร? ควรใช้ซ้ำหรือไม่?
- หลังใช้วิธีต่างๆ จะตั้งครรภ์ได้อีกเมื่อไร?
- ถ้าเกิดตั้งครรภ์หลังใช้วิธีต่างๆไม่ได้ผล ทารกในครรภ์จะเป็นอย่างไร? มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ไหม?
- ถ้าอยากตั้งครรภ์หลังใช้วิธีการต่างๆ ควรทำอย่างไร? ต้องรออีกนานเท่าไร?
- สรุปแนวทางปฏิบัติในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน
- บรรณานุกรม
ความหมาย
การคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraception) หมายถึงการใช้ยาหรืออุปกรณ์ในภา วะฉุกเฉินเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุมกำเนิด เช่น ถูกข่มขืน ลืมรับประทานยาคุมกำเนิด มีเพศสัมพันธ์โดยขาดการป้องกัน ถุงยางอนามัยชำรุด ฉีกขาดหรือหลุดขณะมีเพศสัมพันธ์ในบางแห่งอาจเรียกการคุมกำเนิดฉุกเฉินนี้ว่า Postcoital contracep tion หรือ Morning after pill
ขบวนการปฏิสนธิเป็นอย่างไร?
โดยทั่วไปแล้ว หลังมีเพศสัมพันธ์ ตัวอสุจิจะใช้เวลาประมาณ 1 วัน ในการแหวกว่ายจากในช่องคลอดผ่านปากมดลูกที่ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร เข้าไปในโพรงมดลูกและว่ายขึ้นไปยังส่วนบนของโพรงมดลูก ซึ่งลึกประมาณ 7 เซนติเมตร เพื่อเข้าไปในท่อนำไข่ จนไปพบฟองไข่ที่ตกจากรังไข่เพียงฟองเดียวและถูกดูดเข้ามาทางปลายของท่อนำไข่ มารอพบตัวอสุจิบริเวณกลางท่อนำไข่ ท่อนำไข่จะมีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร จะมีตัวอสุจิตัวที่แข็งแรงที่สุดเพียงตัวเดียวเท่านั้น ที่สามารถเจาะผ่านเปลือกไข่เข้าไปปฏิสนธิกับฟองไข่ได้สำเร็จ อสุจิที่เหลือจะตายหมดตามธรรมชาติและถูกย่อยสลายไป
สำหรับรังไข่ จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น แต่เมื่อมีการตกไข่ไปแล้ว รังไข่จะสร้างฮอร์โมนชนิดที่สอง คือ โปรเจสเตโรน (Progeste rone) เพิ่มขึ้น เพื่อทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหยุดหนาตัวชึ้น ชะลอเพิ่มความหนา แต่เพิ่มความแน่น เนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกจึงแน่นขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของหลอดเลือดและต่อมต่างๆ เพื่อเตรียมความอุดมสมบูรณ์ของการฝังตัวของตัวอ่อนต่อไป
ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว จะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์มากขึ้นเรื่อยๆ จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 เพิ่มจำนวนเซลล์ขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่เพิ่มขนาด จนโตเต็มที่ เรียกว่า Blastocyst ซึ่งจะมีเซลล์ประมาณ 107-256 เซลล์ ขณะที่มีการแบ่งเซลล์เพิ่มขึ้น ท่อนำไข่ก็จะมีการเคลื่อน ไหวและใช้ขนเล็กๆ (Cilia) ของเซลล์เยื่อบุผนังท่อนำไข่ โบกช่วยให้ไข่ที่ถูกปฏิสนธิกลิ้งกลับเข้าไปในโพรงมดลูกอีกครั้ง เพื่อให้ Blastocyst ไปเกาะในผนังโพรงมดลูกและฝังตัวให้สำเร็จ ถ้าฝังตัวสำเร็จก็เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น ถ้าฝังตัวไม่สำเร็จ Blastocyst ก็จะสลายไปตามธรรมชาติ และหลุดออกจากโพรงมดลูกพร้อมประจำเดือน
ระยะเวลาตั้งแต่ตัวอสุจิและฟองไข่เกิดการปฏิสนธิ และแบ่งเซลล์กลิ้งกลับมาจนฝังตัวสำ เร็จ เกิดการตั้งครรภ์ใช้เวลาประมาณ 6 วัน ดังนั้น การคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ จึงต้องป้องกันให้สำเร็จภายใน 5 วัน นับจากการปฏิสนธิ ก่อนที่จะเกิดการฝังตัวและเกิดการตั้งครรภ์สำ เร็จในวันที่ 6 หลังการปฏิสนธิ การกระทำใดๆเพื่อไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์หลังจากเกิดการฝังตัวสำเร็จแล้ว ไม่สามารถทำได้เพราะจะถือว่าเป็นการทำแท้ง ซึ่งผิดกฏหมายและจริยธรรมทางการแพทย์
กลไกของการป้องกันการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
กลไกป้องกันการตั้งครรภ์ จะโดยการเปลี่ยนหรือขัดขวางขั้นตอนต่างๆของการปฏิสนธิ เช่น
- ยับยั้งหรือชะลอการตกไข่
- ขัดขวางการเดินทางของอสุจิและของไข่เพื่อไม่ให้เกิดการปฏิสนธิ
- เปลี่ยนคุณภาพของเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อไม่ให้ไข่ฝังตัวสำเร็จ
- ควบคุมรังไข่ไม่ให้สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตโรน ทำให้ขัดขวางการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูก
การคุมกำเนิดฉุกเฉินต่างจากการยุติการตั้งครรภ์ไหม?
การคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์วิธีหนึ่ง ใช้ก่อนที่จะเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น ส่วนการยุติการตั้งครรภ์ เป็นวิธีการที่ทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงหรือการทำแท้ง (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การแท้งบุตร ในเว็บ haamor.com) ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ที่ไม่สมควรให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปได้
วิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินมีอะไรบ้าง?
วิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินมีหลายวิธี ได้แก่
- Yuzpe regimen โดยใช้ยาฮอร์โมนผสมระหว่าง ยาฮอร์โมน Ethinyl estradiol และ ยาฮอร์โมน Levonorgestrel คล้ายยาเม็ดคุมกำเนิดแต่ปริมาณตัวยาสูงกว่า
- ยาLevonorgestrel เพียงชนิดเดียว เป็นยาฮอร์โมนโปรเจสเตโรนที่มีขนาดสูง ชื่อทาง การค้าที่รู้จักกันดีคือ Postinor
- Mifepristone (RU-486) มีฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนโปรเจสเตโรน ไม่มีจำหน่ายในบ้านเราและในสหรัฐอเมริกา มีใช้ในบางประเทศเท่านั้น
- ห่วงทองแดงคุมกำเนิด (Copper intrauterine contraception หรือ Copper IUD) (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การใส่ห่วงคุมกำเนิด ในเว็บ haamor.com)
วิธีอื่นนอกเหนือจากนี้ ไม่มีใช้ในบ้านเรา เนื่องจากผลการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ บางวิธียังอยู่ในขั้นทดลองอยู่ สำหรับ 2 วิธีหลัง คือ Copper IUD และ RU-486 มีประ สิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีที่สุดเกือบ 100% ในบางรายงานไม่พบการตั้งครรภ์ในผู้ใช้ Copper IUD เลย (ได้ผล 100%) และสามารถใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้หลังจากมีเพศสัม พันธ์นานถึง 5 วัน (120 ชั่วโมง)
วิธีที่มีประสิทธิภาพรองลงมาคือยา Postinor และ Yuzpe regimen ตามลำดับ 2 วิธีหลังจะมีประสิทธิภาพป้องกันการตั้งครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์ได้นานถึง 5 วัน เช่นกัน แต่พบว่าประ สิทธิภาพจะดีที่สุดในช่วง 72 ชั่วโมงแรก หรือ 3 วันแรกหลังมีเพศสัมพันธ์
Yuzpe regimen
ในปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) Yuzpe ได้ทดลองใช้ฮอร์โมนในยาเม็ดคุมกำเนิดคือ 100 ไมโครกรัมของ Etinyl estradiol และ 0.5 มิลลิกรัมของ Levonorgestrel ทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง พบว่าสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ หลังจากมีเพศสัมพันธ์นาน 72 ชั่วโมงหรือ 3 วัน ได้มีผู้ทำการศึกษาต่อมาพบว่า ยาสูตร (Regimen) นี้ได้ผลดี โดยเฉพาะถ้าทานยายิ่งเร็วยิ่งป้องกันได้ดีขึ้น และสามารถป้องกันได้นานถึง 120 ชั่วโมงหรือ 5 วัน โดยพบว่าโอกาสตั้งครรภ์หลังจากใช้ยาสูตรนี้ ในวันที่ 1, 2 และ 3 จะเท่ากับ 0.4%, 1.2% และ 2.7% ตามลำดับ
ปัจจุบัน Yuzpe regimen ไม่เป็นที่นิยมในสหรัฐอเมริกา เพราะมีวิธีอื่นที่มีประสิทธิภาพดี กว่า แต่สำหรับในเมืองไทย วิธีนี้ก็ยังใช้กันแพร่หลายอยู่ โดยแพทย์จะดัดแปลงขนาดของยาให้ใกล้เคียงกับ Yuzpe regimen โดยใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีวางจำหน่ายทั่วไป ชนิดที่มีปริมาณ Ethinyl estradiol สูง ซึ่งมักเป็นยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีราคาถูก มีปริมาณ Ethinyl estradiol ระหว่าง 30-50 ไมโครกรัม นำมาใช้รับประทานครั้งละ 2 เม็ด (แพทย์บางท่านแนะนำให้ใช้ครั้งละ 3 เม็ด แต่จะคลื่นไส้มาก) รับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง ก็สามารถได้ผลในการป้อง กันการตั้งครรภ์เช่นเดียวกับ Yuzpe regimen
Levonorgestrel (Postinor)
เป็นฮอร์โมนในกลุ่มโปรเจสเตโรนที่ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับ Yuzpe regimen คือช่วยชะลอการตกไข่ ทำให้มูกปากมดลูกข้นขึ้นจนตัวอสุจิผ่านยาก ช่วยให้กล้ามเนื้อท่อนำไข่เคลื่อนไหวช้าลง ทำให้ตัวอ่อนมาฝังตัวในโพรงมดลูกช้าลง และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกแห้ง ไม่เหมาะต่อการเกาะและฝังตัวของตัวอ่อน สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีกว่า Yuzpe regimen โดยมีโอ กาสตั้งครรภ์ประมาณ 2 % ในบ้านเรารู้จักยาคุมฉุกเฉินตัวนี้ในชื่อ Postinor ซึ่งจะมี Levonor gestrel ขนาด 0.75 มิลลิกรัม 2 เม็ด รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง
สำหรับในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร จะใช้ Levonorgestrel ขนาด 1.5 มิลลิ กรัม รับประทาน 1 เม็ดครั้งเดียว ซึ่งจากรายงานการวิจัยพบว่าได้ผลในการป้องกันการตั้งครรภ์เช่นเดียวกับชนิดที่แบ่งเป็น 2 เม็ด แต่ผู้ใช้จะสะดวกกว่าเพราะรับประทานเพียงครั้งเดียว ในกรณีที่แบ่งเป็น 2 เม็ด สามารถรับประทานห่างกัน 24 ชั่วโมง โดยที่มีประสิทธิภาพดีเช่นเดิม แต่จะสะดวกกว่ามากในกรณีที่รับประทานเม็ดแรกในช่วงบ่าย
ห่วงทองแดงคุมกำเนิด (Copper IUD)
เป็นวิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ถ้าใช้ภายใน 120 ชั่วโมง หรือ 5 วัน หลัง จากมีเพศสัมพันธ์ จะมีโอกาสตั้งครรภ์ไม่เกิน 0.2% บางรายงานพบว่าป้องกันได้ถึง 100% โดย Copper IUD จะไปกระตุ้นให้ท่อนำไข่มีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น ทำให้ตัวอ่อนเคลื่อนมาถึงโพรงมดลูกเร็วขึ้น ก่อนที่จะแบ่งตัวถึงระยะ Blastocyst นอกจากนี้ ห่วงคุมกำเนิดที่มีลวดทอง แดงพันรอบก้านห่วงอยู่ จะปล่อยประจุทองแดงไปเคลือบผิวของเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้มีคุณ สมบัติไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การใส่ห่วงคุมกำเนิด ในเว็บ haamor.com)
ยาในกลุ่มต้านฮอร์โมนโปรเจสติน หรือ ฮอร์โมนโปรเจสเตโรน (Antiproges tins)
คือ ยา Mifepristone หรือ RU-486 มีคุณสมบัติในการต่อต้านฮอร์โมนโปรเจสเตโรน ทำให้ชะลอการตกไข่และป้องกันการฝังตัว โดยเปลี่ยนคุณสมบัติของเยื่อบุโพรงมดลูกให้ไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน เนื่องจากขาดฮอร์โมนโปรเจสเตโรน ทำให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงถึง 99-100% ยาตัวนี้ไม่มีจำหน่ายทั้งในสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทย มีจำหน่ายเพียงบางประเทศเท่านั้น เช่น ประเทศฝรั่งเศส ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ในบ้านเรา
ข้อดีของวิธีต่างๆมีอะไรบ้าง?
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินโดยใช้ฮอร์โมน (Yuzpe regimen และ Postinor) สามารถหาได้ง่าย ยามีวางจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ราคาถูก สามารถใช้ได้รวดเร็วด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพบแพทย์
สำหรับ Copper IUD สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีมากเกือบ 100% รวมทั้งป้องกันการตั้งครรภ์ต่อไปได้อีกอย่างน้อย 5 ปี ถ้าไม่เอาห่วงออก
ข้อเสียของวิธีต่างๆมีอะไรบ้าง?
วิธีที่ใช้ฮอร์โมนอาจจะมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยา เช่น ปวดศีรษะ เลือดออกกระปริบกระปรอยทางช่องคลอด คัดตึงเต้านม โดยเฉพาะอาการคลื่นไส้อาเจียนพบได้บ่อยใน Yuzpe regimen ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมน Ethinyl estradiol สำหรับ Copper IUD นอกจากมีราคาแพงแล้วยังไม่สามารถใช้เองได้ ต้องไปให้แพทย์ใส่ให้ที่โรงพยาบาลหรือที่คลินิกเท่านั้น หลังใส่อาจมีอาการปวดท้องน้อย ส่วนใหญ่มักมีอาการเล็กน้อยในช่วงแรกๆ และจะหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องให้การรักษา
ต้องตรวจร่างกายก่อนคุมกำเนิดฉุกเฉินหรือไม่?
ถึงแม้จะมีข้อห้ามหลายประการสำหรับการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด แต่สำหรับในภาวะฉุก เฉินเช่นนี้ สามารถใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน (Yuzpe regimen และ Postinor) ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจร่างกายหรือเจาะตรวจเลือดใดๆทั้งสิ้น เพราะความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์มีน้ำ หนักมากกว่าความเสี่ยงจากการรับประทานยาเพียงครั้งเดียว แม้แต่การตรวจทดสอบการตั้ง ครรภ์ก็ไม่จำเป็น เพราะฮอร์โมนที่ใช้ไม่ทำให้เกิดการแท้งหรือความพิการในทารก แต่ถ้าสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ เช่น ขาดประจำเดือน หรือมีอาการคล้ายการตั้งครรภ์ก็อาจตรวจทดสอบก่อนได้ ถ้าหากตั้งครรภ์อยู่จะได้ไม่ต้องรับประทานยา สำหรับในรายที่มีประวัติถูกล่วงละเมิดทางเพศ จำ เป็นต้องตรวจร่างกาย บันทึกบาดแผลตามขั้นตอน เพื่อเป็นหลักฐานทางนิติเวชต่อไป
ในรายที่จะใส่ Copper IUD จำเป็นต้องพบแพทย์และตรวจยืนยันว่าไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ เพราะห่วงคุมกำเนิดที่ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกอาจทำให้เกิดผลเสียต่อการตั้งครรภ์ เช่น เกิดการแท้งบุตรได้
มีข้อห้ามการคุมกำเนิดฉุกเฉินหรือไม่?
สำหรับวิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดฮอร์โมน สามารถใช้ได้แม้ว่าผู้ใช้จะมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการใช้ฮอร์โมน เช่น โรคหัวใจ โรคลิ่มเลือดอุดตัน (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) โรคไมเกรน หรือโรคตับ เพราะการใช้ยาเพียงครั้งเดียว ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าความเสี่ยงที่จะปล่อยให้ตั้งครรภ์ ส่วนผู้ที่จะใส่ห่วงทองแดงคุมกำเนิด ควรได้รับการตรวจภาย ใน เพื่อวินิจฉัยแยกภาวะการตั้งครรภ์ เนื้องอกมดลูก และการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานเสีย ก่อน ถ้าตรวจพบภาวะเหล่านี้ก็ไม่สามารถใส่ห่วงคุมกำเนิดได้
หลังป้องกันแล้วจะร่วมเพศซ้ำได้หรือไม่?
สำหรับผู้ที่ใส่ห่วงคุมกำเนิดสามารถร่วมเพศซ้ำได้ตามต้องการ ตราบเท่าที่ยังไม่ถอดห่วงคุมกำเนิดออก ส่วนผู้ที่ใช้วิธีป้องกันด้วยฮอร์โมน ถ้าร่วมเพศในระหว่างที่รับประทานยาอยู่ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหลังจากรับประทานยาครบแล้วมาร่วมเพศใหม่ ก็จำเป็นต้องรับประทานยาเพิ่มอีก 1 ครั้ง โดยทั่วไปหลังใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแล้ว ควรคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดอื่นต่อเนื่องไป เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือถุงยางอนามัยชาย ไม่ควรใช้วิธีคุมกำเนิดที่ทำให้ประจำ เดือนไม่มา เช่น ยาฉีดคุมกำเนิดหรือยาคุมกำเนิดชนิดฝัง เพราะจะได้ทราบว่าหลังจากป้องกันแล้วเกิดการตั้งครรภ์หรือไม่
ผลข้างเคียงจากยาและจากวิธีอื่นมีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงจากการคุมกำเนิดฉุกเฉิน ได้กล่าวไว้ในข้อเสียของวิธีต่างๆแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ต้องทำอะไร อาการจะหายไปได้เอง เนื่องจากเป็นการใช้ยาในระยะสั้นๆ
หลังใช้ยาหรือใช้วิธีอื่นแล้วถ้ามีเลือดออกทางช่องคลอดควรทำอย่างไร? จะแยกจากตั้งครรภ์ได้อย่างไร?
ถ้าใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด ยังไม่ต้องรีบร้อน รอจนเลือดหยุดเองภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าเลือดออกมากหรือไม่ยอมหยุดก็สามารถรักษาด้วยยาฮอร์โมน ง่ายที่สุด คือทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดแผงต่อเนื่องไปเลยจนหมดแผง ในกรณีที่ใส่ห่วงคุมกำ เนิดแล้วเลือดออกผิดปกติ ก็ควรให้แพทย์ช่วยถอดห่วงออก ถ้าเลือดออกหลังใช้การคุมกำเนิดฉุกเฉินในสัปดาห์แรก ไม่น่าจะใช่สาเหตุจากการตั้งครรภ์ แต่ถ้ามีเลือดออกหลังใช้การคุมกำ เนิดฉุกเฉินไปแล้ว 3-4 สัปดาห์ ร่วมกับอาการคล้ายการตั้งครรภ์ เช่น คัดตึงเต้านม คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ หรือปวดท้องน้อย ซึ่งไม่สามารถแยกได้ชัดเจนระหว่างประจำเดือนหรือการตั้งครรภ์ ก็ควรซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์มาตรวจปัสสาวะดู
ถ้ารับประทานยาแล้วคลื่นไส้อาเจียนยาออกมาจะทำอย่างไร?
อาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาฮอร์โมนพบได้บ่อยครั้ง ดังนั้น ก่อนรับประทานยาชนิดฮอร์ โมน จึงควรป้องกันด้วยการรับประทานยาแก้คลื่นไส้ เช่น Plasil ขนาด 10 มิลลิกรัม 1 เม็ด ล่วง หน้า 1 ชั่วโมง ก่อนรับประทานยาคุมฉุกเฉิน จะช่วยลดอาการคลื่นไส้ลงมาก
แต่ถ้าไม่ได้รับประทานยากันคลื่นไส้ไว้ก่อน แล้วเกิดอาเจียนเอายาออกมา -ถ้าเป็น Postinor อาเจียนออกภายใน 2 ชั่วโมง ก็รับประทานยาแก้คลื่นไส้อาเจียน แล้วรับประ ทานยา Postinor แบบเดิมใหม่อีกครั้ง -ถ้าเป็น Yuzpe regimen อาเจียนยาออกมาภายใน 1 ชั่วโมง ก็ให้รับประทานยาแก้คลื่นไส้แล้วรับประทานยาซ้ำใหม่ หรือจะเปลี่ยนเป็น Postinor ซึ่งคลื่นไส้อาเจียนน้อยกว่าแทนก็ได้
ในกรณีที่รับประทานยาฮอร์โมนทั้ง 2 แบบ ไม่ได้จริงๆ และไม่สามารถใส่ห่วงคุมกำเนิดได้ มีบางรายงานแนะนำให้ใช้ยาฮอร์โมนเหน็บทางช่องคลอดแทน ก็สามารถป้องกันการตั้ง ครรภ์ได้เช่นกัน แต่ขนาดของยาที่ใช้ยังไม่แน่นอน ขอแนะนำให้ใช้วิธีนี้เป็นวิธีสุดท้ายเท่านั้น
ประจำเดือนจะมาเมื่อไร?
โดยปกติประจำเดือนจะมาเร็วหรือช้ากว่ากำหนดเดิมประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าหลังจากใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแล้วประจำเดือนยังไม่มาภายใน 3-4 สัปดาห์ หรือมีเลือดออกกระปริบกระปรอยทางช่องคลอด หรือมีอาการปวดท้องน้อย ควรตรวจทดสอบการตั้งครรภ์ ถ้าพบว่าตั้งครรภ์ต้องรีบไปพบสูตินรีแพทย์ทันที เพื่อตรวจดูว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติหรือตั้งครรภ์นอกมดลูก (ท้องนอกมดลูก) เพื่อวางแนวทางการดูแลรักษาต่อไป
หลังใช้ยาและวิธีต่างๆ จะใช้ซ้ำได้อีกเมื่อไร? ควรใช้ซ้ำหรือไม่?
หลังใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแล้ว ถ้ามีเพศสัมพันธ์ใหม่ก็สามารถใช้ยาซ้ำได้เรื่อยๆทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ แต่โดยทั่วไป แนะนำให้คุมกำเนิดในระยะยาวควบคู่ต่อเนื่องกันไปเลย เช่น ทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดแผงในกรณีที่จะมีเพศสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ สำหรับกรณีที่ใช้การคุมกำ เนิดฉุกเฉินด้วยการใส่ห่วงทองแดงคุมกำเนิด ก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม เพราะห่วงคุมกำเนิดชนิดนี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้ในโพรงมดลูกจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้นานถึง 5 ปี
หลังใช้วิธีต่างๆ จะตั้งครรภ์ได้อีกเมื่อไร?
สำหรับยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน หลังจากมีประจำเดือนมาครั้งแรกก็สามารถปล่อยให้ตั้งครรภ์ได้เลย ส่วนห่วงทองแดงคุมกำเนิด ถ้าต้องการที่จะตั้งครรภ์ก็ไปให้แพทย์ถอดห่วงออก และสา มารถปล่อยให้ตั้งครรภ์ได้ทันที
ถ้าเกิดตั้งครรภ์หลังใช้วิธีต่างๆไม่ได้ผล ทารกในครรภ์จะเป็นอย่างไร? มีอันตรายต่อทา รกในครรภ์ไหม?
สำหรับยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน จะไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์ ไม่ทำให้เกิดการแท้งบุตร หรือความผิดปกติใดๆต่อทารกในครรภ์ แต่ในกรณีของห่วงทองแดงคุมกำเนิด ถ้าเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมา ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อถอดห่วงคุมกำเนิดด้วยความระมัดระวัง เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการแท้ง หรือตัวห่วงอาจไประคายเคืองหรือทิ่มแทงถุงน้ำคร่ำจนเกิดภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดได้ ในกรณีที่แพทย์ไม่สามารถถอดห่วงคุมกำเนิดได้สำเร็จ อาจเกิดจากปลายสายห่วงเลื่อนเข้าไปในโพรงมดลูกจนมองไม่เห็น ห่วงจะหลุดออกมาพร้อมทารกในขณะที่แท้งหรือคลอดถ้าการตั้งครรภ์สามารถดำเนินต่อไปตามปกติจนครรภ์ครบกำหนด
ถ้าอยากตั้งครรภ์หลังใช้วิธีการต่างๆ ควรทำอย่างไร? ต้องรออีกนานเท่าไร?
การคุมกำเนิดฉุกเฉินทุกวิธีเมื่อยุติการใช้ ประจำเดือนก็จะกลับมาเป็นปกติและสามารถปล่อยให้ตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติต่อไป แต่ถ้าปล่อยให้ตั้งครรภ์นาน 1 ปี แล้วยังไม่ตั้งครรภ์ ทั้งๆที่มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอโดยไม่ได้คุมกำเนิด ก็ควรไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องการมีบุตรยากต่อไป
สรุปแนวทางปฏิบัติในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน
เมื่อมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะในช่วงใดของรอบเดือนแล้วไม่แน่ใจว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้าภายใน 3 วันแรก ให้รับประทานยา Levonorgestrel (7.5 มิลลิกรัม) หรือยา Postinor 2 เม็ด ทันที หรือจะแบ่งเป็นครั้งละ 1 เม็ดห่างกัน 12-24 ชั่วโมงตามความสะดวกในการรับประทาน
ถ้าหา Postinor ไม่ได้ ให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนสูง (ชนิดราคาถูก) 2 เม็ด 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง
ถ้าล่วงเลยมาถึงวันที่ 4 หรือ 5 รีบไปพบสูติแพทย์ เพื่อปรึกษาขอใส่ห่วงทองแดงคุมกำ เนิด หลังจากนั้น ถ้าประจำเดือนไม่มาภายใน 3-4 สัปดาห์ รีบตรวจทดสอบการตั้งครรภ์ทันที
บรรณานุกรม
- Cheng L, Gülmezoglu AM, Piaggio G, Ezcurra E, Van Look PF. Interventions for emergency contraception. Cochrane Database Syst Rev 2008:CD001324.
- Yuzpe AA, Thurlow HJ, Ramzy I, Leyshon JI. Post coital contraception : a pilot study. J Reprod Med 1974;13:53.
- Zhou L, Xiao B. Emergency contraception with Multiload Cu-375 SL IUD: a multicenter clinical trial. Contraception 2001;64:107-10.
- CDC. U.S. Medical eligibility criteria for contraceptive use, 2010. Classification for emergency contraception. http://www.cdc.gov/mmwr/pdf/rr/rr59e0528.pdf (Accessed on October 12, 2011).