การคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraception) - Update
- โดย พชรมน ไกรรณภูมิ
- 7 กันยายน 2567
- Tweet
สารบัญ
- เกริ่นนำ (Introduction)
- นิยาม (Definition)
- ยาคุมฉุกเฉิน (Emergency contraception)
- ประเภท (Type)
- ประสิทธิผล (Effectiveness)
- ความปลอดภัย (Safety)
- อัตรกิริยา (Interactions)
- ห่วงอนามัย หรือ ห่วงกำเนิด (Intrauterine device: IUD)
- การใช้ ECP ในการคุมกำเนิดเป็นประจำ
- การมีเพศสัมพันธ์และการทำแท้งที่มีความเสี่ยงสูง (High-risk sex and abortion)
- การคุมกำเนิดฉุกเฉินและการล่วงละเมิดทางเพศ (EC and sexual assault)
- กลไกการออกฤทธิ์ (Mechanism of action)
เกริ่นนำ (Introduction)
การคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraception - EC) เป็นมาตรการการคุมกำเนิด (Birth control) ที่ใช้หลังการมีเพศสัมพันธ์ (Sexual intercourse) เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ (Pregnancy)
การคุมกำเนิดฉุกเฉินมีหลายแบบ ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency Contraceptive Pills - ECPs) บางครั้งเรียกสั้นๆ ว่ายาคุมฉุกเฉิน (Emergency Contraceptives - ECs) หรือยาคุมเช้าวันถัดมา (Morning-after pill) เป็นยาที่มีจุดประสงค์เพื่อขัดขวางหรือชะลอการตกไข่ (Ovulation) หรือการปฏิสนธิ (Fertilization) ซึ่งเป็นขั้นตอนจำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์
ห่วงอนามัยหรือห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine devices - IUD) ซึ่งเป็นวิธีการคุมกำเนิดขั้นต้นเป็นรูปแบบการคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีประสิทธิผลมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การใช้ IUD เพื่อการคุมกำเนิดฉุกเฉินมักไม่ค่อยนิยม
นิยาม (Definition)
การคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นมาตรการการคุมกำเนิดที่ทำเพื่อลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ภายหลังจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือเมื่อใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นไม่ได้ผลหรือไม่ได้ใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งใช้ได้เป็นครั้งคราวและไม่เหมือนกับการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยา (Medical abortion) การคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับสตรีที่ไม่ประสงค์จะตั้งครรภ์แต่เคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในวันที่มีประจำเดือน (Menstrual cycle) ตั้งแต่วันที่ 21 หลังคลอดบุตร หรือตั้งแต่วันที่ 5 หลังการทำแท้ง (Abortion) หรือการแท้งบุตร (Miscarriage) มาตรการการคุมกำเนิดฉุกเฉิน ได้แก่ การกินยาคุมกำเนิดหรือการใส่ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดง
การคุมกำเนิดฉุกเฉินไม่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งด้วยยา ซึ่งเป็นการนำยามาใช้เพื่อยุติการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์
ยาคุมฉุกเฉิน (Emergency contraceptive pills)
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (ECP) บางครั้งเรียกว่าการคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยยาฮอร์โมน (EHC) จะกินหลังจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน (Unprotected sexual intercourse) หรือถุงยางอนามัย (Condom) ฉีกขาด
ประเภท (Types)
ยาคุมฉุกเฉินมีหลายประเภท เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว(Levonorgestrel, LNG) และยาคุมฉุกเฉินชนิดยาต้านโพรเจสติน (Ulipristal acetate หรือ Mifepristone) ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวและยาคุมฉุกเฉินชนิดยาต้านโพรเจสตินมีจำหน่ายในรูปแบบยาบรรจุกล่องโดยเฉพาะสำหรับใช้เป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเดิมจะประกอบด้วยฮอร์โมนชนิดเดียวกันในปริมาณที่สูงกว่า (เอสโตรเจน โปรเจสติน หรือทั้งสองอย่าง) ซึ่งพบในยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม แม้จะไม่แนะนำให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมเป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (เนื่องจากสูตรนี้มีประสิทธิภาพน้อยกว่าและทำให้เกิดอาการคลื่นไส้มากขึ้น) แต่อย่างไรก็ตามยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม (รับประทานครั้งละ 2-5 เม็ดหรือที่เรียกว่า "Yuzpe regimen") ก็ยังมีประสิทธิผลเหมือนกับยาคุมกำเนิดฉุกเฉินได้เช่นกัน
ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestin-only emergency contraceptive pills - ECP) ประกอบด้วยลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ทั้งแบบรับประทานหนึ่งเม็ด (หรือก่อนนี้ที่มีแบบแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง) ซึ่งมีประสิทธิภาพนานถึง 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ในหลายประเทศ (เช่น ออสเตรเลีย บังกลาเทศ บัลแกเรีย แคนาดา ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย อินเดีย มอลตา เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวาเกีย แอฟริกาใต้ สวีเดน สหรัฐอเมริกา) จำหน่ายยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวภายใต้ชื่อแบรนด์ต่างๆ มากมาย และสามารถซื้อเองได้จากร้านขายยาทั่วไป (OTC [= Over-the-counter]) จากเภสัชกรโดยไม่ต้องมีใบสั่งยา แต่บางประเทศก็ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์
ยายูลิพริสตัล อะซิเตต (Ulipristal acetate) ซึ่งเป็นยาต้านโปรเจสติน มีจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีอนุภาคขนาดเล็ก (Micronized) โดยมีประสิทธิภาพนานถึง 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ โดยยายูริพริสทอลอะซิเตทที่พัฒนาโดย HRA Pharma นี้มีจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไปในยุโรป และตามใบสั่งยาในกว่า 50 ประเทศภายใต้ชื่อแบรนด์ ellaOne, ella (วางตลาดโดย Watson Pharmaceuticals ในสหรัฐอเมริกา), Duprisal 30, Ulipristal 30 และ UPRIS
ยามิฟิพริสโตนชนิดต้านโพรเจสติน (Antiprogestin mifepristone) (หรือที่รู้จักในชื่อ RU-486) มีจำหน่ายใน 5 ประเทศ ในรูปแบบยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด Low-dose หรือ Mid-dose ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงสุด 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ โดยยามิฟิพริสโตนชนิดต้านโพรเจสตินแบบ Low-dose สามารถซื้อได้โดยมีใบสั่งยาจากแพทย์ในประเทศอาร์เมเนีย รัสเซีย ยูเครน และเวียดนาม และซื้อจากเภสัชกรโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาในจีน ส่วนยามิฟิพริสโตนชนิดต้านโพรเจสตินชนิด Mid-dose สามารถซื้อได้โดยมีใบสั่งยาจากแพทย์ในประเทศจีนและเวียดนาม
ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Ethinylestradiol และ Levonorgestrel หรือ Norgestrel) เคยจำหน่ายเป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉินโดยเฉพาะภายใต้ชื่อทางการค้าหลายแบรนด์ เช่น Schering PC4, Tetragynon, Neoprimavlar และ Preven (ในสหรัฐอเมริกา) ต่อมาจึงถอดถอนผลิตภัณฑ์นี้ออกจากตลาดเพราะยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Levonorgestrel) มีประสิทธิภาพมากกว่าแต่ผลข้างเคียงน้อยกว่า หากไม่มียาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดอื่นที่มีประสิทธิผลมากกว่า (Levonorgestrel, Ulipristal acetate หรือ Mifepristone) ก็สามารถรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่รับประทาน 2 ครั้งห่างกัน 12 ชั่วโมง (Yuzpe regimen) โดยจะมีประสิทธิภาพสูงสุด 72 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA [= Food and Drug Administration]) ได้อนุมัติการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมนอกข้อบ่งใช้เมื่อปี พ.ศ. 2540 ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 มียาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีส่วนประกอบของยาลีโวนอร์เจสเตรลหรือยานอร์เจสเตรลจำนวน 26 ยี่ห้อวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถใช้สูตรการคุมกำเนิดฉุกเฉินแบบ Yuzpe regimen หากไม่มีทางเลือกใดที่มีประสิทธิผลและต้านฤทธิ์ยาได้มากกว่า
ประสิทธิภาพ (Effectiveness)
ยา Ulipristal acetate และ mifepristone ขนาดปานกลางจะมีประสิทธิภาพมากกว่ายาลีโวนอร์เจสเตรล ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้วิธี Yuzpe
ประสิทธิผลของการคุมกำเนิดฉุกเฉินจะพิจารณาจากเปอร์เซ็นต์การตั้งครรภ์ที่ลดลงสำหรับการคุมกำเนิดแบบเดียว จากตัวอย่างของการคุมกำเนิดที่มี "ประสิทธิผล 75%" สามารถคำนวนได้ดังนี้
ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้แปลว่ามีอัตราการตั้งครรภ์ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่หมายความว่าหากผู้หญิง 1,000 คนมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันในช่วงสองสัปดาห์กลางรอบเดือน ก็จะมีการตั้งครรภ์ประมาณ 80 คน การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจะลดจำนวนในส่วนนี้ลงได้ราว 75 เปอร์เซ็นต์ เหลืออีก 20 คนที่มีโอกาสตั้งครรภ์
สูตรที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (ลีโวนอร์เจสเตรล) มีประสิทธิภาพ 89% ในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการติดฉลากบนแบรนด์ Plan B ของสหรัฐอเมริกาเพื่ออธิบายถึงอัตราประสิทธิผลนี้โดยระบุว่า "ผู้หญิง 7 ใน 8 คนที่มีโอกาสตั้งครรภ์จะไม่ตั้งครรภ์"
ในปี พ.ศ. 2542 การวิเคราะห์อภิมานจากงานวิจัยเกี่ยวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Yuzpe) 8 เรื่องสรุปว่าค่าประมาณแบบจุดที่มีประสิทธิผลที่สุดคือ 74% และในปี พ.ศ. 2546 การวิเคราะห์เกี่ยวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Yuzpe) ที่ใหญ่ที่สุด 2 เรื่อง โดยใช้วิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน พบว่ามีประสิทธิผลโดยประมาณที่ 47% และ 53%
ทั้งสูตรที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวและยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Yuzpe) การคุมกำเนิดฉุกเฉินจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อรับประทานภายใน 12 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ และลดลงเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO [= World Health Organization]) แนะนำว่ายานี้อาจจะมีประสิทธิผลต่อเนื่องนานถึง 120 ชั่วโมง (5 วัน) หลังมีเพศสัมพันธ์
ประมาณการรวมจากการทดลองใช้ยามิฟิพริสโตน (Mifepristone) 10 มก. ที่มีประสิทธิภาพนานถึง 120 ชั่วโมง (5 วัน) หลังมีเพศสัมพันธ์ 3 ครั้งแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิผลถึง 83% จากการตรวจสอบพบว่าการให้ยามิฟิพริสโตนในปริมาณปานกลางดีกว่า LNG หรือ Yuzpe ซึ่งประจำเดือนมาช้ากว่าปกติเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุด
HRA Pharma เปลี่ยนข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ของ Norlevo (Levonorgestrel 1.5 มก. ซึ่งเหมือนกับ EHC อื่น ๆ) ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ที่เตือนว่าจากการศึกษาพบว่ายานี้ไม่เหมาะกับสตรีที่มีน้ำหนักมากกว่า 75 กก. (165 ปอนด์) และไม่มีประสิทธิผลเลยสำหรับผู้หญิงที่มีน้ำหนักมากกว่า 80 กิโลกรัม (176 ปอนด์) หลังจากที่ European Medicines Agency ตรวจสอบจึงลบออกข้อความดังกล่าวออกจากบรรจุภัณฑ์ โดยหน่วยงานได้แจ้งว่ายาลีโวนอร์เจสเตรลเป็นวิธีการคุมกำเนิดฉุกเฉินที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยไม่คำนึงถึงน้ำหนักตัว
ความปลอดภัย (Safety)
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินคือมีอาการคลื่นไส้ (Nausea) 14% - 23% ของผู้ใช้ยาลีโวนอร์เจสเตรลอย่างเดียว และ 50.5% ของผู้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Yuzpe) ส่วนการอาเจียน (Vomiting) พบได้น้อยกว่ามากและอาจเกิดขึ้นเฉพาะจากการใช้ยาลีโวนอร์เจสเตรลอย่างเดียว (5.6% ของผู้ใช้ยาลีโวนอร์เจสเตรลอย่างเดียว เทียบกับ 18.8% ของผู้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Yuzpe) จำนวน 979 คนในการทดลองของ WHO ปีพ.ศ. 2541 และ 1.4% ของผู้ใช้ยาลีโวนอร์เจสเตรลอย่างเดียว จำนวน 2,720 คนในการทดลองของ WHO ปีพ.ศ. 2545) ไม่แนะนำให้ใช้ยาแก้อาเจียน (Anti-emetics) ร่วมกับยาคุมฉุกเฉินชนิดลีโวนอร์เจสเตรลอย่างเดียวเป็นประจำ หากผู้หญิงอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยาลีโวนอร์เจสเตรลอย่างเดียว ควรให้เธอรับประทานยาเพิ่มโดยเร็วที่สุด
ผลข้างเคียงอื่นๆ ที่พบบ่อย (ในการทดลองของ WHO ทั้งในปี พ.ศ. 2541 และ พ.ศ. 2545 มีการรายงานน้อยกว่า 20% ของผู้ใช้ยาลีโวนอร์เจสเตรลอย่างเดียว) ได้แก่ อาการปวดท้อง เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และเจ็บเต้านม โดยทั่วไปผลข้างเคียงจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง แม้รอบเดือนจะหยุดชั่วคราวก็เป็นเรื่องปกติ หากรับประทานก่อนการตกไข่ ปริมาณโปรเจสโตเจนที่สูงจากการใช้ยาลีโวนอร์เจสเตรลอาจทำให้โปรเจสโตเจนลดลง (Progestogen withdrawal bleeding) ภายใน 2-3 วันหลังจากรับประทานยา
ในการศึกษาหนึ่งพบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินลีโวนอร์เจสเตรลมีเลือดออกภายใน 7 วันหลังจากรับประทานยา หากรับประทานยาเลโวนอร์เจสเตรลหลังการตกไข่ อาจเพิ่มระยะลูเดียล (Luteal phase) ให้นานขึ้น ซึ่งจะทำให้การมีประจำเดือนล่าช้าไปอีก 2-3 วัน และหากรับประทานยามิฟิพริสโตนก่อนการตกไข่ อาจทำให้การตกไข่ล่าช้าไปอีก 3-4 วัน (การตกไข่ล่าช้าอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาล่าช้า) การหยุดประจำเดือนจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับยาคุมฉุกเฉินเท่านั้น ความยาวรอบต่อมาไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ หากผู้หญิงมีประจำเดือนล่าช้าตั้งแต่สองสัปดาห์ขึ้นไป ขอแนะนำให้ตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ (การตรวจก่อนหน้านี้อาจได้ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้อง)
หากมีการนำยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวหรือยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมาใช้โดยไม่ได้ตั้งใจจะไม่ได้มีผลต่อการตั้งครรภ์ที่มีอยู่เดิม เนื่องจากไม่มีอันตรายใด ๆ ต่อสตรี ระยะของการตั้งครรภ์ หรือทารกในครรภ์ แต่ในยาคุมฉุกเฉินไม่ได้บ่งชี้สำหรับสำหรับสตรีที่ทราบหรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ เนื่องจากไม่ได้ผลต่อสตรีที่ตั้งครรภ์แล้วนั่นเอง
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีประโยชน์มากกว่าโทษ สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics - AAP) และผู้เชี่ยวชาญด้านการคุมกำเนิดฉุกเฉินสรุปว่า ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวมีประสิทธิภาพดีกว่า ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสำหรับผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติภาวะลิ่มเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดสมอง หรือไมเกรน
ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวไม่มีผลต่อโรคประจำตัว ยิ่งกว่านั้นยังพบว่าการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินในผู้มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism) มีประวัติหรือกำลังเป็นมะเร็งเต้านม (Breast cancer) โรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease) และพอร์ไฟเรียเป็นพักๆ แบบเฉียบพลัน (Acute intermittent porphyria มีข้อดีมากกว่าความเสี่ยงในเชิงทฤษฎีหรือที่พิสูจน์แล้ว
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินสามารถลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy) โดยการป้องกันการตั้งครรภ์ และไม่เพิ่มความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์นอกมดลูกในสตรีที่ตั้งครรภ์หลังจากใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวได้เหมือนกับยาคุมกำเนิดอื่นๆ
อันตรกิริยาระหว่างยา (Interactions)
สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต (St John's wort) ที่ผ่านกระบวนการเตรียมและยากลุ่มเอนไซม์อินดิวเซอร์ (Enzyme-inducing) บางชนิด (เช่น ยากันชักหรือไรแฟมพิซิน) อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินลดลงและอาจต้องใช้ยาในปริมาณที่มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีน้ำหนักมากกว่า 165 ปอนด์
ห่วงอนามัย หรือ ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device: IUD)
มาตรการคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีประสิทธิผลคือการใช้ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง (IUD) ซึ่งโดยทั่วไปแนะนำให้ใช้ไม่เกิน 5 วันหลังจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือไม่เกิน 5 วันหลังจากการตกไข่ที่น่าจะเกิดขึ้น บางการศึกษาพบว่ามีห่วงอนามัยนี้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงสุด 10 วันหลังจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การศึกษาในปี พ.ศ. 2564 พบว่าห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมน (Hormonal IUD) มีประสิทธิผลในการคุมกำเนิดฉุกเฉินได้พอๆ กับห่วงอนามัยหุ้มทองแดง แม้ว่าแพทย์จะยังไม่แนะนำให้ใช้ในตอนนี้เนื่องจากยังขาดการวิจัยในเรื่องนี้
การใส่ห่วงอนามัยมีประสิทธิผลมากกว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน โดยมีอัตราการตั้งครรภ์เทียบเท่ากับการใช้ห่วงคุมกำเนิดปกติ ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงจะไปรบกวนการเคลื่อนไหวของอสุจิซึ่งต่างจากยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินที่ไปชะลอการตกไข่ ดังนั้น ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงจึงมีประสิทธิภาพเทีบเท่ากับการคุมกำเนิดฉุกเฉินในทุกช่วงน้ำหนัก ทั้งนี้อาจไม่จำเป็นต้องถอดห่วงอนามัยออกหลังการมีประจำเดือนครั้งถัดไปเพื่อให้สามารถคุมกำเนิดต่อเนื่องได้นานเท่าที่ต้องการ (12 ปีขึ้นไป)
การใช้ ECP ในการคุมกำเนิดเป็นประจำ
ยาลีโวนอร์เจสเตรล (ECP) เป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉินยี่ห้อหนึ่งที่วางขายทั่วไป แต่กลับพบว่ามีประสิทธิภาพคุมกำเนิดต่ำกว่าวิธีคุมกำเนิดแบบอื่นๆ
ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวชนิด High-dose ที่ใช้เหลังการมีเพศสัมพันธ์ก็เหมือนกับยาคุมชนิดฮอร์โมนอื่นๆ ที่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections) โดยทั่วไปจะแนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นตัวเลือกรองหรือในกรณี "ฉุกเฉิน" ตัวอย่างเช่น หากผู้หญิงลืมกินยาคุมกำเนิด หรือเมื่อถุงยางอนามัยขาดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับการบีบบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งไม่สามารถใช้การคุมกำเนิดเป็นประจำได้ การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินซ้ำๆ อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
การมีเพศสัมพันธ์และการทำแท้งที่มีความเสี่ยงสูง (High-risk sex and abortion)
การเข้าถึงยาคุมกำเนิดฉุกเฉินง่ายไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงทางเพศเพิ่มขึ้น แม้ว่ายาเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพต่อผู้ใช้ยาในเวลาที่เหมาะสม แต่ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในปัจจุบันก็ไม่ได้ทำให้อัตราการทำแท้งในระดับประชากรลดลงแต่อย่างใด
ในปีพ.ศ. 2555 American Academy of Pediatrics (AAP) ระบุว่า "แม้จะมีการศึกษาหลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มขึ้น และมีหลักฐานว่าการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนจะไม่รบกวนการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่วาทกรรมสาธารณะและทางการแพทย์ก็สะท้อนให้เห็นว่าคุณค่าส่วนบุคคลของแพทย์และเภสัชกรยังคงส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการคุมกำเนิดฉุกเฉิน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น"
การคุมกำเนิดฉุกเฉินและการล่วงละเมิดทางเพศ (EC and sexual assault)
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมาได้เริ่มให้ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศใช้ยายาไดเอ็ททิลสติลเบสตรอล (DES) ในปัจจุบัน มาตรฐานการดูแลในเรื่องนี้คือการแนะนำให้ใช้ยา Ulipristal หรือการใส่ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดงทันทีซึ่งเป็นรูปแบบการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามแผนกฉุกเฉิน ก่อนที่จะเลือกใช้ทางเลือกในการคุมกำเนิดฉุกเฉินเหล่านี้ (ในปีพ.ศ. 2539) อัตราการตั้งครรภ์ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ถูกข่มขืนอยู่ที่ประมาณ 5% แม้ว่าจะแนะนำให้มีการคุมกำเนิดหลังจากการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ยังคงมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงในการปฏิบัติงานทางคลินิก
กลไกการออกฤทธิ์ (Mechanism of action)
กลไกหลักของการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนเดี่ยวคือป้องกันการปฏิสนธิโดยการยับยั้งการตกไข่ หลักฐานที่ดีที่สุดที่มีอยู่คือยยานี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ หลังการปฏิสนธิ เช่น การป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อน (Implantation) ฉลากที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA ของสหรัฐอเมริกาและฉลากที่ได้รับการอนุมัติจาก EMA [= European Medicines Agency] ของยุโรป (ยกเว้น NorLevo ของ HRA Pharma) ยาลีโวนอร์เจสเตรลระบุไว้ว่า ยานี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งไม่ทำให้ไม่เกิดการฝังตัวของตัวอ่อน การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบปกติทุกวันอาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกเปลี่ยนแปลงไป (แม้ว่าจะไม่ได้พิสูจน์ว่าส่งผลต่อการฝังตัวก็ตาม) แต่การใช้ยาลีโวนอร์เจสเตรลไม่มีเวลาที่จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกเปลี่ยนแปลงได้ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 สหพันธ์สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยานานาชาติ (International Federation of Gynocology and Obstetrics: FIGO) ออกแถลงการณ์ว่า "การตรวจสอบหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ยาคุมฉุกเฉิน LNG (ยาลีโวนอร์เจสเตรล) ไม่สามารถป้องกันการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมแล้วได้ ความหมายของการฝังตัวจึงไม่ควรรวมอยู่ในฉลากผลิตภัณฑ์ยาคุมฉุกเฉิน LNG" ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 บทบรรณาธิการของนิตยสารนิวยอร์กไทมส์เรียกร้องให้ FDA ถอดคำแนะนำที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิงว่ายา Levonorgestrel ยับยั้งการฝังตัวออกจากฉลาก ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 องค์กรยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) อนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงฉลากยา NorLevo ของ HRA Pharma โดยระบุว่าไม่สามารถป้องกันการฝังไข่ที่ได้รับการผสมแล้วได้
การคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสตินไม่มีส่งผลต่อการทำงานของท่อนำไข่หรือเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์นอกมดลูก (Progesterone receptor modulator) กลไกหลักของการออกฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินแบบโมดูเลเตอร์ตัวรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เช่น ไมเฟพริสโตนขนาดต่ำและขนาดกลาง และยูลิพริสตัล อะซิเตต คือ การป้องกันการปฏิสนธิโดยการยับยั้งหรือชะลอการตกไข่ การศึกษาทางคลินิกชิ้นหนึ่งพบว่าการให้ยายูลิพริสตัล อะซิเตตหลังการตกไข่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกเปลี่ยนแปลงไป แต่การเปลี่ยนแปลงจะยับยั้งการฝังตัวหรือไม่นั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ฉลากที่ได้รับการรับรองจาก EMA ของยุโรปสำหรับยายูลิพริสตัล อะซิเตต ไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบต่อการฝังตัวของไข่ แต่ฉลากที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA ของสหรัฐอเมริการะบุว่า "การเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุโพรงมดลูกที่อาจส่งผลต่อการฝังตัวอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพเช่นกัน"
กลไกการออกฤทธิ์หลักของห่วงอนามัยหุ้มทองแดง (IUD) สำหรับการคุมกำเนิดฉุกเฉินคือการป้องกันการปฏิสนธิเนื่องจากความเป็นพิษของทองแดงต่ออสุจิ (Sperm) และไข่ (Ova) ประสิทธิผลที่สูงมากของ IUD แบบปล่อยทองแดงในการคุมกำเนิดฉุกเฉินแสดงให้เห็นว่า IUD จะต้องป้องกันการตั้งครรภ์บางอย่างด้วยผลหลังการปฏิสนธิ เช่น การป้องกันการฝังตัวของไข่
ประวัติความเป็นมา (History)
ในปี พ.ศ. 2509 นรีแพทย์ John McLean Morris และนักชีววิทยา Gertrude Van Wagenen จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเยล ได้รายงานความสำเร็จในการใช้ยาเอสโตรเจนขนาดสูงชนิดรับประทานมาใช้เป็นยาคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ในสตรีและลิงแสม (Rhesus macaque monkey) ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการศึกษายาหลายชนิดโดยเน้นไปที่การใช้เอสโตรเจนขนาดสูง และก็หวังว่าการคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบต่อเนื่องได้
วิธีแรกที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือการใช้เอสโตรเจนขนาดสูงเป็นเวลาห้าวัน โดยใช้ยาไดเอทธิลสติลเบสตรอล (Diethylstilbestrol - DES) ในสหรัฐอเมริกา และยาเอทินิลเอสทราไดออล (Ethinylestradiol) ในเนเธอร์แลนด์โดย Haspels
ช่วงปี พ.ศ. 2517 A. Albert Yuzpe ได้พัฒนายาคุมฉุกเฉินแบบฮอร์โมนรวม หรือที่เรียกว่า Yuzpe Regimen ต่อมามีการตรวจสอบการคุมกำเนิดด้วยยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวหลังการมีเพศสัมพันธ์ (พ.ศ. 2518) และมีการศึกษาห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดงเพื่อใช้เป็นการคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นครั้งแรก (พ.ศ. 2518) ต่อจากนั้นในช่วงปีพ.ศ. 2523 ได้มีการนำยาดานาซอล (Danazol) มาทดสอบ เพราะหวังว่าจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่า Yuzpe Regimen แต่ก็พบว่าไม่ได้ผล
ในช่วงปี พ.ศ. 2523 (คศ. 1980) สูตร Yuzpe (วิธีการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมในขนาดสูงเป็นการคุมกำเนิดฉุกเฉิน) กลายเป็นวิธีมาตรฐานสำหรับการคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ในหลายประเทศโดยยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่ออกตามใบสั่งแพทย์ชนิดแรกนั่นก็คือ Schering PC4 (เอธินิลเอสตราไดออลและนอร์เจสเตรล) ซึ่งได้รับการอนุมัติในสหราชอาณาจักรในเดือนมกราคม พ.ศ. 2527 และจำหน่ายครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2527 ต่อมา Schering ได้เปิดตัวยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่ออกตามใบสั่งแพทย์ชนิดที่สอง ได้แก่ Tetragynon (เอธินิลเอสตราไดออลและเลโวนอร์เจสเตรล) ในประเทศเยอรมนีในปี พ.ศ. 2528 ในปี พ.ศ. 2540 ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่ออกตามใบสั่งแพทย์ของ Schering AG ได้รับการอนุมัติให้วางขายใน 9 ประเทศเท่านั้น คือ สหราชอาณาจักร (Schering PC4) นิวซีแลนด์ (Schering PC4) แอฟริกาใต้ (E-Gen-C) เยอรมนี (Tetragynon) สวิตเซอร์แลนด์ (Tetragynon) เดนมาร์ก (Tetragynon) นอร์เวย์ (Tetragynon) สวีเดน (Tetragynon) และฟินแลนด์ (Neoprimavlar) และถูกถอนออกจากการตลาดในนิวซีแลนด์ในปี พ.ศ. 2540 เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขายยาผ่านหน้าเคาน์เตอร์ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมทั่วไป (ซึ่งมีราคาถูกกว่าและหาซื้อได้ทั่วไปมากกว่า) มักใช้ Yuzpe Regimen แม้แต่ในประเทศที่มีผลิตภัณฑ์เฉพาะจำหน่ายก็ตาม
เมื่อเวลาผ่านไปก็มีความสนใจในการรักษาด้วยยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวมากขึ้น โครงการพิเศษเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ของมนุษย์ (HRP) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีสมาชิก ได้แก่ ธนาคารโลก และองค์การอนามัยโลก "มีบทบาทสำคัญในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน" โดย "ยืนยันถึงประสิทธิผลของยาเลโวนอร์เจสเตรล" หลังจากที่ WHO ได้ทำการทดลองขนาดใหญ่โดยการเปรียบเทียบ Yuzpe และยาเลโวนอร์เจสเตรล ในปี พ.ศ. 2541 จากนั้นจึงค่อย ๆ ถอนยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมออกจากตลาดบางแห่ง (ถอน Preven ออกจากสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547 ถอน Schering PC4 ออกจากสหราชอาณาจักรในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 และถอน Tetragynon ในฝรั่งเศส) เพื่อสนับสนุนการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว แต่ Yuzpe Regimen ที่ต้องสั่งโดยแพทย์เท่านั้นยังคงมีวางจำหน่ายในบางประเทศ
ในปี พ.ศ. 2545 จีนกลายเป็นประเทศแรกที่มีการจดทะเบียนยาไมเฟพริสโตนเพื่อใช้สำหรับการคุมกำเนิด
ในปี พ.ศ. 2563 ญี่ปุ่นประกาศว่าจะพิจารณาผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับการขายยาคุมกำเนิดฉุกเฉินโดยไม่ต้องมีใบสั่งยา กลุ่มที่ไม่แสวงหากำไรได้ยื่นคำร้องต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเรียกร้องให้เข้าถึงยาเม็ดนี้ได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยา พวกเขารวบรวมลายเซ็นได้มากกว่า 100,000 ลายเซ็น
การคำนวณด้านประสิทธิผล (Calculating effectiveness)
การศึกษาเกี่ยวกับการคุมกำเนิดฉุกเฉินในระยะเริ่มแรกไม่ได้คำนวณถึงอัตราความล้มเหลว แต่เป็นการรายงานเพียงจำนวนสตรีที่ตั้งครรภ์หลังจากใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน เมื่อปี พ.ศ. 2523 ได้มีการทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับการคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีต่อความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกในกลุ่มศึกษา หากไม่มีการใช้ยาคุม ซึ่งจะคำนวณด้านประสิทธิผลโดยหารการตั้งครรภ์ที่สังเกตด้วยจำนวนการตั้งครรภ์โดยประมาณที่ไม่ได้ใช้ยาคุม
การทดลองกับกลุ่มควบคุมด้วยยาหลอกซึ่งสามารถวัดอัตราการตั้งครรภ์ได้อย่างแม่นยำโดยไม่ใช้ยาคุมจะถือเป็นการผิดจรรยาบรรณ ดังนั้นเปอร์เซ็นต์ด้านประสิทธิผลจึงขึ้นอยู่กับอัตราการตั้งครรภ์โดยประมาณ ในปัจจุบันสามารถประมาณค่าเหล่านี้โดยใช้การนับระยะปลอดภัย (Calendar method) ยกเว้นผู้หญิงที่มีรอบเดือนไม่ตรงเวลาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม (รวมถึงการใช้ฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิดและการให้นมบุตร (Breastfeeding)) แม้แต่ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ก็ยังยอมรับว่ามีข้อจำกัดของการนับระยะปลอดภัย ในบทความปริทัศน์ที่ว่าด้วยเรื่องเหตุฉุกเฉินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 Trussell และ Raymond บันทึกไว้ว่า
การคำนวณด้านประสิทธิผลโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวส่วนของเศษส่วนมักเกี่ยวข้องกับสมมติฐานหลายอย่างที่ตรวจสอบได้ยาก ความเสี่ยงของการตั้งครรภ์สำหรับผู้หญิงที่ใช้ยา ECP ดูเหมือนจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในการประมาณการประสิทธิภาพของยา ECP ซึ่งส่งผลให้มีการประเมินที่สูงเกินไป อย่างไรก็ตาม การประมาณการประสิทธิภาพที่แม่นยำอาจไม่เกี่ยวข้องกับมากนักกับผู้หญิงจำนวนมากที่เคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน เนื่องจากยา ECP มักเป็นวิธีการรักษาเพียงอย่างเดียวที่ใช้กันอยู่
ในปี พ.ศ. 2542 เสนอให้การตรวจระดับฮอร์โมนเป็นวิธีประเมินภาวะเจริญพันธุ์ที่แม่นยำมากกว่าสำหรับการศึกษาเรื่องการคุมกำเนิดฉุกเฉิน
สหรัฐอเมริกา (United States)
ยา DES
- ในปี พ.ศ. 2514 กองบรรณาธิการของ New England Journal of Medicine ที่เรียกร้องให้สนใจการศึกษาที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการใช้ DES เพื่อการคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) และการศึกษาขนาดใหญ่ที่ตีพิมพ์ใน JAMA [= Journal of American Medical Association] เกี่ยวกับการใช้ DES เพื่อการคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ได้นำไปสู่การใช้ DES แบบนอกข้อบ่งใช้เพื่อการคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งแพร่หลายในบริการด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง
- ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2516 จากความพยายามที่จะจำกัดการใช้ DES แบบนอกข้อบ่งใช้เพื่อการคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การข่มขืน จึงได้ส่งจุลสารทางยาของ FDA ไปยังแพทย์และเภสัชกรในสหรัฐฯ ทุกคน และกล่าวว่ากรรมธิการ FDA ได้อนุมัติให้ใช้ DES ในการคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด
- ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2516 FDA ได้ตีพิมพ์ข้อบังคับในการติดฉลากสำหรับประชาชนและข้อกำหนดบรรจุภัณฑ์พิเศษสำหรับผู้ผลิตที่ต้องการให้ FDA อนุมัติการขายยา DES เพื่อการคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ โดยเชิญชวนให้ผู้ผลิตส่งคำขอใช้ยาใหม่แบบย่อ (ANDA [= Abbreviated new drug application]) สำหรับข้อบ่งชี้นั้น และแจ้งให้ผู้ผลิตทราบว่า FDA ตั้งใจที่จะสั่งถอนยา DES ขนาด 25 มก. (ซึ่งใช้เป็นยาคุมกำเนิดแบบนอกข้อบ่งใช้) ออกจากตลาด
- ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2516 Eli Lilly ผู้ผลิต DES รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาได้เลิกผลิตยา DES ขนาด 25 มก. และในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2517 ได้ส่งจดหมายถึงแพทย์และเภสัชกรในสหรัฐฯ ทุกคน โดยแจ้งว่าไม่แนะนำให้ใช้ยา DES เพื่อการคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์
- บริษัทยาเพียงแห่งเดียวคือ Tablicaps Inc. ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาสามัญ (Generic drugs) ขนาดเล็กที่เคยยื่นขอ ANDA สำหรับการใช้ยา DES เพื่อการคุมกำเนิดฉุกเฉินหลังการมีเพศสัมพันธ์ (ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2517) และ FDA ก็ยังไม่เคยอนุมัติ
- ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 FDA ระบุว่ายังไม่ได้อนุมัติยา DES เพื่อการคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ แต่หลังจากวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2518 จะอนุญาตให้ขายยา DES ตามข้อบ่งชี้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การข่มขืนหรือการร่วมประเวณีระหว่างพี่น้อง หากผู้ผลิตได้รับ ANDA ที่ได้มีการติดฉลากสำหรับประชาชนและข้อกำหนดบรรจุภัณฑ์พิเศษตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับขั้นสุดท้ายของ FDA ที่ตีพิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ยา DES นอกข้อบ่งใช้เพื่อการคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 FDA ได้สั่งให้นำยา DES ขนาด 25 มก. (ขึ้นไป) ออกจากตลาด และยา DES ที่มีขนาดน้อยลง (5 มก. หรือน้อยกว่า) ยังคงได้รับการอนุมัติให้ใช้สำหรับข้อบ่งใช้อื่น ๆ เช่น "ผลิตภัณฑ์นี้ไม่ควรใช้เป็นยาคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์" โดยเขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่บรรทัดแรกในเอกสารกำกับยาและตำแหน่งบนฉลากบรรจุภัณฑ์และกล่องที่เห็นได้ชัดเจน
- ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2521ได้มีการจัดส่งจุลสารทางยาของ FDA ไปยังแพทย์และเภสัชกรในสหรัฐฯ ทุกคน โดยกล่าวว่า "FDA ยังไม่อนุมัติให้ผู้ผลิตรายใดขายยา DES เพื่อการคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานจะอนุมัติข้อบ่งชี้นี้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การข่มขืนหรือการร่วมประเวณีระหว่างพี่น้อง หากผู้ผลิตได้มีการติดฉลากสำหรับประชาชนและบรรจุภัณฑ์แบบพิเศษ และเพื่อไม่ให้ใช้ยา DES เป็น 'ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน' โดยไม่มีการติดฉลากสำหรับประชาชน ทาง FDA จึงได้ถอดยา DES ขนาด 25 มก. ที่เคยใช้ในวัตถุประสงค์นี้ออกจากตลาด"
- ในช่วงปี 2523 ได้นำ Yuzpe regimen แบบนอกข้อบ่งใช้มาใช้แทนยา DES แบบนอกข้อบ่งใช้สำหรับการคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์
- ยา DES ไม่มีวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป โดย Eli Lilly ผู้ผลิตรายสุดท้ายในสหรัฐฯ ได้หยุดการผลิตในฤดูใบไม้ผลิปี 2540
ยา Preven
- เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 FDA โพสต์ประกาศในระบบทะเบียนหลัก (Federal Register) โดยระบุว่าได้สรุปว่า Yuzpe regimen มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับการใช้งานแบบนอกข้อบ่งใช้เพื่อการคุมกำเนิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ พร้อมยอมรับ NDA สำหรับ COCP ที่มีป้ายกำกับเป็น ECP และอยู่ในรายการ COCP ที่มีอยู่แล้ว 6 รายการ (ขณะนี้มี 22 รายการ) ที่สามารถใช้เป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉินได้
- เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2541 FDA อนุมัติชุดยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแบบ Yuzpe regimen ที่ต้องสั่งโดยแพทย์ (ซึ่งประกอบด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ในปัสสาวะและ COCP 4 ชุด) และยกเลิกการใช้ Preven ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547
ยา Plan B
- เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 FDA อนุมัติให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว Plan B (ยาเลโวนอร์เจสเตรล 750 ไมโครกรัมจำนวนสองเม็ด) ตามใบสั่งแพทย์
- เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2549 FDA อนุมัติการเข้าถึง Plan B โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรที่ได้รับใบอนุญาตสำหรับสตรีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ Plan B ต้องมีใบสั่งโดยแพทย์เท่านั้นสำหรับผู้หญิงอายุน้อยกว่าอายุ 17 ปี
- เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 Barr Pharmaceuticals ประกาศว่าบริษัทในเครือ Duramed Pharmaceuticals ได้เริ่มจัดส่ง Plan B OTC/Rx แบบฉลากคู่ และจะวางจำหน่ายในร้านขายยาทั่วสหรัฐอเมริกาภายในกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549
- เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552 ผู้พิพากษาสหรัฐสั่งให้ FDA อนุญาตให้เด็กอายุ 17 ปีสามารถใช้ Plan B ได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยา ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงการพิจารณาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2549 และ Plan B พร้อมให้ "บริการโดยเภสัชกร" สำหรับชายและหญิง พร้อมวิธีการที่ต้องสั่งโดยแพทย์สำหรับเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 17 ปี
- เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2013 FDA อนุมัติ Plan B One-Step ของ Teva Pharmaceutical Industries สำหรับการขายโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาให้กับผู้ใดก็ตามที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่สามารถแสดงหลักฐานทางอายุได้ เช่น ใบขับขี่ (Driver's license) สูติบัตร (Birth certificate) หรือหนังสือเดินทาง (Passport) ให้กับพนักงานขายปลีกร้านขายยา (โดยมีการผูกขาดทางการตลาดเป็นเวลา 3 ปี) อย่างไรก็ตามจะยังคงจำกัดการจำหน่ายยาคุมฉุกเฉินเลโวนอร์เจสเตรลแบบหนึ่งเม็ดและยาคุมฉุกเฉินเลโวนอร์เจสเตรลแบบสองเม็ดโดยเภสัชกร (Pharmacist) เท่านั้น โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาให้กับผู้ใดก็ตามที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไปที่สามารถแสดงหลักฐานทางอายุได้
- เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ฝ่ายบริหารของโอบามาจะไม่ขัดขวางการจำหน่ายยาหน้าเคาน์เตอร์อีกแล้ว ซึ่งก็หมายความว่าบุคคลใดก็ตามจะสามารถซื้อ Plan B One-Step ได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยานั่นเอง
ความมีพร้อม (Availability)
สหราชอาณาจักร (United Kingdom)
มีรายงานว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในสหราชอาณาจักรทำให้เกิด "การหยุดชะงักอย่างมีนัยสำคัญ" ต่อบริการคุมกำเนิดในสหราชอาณาจักร
สหรัฐอมริกา (United States)
จากคำตัดสิน Roe v. Wade และ Doe v. Bolton ส่งผลให้ศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกามีคำพิพากษาในปี 1973 เพื่อทำให้การทำแท้งถูกต้องตามกฎหมาย โดยออกเป็นกฎหมายทั้งของรัฐบาลกลางและของรัฐเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสถาบันต่างๆ มีสิทธิในการปฏิเสธบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยไม่ต้องรับโทษทางการเงิน วิชาชีพ หรือทางกฎหมาย คำตัดสิน Roe v. Wade ทำให้มีการสำรวจทางประวัติศาสตร์และสรุปว่า คดีสิทธิความเป็นส่วนตัว (Right to privacy) เช่น Griswold v. Connecticut อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถควบคุมการเลี้ยงดูบุตรโดยผู้ปกครอง รวมถึงการใช้การคุมกำเนิดได้อย่างอิสระ หลังจากนั้นผู้หญิงก็ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการคุมกำเนิดมากขึ้น และเริ่มขอใช้บ่อยขึ้น
เกือบทั้ง 50 รัฐในสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับบริการทำหมัน (Sterilization) การคุมกำเนิด (Contraceptives) และการทำแท้ง นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 นอกจากสิทธิที่ได้รับจากนโยบายเฉพาะแล้ว การจ่ายยาคุมกำเนิดฉุกเฉินในแง่ของข้อโต้แย้งทางศาสนาและศีลธรรมเพื่อการดูแลรักษาได้ขยายจากแพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาลไปยังร้านขายยาและเภสัชกร นอกจากนี้ หลายรัฐยังมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมการคุมกำเนิดควบคู่ไปกับยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์อื่นๆ ทั้งหมด แต่อาจมีการยกเว้นสำหรับนายจ้างหรือบริษัทประกันเอกชนด้วยเหตุผลทางศาสนา สภานิติบัญญัติของรัฐต่างๆ ต่างก็ใช้เส้นทางที่แตกต่างกันในการขยายการเข้าถึงการคุมกำเนิดฉุกเฉิน ในบางรัฐ หากผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศจำเป็นต้องให้เธอเข้าถึงการคุมกำเนิดให้ได้ ในรัฐอื่น อาจอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าถึงนโยบายนี้ได้หลากหลาย อาทิ ความสามารถในการเข้าถึงการคุมกำเนิดฉุกเฉินโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ การออกนโยบายที่จำกัดความสามารถของเภสัชกรในการปฏิเสธการคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยเหตุผลทางศาสนาและศีลธรรม และการออกนโยบายห้ามเภสัชกรปฏิเสธการจ่ายยาคุมกำเนิด ในบางรัฐอาจกำหนดให้ร้านขายยาทุกแห่งสามารถแนะนำวิธีการคุมกำเนิดได้ทุกวิถีทาง แต่บางรัฐก็อาจจำกัดการเข้าถึงการคุมกำเนิดฉุกเฉินในการขยายสิทธิ์การวางแผนครอบครัวตามโครงกันประกันสุขภาพของรัฐ (Medicaid) หรือคำสั่งความคุ้มครองด้านการคุมกำเนิด หรือโดยการอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพปฏิเสธที่จะให้บริการคุมกำเนิด
กฎหมายรัฐบาลกลาง ภายใต้พระราชบัญญัติการดูแลที่จ่ายได้ (Affordable Care Act) ปี 2010 รับประกันความคุ้มครองด้านการคุมกำเนิดสำหรับแผนประกันสุขภาพเอกชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ กฎหมายนี้ครอบคลุมวิธีคุมกำเนิด 18 วิธีสำหรับผู้หญิง รวมถึงการให้คำปรึกษาและบริการที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้ผู้รับบริการไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ฝ่ายบริหารของทรัมป์ทำให้นายจ้างที่เสนอแผนการดูแลสุขภาพยกเว้นความคุ้มครองเรื่องการคุมกำเนิดเป็นเรื่องง่ายขึ้น โดยกฎระเบียบสองข้อที่อนุญาตให้นายจ้างปฏิเสธความคุ้มครองเรื่องการคุมกำเนิดถือเป็นข้อโต้แย้งทางศาสนาและศีลธรรม แต่ศาลไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎระเบียบเหล่านี้ ปัจจุบันนี้ 29 รัฐกำหนดให้หากการประกันภัยครอบคลุมยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ก็จะต้องจัดหายาและอุปกรณ์คุมกำเนิดที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันหรือเทคนิคการจัดการทางการแพทย์ในการเข้าถึงการคุมกำเนิดใน 10 รัฐต้องเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว และใน 8 รัฐไม่อนุญาตให้นายจ้างหรือบริษัทประกันปฏิเสธด้วยเหตุผลทางศาสนาหรือศีลธรรม อย่างไรก็ตาม ใน 21 รัฐอนุญาตให้ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งความคุ้มครองเรื่องการคุมกำเนิด และ 14 รัฐกำหนดให้ไม่ต้องมีการร่วมจ่ายค่าบริการสำหรับการคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ที่มักถูกปฏิเสธเนื่องจากความเชื่อทางศาสนาหรือศีลธรรม แต่ก็มีหลายกรณีที่ไม่ให้ใช้ร่วมกับฮอร์โมน ยา และอุปกรณ์ที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อ HIV และยารักษาโรคเบาหวาน หัวข้อนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในหลายๆ ระดับ ตัวอย่างเช่น Stormans, Inc และ Wiesman ท้าทายกฎระเบียบของรัฐวอชิงตันเกี่ยวกับการจัดหายาตามใบสั่งแพทย์ตามกฎหมายทั้งหมด รวมทั้งยาคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วย พวกเขากำลังท้าทายกฎระเบียบของรัฐวอชิงตันในการจัดหายาตามใบสั่งแพทย์โดยชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด ศาลได้รับคำเตือนมาว่าหากอนุญาตให้เภสัชกรปฏิเสธใบสั่งยาสำหรับการคุมกำเนิดฉุกเฉินอันเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนาหรือศีลธรรม อาจส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนและกลายเป็นบรรทัดฐานที่เป็นภัยต่อ "การดูแลป้องกันและการช่วยชีวิต" ศาลปฏิเสธข้อเรียกร้อง โดยระบุว่าร้านขายยาทุกแห่ง แม้ว่าเจ้าของร้านจะมีข้อโต้แย้งทางศาสนาก็ต้องจัดหายาตามใบสั่งแพทย์ทั้งหมด รวมถึงการคุมกำเนิดด้วย ร้านขายยาที่มีปัญหาพยายามอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลฎีกา แต่การอุทธรณ์ถูกปฏิเสธ และให้ยืนตามศาลชั้นต้น วอล-มาร์ท (Wal-Mart) ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านขายยาที่ใหญ่เป็นอันดับสามของสหรัฐอเมริกาปฏิเสธที่จะนำยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเข้ามาตั้งแต่ปี 1997 ถึง 2006 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงยาอาจยังคงเป็นปัญหาในพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาร้านขายยาแห่งเดียวโดยไม่มีทางเลือกอื่น
อ่านตรวจสอบโดย รศ. ดร. พญ. วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์
แปลและเรียบเรียง จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Emergency_contraception [2024, September 7]
โดย พชรมน ไกรรณภูมิ