กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ต่อมไร้ท่อ หมายถึงต่อมที่สร้างฮอร์โมน และฮอร์โมนนั้นๆซึมผ่านเข้าสู่หลอดเลือดโดย ตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีท่อนำส่งฮอร์โมนนั้นๆไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ ซึ่งเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆที่มีตัวรับฮอร์โมนนั้นๆ (Hormone receptor) จะสามารถนำฮอร์โมนนั้นๆไปใช้ทำงานได้เลย

 

ต่อมไร้ท่อ เป็นต่อมที่อยู่ในระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งประกอบด้วย ต่อมไร้ท่อต่างๆดังนี้ คือ

  • ต่อมไพเนียล
  • ต่อมใต้สมอง
  • ต่อมไทรอยด์
  • ต่อมพาราไทรอยด์
  • ต่อมไทมัส
  • ต่อมหมวกไต
  • บางส่วนของตับอ่อน
  • รังไข่ (ในผู้หญิง)
  • และอัณฑะ (ในผู้ชาย)

 

ต่อมไร้ท่อ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนต่างๆที่ทำงานประสานซึ่งกันและกัน และช่วยกำกับการทำงานของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย และเนื่องจากฮอร์โมนเหล่านี้ทำงานประสานกัน ดังนั้นโรคของต่อมไร้ท่อต่อมใดต่อมหนึ่งจึงส่งผลกระทบถึงการทำงานของต่อมไร้ท่อต่อมอื่นๆได้ จึงมักก่อให้เกิดโรคหรือภาวะผิดปกติต่างๆกับทุกอวัยวะทั่วร่างกายที่เรียกว่า Systemic disease

 

โรคของต่อมไร้ท่อ พบเกิดในทุกอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และพบทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งโรคของต่อมไร้ท่อเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่ง โดยที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคเบาหวาน

 

อนึ่ง สมองส่วนที่กำกับดูแลและประสานงานในการทำงานของต่อมไร้ท่อคือ สมองส่วน ไฮโปธาลามัสที่มีหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และจิตใจด้วย ดังนั้นการทำงานของต่อมไร้ท่อจึงมักสัมพันธ์กับอารมณ์/จิตใจด้วย

 

กายวิภาคและสรีรวิทยาของต่อมไพเนียล

กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ

ต่อมไพเนียล (Pineal gland) เป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็ก อยู่ในตำแหน่งลึกเกือบตรงกลางสมองส่วนหน้า (Forebrain) โดยมีรูปร่างเป็นรูปกรวยคล้ายเมล็ดต้นสน (Pine cone จึงเป็นที่ มาของคำว่า Pineal) ขนาดประมาณ 5 - 8 มิลลิเมตร

 

หน้าที่ของต่อมไพเนียล ยังไม่ชัดเจน แต่สร้างฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้กลางวันกลางคืนและการนอนหลับ นอกจากนั้นยังควบคุมเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่เป็นสัญลักษณ์ทางเพศคือ การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเพื่อเข้าสู่วัยรุ่น เช่น การเจริญของเต้านม และการมีหนวด เป็นต้น

 

ต่อมไพเนียล เป็นต่อมที่พบเกิดโรคได้น้อย ที่อาจพบได้คือ โรคเนื้องอกหรือโรคมะเร็งของต่อมไพเนียล ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มโรคของ โรคเนื้องอกและโรคมะเร็งสมอง ซึ่งมักพบเฉพาะในเด็กโตและในวัยรุ่น

 

กายวิภาคและสรีรวิทยาของต่อมใต้สมอง

ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland หรือ Hypophysis) เป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร หนักประมาณ 0.5 กรัม อยู่ตรงกลางในส่วนที่เป็นฐานของกะโหลกศีรษะซึ่งเป็นฐานรองรับสมองทั้งหมด ต่อมนี้จึงได้ชื่อว่า ต่อมใต้สมอง

 

ต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนสำคัญทั้งหมด 9 ชนิดเพื่อควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่อเกือบทั้งหมดทั่วร่างกาย โดยอยู่ในการควบคุมของฮอร์โมนจากสมองไฮโปธาลามัส

 

ต่อมใต้สมองแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหน้า และส่วนหลัง

 

ก. ต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior pituitary หรือ Adenohypophysis): ต่อมส่วนนี้ถูกควบคุมโดยสมองไฮโปธาลามัส มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่

1. Adenocorticotropic hormone หรือ Corticotropin เรียกย่อว่า ACTH มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมหมวกไต

2. Beta-endorphin ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดของร่างกาย

3. Thyroid stimulating hormone หรือ Thyrotropin เรียกย่อว่า TSH/ทีเอสเอช มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์

4. Follicle stimulating hormone เรียกย่อว่า FSH/เอฟเอสเอช มีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการทำงานของรังไข่ในผู้หญิงและของอัณฑะในผู้ชาย โดยจะทำงานร่วมกับ ฮอร์โมน LH

5. Luteinizing hormone หรือ Lutropin เรียกย่อว่า LH/แอลเอช มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของรังไข่ในผู้หญิงและของอัณฑะในผู้ชาย

6. ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต (Growth hormone หรือ Human growth hormone) เรียกย่อว่า GH/จีเอช หรือ HGH/เอชจีเอช

7. Prolactin หรือ Lactogenic hormone (ไม่นิยมเรียกย่อ) หน้าที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนเพศของรังไข่และการสร้างน้ำนมของเต้านม

 

อนึ่ง ปัจจุบันพบว่า เนื้อเยื่อส่วนที่อยู่ระหว่างต่อมใต้สมองส่วนหน้าและต่อมใต้สมองส่วนหลังเรียกว่า Intermediate lobe (ซึ่งการศึกษาเชื่อว่า น่าจะเป็นส่วนของต่อมใต้สมองส่วนหน้า ) จะสร้างฮอร์โมนชื่อ Melanocyte stimulating hormone เรียกย่อว่า MSH/เอ็มเอสเอช ที่มีหน้าที่กระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดสี (Melanocyte) เช่น ที่ผิวหนัง ผม ขนต่างๆ และยังช่วยกระตุ้นความรู้สึกหิว และความรู้สึกทางเพศ

 

ข. ต่อมใต้สมองส่วนหลัง (Posterior pituitary): สร้างฮอร์โมน 2 ชนิดคือ

1. Oxytocin มีหน้าที่ช่วยการบีบตัวของมดลูกและในการหลั่งน้ำนม และอาจ เกี่ยวข้องกับความเสียวสุดยอดทางเพศ (Orgasm)

2. Vasopressin หรือ Antidiuretic hormone เรียกย่อว่า ADH/เอดีเอช มีหน้าที่ช่วยไตในการคงสมดุลของน้ำในร่างกายโดยการช่วยดูดซึมน้ำกลับเข้าหลอดเลือด ไม่ให้ไตขับปัสสาวะ/น้ำออกในปริมาณมากเกินไป, ช่วยการบีบตัวของหลอดเลือดแดง เพื่อคงความดันโลหิตให้อยู่ในภาวะปกติด้วย, และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าวในผู้ชาย

 

ทั้งนี้ ต่อมใต้สมอง มักไม่ค่อยเกิดโรค เมื่อเกิดโรคมักเกิดจากเนื้องอกหรือเซลล์ต่อมใต้สมองทำงานเกินปกติ ซึ่งทั้ง 2 กรณีจะส่งผลให้มีการสร้างฮอร์โมนผิดปกติ ซึ่งมีได้ทั้งการสร้างฮอร์โมนต่างๆลดลง หรือการสร้างฮอร์โมนต่างๆในปริมาณเพิ่มขึ้น

 

อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง

 

กายวิภาคและสรีรวิทยาของต่อมไทรอยด์

ไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อขนาดใหญ่ อยู่ด้านหน้าของลำ คอ ในส่วนหน้าต่อลูกกระเดือกหรือต่อกระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid cartilage) มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ประกอบด้วย 2 กลีบใหญ่คือ กลีบด้านซ้ายและกลีบด้านขวา ซึ่งทั้งสองกลีบเชื่อมต่อถึงกันได้ด้วยเนื้อเยื่อบางๆที่เรียกว่า อิสธ์มัส (Isthmus)

 

ต่อมไทรอยด์ปกติของผู้ใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 18 - 30 กรัม แต่ละกลีบของต่อมไทรอยด์ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร (ซม.) ส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 2 - 3 ซม. และส่วนที่หนาสุดประมาณ 0.8 - 1.6 ซม. ซึ่งต่อมไทรอยด์ปกติไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และไม่สามารถคลำพบได้

 

ต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนสำคัญ 3 ชนิดคือ ไทรอกซีน หรือ ที4 (Thyroxine, T-4), ไตรไอโอโดไธโรนีน หรือ ที3 (Triiodothyronine, T-3), และ แคลซิโทนิน (Calcitonin ) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญน้อยกว่าฮอร์โมน ที-4 และ ที-3 เป็นอย่างมาก ดังนั้นโดยทั่ว ไป เมื่อกล่าวถึงไทรอยด์ฮอร์โมน จึงมักหมายความถึงเฉพาะฮอร์โมน ที-4 และ ที-3 เท่านั้น

 

ฮอร์โมน ที-4 และฮอร์โมน ที-3 มีหน้าที่สำคัญมากคือ ควบคุมดูแลการใช้พลังงานทั้งจากอาหารและจากออกซิเจน หรือที่เรียกว่า เมตาโบลิซึม (Metabolism หรือ กระบวนการแปรรูปอณู) ของเซลล์ต่างๆ, เพื่อการเจริญเติบโตของเซลล์, การทำงานและการซ่อมแซมเซลล์ที่บาดเจ็บสึกหรอ, และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายด้วย

 

ส่วนฮอร์โมนแคลซิโทนิน มีหน้าที่ช่วยควบคุมการทำงานของเกลือแร่แคลเซียมในร่าง กายให้อยู่ในสมดุล

 

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมที่ทำงานโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของต่อมใต้สมองและของสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส ซึ่งทั้งต่อมใต้สมองและสมองไฮโปธาลามัสยังควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่นๆด้วยเช่น ต่อมหมวกไต รังไข่ และอัณฑะ และยังมีความสัมพันธ์กับ อารมณ์และจิตใจ ดังนั้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งโรคหรือภาวะผิดปกติต่างๆของต่อมไทรอยด์ จึงสัมพันธ์กับการทำงานและโรคต่างๆของอวัยวะต่างๆดังกล่าวด้วย รวมทั้งความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ

 

อนึ่ง โรคของต่อมไทรอยด์เป็นโรคที่พบบ่อย โดยโรคที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรคคอพอก นอกนั้น เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน และโรคมะเร็งต่อม ไทรอยด์ ส่วนโรคอื่นๆที่พบได้ประปรายคือ โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองของต่อมไทรอยด์ และโรคต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดติดเชื้อ

 

และ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์

 

กายวิภาคและสรีรวิทยาของต่อมพาราไทรอยด์

ต่อมพาราไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็ก โดยทั่วไปมีอยู่ทั้งหมด 4 ต่อม โดยกระจายอยู่ด้านหลัง/ด้านใต้ของต่อมไทรอยด์ในตำแหน่งด้านบนและด้านล่างของแต่ละกลีบซ้ายและขวา แต่บางครั้งอาจมีมากถึง 6 - 8 ต่อมหรือมากกว่านี้ได้ และบางครั้งอาจพบฝังอยู่ในตัวต่อมไทรอยด์หรืออยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆของช่องอกได้

 

ต่อมพาราไทรอยด์ แต่ละต่อมหนักประมาณ 25 - 40 มิลลิกรัม มีขนาดประมาณเท่ากับเมล็ดข้าว คือประมาณ 3 - 5 มิลลิเมตร

 

ต่อมพาราไทรอยด์ มีหน้าที่สร้างพาราไทรอยด์ฮอร์โมน/ฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid hormone ) หรือ Parathormone เรียกย่อว่า PTH/พีทีเอช โดยจะทำงานต้านกับฮอร์โมน Calcitonin จากต่อมไทรอยด์ เพื่อรักษาระดับแคลเซียมในเลือดให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อทั้งกล้ามเนื้อและสมองจะทำงานได้เป็นปกติ เพราะการทำงานของเนื้อเยื่อทั้งสองจะขึ้นกับระดับของแคลเซียมในเลือด

 

ต่อมพาราไทรอยด์ เป็นต่อมที่ไม่ค่อยเกิดโรค แต่เมื่อเกิดโรค โรคที่พบบ่อยคือ ภาวะเซลล์ต่อมทำงานเกินปกติ หรือมีเนื้องอกของต่อมฯ หรือที่พบน้อยมากๆคือ โรคมะเร็งของต่อมพาราไทรอยด์

 

อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • ฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์

 

กายวิภาคและสรีรวิทยาของต่อมไทมัส

ต่อมไทมัส (Thymus gland) เป็นต่อมไร้ท่อมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคของร่างกาย (Immune system) เป็นต่อมที่อยู่ในช่องอกตอนบน ตัวต่อมอยู่ใต้กระดูกอก (Sternum) โดยอยู่บนด้านหน้าของหัวใจ

 

ต่อมไทมัส มีการเจริญเติบโตและทำงานเต็มที่ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงช่วงวัยรุ่น หลังจากนั้นจะค่อยๆฝ่อตัวลงไปเรื่อยๆ โดยมีเนื้อเยื่อพังผืดและเนื้อเยื่อไขมันเข้ามาแทนที่ตามอายุที่มากขึ้น จากแรกเกิดที่มีน้ำหนักประมาณ 15 กรัม และในวัยรุ่นหนักประมาณ 35 กรัม เป็นหนักประมาณ 25 กรัมเมื่ออายุประมาณ 25 ปี, หนักน้อยกว่า 15 กรัมเมื่ออายุประมาณ 60 ปี, และลดลงเหลือเพียงประมาณ 5 กรัมเมื่ออายุประมาณ 70 ปี ทั้งนี้เมื่อแรกเกิด ต่อมไทมัสจะมีขนาดประมาณกว้าง 4 เซนติเมตร ยาว 5 เซนติเมตร และหนา 6 มิลลิเมตร

 

ต่อมไทมัส ไม่ค่อยเกิดโรคเช่นกัน แต่เมื่อเกิดโรค โรคที่พบบ่อยคือ โรคเนื้องอกที่เรียกว่า ไทโมมา (Thymoma) และอาจพบเกิดเป็นโรคมะเร็งได้ประปราย

 

กายวิภาคและสรีรวิทยาของต่อมหมวกไต

ต่อมหมวกไต (Adrenal gland หรือ Suprarenal gland) เป็นต่อมไร้ท่อคู่ซ้าย-ขวา เป็นต่อมอยู่ในช่องท้องส่วนบน โดยอยู่เหนือยอดไตทั้ง 2 ข้าง รูปร่างคล้ายรูปสามเหลี่ยม มีน้ำหนักข้างละประมาณ 5 กรัม มีขนาดข้างละ กว้างxยาวxหนา ประมาณ 30x50x10 มิลลิเมตร

 

ต่อมหมวกไตมี 2 ส่วนคือ ต่อมหมวกไตส่วนนอก (Adrenal cortex) และต่อมหมวกไตส่วนใน (Adrenal medulla)

 

ก. ต่อมหมวกไตส่วนนอก: มีหน้าที่สร้างฮอร์โมน 3 ชนิดคือ

  • ฮอร์โมน Aldersterone มีหน้าที่ควบคุมสมดุลของเกลือแร่โซเดียม โดยควบคุมเซลล์ไตในการดูดซึมเกลือแร่โดยเฉพาะโซเดียมกลับคืนจากปัสสาวะ จึงช่วยควบคุมความดันโลหิตด้วย (เกลือแร่โซเดียมจะเป็นตัวควบคุมความดันโลหิต)
  • ฮอร์โมน Cortisol หรือ Glucocorticoid มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคของร่างกาย ต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ และช่วยการเปลี่ยนโปรตีนและไขมันจากกล้ามเนื้อให้เป็นน้ำตาลกลูโคลส (Glucose) เพื่อนำมาเก็บสะสมไว้ที่ตับ
  • ฮอร์โมน Androgen ซึ่งสร้างเพียงเล็กน้อย เป็นฮอร์โมนช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก ลดการสะสมไขมันในร่างกาย และช่วยเพิ่มความรู้สึกทางเพศ

 

ข. ต่อมหมวกไตส่วนใน: มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนซึ่งได้แก่

  • ฮอร์โมน Epinephrine หรือ Adrenalin ซึ่งมีหน้าที่สัมพันธ์กับประสาทอัตโนมัติ เป็นฮอร์โมนที่เรียกว่า ฮอร์โมนแห่งการต่อสู่ (Fight or fight response) โดยจะเป็นฮอร์โมนที่เพิ่ม อัตราการเต้นของหัวใจ และอัตราการหายใจ, กระตุ้นตับให้ปล่อยกลูโคสเข้าสู่กระแสโลหิต, และเพิ่มการหดตัวของกล้ามเนื้อ
  • ฮอร์โมน Norepinephrine หรือ Noradrenalin มีหน้าที่คล้ายคลึงกับฮอร์โมน Epinephrine โดยจะทำงานเสริมซึ่งกันและกัน

 

อนึ่ง ต่อมหมวกไต เป็นต่อมที่ไม่ค่อยเกิดโรค แต่เมื่อเกิดโรค โรคที่พบบ่อยคือ การมีเซลล์ต่อมหมวกไตเจริญเกินปกติ หรือโรคเนื้องอกของต่อมหมวกไต โดยพบเกิดได้ที่ต่อมหมวกไตข้างเดียว (โอกาสเกิดข้างขวาและข้างซ้ายใกล้เคียงกัน) หรืออาจเกิดทั้ง 2 ข้างพร้อมกันก็ได้ นอกจากนั้น ที่พบได้ประปรายคือ โรคมะเร็งของต่อมหมวกไต อย่างไรก็ตาม พบว่าโรคมะเร็งปอดในระยะสุดท้าย (ระยะที่ 4 ระยะที่แพร่กระจาย) มักแพร่กระจายสู่ต่อมหมวกไตอาจข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้

 

อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต

 

กายวิภาคและสรีรวิทยาของตับอ่อน

ตับอ่อน (Pancreas) เป็นอวัยวะในช่องท้องตอนบน อยู่ใต้ต่อกระเพาะอาหาร จัดเป็นอวัยวะอยู่ในระบบทางเดินอาหารเช่นเดียวกับตับ (Liver แปลว่า ก้อนเนื้อขนาดใหญ่ในช่องท้อง ที่มีสีแดงคล้ำ) แต่ตับอ่อนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตับ เป็นคนละอวัยวะกัน ไม่เกี่ยวข้องกัน เพียงแต่มีชื่อภาษาไทยที่พ้องกัน ซึ่งผู้เขียนไม่ทราบที่มา แต่เข้าใจเอาเองว่า อาจจากเพราะเป็นอวัยวะในระบบทางเดินอาหารและมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อเหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดเล็ก และเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มกว่าตับ จึงได้ชื่อว่า ตับอ่อน (ในภาษาไทย) ส่วนคำว่า Pancreas มาจากภาษากรีกแปลว่า ‘เนื้อ (Flesh)’

 

บางท่านเปรียบเทียบว่า ตับอ่อนมีลักษณะและขนาดเหมือนกล้วยหอม กว้างประมาณ 2 -4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12 - 15 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 60 - 100 กรัม ประกอบด้วยเซลล์หลัก 2 ชนิดคือ เซลล์จากต่อมไร้ท่อ (Endocrine gland) และเซลล์จากต่อมมีท่อ/หรือ ต่อมขับออก (Exocrine gland)

 

โดยต่อมไร้ท่อของตับอ่อนมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิดคือ

  • ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของน้ำตาลในเลือด ช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวาน
  • ฮอร์โมน Glucagon มีหน้าที่ต้านการทำงานของ ฮอร์โมนอินซูลิน โดยจะช่วยให้มีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
  • ฮอร์โมน Pancreatic polypeptide hormone เพื่อช่วยควบคุมการทำงานของตับอ่อนทั้งการหลั่งฮอร์โมนจากเซลล์ต่อมไร้ท่อและการหลั่งน้ำย่อยจากเซลล์ต่อมมีท่อ
  • ฮอร์โมน Pancreatic somatostatin มีหน้าที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนอินซูลิน และ Glucagon ให้อยู่สมดุล

 

อนึ่ง โรคของตับอ่อนเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก ที่พบได้คือ โรคตับอ่อนอักเสบ โรคมะ เร็งตับอ่อน และที่พบได้เพียงประปรายคือ โรคมะเร็งตับอ่อนชนิดเอ็นโดครายหรือชนิดไอส์เล็ต

 

กายวิภาคและสรีรวิทยาของรังไข่

กายวิภาคและสรีระวิทยาของรังไข่ ได้เขียนแยกต่างหากในเว็บ haamor.com ในบท ความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรี (แนะนำอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความดังกล่าวในเว็บ haamor.com )

 

กายวิภาคและสรีรวิทยาของอัณฑะ

กายวิภาคและสรีระวิทยาของอัณฑะ ได้เขียนแยกต่างหากในเว็บ haamor.com ในบท ความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (แนะนำอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความนั้นในเว็บ haamor.com)

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.britannica.com/science/adrenal-gland [2020, Feb8]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Adrenal_gland [2020, Feb8]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Anterior_pituitary [2020, Feb8]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Endocrine_system [2020, Feb8]
  5. https://www.livestrong.com/article/226152-norepinephrine-vs-epinephrine/ [2020, Feb8]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Pancreas [2020, Feb8]
  7. https://emedicine.medscape.com/article/1948885-overview#showall [2020, Feb8]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Parathyroid_gland [2020, Feb8]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Pineal_gland [2020, Feb8]
  10. https://en.wikipedia.org/wiki/Pituitary_gland [2020, Feb8]
  11. https://en.wikipedia.org/wiki/Posterior_pituitary [2020, Feb8]
  12. https://en.wikipedia.org/wiki/Thymus [2020, Feb8]
  13. https://en.wikipedia.org/wiki/Thyroid [2020, Feb8]