กลุ่มอาการชีแฮน (Sheehan Syndrome)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มอาการชีแฮนคืออะไร?

กลุ่มอาการชีแฮน(Sheehan Syndrome) คือ โรคเกิดจากต่อมใต้สมอง(Pituitary gland)เกิดขาดเลือดมาเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน  ทำให้เสียการทำงานของต่อมใต้สมอง โดยเฉพาะต่อมใต้สมองส่วนหน้า

 กลุ่มอาการชีแฮน มักเกิดในกรณีที่มีการเสียเลือดระหว่างตั้งครรภ์ หรือ มีการตกเลือดหลังคลอดอย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็นการคลอดทางช่องคลอด หรือการผ่าท้องคลอดบุตรก็สามารถเกิดได้   ปริมาณเลือดที่เสียจะมากจนผู้ป่วยมีภาวะช็อก, ความดันโลหิตต่ำมาก,  ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายรวมทั้งที่สมอง(รวมถึงต่อมใต้สมอง)ไม่เพียงพอ   ในช่วงตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดใหม่ๆ ต่อมใต้สมองจะมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงทำให้มีความเสี่ยงในการขาดเลือดไปเลี้ยงได้ง่ายกว่าช่วงที่ไม่ตั้งครรภ์     

 ทั้งนี้ ต่อมใต้สมองสมองส่วนหน้า  เป็นต่อมไร้ท่อที่มีความสำคัญมากต่อร่างกายเพราะเป็นแหล่งสร้างฮอร์โมนหลายชนิดที่ควบคุมการทำงานต่างๆของร่างกาย เช่น  ฮอร์โมนเพศ (Follicular stimulating hormone/FSH, Lutienizing hormone/LH),    ฮอร์โมนสร้างน้ำนม/โปรแลกติน(Prolactin), ฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid stimulating hormone/TSH)  

หากต่อมใต้สมองสูญเสียการทำงาน จะมีผลทำให้ฮอร์โมนต่างๆเหล่านั้นในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดเป็นอาการผิดปกติต่างๆที่รวมถึงการเกิด’กลุ่มอาการซีแฮน’

อุบัติการณ์การเกิดกลุ่มอาการชีแฮนในสมัยอดีตจะพบมาก  แต่ปัจจุบันพบลดลงมากเนื่องจากการดูแลทางสูติกรรมที่ดีขึ้น มีรายงานพบได้ประมาณ5รายต่อสตรีคลอดบุตร 1 แสนราย ส่วนใหญ่เกิดในประเทศกำลังพัฒนาและประชากรมีรายได้ค่อนข้างต่ำ

อนึ่ง: กลุ่มอาการชีแฮน มีชื่ออื่น  เช่น Postpartum hypopituitarism, Postpartum pituitary insufficiency, Postpartum pituitary gland necrosis

กลุ่มอาการชีแฮนมีอาการอย่างไร?

กลุ่มอาการชีแฮน

ความรุนแรงของกลุ่มอาการชีแฮน  มีได้ตั้งแต่อาการน้อยๆจนถึงอาการมาก ขึ้นอยู่กับ การทำงานของต่อมใต้สมองส่วนที่สร้างฮอร์โมนชนิดใดเสียไปบ้าง/ได้รับผลกระทบจากการขาดเลือด ซึ่งอาการที่พบได้มีดังนี้ เช่น

  • การไม่มีน้ำนมไหล,ไม่มีน้ำนมเลี้ยงดูบุตรหลังคลอดหรือหลังผ่าตัดคลอดบุตร:เป็นอาการพบบ่อยที่สุดและเห็นได้ชัดรวดเร็ว, เกิดจากต่อมใต้สมองไม่สามารถสร้างฮอร์โมนในการผลิตน้ำนม
  • ไม่มีประจำเดือนหลังคลอด:เกิดจากต่อมใต้สมองไม่สามารถผลิตฮอร์โมนที่จะไปกระตุ้นรังไข่ให้สร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้
  • มีอาการฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน):เช่น มีอาการเดินช้า พูดช้า คิดช้า  เซื่องซึม  กินจุ  อ้วน  ผมร่วง เกิดจากต่อมใต้สมองไม่สามารถสร้างฮอร์โมนควบคุมการสร้างฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ได้
  • การทำงานต่อมหมวกไตผิดปกติ:ทำให้การรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายเสียไป ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตหาก’ต่อมใต้สมอง’สูญเสียการสร้างฮอร์โมนควบคุมในส่วนนี้
  • มีอาการ อ่อนเพลีย  เหนื่อยล้า   เบื่ออาหาร 

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการชีแฮน?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการชีแฮน เช่น

  1. สตรีที่มีภาวะตกเลือดก่อนคลอด และ/หรือ ตกเลือดหลังคลอด อย่างรุนแรง (เช่น คลอดบุตรตัวโต ตั้งครรภ์แฝด   ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์  ภาวะซีด ภาวะรกเกาะต่ำ เป็นต้น) แล้วได้รับการรักษาหรือการทดแทนสารน้ำและเลือดไม่ทันท่วงที  ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำจนเลือดไปเลี้ยงสมอง/ต่อมใต้สมองไม่เพียงพออย่างเฉียบพลัน
  2. สตรีที่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติทั่วร่างกาย (Disseminate intravascular coagulopathy หรือ DIC/ดีไอซี): คือ เมื่อมีเลือดออกแล้ว เลือดไม่แข็งตัว   ทำให้เสียเลือดมาก,  พบได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental abruption)   หรือ  มีภาวะที่น้ำคร่ำอุดหลอดเลือด (Amniotic fluid embolism)
  3. สตรีที่เป็นเบาหวานตั้งแต่อายุน้อย(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น): จะมีผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดเลือดที่ต่อมใต้สมองด้วยได้

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

 โรคกลุ่มอาการชีแฮน บางครั้งวินิจฉัยได้ง่ายมาก จากที่ผู้ป่วยมีประวัติตกเลือดหลังคลอดชัดเจน,   บางครั้งต้องใช้เวลาหลายปีจึงรู้สาเหตุ,  แต่หากหลังคลอดไม่มีน้ำนมเลี้ยงทารกซึ่งเป็นอาการผิดปกติที่เห็นได้ชัดเจน หรือหลังคลอดไม่มีประจำเดือนมาเลยในระยะเวลาที่ควรมีประจำเดือนแล้ว  ก็ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล  

 แต่บางคนอาการไม่ชัดเจน อาจมีอาการ อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร  ความดันโลหิตต่ำ  ที่หาสาเหตุไม่ได้,  ก็ควรไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลเช่นกันโดยผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ถึงประวัติเคยตกเลือดหลังคลอดด้วย

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการชีแฮนอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการชีแฮนได้โดย

ก. ประวัติทางการแพทย์: ที่สำคัญ คือ  ผู้ป่วยมีประวัติเสียเลือดมากระหว่างตั้งครรภ์ หรือระยะหลังคลอด   ไม่มีน้ำนมเลี้ยงดูบุตร  เหนื่อยง่าย  อ่อนเพลีย    อ่อนล้า  อาการของการขาดฮอร์โมนไทรอยด์(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน)  ประจำเดือนไม่มาหรือประจำเดือนมาผิดปกติ  ทั้งนี้อาการผิดปกติต่างๆอาจเกิดหลังคลอดทันที  หรือกว่าจะแสดงอาการอาจใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปีได้

ข. การตรวจร่างกาย: ขึ้นอยู่กับว่าขาดฮอร์โมนชนิดใดมาก 

  • หากขาดเฉพาะฮอร์โมนที่สร้างน้ำนม: ตรวจเต้านมหลังคลอดจะไม่มีน้ำนมไหล
  • หากขาดฮอร์โมนไทรอยด์: จะพบว่ามีลักษณะร่างกายบวมฉุ เชื่องช้า 
  • หากขาดฮอร์โมนเพศ: พบว่าเต้านมไม่เต่งตึง
  • และการตรวจภายใน: พบ ช่องคลอดแห้ง  ผนังช่องคลอดบาง

ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เป็นการตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอาการผู้ป่วย  เช่น  ฮอร์โมนเพศหญิง,  ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์, จะพบว่าระดับฮอร์โมนฯที่ได้รับผลกระทบ จะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

รักษากลุ่มอาการชีแฮนอย่างไร?

การรักษากลุ่มอาการชีแฮน ขึ้นกับอาการผู้ป่วยหรือฮอร์โมนที่ขาด  เช่น ในกรณีที่ ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ต่ำ  ต้องรักษาโดยการเสริมไทรอยด์ฮอร์โมน,  หรือต้องให้ฮอร์โมนเพศหญิงชดเชยหากฮอร์โมนเพศหญิงต่ำ เป็นต้น

กลุ่มอาการชีแฮนก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากกลุ่มอาการชีแฮน ขึ้นกับว่าร่างกายขาดฮอร์โมนชนิดใด เช่น

  • การขาดฮอร์โมนบางอย่างมีผลรุนแรงจนทำให้ถึงตายได้ เช่น การขาดฮอร์โมนต่อมหมวกไตจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำและการควบคุมความสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายเสียไป 
  • แต่การขาดฮอร์โมนบางอย่างไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น  ทำให้ไม่มีน้ำนมไหล,  ไม่มีน้ำนมเลี้ยงดูบุตร, หรือไม่มีประจำเดือน

กลุ่มอาการชีแฮนมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

กลุ่มอาการชีแฮนมีการพยากรณ์โรคที่ดีถึงแม้จะรักษาไม่หาย แต่เมื่อให้ฮอร์โมนทดแทน   อาการต่างๆของผู้ป่วยที่เกิดเนื่องจากขาดฮอร์โมนก็จะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และกลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติ

ทารกที่เกิดจากแม่ที่มีกลุ่มอาการชีแฮนมีปัญหาด้านสุขภาพหรือไม่?

สุขภาพของทารกที่เกิดจากแม่ที่เกิดกลุ่มอาการชีแฮนจากสาเหตุก่อน/ระหว่างการคลอดบุตร ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น  

  • อายุครรภ์ครบกำหนดหรือไม่
  • การรักษาทดแทนสารน้ำและเลือดต่อมารดาช่วงตกเลือดเพียงพอหรือไม่
  • หรือหากมีเลือดออกก่อนคลอด จำเป็นต้องผ่าตัดคลอดก่อนกำหนดหรือไม่

แต่สำหรับในกรณีตกเลือดหลังคลอด สุขภาพทารกมักไม่มีปัญหา  จะเป็นปัญหากับสุขภาพแม่มากกว่า

กลุ่มอาการชีแฮนสามารถเกิดซ้ำในครรภ์ต่อไปได้หรือไม่?

หากอาการจากกลุ่มอาการชีแฮนที่พบครั้งแรกไม่รุนแรง  หรือการทำงานของต่อมใต้สมองส่วนหน้าเสียเพียงบางส่วน  บางส่วนยังทำงานได้ดี  ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ,  และหากสามารถตั้งครรภ์ได้  ก็มีความเสี่ยงจะเกิดกลุ่มอาการชีแฮนได้อีก หากมีการเสียเลือดมากเช่นเคย 

แต่หากเกิดกลุ่มอาการชีแฮนอย่างรุนแรงในครรภ์แรกแล้ว  มัก ’ไม่สามารถตั้งครรภ์’ในครั้งต่อไปได้

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเกิดกลุ่มอาการชีแฮน?

การดูแลตนเองที่สำคัญเมื่อมีกลุ่มอาการชีแฮน เช่น

  • รับประทานยาหรือฮอร์โมนชดเชยที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์  
  • มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัด

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ผู้ป่วยกลุ่มอาการชีแฮนควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ มีอาการผิดปกติ เช่น  รู้สึกเหนื่อย  อ่อนเพลียมากผิดปกติ  และ/หรืออ่อนล้าโดยหาสาเหตุไม่ได้

สามารถป้องกันเกิดกลุ่มอาการชีแฮนได้หรือไม่?

อาจจะพอป้องกันกลุ่มอาการชีแฮนได้ทางอ้อม  คือ  มีการฝากครรภ์สม่ำเสมอตามแพทย์นัด  *และหากมีความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์โดยเฉพาะ’ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ’ ต้องรีบด่วนที่จะปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sheehan%27s_syndrome  [2022,June11]
  2. https://emedicine.medscape.com/article/127650-overview#showall [2022,June11]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK459166/ [2022,June11]