โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 17 มีนาคม 2561
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- โรคกระดูกพรุนหมายความว่าอย่างไร?
- โรคกระดูกบางหมายความว่าอย่างไร?
- โรคกระดูกพรุนเกิดได้อย่างไร?
- ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง?
- โรคกระดูกพรุนมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร?
- ผลข้างเคียงจากโรคกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง?
- โรคกระดูกพรุนรุนแรงไหม?
- รักษาโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ป้องกันโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร?
- ปริมาณแคลเซียม วิตามินดีที่ควรได้รับต่อวัน
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- กระดูกหัก (Bone fracture)
- ผู้สูงอายุ (Older person)
- กระดูกสันหลังหัก (Fracture of the Spine)
- กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ (Hip Fractures in Senile)
- กระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ (Colles’ fracture)
- แคลเซียม เกลือแร่แคลเซียม (Calcium)
- วิตามินดี (Vitamin D or Ergocalciferol)
บทนำ
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และโรคกระดูกบาง (Osteopenia) คือ โรคเกิดจากมีมวลกระดูกลดต่ำลงจนเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือเป็นสาเหตุของกระดูกหักได้สูง เป็นโรคพบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง เป็นโรคของผู้ใหญ่โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้หญิงพบเกิดได้บ่อยกว่าผู้ชาย ปัจจุบันจัดเป็นอีกโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขรวมทั้งในประเทศไทยด้วย
โรคกระดูกพรุนหมายความว่าอย่างไร?
โรคกระดูกพรุนหมายถึง โรคที่มวลกระดูกของร่างกายลดต่ำกว่าค่ามวลกระดูกมาตรฐานซึ่งเรียกว่า ค่าทีสกอร์ (ค่า T- score ในคนปกติคือ ไม่ต่ำกว่า 1) ตั้งแต่ -2.5 ของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (ค่าเอสดี หรือ SD, Standard deviation) ขึ้นไป หรือทางแพทย์ใช้เขียนเป็นตัวเลขตั้งแต่ -2.5 เอสดีขึ้นไป
โรคกระดูกบางหมายความว่าอย่างไร?
โรคกระดูกบางหมายถึง โรคที่มวลกระดูกของร่างกายลดต่ำกว่าค่ามาตรฐานแต่ยังไม่ต่ำถึงค่าที่เป็นโรคกระดูกพรุน ดังนั้นค่ามวลกระดูกของโรคกระดูกบางจึงอยู่ในช่วง -1 ถึงน้อยกว่า -2.5 เอสดี
ซึ่งโรคกระดูกบางเมื่อปล่อยไว้โดยไม่รักษา จะมีการเสียมวลกระดูกเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นโรคกระดุกพรุน แต่ในบางคนเป็นโรคกระดูกพรุนได้โดยไม่ผ่านการเป็นโรคกระดูกบางก่อน
ดังนั้น เรื่องต่างๆของโรคกระดูกบางเช่น สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง อาการ และอื่นๆ จึงเช่นเดียว กับโรคกระดูกพรุน ซึ่งในบทนี้ต่อไปจะใช้คำว่าโรคกระดูกพรุนซึ่งหมายรวมถึงกระดูกบางด้วย
โรคกระดูกพรุนเกิดได้อย่างไร?
กลไกการเกิดกระดูกพรุนที่แน่นอนยังไม่ทราบ แต่ในเบื้องต้นพบว่าเกิดจากการเสียสมดุลระหว่างเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) และเซลล์ดูดซึมทำลายกระดูก (Osteoclast) ซึ่งการมีกระดูกที่แข็งแรงต้องมีสมดุลระหว่างเซลล์ทั้งสองชนิดนี้เสมอ ซึ่งการเสียสมดุลเกิดได้จากหลายสาเหตุคือ
- อายุ: อายุที่มากขึ้น เซลล์ต่างๆจึงเสื่อมลงรวมทั้งเซลล์สร้างกระดูก การสร้างกระดูกจึงลดลง แต่เซลล์ทำลายกระดูกยังทำงานได้ตามปกติหรืออาจทำงานมากขึ้น
- ภาวะขาดฮอร์โมนเพศ: ซึ่งเป็นฮอร์โมนช่วยการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก ดังนั้น โรคกระดูกพรุนจึงพบได้บ่อยในผู้หญิงและโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนถาวร
- ภาวะขาดอาหารสำหรับการสร้างกระดูก: อาหารสำคัญของการสร้างกระดูกคือ โปรตีน แคลเซียม และวิตามิน ดี ซึ่งผู้สูงอายุมักขาดอาหารทั้งสามชนิดนี้ การขาดอาหารจะลดการสร้างมวลกระดูกและกระตุ้นให้เซลล์ทำลายกระดูกทำงานสูงขึ้น
- ขาดการออกำลังกาย: การเคลื่อนไหวออกกำลังกายจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและลดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูก ตรงกันข้าม เมื่อขาดการออกกำลังกาย เซลล์ทำลายกระดูกจะทำงานเพิ่มขึ้น
- พันธุกรรม: เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
- โรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนผิดปกติ: เช่น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน(ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) หรือโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมอง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนคือ
- สูงอายุโดยเฉพาะตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้หญิงเพราะมีการหมดประจำเดือน (หมดฮอร์โมนเพศ)
- ขาดอาหารดังกล่าวแล้ว
- ขาดการออกกำลังกาย
- สูบบุหรี่เพราะสารพิษในควันบุหรี่ลดการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ กระดูกจึงขาดอาหารจากขาดเลือดได้อีกด้วย
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะเป็นสาเหตุให้ขาดอาหาร
- มีโรคเรื้อรังต่างๆที่ส่งผลถึงสุขภาพซึ่งรวมถึงสุขภาพของกระดูกด้วยเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
- มีพันธุกรรมที่คนในครอบครัวเป็นโรคนี้
โรคกระดูกพรุนมีอาการอย่างไร?
โดยทั่วไป โรคกระดูกพรุนไม่ก่ออาการยกเว้นเป็นปัจจัยเสี่ยงให้กระดูกหักได้ง่าย
- ซึ่งถ้าเกิดในวัยหมดประจำเดือน มักเกิดกระดูกหักง่ายที่ปลายกระดูกแขน/กระดูกข้อมือ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ) และเกิดการยุบ ตัวของกระดูกสันหลังและ/หรือกระดูกสันหลังเสื่อม เกิดการปวดหลังเรื้อรัง
- ส่วนกระดูกพรุนจากสูงอายุ มักเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ
แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกพรุนได้จากประวัติอาการ ประวัติเจ็บป่วยต่างๆ ประวัติการออกกำ ลังกาย อายุ การตรวจร่างกาย และการตรวจมวลกระดูก/การตรวจความหนาแน่นกระดูกด้วยเครื่อง ตรวจมวลกระดูกซึ่งเป็นเครื่องเอกซเรย์พลังงานต่ำกว่าเอกซเรย์ในการตรวจโรคทั่วไป
ผลข้างเคียงจากโรคกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงสำคัญของโรคกระดูกพรุนคือ กระดูกหักง่ายและอาการปวดหลังเรื้อรัง
โรคกระดูกพรุนรุนแรงไหม?
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคเรื้อรังที่ถึงแม้ไม่ทำให้เสียชีวิต (ตาย) แต่เป็นเหตุให้คุณภาพชีวิตลดลงอย่างมากจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเมื่อกระดูกสะโพกหัก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ)
รักษาโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุนคือ เพิ่มการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและหยุดหรือลดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูกเช่น การกินวิตามินเกลือแร่เสริมอาหารต่างๆเช่น แคล เซียม วิตามินดี, การใช้ยาต้านการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูกเช่น ยาในกลุ่ม Bisphospho nate, การให้ยาฮอร์โมนต่างๆ เช่น Estradiol, Levonorgestrel ทั้งเพื่อเพิ่มการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและลดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูก, และการออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ
อนึ่ง การใช้ยาต่างๆควรต้องเป็นการแนะนำจากแพทย์ เพราะในผู้ป่วยแต่ละคนจะมีการใช้ ชนิดยา ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นยาต่างๆเหล่านี้ยังมีผล ข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกระดูกพรุนคือ การกินวิตามินเกลือแร่เสริมอาหารและ/หรือยาต่างๆตามแพทย์แนะนำ การกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ครบถ้วนทุกวันในปริมาณพอเหมาะที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน การออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ และหลีก เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้โดยเฉพาะบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ป้องกันโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร?
การป้องกันโรคกระดูกพรุนคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง (ดังกล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง) ที่หลีกเลี่ยงได้โดยเฉพาะบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน การพบแพทย์เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยกลางคนเพื่อ การตรวจสุขภาพซึ่งอาจมีการตรวจมวลกระดูกด้วย โดยเฉพาะเมื่อเป็นสตรีในวัยหมดประจำเดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ และการเสริมอาหารด้วยวิตามินเกลือแร่ตามแพทย์แนะนำ
ปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีที่ควรได้รับต่อวัน
IOM (Institute of Medicine) สถาบันที่ดูแลด้านการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ในปีค.ศ 2011 ได้แนะนำปริมาณ แคลเซียม และวิตามินดี ที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน(รวมทั้งหมดทั้งจากอาหารและจากแคลเซียมเสริมอาหาร) ดังนี้
ก. ปริมาณแคลเซียม:
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- Duque, G., and Troen, B. (2008). Understanding the mechanisms of senile osteoporosis: new facts for major geriatric syndrome. J Am Geriatr Soc, 56, 935-941.
- Khosla, S., and Melton III., L. (2007). Osteopiania. New Engl J Med, 356, 2293-2300.
- http://en.wikipedia.org/wiki/osteoporosis [2018,March17]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t3/?report=objectonly [2018,March17]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t2/?report=objectonly [2018,March17]
Updated 2018,March17