กรดวาลโปรอิก (Valproic acid: VPA)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- กรดวาลโปรอิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- กรดวาลโปรอิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กรดวาลโปรอิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กรดวาลโปรอิกมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- กรดวาลโปรอิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กรดวาลโปรอิกอย่างไร?
- กรดวาลโปรอิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากรดวาลโปรอิกอย่างไร?
- กรดวาลโปรอิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ลมชัก (Epilepsy)
- ไมเกรน (Migraine)
- ยาอันตราย (Dangerous drug)
- โรคจิต (Psychosis)
- อารมณ์สองขั้ว หรือ ไบโพล่า (Bipolar disorder)
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
บทนำ
ยากรดวาลโปรอิก (Valproic acid ย่อว่า วีพีเอ/VPA) หรือ “ยาวาลโปรเอท (Valproate)” หรือชื่อการค้าที่รู้จักกันคือ “ยาเดพาคีน (Depakine)” จัดเป็นสารประกอบเคมีที่ทางการแพทย์นำมารักษาโรคลมชัก โรคอารมณ์แปรปรวนชนิดอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) และใช้ป้องกันการเกิดไมเกรน ถูกสังเคราะห์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1882 ( พ.ศ. 2425) และถูกรับรองให้เป็นยารักษาโรคในปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510)
ด้วยโครงสร้างทางเคมีทำให้กรดวาลโปรอิกถูกดูดซึมได้ดีจากระบบบทางเดินอาหาร เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน 80 - 90% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยา ร่างกายต้องใช้เวลา 9 - 16 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด 50% และผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลกระบุให้กรดวาลโปรอิกเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของชุมชน กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยเราจัดให้ยานี้อยู่ในกลุ่มยาอันตราย มีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด สามารถพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาลโดยทั่วไป
กรดวาลโปรอิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
กรดวาลโปรอิกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาอาการของโรคลมชัก
- ใช้รักษาและป้องกันโรคอารมณ์แปรปรวนชนิดอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorders)
- ใช้ป้องกันอาการโรคไมเกรน
กรดวาลโปรอิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากรดวาลโปรอิกคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยกระตุ้นให้มีการลดปริมาณสาร Phosphatidyl inositol (3, 4, 5) - trisphospate (PIP3, สารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์) และเข้าไปปิดกั้นกระบวนการทำงานของเกลือโซเดียมที่เรียกว่า Voltage - dependent sodium channels รวมถึงทำให้เกิดการเพิ่มสารสื่อประสาทบางตัวในสมองที่มีชื่อว่า Gamma - amino butyric acid (GABA, สารสื่อประสาทที่สัมพันธ์กับการตื่นตัวของสมอง) จากกลไกดังกล่าว ส่งผลโดยรวมให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
กรดวาลโปรอิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
กรดวาลโปรอิกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 200 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 200 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาฉีดชนิดผงแห้งละลายน้ำ ขนาดบรรจุ 400 มิลลิกรัม/ขวด
- ยาฉีดขนาด 400 มิลลิกรัม/4 มิลลิลิตร
กรดวาลโปรอิกมีขนาดรับประทานอย่างไร?
กรดวาลโปรอิกมีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับป้องกันไมเกรน ใช้ตัวยา Valproate semisodium: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 250 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น ขนาดสูงสุดของการรับประ ทานไม่เกิน 1 กรัม/วัน
- ผู้สูงอายุ: เริ่มรับประทานที่ขนาดต่ำ และค่อยๆเพิ่มขนาดรับประทานทีละน้อยตามแพทย์แนะนำ
ข. สำหรับรักษาป้องกันโรคอารมณ์แปรปรวน/อารมณ์สองขั้วแบบเฉียบพลัน (Acute manic episodes of bipolar disorder) ใช้ตัวยา Valproate semisodium: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 750 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน และปรับขนาดโดยแพทย์แนะนำจนผลการตอบสนองของผู้ป่วยดีขึ้น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
- ผู้สูงอายุ: เริ่มรับประทานที่ขนาดต่ำ และแพทย์จะพิจารณาปรับขนาดรับประทานให้สูงขึ้นทีละน้อยตามการตอบสนองของโรค
ค. สำหรับการรักษาโรคลมชัก (Complex partial seizures):
- ตัวยา Valproate semisodium: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 10 - 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน 2 - 4 ครั้ง และแพทย์จะค่อยๆเพิ่มขนาดยาครั้งละ 5 - 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
- ตัวยา Sodium valproate: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 600 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง และแพทย์อาจแนะนำเพิ่มปริมาณยา 200 มิลลิกรัมทุกๆ 3 วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 2.5 กรัม/วัน
- เด็กโรคลมชักที่น้ำหนักตัวมากกว่า 20 กิโลกรัม: รับประทาน 400 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับ ประทานเป็น 2 ครั้ง ซึ่งแพทย์อาจค่อยๆเพิ่มปริมาณยาโดยมีช่วงของการรับประทานอยู่ที่ 20 - 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แต่ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม/วัน
- เด็กโรคลมชักที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 20 กิโลกรัม: รับประทาน 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัมโดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง และแพทย์อาจพิจารณาค่อยๆเพิ่มปริมาณยา 5 - 10 มิลลิ กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการสนองตอบต่อยาของคนไข้ โดยขนาดรับประ ทานสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
อนึ่ง:
- การใช้ยานี้ในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) โดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ และเด็กต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
- สามารถลดภาวะระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารจากการรับประทานยานี้ โดยรับ ประทานยานี้พร้อมมื้ออาหาร
ง. สำหรับรักษาป้องกันโรคอารมณ์แปรปรวน/อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) ทั่วไป ใช้ตัวยา Valpromide: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 900 – 1,800 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง/วัน ขนาดรับประ ทานปกติคือ 1,200 มิลลิกรัม/วัน แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานอาจเพิ่มทุกๆ 2 - 3 วัน จนถึงขนาดรับประทานที่ปกติและเหมาะสมสำหรับผู้ป่วย
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากรดวาลโปรอิก ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากรดวาลโปรอิกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยากรดวาลโปรอิกสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
กรดวาลโปรอิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
กรดวาลโปรอิกสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) เช่น
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ท้องเสีย
- หิวบ่อย
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ตากระตุก
- วิงเวียน
- อ่อนเพลีย
- จิต/ประสาทหลอน
- อาจทำให้เกิดพิษกับตับโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี
- ตับอ่อนอักเสบ
*อนึ่ง:
- สำหรับผู้ที่รับประทานยานี้เกินขนาด สามารถพบเห็นอาการ หัวใจหยุดเต้น หรือมีภาวะโคม่าจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
- *ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด จะต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที และใช้วิธีของหัตถการทางการแพทย์ลดการดูดซึมของยานี้ เช่น ล้างท้อง หรือทำให้ผู้ป่วยอาเจียน การฟอกเลือด (Hemodialysis) อาจเป็นอีกวิธีที่สามารถลดปริมาณยาในกระแสเลือดได้เป็นอย่างดี และยา Naloxone (ยาเสพติดชนิดเฉพาะ ซึ่งใช้รักษาผลข้างเคียงจากยาเสพติด หรือจากยาทางสมองบางชนิด) อาจช่วยอาการที่สมองได้ แต่การใช้ยา Naloxone ต้องขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เพราะยา Naloxone มีข้อจำกัดการใช้จากที่ก่ออันตรายได้เช่นกัน
มีข้อควรระวังการใช้กรดวาลโปรอิกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากรดวาลโปรอิก เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติตับทำงานผิดปกติหรือผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็กโดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ด้วยยานี้สามารถทำให้เกิดภาวะตับอัก เสบ รุนแรงได้
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี (SLE)
- ระหว่างที่ผู้ป่วยใช้ยานี้และต้องเข้ารับการผ่าตัด จะต้องตรวจสอบก่อนว่าการแข็งตัวของเลือดยังปกติดีอยู่หรือไม่
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยากรดวาลโปรอิกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
กรดวาลโปรอิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากรดวาลโปรอิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากรดวาลโปรอิกร่วมกับยา Olanzepine (ยารักษาทางจิตเวช) อาจก่อให้เกิดภาวะ ตับอักเสบรุนแรง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ยาบางกลุ่มสามารถลดความเข้มข้นของยากรดวาลโปรอิกในกระแสเลือดของผู้ป่วยจนทำให้ประสิทธิผลของการรักษาด้อยลงไป เช่นยา Carbapenems (ยาปฏิชีวนะ), Rifampicin, Phenytoin, และ Phenobarbital เมื่อมีการใช้ร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานยานี้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
- ยาบางตัวสามารถเพิ่มความเข้มข้นของยากรดวาลโปรอิกในกระแสเลือด เช่นยา Felbamate (ยารักษาโรคลมชัก) และ Aspirin หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประ ทานของยานี้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษากรดวาลโปรอิกอย่างไร?
ควรเก็บยากรดวาลโปรอิก เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
กรดวาลโปรอิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากรดวาลโปรอิก มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Depakine/Depakine Chrono (เดพาคีน/เดพาคีน โครโน) | sanofi-aventis |
Desorate (เดซอเรท) | Pond’s Chemical |
Encorate (เอ็นโคเรท) | Sun Pharma |
Epiate Syrup (อิพิเอท ไซรัป) | Unison |
Oltril (ออลทริล) | Myung In Pharm |
Sodium Valproate Aguettant (โซเดียม วาลโปรเอท เอเก็ทแทนต์) | Aguettant |
Valparin (วาลพาริน) | Torrent |
Valrem-200 (วาลเร็ม-200) | Meditab Specialities |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Valproate [2020,Nov7]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fdepakine-depakine%2520chrono%2f%3ftype%3dfull#Indications [2020,Nov7]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fvalproic%2bacid%3fmtype%3dgeneric [2020,Nov7]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fvalproic%2520acid%2f%3ftype%3dbrief%26mtype%3dgeneric [2020,Nov7]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fvalproic%2520acid%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Nov7]