เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด (Brain Infarction)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ

“ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกน (CT-scan) สมองของคุณพบความผิดปกติเข้าได้กับเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด (Brain infarction) บริเวณสมองซีกขวา” ถ้าใครได้ยินประโยคข้างต้นก็คงต้องตกใจกลัว เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดคืออะไร เราจะเป็นอัมพาตหรือไม่ เราจะมีอาการสมองเสื่อมหรือไม่ เราจะเดินไม่ได้หรือเปล่า และเราจะเสียชีวิตเร็วกว่าคนอื่นๆหรือเปล่า คำถามต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมากมาย เมื่อได้ยินคำว่า “เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด” จริงแล้วเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดคืออะไร ลองติดตามบทความนี้เพื่อความกระจ่างของข้อสงสัย

เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด-01

 

เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดคืออะไร?

เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด (Brain infarction หรือ Cerebral infraction) คือ โรคหลอดเลือดสมอง หรือ ที่เรารู้จักกันดีในคำว่า โรคอัมพาต โดยเกิดจากหลอดเลือดสมองเกิดการอุดตัน หรือ ตีบตัน ทำให้เลือดมาเลี้ยงสมองไม่ได้ ส่งผลให้เนื้อสมองส่วนนั้นๆขาดเลือดมาเลี้ยง และเซลล์สมองบริเวณขาดเลือดนั้นๆตาย

 กรณีที่แพทย์วินิจฉัยภาวะเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด จาก

  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกนสมอง: การตรวจพบความผิดปกติที่บ่งชี้ว่ามีเนื้อสมองตาย คือ สมองส่วนนั้นจะพบเป็นสีดำ (Hypodensity lesion)
  • ส่วนกรณีตรวจด้วยเอมอาร์ไอ: ภาพสมองส่วนขาดเลือดจะเป็นสีขาว (Hyper intensity)

กรณีที่เกิดภาวะเนื้อสมองตายนี้เป็นมานานแล้ว ลักษณะภาพสมองขาดเลือดที่เห็นจากทั้งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ สมอง นอกจากดังกล่าวแล้ว ยังอาจมีการสูญเสียปริมาตรของเนื้อสมองบริเวณนั้นๆ (Loss of brain volume) ซึ่งคือมี ภาวะ ‘สมองฝ่อ’ ที่ส่งผลให้โพรงน้ำในสมองมีขนาดขยายโตขึ้นเพื่อทดแทนเนื้อสมองที่ฝ่อไปจากการสูญเสียเนื้อสมองบางส่วนจากการขาดเลือดนั่นเอง, อย่างไรก็ตาม การตรวจ ‘ภาพรังสีสมอง’ ด้วยวิธีดังกล่าว ถ้าตรวจภายใน 24 ชั่วโมงแรก อาจไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆให้เห็นชัดเจนได้

แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเป็นเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด?

การวินิจฉัย ภาวะเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด แพทย์จะวินิจฉัยจาก

  • ประวัติอาการของผู้ป่วย
  • ประวัติที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ (ดังจะได้กล่าวในหัวข้อต่อๆไป)
  • การตรวจร่างกาย
  • และการตรวจทางรังสีวินิจฉัย/ภาพรังสีสมอง (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ) สมอง ซึ่งเป็นการตรวจที่สำคัญในการช่วยวินิจฉัยภาวะนี้

เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดมีอาการอย่างไร? มีอันตรายหรือไม่?

การตรวจพบเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดจะมีอันตรายหรือไม่นั้น ขึ้นกับอาการที่เรามีหรือ ไม่มีก่อนไปรับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอสมอง โดยแบ่งความรุนแรงตามอาการที่เกิดขึ้นเป็น 3 กรณี ดังนี้

  • กรณีที่ผู้รับการตรวจมีสุขภาพปกติ ไม่มีอาการ แล้วตรวจพบภาวะเนื้อสมองตายฯจากการตรวจภาพสมองทางรังสีวินิจฉัย ส่วนใหญ่แล้ว พบว่า ไม่มีผลเสียใดๆ ต่อสมอง ผู้ป่วยไม่ต้องกังวล ทั้งนี้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เมื่อได้รับการดูแลรักษาควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวถึงใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’อย่างถูกต้อง โอกาสเกิดอันตรายเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองจะต่ำ
  • กรณีมีอาการผิดปกติของระบบประสาท เช่น หลงลืม/สมองเสื่อม ลมชัก ร่วมกับมีความผิดปกติจากการตรวจสมองทางรังสีวินิจฉัย ก็บ่งชี้ว่า อาการหลงลืมนั้นน่าจะมีสาเหตุจากเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดนั้นเอง (Vascular dementia) เช่น เดียวกัน ถ้าเป็นลมชัก สาเหตุของการชักก็น่าจะเป็นจากเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด (Post stroke seizures), ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ จัดอยู่ในกลุ่มมีอันตรายสูงปานกลาง มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 20%
  • กรณีมีอาการของอัมพาต เช่น แขน ขา อ่อนแรงครึ่งซีกของร่างกาย และตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจภาพสมองทางรังสีวินิจฉัย ก็สรุปได้ว่าสาเหตุของอัมพาตนั้น เกิดจากเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ จัดเป็นกลุ่มมีอันตรายสูง ประมาณ 50% ที่จะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด?

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุในการเกิดเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

  • ส่วนที่ 1 ปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุที่แก้ไขไม่ได้: ประกอบด้วย เพศชาย, ผู้สูงอายุ, และ ผู้มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  • ส่วนที่ 2 ปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุที่แก้ไขได้: ประกอบด้วย การเป็นโรคเรื้อรังต่างๆที่สำคัญ คือ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ/โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง  โรคไขมันในเลือดสูง  ภาวะ/โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน การสูบบุหรี่ และการไม่ออกกำลังกาย

เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดรักษาอย่างไร?

การรักษาภาวะสมองตายเหตุขาดเลือด ประกอบด้วย

  • การรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหรือเป็นสาเหตุ: เช่น การรักษาควบคุมโรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, เป็นต้น
  • การให้ยาป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ: เช่น ยาต้านเกล็ดเลือดเพื่อลดการจับตัวเป็นลิ่มเลือดของเลือดเพื่อป้องกันหลอดเลือดสมองอุดตัน เช่นยา  แอสไพริน หรือโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) เป็นต้น
  • ปรับพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง โดย ลดน้ำหนัก เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุรา และออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน

เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดที่ตรวจพบโดยไม่มีอาการ จำเป็นต้องรักษาหรือไม่?

การตรวจพบเนื้อสมองตายฯ ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และ/หรือเอมอาร์ไอสมอง จริงๆ แล้วก็คือ มีความผิดปกติจริงๆ (ผลบวก) ที่สมอง โดยโอกาสตรวจเป็นผลบวกปลอมนั้นน้อยมากๆ  การตรวจพบจึงแสดงว่ามีเนื้อสมองบางส่วนตายเพราะขาดเลือดมาเลี้ยงจริง (Cerebral infarction)

ดังนั้น ควรตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ได้กล่าวมาแล้วใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ เพื่อปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ และป้องกัน รักษา ควบคุม ปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุต่างๆที่ตรวจพบ  รวมทั้ง แพทย์อาจต้องพิจารณาว่า จำเป็นต้องทานยาเพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำของเนื้อสมองตายฯในบริเวณเดิม หรือในบริเวณใหม่หรือไม่, โดยการพิจารณาขึ้นอยู่กับรอยโรคที่ตรวจพบและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ (ที่กล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ) ในแต่ละบุคคล

เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดรักษาหายหรือไม่?

อาการผู้ป่วยภาวะเนื้อสมองตายฯจะค่อยๆดีขึ้นจากการฟื้นตัวตามธรรมชาติของเนื้อสมองที่ตาย ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟู (กรณีมีอาการผิดปกติ), กรณีไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เนื้อสมองส่วนขาดเลือดนั้นก็จะค่อยๆฟื้นตัวตามธรรมชาติเช่นกัน

กรณีมีอาการ ผู้ป่วยจะหายเป็นปกติหรือไม่ ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ขนาด/ปริมาณเนื้อสมองที่ตาย, ตำแหน่งเนื้อสมองตาย, ปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุของการเกิดเนื้อสมองตาย, ผลการรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ, การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย, ซึ่งรวมถึงการให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาตนเองและของครอบครัว

การรักษาเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดควรรีบรักษาหรือไม่?

กรณีไม่มีอาการผิดปกติจากเนื้อสมองตายฯ ก็ไม่ต้องรีบไปโรงพยาบาล แต่ก็ควรพบแพทย์ในเวลาปกติ และรักษาควบคุมปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันหรือลดโอกาสการเป็นซ้ำหรือเป็นมากขึ้น

*แต่กรณีมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือ อาการของอัมพาตนั้น ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด/ทันที เพราะปัจจุบันการรักษาอาการเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด มีวิธีการรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือด/ยาสลายลิ่มเลือด (Thrombolytic treatment) เพื่อให้เลือดไหลเข้าไปเลี้ยงเนื้อสมองส่วนที่กำลังจะตายให้หายเป็นปกติ, โดยต้องรักษาให้เร็วที่สุด *ภายในเวลาที่ช้าที่สุดไม่เกิน 270 นาที หรือ ที่เรียกว่า 270 นาทีชีวิต (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง อัมพาต 270 นาทีชีวิต)

สามารถป้องกันเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดได้หรือไม่?

การป้องกันเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด สามารถทำได้โดย การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม เพื่อ ป้องกัน รักษา และควบคุม ปัจจัยเสี่ยง (ที่กล่าวใน ‘หัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ’) ต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดภาวะเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด รวมทั้งออกกำลังสมองอย่างต่อเนื่อง (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่องสมองฝ่อ)

เมื่อมีเนื้อสมองตาย ควรดูแลตนเองอย่างไร?

เนื้อสมองที่ตายนั้น โดยทั่วไปแล้วมีโอกาสฟื้นตัวเป็นปกติน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาในปัจจุบันพบว่า สมองมนุษย์เรานั้นมีความยืดหยุ่น (Neuroplasticity) ที่ดีมาก สามารถมีการพัฒนาให้ดีขึ้นได้ และสมองส่วนข้างเคียงก็สามารถพัฒนาหน้าที่ให้ทดแทนส่วนที่ตายได้  

ดังนั้นการดูแลสุขภาพสมองให้ดีนั้น คือ การรักษาโรคประจำตัว หรือ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ (กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’) ของการเกิดเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด, และการออกกำลังสมอง (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง สมองฝ่อ), ฝึกฝนให้สมองได้ทำกิจกรรมที่แปลกใหม่เป็นประจำ, *ที่สำคัญอีกประการ คือ ต้องได้รับการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจรักษาและเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ

สรุป

จะเห็นได้ว่า ‘เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด’ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ดังนั้นเมื่อทราบผลการตรวจจากแพทย์แล้ว ก็ไม่ต้องกังวล แต่ต้องตระหนักว่า เรามีความผิดปกติบางส่วนของเนื้อสมอง, จึงควรต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อเนื่อง ที่สำคัญ ควรเริ่มหาทางป้องกันภาวะสมองตายเหตุขาดเลือดตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีของเราทุกคน

บรรณานุกรม:

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cerebral_infarction  [2022, Aug27]