ทารกเสียชีวิตในครรภ์ (Intrauterine fetal demise)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ทารกเสียชีวิตในครรภ์พบได้บ่อยเพียงใด?

ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ในภาษาอังกฤษใช้กันหลายคำ ได้แก่ Intrauterine fetal demise, Fetal death, Fetal death in utero, Dead fetus in utero, หรือ Still birth โดยทารกเสียชีวิตในครรภ์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

  • Early fetal demise หมายถึง ทารกเสียชีวิตในครรภ์เมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์
  • Late fetal demise หมายถึง ทารกเสียชีวิตในครรภ์เมื่ออายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์

*อนึ่ง

1. ไม่ว่าทารกจะเสียชีวิตตอนอายุครรภ์เท่าไหร่ สตรีคนนั้นก็ไม่สามารถคลอดบุตรมีชีวิตได้เหมือนกัน แต่การที่แยกเป็น 2 กลุ่ม เนื่องจากสาเหตุของการเสียชีวิตมักไม่เหมือนกัน

  • สาเหตุของการที่ทารกเสียชีวิตในครรภ์เมื่ออายุครรภ์น้อยๆ มักเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมของทารกเอง ทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้
  • ส่วนการเสียชีวิตของทารกเมื่ออายุครรภ์มากแล้ว มักเป็นปัญหาจากเลือดไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ เช่น รกเสื่อม หรือการที่แม่มีโรคประจำตัวต่างๆ ทำให้ทารกได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ

ข. อายุครรภ์ที่น้อยกว่า 24 สัปดาห์ถือว่าเป็นการแท้งบุตร เนื่องจากว่า แม้ทารกไม่เสียชีวิต และสามารถคลอดออกมา ก็มีโอกาสเลี้ยงให้รอดมีชีวิตได้น้อยมาก

  • ในประเทศที่พัฒนาแล้วใช้เกณฑ์อายุครรภ์ที่ถือว่าแท้ง คือน้อยกว่า 20 สัปดาห์
  • องค์การอนามัยโลก กำหนดว่าการคลอดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 22 สัปดาห์ เป็นการแท้ง
  • สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้เกณฑ์การคลอดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ เป็นการแท้ง ซึ่งใช้คำจำกัดความนี้มานานมากแล้ว และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขเป็นเอกสารอ้างอิงชัดเจน
  • แต่ปัจจุบัน มีความเจริญความก้าวหน้าทางการแพทย์ไปมาก มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต ยารักษาต่างๆ รวมทั้งกุมารแพทย์มีความสามารถในการดูแลทารกอายุครรภ์น้อยๆได้ดีมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ ทารกที่คลอดหลัง 24 สัปดาห์ โดยครรภ์ไม่ครบกำหนด มีโอกาสเลี้ยงได้รอดมากขึ้นอย่างชัดเจน จึงไม่เรียกเป็นการแท้ง

สาเหตุที่ทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์มีอะไรบ้าง?

ทารกเสียชีวิตในครรภ์

สาเหตุแบ่งได้ใหญ่ๆ 3 กลุ่ม คือ

1. สาเหตุจากตัวมารดา

  • มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคเอสแอลอี (SLE) ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ
  • อายุมาก
  • อ้วนมาก
  • ตั้งครรภ์ทารกหลายคน เช่น ครรภ์แฝด
  • ได้รับอุบัติเหตุ
  • ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เสพยาเสพติด

2. สาเหตุจากทารก

  • มีความผิดปกติของโครโมโซม
  • มีความพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรง เช่น ที่หัวใจ
  • ติดเชื้อในครรภ์
  • ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (Intrauterine growth restriction)
  • การขาดออกซิเจนเรื้อรัง เช่น จากรกเสื่อม

3. สาเหตุจากรก สายสะดือ

  • สายสะดือพันกัน
  • สายสะดือย้อยหรือโผล่แลบ
  • รกลอกตัวก่อนกำหนด
  • รกเสื่อม

มารดาจะมีอันตรายหรือไม่หากทารกเสียชีวิตในครรภ์?

ความเสี่ยงต่างๆ หรือผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน หรืออันตรายต่อมารดาจากภาวะทา รกเสียชีวิตในครรภ์ มีดังนี้

  • เสี่ยงต่อการได้รับการทำหัตถการต่างๆ เช่น การขูดมดลูก การผ่าตัดคลอดบุตร เสียเลือด มดลูกทะลุ
  • ติดเชื้อในโพรงมดลูก
  • เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ (ตกเลือด) เลือดออกแล้วหยุดยาก ที่มักจะเกิดในกรณีที่ทารกเสียชีวิตในครรภ์นานกว่า 1 เดือน เนื่องจากมีการแข็งตัวของเลือดผิด ปกติ (Consumptive coagulopathy) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายมาก แต่มักเกิดในกรณีที่ทารกในครรภ์อายุค่อนข้างมากและเสียชีวิตมานานเกิน 4 สัปดาห์

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทารกเสียชีวิตในครรภ์?

อาการผิดปกติ ที่สตรีตั้งครรภ์สังเกตได้ เมื่อทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ มีดังนี้

  • อาการของการตั้งครรภ์ เช่น แพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน เต้านมคัดตึง หายไป
  • น้ำหนักตัวมารดาไม่ขึ้น หรือ กลับลดลง
  • ทารกที่เคยดิ้นในครรภ์แล้ว หยุดดิ้นไป
  • ครรภ์ไม่โตขึ้น (หน้าท้องไม่โตขึ้น) และกลับเล็กลงด้วย
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด

แพทย์วินิจฉัยทารกในครรภ์เสียชีวิตได้อย่างไร?

เมื่อไปฝากครรภ์ แพทย์จะมี

  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจครรภ์ว่า โตเหมาะสมกับอายุครรภ์ที่มากขึ้นหรือไม่
  • ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์จะสามารถใช้เครื่องช่วยฟังเสียงการเต้นของหัวใจทารกได้ (Doppler sonic aids) จะมีการตรวจประเมินเช่นนี้ทุกครั้งที่ไปฝากครรภ์
  • หากแพทย์ตรวจพบว่าขนาดของครรภ์ไม่โตขึ้นตามที่ควรจะเป็น ฟังไม่ได้ยินการเต้นของเสียงหัวใจทารกโดยใช้เครื่องช่วยฟัง น้ำหนักมารดาไม่เพิ่มขึ้น แพทย์จะส่งไปตรวจครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) เพื่อดูการเต้นของหัวใจทารก ซึ่งเป็นการวินิจฉัยทารกในครรภ์เสียชีวิตได้แม่นยำที่สุด

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อทารกในครรภ์เสียชีวิต?

สตรีตั้งครรภ์ทุกคนคงหวังจะได้คลอดบุตรที่มีชีวิตและสุขภาพแข็งแรง แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ทารกในครรภ์เกิดเสียชีวิติ ย่อมทำให้สตรีตั้งครรภ์และครอบครัวเสียใจอย่างมาก อย่างไรก็ตามต้องทำใจให้ได้ เพราะบางครั้งก็เป็นการคัดเลือกทางธรรมชาติ ที่จะให้เด็กที่สมบูรณ์เท่านั้นเกิดขึ้นมา เพราะทารกที่ไม่สมบูรณ์ หรือมีความผิดปกติของโครโมโซม จะไม่สามารถมีชีวิตได้

ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติตามที่กล่าวมาใน ‘หัวข้อ รู้ได้อย่างไรว่าทารกเสียชีวิตในครรภ์’ ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล หากแพทย์ตรวจยืนยันว่าทารกเสียชีวิตจริง และสตรีตั้งครรภ์ตัดสินใจที่จะรอให้เกิดการแท้ง/การคลอดเอง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ช่วงนี้ก็ต้องสังเกตอาการเลือดออกผิดปกติในอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด เป็นต้น และ/หรือมีอาการปวด/เจ็บท้อง ซึ่งต้องรีบไปโรงพยาบาล

แพทย์ให้การดูแลรักษาอย่างไรหากทารกในครรภ์เสียชีวิต?

เมื่อเกิดเหตุการณ์ทารกเสียชีวิตในครรภ์ แพทย์ผู้ดูแลจะมีการสืบค้นหาสาเหตุของการเสียชีวิต เช่น

  • การเจาะเลือดตรวจเบาหวาน
  • ตรวจการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
  • ตรวจหาการติดเชื้อในครรภ์
  • ตรวจเลือด หาโรคธาลัสซีเมียทั้งสามีและภรรยา กรุ๊ปเลือด และ
  • หลังเกิดการแท้งหรือคลอด แพทย์จำเป็นต้องส่งทารกและรกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

การดูแลรักษา :

การดูแลรักษามารดาในกรณีที่ทารกในครรภ์เสียชีวิต มี 3 วิธี คือ

  • รอให้แท้งหรือคลอดออกมาเองโดยธรรมชาติ ซึ่งส่วนมากจะเกิดการแท้งหรือคลอดเองประมาณ 2 สัปดาห์หลังทารกเสียชีวิต ระยะเวลาที่รอ มักไม่มีปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อน นอกจากเรื่องกังวลใจของตัวมารดาและครอบครัว
  • โดยการใช้ยาเหน็บช่องคลอด หรือ การใช้ยากระตุ้นการหดตัวของมดลูก หยดเข้าหลอดเลือดดำ หากเลือกใช้วิธีการเหน็บยา ซึ่งจะมีขนาดการใช้ยาแตกต่างกันไปในแต่ละอายุครรภ์ แพทย์จะให้ผู้ป่วยเหน็บยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกทุก 6-12 ชั่วโมง เพื่อให้ทารกแท้งออกมา ส่วนมากใช้เวลา 2-3 วัน แต่จะมีบางรายที่แท้งไม่ครบ /แท้งไม่สมบูรณ์ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การแท้งบุตร และเรื่อง แท้งไม่สมบูรณ์) แพทย์ต้องทำการขูดมดลูกต่อ
  • โดยการทำหัตถการต่าง ๆ เช่น ดูดหรือขูดมดลูก, ผ่ามดลูกเอาเด็กออก, ซึ่งวิธีเหล่านี้ แพทย์มักต้องให้สตรีมีครรภ์นอนพักในโรงพยาบาล

อนึ่ง ข้อดีของการใช้วิธีดูดหรือขูดมดลูก คือไม่ต้องเสียเวลานอนพักในโรงพยาบาลหลายวัน หลังทำหัตถการเสร็จอาจได้พักประมาณ1 วัน ก็สามารถออกจากโรงพยาบาลไปพักฟื้นที่บ้านได้ แต่ข้อด้อยของวิธีนี้คือ มีอาการเจ็บปวดบ้างเวลาทำหัตถการ

การดูแลตนเองหลังคลอดต่างจากการตั้งครรภ์ปกติหรือไม่?

เมื่อแพทย์สืบค้น หาสาเหตุของการเสียชีวิตของทารกได้ ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุ ซึ่งสตรีตั้งครรภ์ต้องให้ความร่วมมืออย่างดี การดูแลตนเองก็ต้องบำรุงสุขภาพให้แข็งแรง ทั้งนี้ การดูแลตนเองหลังคลอด โดยทั่วไป ไม่แตกต่างจากการคลอดทั่วไป (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ระยะหลังคลอด)

ต้องคุมกำเนิดนานแค่ไหนกว่าจะตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้?

ระยะเวลาในการคุมกำเนิดหลังจากคลอดทารกที่เสียชีวิตหรือแท้งบุตรแล้ว ขึ้นกับสิ่งต่อไปนี้

  • สาเหตุที่ทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิต
  • หากมารดามีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, ก็จำเป็นต้องรักษาหรือควบคุมอาการให้ดี ก่อนที่จะตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
  • หากเกิดการติดเชื้อ ก็ต้องรักษาภาวะติดเชื้อนั้นๆ
  • หากทารกพิการไม่มีกะโหลกศีรษะ ที่เกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น การขาดวิตามินโฟลิคแอซิด (Folic acid หรือ Folate , ภาวะขาดโฟเลท) ก็ควรมีการรับประทานโฟลิคแอซิด ไปสักระยะก่อนตั้งครรภ์ใหม่ ซึ่งแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา จะให้คำแนะนำว่า ควรตั้งครรภ์ใหม่ได้เมื่อไร
  • หากต้องผ่าตัดคลอดเพื่อเอาเด็กออก คงต้องคุมกำเนิดไปนานกว่าการคลอดทางช่องคลอด ซึ่งแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา จะให้คำแนะนำว่า ควรตั้งครรภ์ใหม่ได้เมื่อไรเช่นกัน

มีวิธีป้องกันไม่ให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้หรือไม่?

วิธีป้องกันทารกเสียชีวิตในครรภ์ ได้แก่

  • ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ในปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้เกิดโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักตัวเกิน
  • รักษาโรคประจำตัว และควบคุมโรคให้ดีก่อนที่จะตั้งครรภ์
  • หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจตั้งครรภ์
  • ฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตนเคร่งครัดตามแพทย์แนะนำ
  • สังเกตอาการผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ และการดิ้นของทารกในครรภ์ แล้วรีบแจ้งแพทย์ผู้ดูแล
  • หากบิดามารดามีความผิดปกติทางโครโมโซม ต้องมีการตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ด้วย หรือตรวจคลื่นเสี่ยงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) ท้อง เป็นระยะๆตามแพทย์แนะนำ

หากครรภ์แรกมีทารกเสียชีวิตในครรภ์ จะมีผลต่อการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปหรือไม่?

ความเสี่ยงในการเกิดทารกในครรภ์เสียชีวิตในครรภ์ซ้ำอีกในครรภ์ต่อไป ขึ้นกับสาเหตุของการเสียชีวิตของทารกในครรภ์แรก หากสาเหตุ เช่น โรคประจำตัวมารดา ไม่ได้รับการแก้ไข ก็มีโอกาสทารกเสียชีวิตในครรภ์ซ้ำได้

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Stillbirth [2020,Jan11].
  2. http://www.uptodate.com/contents/incidence-etiology-and-prevention-of-stillbirth? [2020,Jan11].