ความรู้ทั่วไปโรคลมชัก (Overview of Epilepsy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคลมชัก (Epilepsy) เป็นโรคหนึ่งที่พบบ่อย โดยพบประมาณ 6-10 คน ในประชากรหนึ่งพันคน ซึ่งเมื่อผู้ป่วยมีอาการชักจะสร้างความตกใจต่อตัวผู้ป่วย ญาติ และผู้เห็นเหตุการณ์เป็นอย่างมาก โดยผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ส่วนใหญ่มีวิธีการช่วยเหลือที่ไม่เหมาะสม คือ จะพยายามกดหน้าท้อง หน้าอก หรือใส่วัสดุในปาก และพยายามกดหรือยึดตัวไว้ไม่ให้ผู้ป่วยชัก ซึ่งการกระทำเหล่านี้อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วย และอาจเป็นอันตรายต่อผู้ช่วยเหลือได้ เราจึงควรมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลมชัก

โรคลมชักมีกลไกการเกิดโรคอย่างไร?

ความรู้ทั่วไปโรคลมชัก

กลไกการเกิดโรคลมชัก เกิดจากการที่สมองบางส่วนหรือทั้งหมดมีความผิดปกติ และเกิดกระบวนการสร้างและปล่อยประจุไฟฟ้าที่ต่อเนื่องออกมา ซึ่งประจุไฟฟ้าที่เกิดขึ้นอย่างผิด ปกตินี้เป็นตัวการทำให้เกิดอาการชัก

อะไรเป็นสาเหตุของโรคลมชัก?

สาเหตุของโรคลมชักเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่

1. โรคหลอดเลือดสมอง มักเป็นสาเหตุของการชักและโรคลมชักในผู้สูงอายุถึง 55%

2. การพัฒนาการทางสมองที่ผิดปกติ พบเป็นสาเหตุ 18% พบบ่อยในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 14 ปี

3. อุบัติเหตุที่ศีรษะ พบบ่อยในช่วงอายุ 15 – 24 ปี โดยพบถึง 45%

4. โรคเนื้องอกสมอง พบมากในผู้ป่วยที่อายุ 35 ปีขึ้นไป

5. โรคติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) พบเป็นสาเหตุหลักในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ

6. โรคสมองเสื่อม หรือ โรคอัลไซเมอร์ พบในผู้สูงอายุ ประมาณ 10% ของผู้ป่วยสมองเสื่อมมีอาการชักร่วมด้วย

ในกลุ่มผู้ป่วยแต่ละกลุ่มอายุจะมีสาเหตุการชักที่แตกต่างกัน เช่น

  • ผู้ป่วยอายุ 12-18 ปี มักเกิดจาก อุบัติเหตุต่อศีรษะ พันธุกรรม โรคติดเชื้อ โรคเนื้องอกสมอง และผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาปฎิชีวนะบางชนิด เป็นต้น
  • ผู้ป่วยอายุ 18-35 ปี มักเกิดจาก อุบัติเหตุต่อศีรษะ การหยุดเหล้าทันทีหรือดื่มเหล้ามาก เนื้องอกสมอง ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด และบางครั้งอาจตรวจหาสาเหตุไม่พบ
  • ผู้ป่วยอายุ 35 ปีขึ้นไป มักเกิดจาก โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมอง การหยุดเหล้าทันทีหรือดื่มเหล้ามาก ไตวาย ตับวาย ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด โรคสมองเสื่อม และบางครั้งอาจตรวจหาสาเหตุไม่พบ

ทั้งนี้ ยาที่มีผลข้างเคียงอาจก่อการชัก เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด (เช่น ยาเพนนิซิลลิน/Penicillin ขนาดสูง) ยาทางจิตเวช ยาสลบ ยาเสพติด และยาขยายหลอดลม เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคลมชักอย่างไร?

การวินิจฉัยโรคลมชัก แพทย์จะต้องรู้ว่า

1. เป็นการชักจริงหรือไม่

2. ถ้าจริงเป็นการชักชนิดใด

3. เป็นโรคลมชักหรือไม่

ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อมาพบแพทย์จะหายเป็นปกติแล้ว ข้อมูลที่แพทย์ได้ก็จะมาจากญาติหรือผู้ที่เห็นเหตุการณ์ ซึ่งข้อมูลที่แพทย์ต้องการในการวินิจฉัยจากผู้ป่วยและผู้เห็นเหตุการณ์ คือ

  • รายละเอียดของความผิดปกติของอาการทั้ง
    • ช่วงก่อนชัก
    • ช่วงชัก
    • และช่วงหลังชัก
  • โดยอาการสำคัญที่แพทย์ต้องการทราบ ที่เมื่อแพทย์ได้ข้อมูลการชักของผู้ป่วยแล้วก็จะสามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง คือ
    • มีอาการเริ่มต้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย
    • ผู้ป่วยหมดสติหรือไม่
    • ปัสสาวะราด
    • ตาเหลือก
    • กัดลิ้น
    • อันตรายที่ได้รับขณะมีอาการมีอะไรบ้าง
    • ระยะเวลาที่มีอาการ
    • ลักษณะชักทั้งตัวหรือชักบางส่วนของร่างกาย
  • นอกจากนี้ ข้อมูลการชักของผู้ป่วยที่แพทย์ต้องการทราบเพิ่มเติม คือ
    • ผู้ป่วยชักครั้งแรกอายุเท่าไหร่
    • ชักบ่อยขนาดไหน ครั้งนี้เป็นครั้งที่เท่าไหร่
    • อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการชัก
    • มีอุบัติเหตุต่อศีรษะมาก่อนหรือไม่
    • มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ (เช่น ไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ – อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง)
    • ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ได้แก่ โรคประจำตัวต่างๆ การใช้ยาต่างๆ
    • ประวัติการคลอด (เช่นใช้เครื่องมือคลอดหรือไม่)
    • พัฒนาการในวัยเด็ก
    • และโรคประจำตัวของสมาชิกในครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องมีการตรวจเฉพาะอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น

1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG, Electroencepalogram)

2. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan brain)

3. สนามแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอ สมอง (MRI brain)

4. ตรวจเลือดดูการทำงานของไต ตับ

5. ตรวจเลือดดูระดับเกลือแร่ในเลือด

มีภาวะอื่นอะไรบ้างที่คล้ายกับโรคลมชัก?

ภาวะอื่นที่คล้ายกับโรคลมชัก ได้แก่

1. การเป็นลม คือ ภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราว โดยจะมีลักษณะแตกต่างจากโรคลมชัก คือ มักจะมีอาการขณะเปลี่ยนท่าทาง หน้าจะซีด อาการจะค่อยๆเกิด หมดสติไม่นาน พอล้มตัวลงนอนก็จะดีขึ้น ฟื้นคืนสติได้เร็ว ส่วนใหญ่ไม่มีปัสสาวะราด ยกเว้นปัสสาวะครั้งสุดท้ายนานมากก่อนจะเป็นลม ไม่มีอาการเกร็งกระตุกหรือเกร็งกระตุก 1-2 ครั้ง แต่ไม่รุนแรง และไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ ในขณะที่โรคลมชักจะเป็นได้ในทุกท่าทาง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสีผิว แต่ถ้าอาการชักเกิดอยู่นานอาจหน้าเขียวคล้ำได้ หน้าไม่ซีด อาการชักเกิดทันทีทันใด หมดสตินานประมาณ 1-3 นาที หรืออาจนานกว่านั้น ฟื้นคืนสติช้า อาจชักบ่อยๆ วันละหลายครั้ง มักมีปัสสาวะราด และมีอาการเกร็ง – กระตุกร่วมกับการกัดลิ้น

2. การชักปลอมหรือแกล้งชัก เป็นอาการชักที่เกิดจากความผิดปกติทางจิตใจ มักพบในผู้ป่วยที่มีประวัติถูกทำร้ายร่างกาย ถูกกระทำชำเราทางเพศ หรือประสบเหตุการณ์ที่ร้ายแรงและมีผลกระทบต่อชีวิต และการชักนั้นมักเพื่อต้องการผลตอบแทนในด้านอื่นๆ หรือเรียกร้องความสนใจจากคนอื่น ลักษณะการแกล้งชักจะมีรูปแบบแปลกๆ เช่น ส่งเสียงร้องอย่างดัง บิดเอว ยกสะโพก แอ่นหลัง แอ่นอก โดยรูปแบบการชัก จะไม่ค่อยเหมือนกันในแต่ละครั้ง สามารถบอกให้มีอาการหรือหยุดได้ พูดจาโต้ตอบได้ ไม่หมดสติ และไม่มีอันตรายจากการชัก ถึงแม้จะล้มลงเพราะผู้ป่วยค่อยๆล้มลง โดยมากมักมีอาการต่อหน้าผู้อื่น

โรคลมชักรักษาหายไหม?

พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคลมชัก จะหายได้เมื่อรับการรักษาด้วยยากันชัก โดยลักษณะผู้ป่วยที่จะตอบสนองดีต่อการรักษาคือ

  • เริ่มชักครั้งแรกเมื่ออายุน้อย
  • ชักแบบทั้งตัว
  • ไม่มีความผิดปกติของระบบประสาท
  • สาเหตุการชักเป็นชนิดหาสาเหตุไม่พบ

ส่วนผู้ป่วยที่รักษายากได้แก่

  • การชักที่เกิดจากโรคในสมอง เช่น เนื้องอกสมอง
  • การติดเชื้อของสมอง (สมองอักเสบ)
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • การชักเฉพาะที่
  • แพทย์ตรวจพบความผิดปกติทางระบบประสาท
  • เป็นผู้ป่วยที่มีระดับสติปัญญาต่ำ
  • แพทย์ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองพบความผิดปกติก่อนและหลังรักษา

แพทย์รักษาโรคลมชักอย่างไร?

จุดมุ่งหมายของแพทย์ในการรักษาโรคลมชัก มิใช่ต้องการให้ผู้ป่วยไม่มีอาการชักเพียงอย่างเดียว แต่ต้องไม่มีผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงของยากันชัก และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆในสังคมได้อย่างปกติ ถึงแม้อาจจะมีอาการชักบ้างก็ตาม ซึ่งจะทำให้มีคุณภาพชีวิตดีกว่าผู้ ป่วยที่รักษาแล้วไม่มีอาการชักเลย แต่มีผลแทรกซ้อนจากยา

การรักษาประกอบด้วย

  • การกำจัดสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดการชัก
  • การใช้ยากันชัก
  • และการผ่าตัด

ทุกการศึกษาพบว่า โรคลมชักจะก่อให้เกิดผลเสียหายหลายด้านถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่น

  • เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะชัก
  • ผลกระทบต่อสมองในกรณีชักบ่อยๆและแต่ละครั้งชักนาน
  • และผลต่อการดำรงชีวิต เช่น ควรต้องหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักรกล ทำงานในที่สูง งดการขับรถ

แต่ข้อเสียของการรักษาก็มี เช่น

  • การแพ้ยากันชัก
  • ผลกระทบของยาต่อความจำและต่อพฤติกรรม
  • ความรู้สึกที่ว่าตัวเองป่วยและต้องทานยาตลอด

ดังนั้น แพทย์ ผู้ป่วย และครอบครัวผู้ป่วย จึงต้องพิจารณาร่วมกัน ถึงข้อดีและข้อเสียของการทานยาและไม่ทานยาในการรักษาโรคลมชักอย่างรอบคอบ

เมื่อใดต้องทานยากันชัก?

ในการจะรักษาโรคลมชักด้วยยากันชัก แพทย์จะพิจารณาดังนี้

1. การชักเพียง 1 ครั้ง ในผู้ป่วยที่มีอาการชักเพียงครั้งเดียว ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่จำเป็น ต้องได้รับยากันชัก ยกเว้น ผู้ป่วยที่มีสาเหตุในสมอง เช่น เนื้องอก สมอง โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่ตรวจพบคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ ผู้ป่วยที่ต้องขับรถเป็นเวลานาน หรือผู้ป่วยมีอาชีพที่อาจมีอันตรายถ้าชักขณะทำงาน เช่น ทำงานกับเครื่องจักร ทำงานในที่สูงหรือขับรถ

2. การชัก 2 ครั้ง หรือมากกว่า กรณีเช่นนี้ ผู้ป่วยมีโอกาสชักซ้ำประมาณ 80-90% ดัง นั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องได้รับยากันชัก ยกเว้น

  • ผู้ป่วยที่มีอาการชักเฉพาะส่วนที่มีสาเหตุจากน้ำตาลในเลือดสูง เมื่อลดระดับน้ำตาลลงมาสู่ระดับปกติ อาการชักก็จะหายไป
  • และผู้ป่วยที่มีอาการชักแต่ละครั้งห่างกันมากๆ เช่น 1-2 ปี/ครั้ง และการชักนั้นไม่มีอันตราย หรือชักเฉพาะตอนนอนหลับเท่านั้น

3. ควรทานยากันชักชนิดใด การพิจารณาชนิดของยากันชัก ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการชัก สาเหตุและข้อห้ามของการใช้ยาชนิดนั้นๆ ดังนั้น ผู้ป่วยและครอบครัวจึงควรให้ข้อมูลในอาการผิดปกติที่ถูกต้องกับแพทย์มากที่สุด เพื่อประโยชน์ในการเลือกชนิดของยากันชัก ซึ่งจะเริ่มจากการใช้ยาชนิดเดียวก่อน และใช้ขนาดยาน้อยที่สุดเท่าที่ควบคุมการชักได้

4. ต้องใช้ยากันชักนานเท่าใด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยต้องได้รับยากันชักประมาณ 2 ปี หรือมากกว่า หลังจากควบคุมอาการชักได้ เพื่อลดโอกาสในการชักซ้ำ โดยแพทย์จะพิจารณาปัจจัยต่างๆของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น สาเหตุของการชัก ความผิดปกติของระบบประสาท อายุที่เริ่มชัก ชนิดของการชัก ความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง ระยะเวลาที่ชักในแต่ละครั้ง และความถี่ของการชักก่อนการรักษา ทั้งนี้ เมื่อจะหยุดยากันชัก ก็จะต้องค่อยๆหยุดยาโดยใช้เวลาค่อยๆลดยานานประมาณ 6-12 เดือน

เมื่อใดต้องรักษาโรคลมชักด้วยการผ่าตัด?

สาเหตุของโรคลมชักมีหลายสาเหตุ ปัจจุบันการรักษาด้วยยากันชักสามารถระงับอาการชักได้เกือบทุกราย จะมีเพียงบางรายเท่านั้นที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ด้วยยากันชัก หรือให้ผลการรักษาไม่เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งการผ่าตัดอาจได้ผล

ก. ข้อบ่งชี้ในการพิจารณาเลือกใช้วิธีผ่าตัดรักษาโรคลมชัก

1. มีพยาธิสภาพผิดปกติที่ต้องผ่าตัดอยู่แล้ว เช่น เนื้องอกในสมอง ถุงน้ำในสมอง หรือ หลอดเลือดสมองผิดปกติ

2. มีลักษณะของเนื้อสมองบางส่วนผิดปกติ เช่น เนื้อสมองส่วนขมับฝ่อลีบ หรือผิวเนื้อสมองบางส่วนเจริญผิดปกติ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของอาการชักและการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือมีข้อห้ามในการใช้ยา เช่น การแพ้ยากันชัก

3. พยาธิสภาพนั้นๆ ต้องไม่ใช่ตำแหน่งของสมองในส่วนที่ผ่าตัดออกแล้วจะเป็นอัมพาต

ข. การเตรียมการรักษาด้วยการผ่าตัด

1. แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย และการตรวจร่างกายผู้ป่วยเพื่อพิจารณาว่าอาการชักเริ่มจากส่วนใดของสมอง

2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อตรวจหาจุดกำเนิดของอาการชัก

3. การตรวจสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (เอมอาร์ไอ/MRI) สมองเพื่อตรวจหาความผิดปกติของเนื้อสมองและจุดกำเนิดของการชัก

ทั้งนี้ เมื่อตรวจ 3 อย่างนี้ได้ผลตรงกันว่าจุดใดในสมองทำให้เกิดอาการชักจึงมาพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด

โรคลมชักเฉพาะกรณีมีอะไรบ้าง?

โรคลมชักเฉพาะกรณี ได้แก่

1. โรคลมชักและการตั้งครรภ์ (อ่านเพิ่มเติมในโรคลมชักในผู้หญิง) ปกติแล้วผู้ป่วยโรคลมชักไม่ควรตั้งครรภ์จนกว่าจะควบคุมอาการชักได้ และแพทย์แนะนำหยุดยากันชักแล้ว หรือถ้าได้รับก็ต้องเป็นยาขนาดต่ำ ซึ่งทั้งนี้โดยการคุมกำเนิดซึ่งแนะนำการใช้ห่วงหรือถุงยางอนามัย ไม่แนะนำการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด เพราะอาจมีผลต่อระดับยากันชักในเลือดได้

แต่ถ้าผู้ป่วยตั้งครรภ์อยู่ก่อนแล้ว แพทย์มักแนะนำให้ตั้งครรภ์ต่อไปได้ เพราะ 95% ของทารกที่คลอดจะปกติ โดยในช่วงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยอาจมีการเปลี่ยนแปลงความถี่ของการชักได้ เช่น อาจชักบ่อยขึ้นหรือชักน้อยลงก็ได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิด ขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์ ความเครียดที่เพิ่มขึ้น โดยมักพบว่าการชักจะถี่ขึ้น ในช่วง 8-24 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ และช่วงระยะหลังคลอดเนื่องจากร่างกายอ่อนเพลียมาก

ก. ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคลมชักที่ตั้งครรภ์ ควรพบแพทย์ที่ดูแลโรคลมชักอย่างสม่ำเสมอ ทานยาและพบแพทย์ตามแพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา เพราะขณะตั้งครรภ์ อาจจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อการปรับขนาดยาถ้ามีความจำเป็น และเพื่อการใช้วิตามินเสริมกรดโฟลิกเพื่อป้องกันความผิดปกติของลูก

ข. สตรีที่เป็นโรคลมชักสามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาโรคลมชักก่อนการตั้งครรภ์เสมอ และต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ทั้งแพทย์ที่รักษาโรคลมชัก และสูติแพทย์อย่างใกล้ชิด ก็สามารถให้กำเนิดบุตรได้ตามปกติ

2. ภาวะลมชักวิกฤต (Status epilepticus ย่อว่า SE) คือ การชักที่เกิดขึ้นติดต่อกันนานมากกว่า 30 นาที หรือเกิดอาการชัก 2 ครั้งติดต่อกัน โดยระหว่างที่หยุดชักผู้ป่วยหมดสติตลอด ภาวะนี้เมื่อเกิดแล้วต้องรีบให้การรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าชักนานกว่า 1 ชั่วโมง จะเกิดอันตรายต่อสมองได้ และถ้าชักนานกว่า 12 ชั่วโมง จะเกิดความพิการทางสมอง สาเหตุที่สำคัญของภาวะนี้คือ

  • การหยุดยากันชักทันที
  • การติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ)
  • อุบัติเหตุต่อสมองอย่างรุนแรง
  • โรคหลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตัน
  • ภาวะสมองขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง การอดนอน
  • และการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยโรคลมชักที่ไม่ได้รับการรักษาโรคลมชักอย่างถูกต้อง

ข้อแนะนำสำหรับภาวะลมชักวิกฤต

การช่วยเหลือเบื้องต้นสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง เพราะถ้าช่วยเหลือไม่ถูกวิธีอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือเกิดผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงตามมาได้

ก. สิ่งที่ต้องทำคือ

  • การเปิดช่องทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตของผู้ป่วยให้ดี โดยจัดท่าให้ศีรษะตะแคงไปด้านข้าง เอาสิ่งแปลกปลอมในปากออก เช่น อาหาร ฟันปลอม เพื่อป้องกันการสำลักเข้าทางเดินหายใจซึ่งจะก่อให้ทางเดินหายใจอุดตัน
  • อย่าพยายามนำวัสดุใดๆใส่เข้าไปในช่องปากเพื่อป้องกันการกัดลิ้น เพราะจะเกิดผล เสียมากกว่าผลดี เช่น ฟันผู้ป่วยอาจหักและเลื่อนหลุดไปอุดตันทางเดินหายใจ
  • และควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อให้แพทย์ควบคุมการชักและหาสาเหตุของการชักต่อไป

อนึ่ง ภาวะลมชักจากอุบัติเหตุที่ศีรษะ โดยสาเหตุของอุบัติเหตุศีรษะมี 2 แบบ คือ

  • จากอาวุธ
  • และจากการกระทบกระแทกต่อกะโหลกศีรษะ

โดยอาการชักจากสาเหตุนี้เราแบ่งได้เป็น 2 แบบ ตามระยะเวลาเกิดอุบัติเหตุ คือ ภายในสัปดาห์แรกหลังจากเกิดอุบัติเหตุ และหลังจากสัปดาห์แรกไปแล้ว โดยพบว่า

ก.ในกลุ่มผู้ป่วยที่เกิดอาการชักภายในสัปดาห์แรกนั้น 50% จะชักใน 1 ชั่วโมงแรก แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับ

  • อายุ (อายุมาก มีโอกาสชักสูงขึ้น)
  • ความรุนแรงของอุบัติเหตุ
  • กระดูกกะโหลกศีรษะแตก
  • ตำแหน่งของกะโหลกศีรษะที่แตก

ข. ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการชักหลังจาก 1 สัปดาห์ไปแล้ว พบ 50% อาการชักจะเกิดในปีแรกหลังอุบัติเหตุ โดยปัจจัยที่มีผลให้เกิดการช้กได้แก่

  • ความรุนแรงของอุบัติเหตุ
  • และตำแหน่งของรอยโรคที่เกิดในสมอง

ข้อแนะนำสำหรับภาวะลมชักจากอุบัติเหตุที่ศีรษะ

พบว่าการให้ยากันชักเพื่อป้องกันการชักนั้นไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้น มักจะพิจารณาเมื่อผู้ป่วยมีอาการชักเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้ง โดยในกลุ่มที่ชักในสัปดาห์แรก (ชักเร็ว) จะได้รับยาประมาณ 3 เดือนหรือนานกว่า ขึ้นกับสาเหตุและความถี่ของการชัก ส่วนกลุ่มที่ชักหลังจาก 1 สัปดาห์ไปแล้ว (ชักช้า) จะได้รับการรักษาเหมือนผู้ป่วยโรคลมชักทั่วไป

มีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคลมชักอย่างไร?

คำแนะนำที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก คือ

1. การทานยากันชัก มีความสำคัญมากในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาการชักอีก สิ่งที่ต้องปฏิบัติ ได้แก่

  • ทานยาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
  • ห้ามหยุดยาเอง เพราะอาจเกิดอาการชักที่รุนแรง และอาจเสียชีวิตได้
  • เมื่อมีอาการไม่สบาย ไม่ควรซื้อยาทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ และควรบอกแพทย์ว่าเป็นโรคลมชัก ทานยาอะไรอยู่ อย่าหยุดยากันชักเอง
  • สังเกตอาการ/ผลข้างเคียงของการใช้ยากันชักและจากยาต่างๆ ถ้าพบ ให้รีบบอกแพทย์ เช่น ผื่นขึ้นทั้งตัว เวียนศีรษะ เห็นภาพซ้อน (ภาพเดียวแต่มองเห็นซ้อนกันเป็นหลายภาพ) เดินเซ นอนมาก เหงือกบวมโต ซีดเหลือง ชาปลายมือปลายเท้า
  • ถ้าลืมทานยากันชักในวันเดียวกัน ให้ทานยาทันทีที่นึกได้ ถ้าข้ามวันแล้วมีอาการชักให้ปรึกษาแพทย์ ถ้าไม่ชักให้ทานยาทันที และมื้อต่อไปทานยาตามปกติ

2. การปฏิบัติตนที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการชักซ้ำ และเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้แก่

  • เมื่อมีไข้สูงให้รีบเช็ดตัวลดไข้ หรือทานยาลดไข้ พาราเซตามอล
  • อย่าอดนอน
  • ผ่อนคลายความทุกข์ ความเครียด
  • งดดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่างๆ
  • สตรีที่เป็นโรคลมชักอาจชักบ่อยช่วง ก่อน - หลัง มีประจำเดือนให้ปรึกษาแพทย์
  • ควรพกบัตรแสดงตนว่าเป็นโรคลมชักเสมอ เมื่อออกจากบ้าน
  • มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

3. ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเมื่อเกิดอาการชัก ได้แก่

  • หยุดกิจกรรมที่กำลังทำทันที เมื่อรู้สึกว่ากำลังจะมีอาการชัก
  • บอกบุคคลใกล้ชิดขณะนั้นให้ช่วย (ถ้าทำได้)
  • นอนราบบนพื้นที่ไม่มีสิ่งกีดขวางกระแทกร่างกาย

อนึ่ง สำหรับบุคคลที่ช่วยเหลือผู้ที่กำลังชัก

  • ให้จับผู้ป่วยนอนตะแคงไปด้านข้าง
  • ดันคางให้ยกขึ้น
  • คลายเสื้อผ้าที่รัดผู้ป่วยให้หลวม
  • อย่าให้คนมุง
  • ห้ามป้อนยาหรืออาหารใดๆ
  • ห้ามใช้ช้อน นิ้ว หรือวัสดุใดๆ งัดปากขณะชัก

4. การดำรงชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก

การดำรงชีวิตของผู้ป่วยโรคลมชักขณะที่ไม่มีอาการชักก็เหมือนคนทั่วไป เช่น การเรียน การเล่นกีฬา

แต่ควรเลี่ยงกิจกรรมบางชนิด เพราะเมื่อเกิดอาการชัก ผู้ป่วยจะหมดสติ และเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น

  • ทำงานบนที่สูง
  • ทำงานกับเครื่องจักร
  • การขับรถ
  • การอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือเตาไฟ
  • การว่ายน้ำในทะเลหรือสระที่ไม่มีคนดูแล
  • การดำน้ำ