logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ ไมเกรน

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ไมเกรน

  1. อาการนำ: คือ อาการที่เกิดนำก่อนการปวดศีรษะ อาจนำก่อนเป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน ซึ่งจากลักษณะอาการนำ แบ่งผู้ป่วยไมเกรนได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
  • 1.1  อาการไมเกรนแบบคลาสสิก (Classical migraine): เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการนำแบบออร่า โดยก่อนปวดศีรษะอาการออร่าจะเป็นอยู่นาน 5-20 นาที (ไม่เกิน 60 นาที) แล้วจะเว้นระยะไปพักหนึ่งก่อนปวดศีรษะ ซึ่งอาการออร่าแบ่งได้เป็นอาการทางตา ทางประสาทรับความรู้สึก และทางประสาทสั่งการ หรือหลายๆ อาการร่วมกัน  เช่น การเห็นแสงสว่างเกิดขึ้นเป็นจุดๆ การเห็นภาพผิดไปจากความเป็นจริง ผิวหนังมีความรู้สึกผิดปกติ คัน ชา ซ่า หรือแสบร้อน รู้สึกหนักที่แขนขา เหมือนไม่มีแรง แต่ไม่ใช่อัมพาตจริงๆ
  • 1.2 อาการไมเกรนแบบพบบ่อย (Common migraine): เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการนำแบบออร่า แต่มีอาการนำอื่นๆ แทน หรืออาจไม่มีการนำก็ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการนำก่อนที่จะปวดศีรษะได้นานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน ได้แก่ รู้สึกไวกับแสงเสียงหรือกลิ่นมากกว่าปกติ รู้สึกเพลีย หาวบ่อย หิวบ่อย กินจุ หิวน้ำบ่อย ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
  1. อาการปวดศีรษะ: ที่เกิดตามมาหลังอาการนำในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะมีลักษณะปวดศีรษะข้างเดียว เป็นข้างไหนก็ได้ และแต่ละครั้งที่ปวดอาจจะย้ายข้างได้ ลักษณะปวดเป็นแบบตุ๊บๆ ความรุนแรงปานกลางหรืออาจปวดรุนแรง โดยมากจะปวดบริเวณขมับ ศีรษะด้านหน้าและรอบลูกตา ต่อมาอาการปวดจะลามไปด้านหลังของศีรษะและในที่สุดอาจปวดทั้งศีรษะ อาการปวดศีรษะจะเป็นอยู่นาน 4 - 72 ชั่วโมง
  2. อาการอื่นๆ: ที่อาจพบร่วมกับอาการปวดศีรษะ คือ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ตากลัวแสง กลัวเสียง มึนศีรษะ เจ็บหนังศีรษะ

ก. หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น:

  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้อาการปวดศีรษะกำเริบขึ้น ได้แก่ ความเครียด การนอนหลับมากหรือน้อยเกินไป การเจอแสงแดดจ้าหรือแสงไฟสว่างเกินไป กลิ่นที่รุนแรง เช่น น้ำหอม กลิ่นน้ำมันเครื่อง บุหรี่ อาหารบางอย่างก็อาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้ เช่น เนย โยเกิร์ต กล้วย ช็อคโกแลต ไส้กรอก ลูกเกด ถั่วต่างๆ ซีอิ๊ว น้ำส้มสายชู ผักดอง ผงชูรส สารให้ความหวานแทนน้ำตาล สารกันบูด ชา กาแฟ แอลกอฮอล์
  • ช่วงวงรอบประจำเดือน สภาพอากาศที่เย็นเกินไป หรือที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน ติดเชื้อเจ็บป่วยไม่สบาย เมารถ เมาเรือ
  • ทั้งนี้ในผู้ป่วยแต่ละคน ปัจจัยกระตุ้นจะไม่เหมือนกัน และบางคนอาจจะไม่ทราบสิ่งกระตุ้นที่ชัดเจน ผู้ป่วยไมเกรนจึงต้องสังเกตตัวกระตุ้นอาการเสมอเพื่อการหลีกเลี่ยง

ข. ใช้ยารักษา: มีหลักการคือ การใช้ยาเพื่อบรรเทาขณะมีอาการปวดศีรษะ การใช้ยาในระหว่างที่ไม่ได้มีอาการปวดศีรษะเพื่อป้องกันและลดความถี่ลดความรุนแรงในการกำเริบของอาการ และการใช้ยารักษาอาการร่วมต่างๆ นอกเหนือจากการปวดศีรษะ

ค. ใช้วิธีทางการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ: เช่น การใช้หลักทางจิตวิทยามาร่วมรักษา การสะกดจิต การฝึกโยคะ การฝังเข็ม การใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้น เป็นต้น

  • ผู้ป่วยโรคไมเกรนแบบมีออร่าเป็นอาการนำ จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (เช่น โรคหัวใจขาดเลือด) และโรคหลอดเลือดสมอง (เช่น หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก) มากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า
  • ส่วนผู้ป่วยไมเกรนแบบไม่มีออร่าเป็นอาการนำ อาจมีความเสี่ยงของโรคดังได้กล่าวเหล่านี้เพิ่มขึ้นได้บ้าง
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มบรรเทาอาการขณะปวดศีรษะบางตัวบ่อยเกินไป แทนที่จะช่วยบรรเทาอาการ อาจกลับทำให้อาการรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนเรื้อรัง (Chronic migraine) คือมีอาการปวดศีรษะในแต่ละครั้งยาวนานมากกว่า 15 วัน และอาการนี้เป็นอยู่นานมากกว่า 3 เดือน