logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ โรคไต

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : โรคไต

โรคไต หรือ โรคของไต (Kidney disease) คือ โรคที่เกิดจากไตทำงานผิดปกติ/ทำงานลดลง จึงก่อให้เกิดการคั่งของสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการ/ของเสีย/สารอาหารและ/หรือธาตุอาหารส่วนเกิน ซึ่งในภาวะปกติร่างกายจะกำจัดออกทางปัสสาวะโดยผ่านการกรองของไต ส่งผลถึงการทำงานของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ จนถึงเกิดเป็นภาวะไตวาย โรคไต/โรคของไต แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

  • โรคไตเฉียบพลัน: คือโรคไตที่เกิดจากสาเหตุเฉียบพลัน ซึ่งพบได้น้อยและมักสามารถรักษาได้หายในระยะเวลาสั้นๆ เช่น ไตขาดเลือดจากอุบัติเหตุ ไตติดเชื้อแบคทีเรีย (กรวยไตอักเสบ) เป็นต้น
  • โรคไตเรื้อรัง: ที่พบได้สูงและเป็นปัญหาทางสาธารณสุขในปัจจุบันของทุกประเทศ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคไตเรื้อรังคือโรคต่างๆ ในกลุ่มโรคเอนซีดี ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด

ก. โรคไตเฉียบพลัน: อาการสำคัญ คือ อาการที่เกิดอย่างเฉียบพลัน ที่พบบ่อยเช่น

  • ปัสสาวะน้อยกว่าปกติมาก
  • ไม่มีปัสสาวะ

ข. โรคไตเรื้อรัง: เมื่อเริ่มเป็น จะไม่มีอาการ จะมีอาการต่อเมื่อโรคเป็นมากแล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุให้เมื่อผู้ป่วยที่มาพบแพทย์จึงมักป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่รุนแรงแล้ว โดยอาการที่พบบ่อยจากโรคไตเรื้อรัง เช่น

  • ปัสสาวะผิดปกติ: อาจปริมาณมาก ปริมาณน้อย ไม่มีปัสสาวะ ปัสสาวะอาจขุ่นหรือใสเหมือนน้ำ อาจสีเข้ม เป็นฟองมาก มีเลือดปน และ/หรือ มีกลิ่นผิดปกติ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • เบื่ออาหาร รสชาติอาหารแปลกไป ทั้งนี้เป็นเพราะของเสียที่สะสมในร่างกายส่งผลต่อต่อมรับรสชาติและ/หรือประสาทรับรสชาติ
  • คลื่นไส้อาเจียน จากการสะสมของของเสียเช่นกันที่มีผลต่อระบบประสาทที่ควบคุมอาการนี้ รวมถึงมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร
  • คันโดยไม่ขึ้นผื่น จากของเสียต่างๆ ในเลือดก่อการระคายเคืองต่อผิวหนัง  
  • ซีด: เพราะปกติเซลล์ไตจะสร้างฮอร์โมนชนิดหนึ่งซึ่งจะช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูก ดังนั้นเมื่อเซลล์ไตเสียไป ฮอร์โมนชนิดนี้ก็ถูกสร้างลดลงไปด้วย จึงส่งผลถึงการสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูกให้ต่ำลงจนเกิดโรคซีด
  • มีน้ำในร่างกายมาก เพราะไตขับออกไม่ได้ จึงเกิดอาการบวม มักเริ่มที่ เท้า และรอบตาก่อน
  • เมื่อเป็นมาก จะเกิดอาการของไตวาย เช่น สับสน โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด

การป้องกันโรคไต คือ การกินอาหารจืด จำกัดการกินอาหารเค็ม และการหลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ป้องกันและรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โรคหัวใจและหลอดเลือด