คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : อาหารเป็นพิษ
โรคอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่เกิดจากกินอาหาร และ/หรือ ดื่มน้ำ/เครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย รองลงไปคือเชื้อไวรัส นอกจากนั้นที่พบได้บ้าง คือ การปนเปื้อนปรสิต (Parasite) เช่น บิดมีตัว (Amoeba) ส่วนการปนเปื้อนสารพิษที่พบบ่อยคือ จากเห็ดพิษ สารพิษปนเปื้อนในอาหารทะเล สารหนู และสารโลหะหนัก
โดยแบคทีเรียที่พบก่อโรคอาหารเป็นพิษมีหลายชนิดที่พบบ่อย คือ สแตฟฟีโลคอกคัส (Staphylococcus) อีโคไล (E. coli) บิดชิเกลลา (Shigella) ไทฟอยด์ (Salmonella) เชื้อแบคทีเรียในกลุ่มเดียวกับบาดทะยัก (Clostridium) อหิวาตกโรค (Cholera) และ ลิสทีเรีย (Listeria monocytogenes) ส่วนไวรัสที่พบเป็นสาเหตุโรคอาหารเป็นพิษที่พบบ่อย คือ ไวรัสตับอักเสบ เอ และ อะดีโนไวรัส (Adenovirus)
เมื่อเชื้อหรือสารพิษเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดอาการเร็วหรือช้า (ระยะฟักตัว) ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของเชื้อ/สารพิษ ซึ่งเกิดอาการได้ตั้งแต่ 2-6 ชั่วโมงหลังกินอาหาร/ดื่มน้ำ ไปจนเป็นวันหรือสัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่โดยทั่วไปมักเกิดอาการภายใน 2-6 ชั่วโมง หรือ 2-3วัน โดยอาการโดยทั่วไปที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ท้องเสีย อาจเป็นน้ำ มูก หรือ มูกเลือด
- ปวดท้อง อาจมากหรือน้อยขึ้นกับความรุนแรงของโรค (มักเป็นการปวดบิด)
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้สูง อาจหนาวสั่น แต่บางครั้งอาจมีไข้ต่ำได้
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อาจปวดข้อ ขึ้นกับชนิดของเชื้อ/สารพิษ
- อาจมีผื่นขึ้นตามเนื้อตัว
- อาจมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ผลข้างเคียงจากโรคอาหารเป็นพิษโดยทั่วไปคือ ภาวะขาดน้ำเมื่อท้องเสียมาก (อ่อนเพลียมาก ตัวแห้ง ปากแห้ง ปัสสาวะน้อย/ไม่มีปัสสาวะ ความดันโลหิตอาจต่ำ สับสน และโคม่า) นอกจากนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรค/สารพิษ เช่น กล้ามเนื้อไม่มีแรงเมื่อได้รับเชื้อแบคทีเรียกลุ่มบาดทะยัก เลือดออกตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะไตเมื่อเกิดจากเชื้ออีโคไลชนิดรุนแรง หรือทำให้เกิดการแท้งบุตรในหญิงตั้งครรภ์เมื่อเกิดจากเชื้อลิสทีเรีย
- ในขณะปวดท้อง หรือ คลื่นไส้อาเจียน ไม่ควรกินอาหารหรือดื่มน้ำเพราะอาการจะรุนแรงขึ้น
- ไม่ควรกินยาหยุดถ่ายท้อง เพราะการท้องเสียจะช่วยขับเชื้อและสารพิษออกจากร่างกาย
- จิบน้ำ อมน้ำแข็งสะอาด หรือ น้ำเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- เมื่ออาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือ ปวดท้อง บรรเทาลง ควรเริ่มอาหารด้วยอาหารน้ำที่มีรสจืด เช่น น้ำซุปครั้งละน้อยๆ ก่อนแล้วสังเกตอาการดู หลังจากนั้นจึงค่อยปรับอาหารไปตามอาการ
- ดื่มน้ำสะอาดให้มากหรืออย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อแพทย์ไม่สั่งให้จำกัดน้ำดื่ม
- พักผ่อนให้มาก
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐานเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นที่สำคัญ คือ การล้างมือให้สะอาดเสมอโดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนกินอาหาร
- รีบพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง หรือฉุกเฉินกรณีที่มีอาการรุนแรง มีไข้สูง อุจจาระเป็นเลือด หรือกรณีที่อาการท้องเสียถึงแม้จะดีขึ้น แต่ยังคงมีอาการอยู่นานเกิน 3 วัน