คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : รูมาตอยด์
สาเหตุของโรคข้อรูมาตอยด์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สาเหตุที่เป็นไปได้ เช่น
- พันธุกรรม
- การติดเชื้อบางชนิดที่มีอยู่ทั่วไป โดยเชื้อที่สันนิษฐานมีทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส
- ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายถูกกระตุ้นให้ทำงานมากเกินผิดปกติโดยเฉพาะที่ข้อต่างๆ เซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น และหลั่งสารเคมีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ซึ่งเป็นการอักเสบแบบเรื้อรัง และส่งผลทำให้เนื้อเยื่อปกติถูกทำลายในที่สุด
- อาจเกิดจากฮอร์โมนเพราะโรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
เริ่มต้นจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ตามด้วยอาการที่เกิดจากข้ออักเสบที่เป็นลักษณะของโรคข้อรูมาตอยด์
- ปวดบวมตามข้อโดยพบที่ข้อขนาดเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อนิ้วเท้า และฝ่าเท้า มากที่สุด ส่วนข้ออื่นๆ ที่พบได้ เช่น ข้อมือ ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อเท้า ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ แต่จะไม่พบที่ข้อปลายนิ้วมือและที่ข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว
- ลักษณะอาการปวดตามข้อที่จำเพาะต่อโรคนี้คือ จะมีอาการที่ตำแหน่งข้อเหมือนกันทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ความปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อใช้งานข้อนั้นๆ และเมื่อพักการใช้ข้อนานๆ เช่น หลังตื่นนอนจะมีอาการข้อยึดแข็ง ขยับไม่ได้เป็นเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง
- เมื่อการอักเสบดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลาหลายสิบปี กระดูกอ่อนที่เป็นส่วนประกอบของข้อจะถูกทำลาย กระดูกที่อยู่รอบข้อเหล่านั้นจะบางลง และในที่สุดจะเกิดพังผืดขึ้นมาแทนที่ ดึงรั้งให้ข้อเสียรูปร่าง ใช้งานไม่ได้ เนื้อเยื่อรอบๆ ข้อที่ทำหน้าที่พยุงข้อไว้ก็จะเสียไป เส้นเอ็นที่เกาะอยู่ที่ข้อจะถูกทำลายและส่งผลทำให้กล้ามเนื้อทำงานไม่ได้ตามปกติ
นอกจากอาการจะเกิดกับข้อต่างๆ แล้ว ยังสามารถตรวจพบความผิดปกติที่อวัยวะอื่นๆ ได้ด้วย โดยจะพบเฉพาะกับผู้ป่วยที่ตรวจเลือดพบสารภูมิต้านทาน (Antibody) ของโรคนี้ที่เรียกว่า Rheumatoid factor เท่านั้น ความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น การเกิดปุ่มเนื้อที่เรียกว่า Rheumatoid nodules (สามารถเกิดขึ้นในเนื้อเยื่อชนิดใดและอวัยวะใดก็ได้) กล้ามเนื้อเกิดการฝ่อลีบ หลอดเลือดอักเสบทั่วร่างกาย โรคกระดูกพรุน เป็นต้น
การดำเนินโรคค่อนข้างจะหลากหลาย ไม่แน่นอน แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน โดยส่วนใหญ่อาการปวดบวมของข้อจะเป็นๆหายๆ แต่การทำลายของข้อจากการอักเสบก็ยังคงดำเนินต่อไป ทำให้มีการผิดรูปร่างของข้อและใช้งานไม่ได้มากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยผู้ป่วยเฉลี่ย 50% ที่มีอาการมาแล้วประมาณ 10 ปีจะไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป ในขณะที่ผู้ป่วยประมาณ 15% จะมีอาการปวดบวมจากการอักเสบของข้อเป็นอยู่ไม่นาน ไม่มีความพิการของข้อให้เห็น และสามารถทำงานได้เหมือนปกติ
- การรักษาจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ควรพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
- การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เพราะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ข้อเคลื่อนไหวได้เต็มองศา ช่วยลดความปวดและอาการอ่อนเพลีย โดยการออกกำลังกายในน้ำหรือว่ายน้ำเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะไม่ทำให้ข้อได้รับการกระทบกระเทือนจากการลงน้ำหนัก
- ไม่ควรนั่งยืนหรืออยู่ในอิริยาบถใดๆ ที่ไม่เกิดการเคลื่อนไหวของข้อใดข้อหนึ่งนานๆ เพราะจะทำให้ข้อแข็ง ขาดความยืดหยุ่น เกิดข้อยึดได้เร็วขึ้น ควรขยับข้อต่างๆ บ่อยๆ แต่ไม่ควรฝืนทำกับข้อที่กำลังมีอาการบวมและปวดอยู่
- หลีกเลี่ยงการกระทำที่ส่งผลให้ข้อได้รับความกระทบกระเทือน เช่น ไม่ยก ไม่แบกของหนัก โดยพยายามใช้ข้อใหญ่ในการทำงานก่อน เช่น ถ้าต้องยกของก็พยายามใช้ข้อมือหรือข้อศอกในการออกแรง ใช้แรงจากข้อนิ้วให้น้อยที่สุด เป็นต้น
- ถ้ามีน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วนควรต้องลดน้ำหนัก