logo

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ภาวะเหล็กเกิน (Iron overload / Hemochromatosis)

ภาวะเหล็กเกิน (Iron overload / Hemochromatosis) คือ โรค/ภาวะมีธาตุเหล็กสะสมในอวัยวะต่างๆ เกินปกติจนส่งผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะนั้นๆ จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ จากอวัยวะนั้นทำงานแย่ลงจนอาจถึงขั้นล้มเหลว  ซึ่งที่พบบ่อยและอันตราย เช่น ตับวาย ภาวะหัวใจล้มเหลว ตับอ่อนล้มเหลว (โรคเบาหวาน) รังไข่ล้มเหลว (ภาวะขาดประจำเดือน) อัณฑะล้มเหลว (นกเขาไม่ขัน) สีผิวเปลี่ยนเป็นสีบรอนซ์ โรคนี้พบทุกอายุ พบบ่อยในเชื้อชาติยุโรปเหนือ เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิง  

  • ภาวะเหล็กเกินปฐมภูมิ (Primary iron overload หรือ Hereditary hemochromatosis หรือ Classical hemochromatosis ):  เกิดจากพันธุกรรมถ่ายทอดได้ชนิดจีน/ยีนด้อย คือ ต้องทั้งพ่อและแม่มีจีนนี้ ลูกจึงจะเกิดโรคนี้ แต่ถ้าพ่อหรือแม่เพียงคนใดคนหนึ่งมีจีนนี้ ลูกอาจปกติ หรืออาจเป็นพาหะโรค ซึ่งมักแสดงอาการเมื่อเป็นผู้ใหญ่เพราะเหล็กจะค่อยๆ สะสม
  • ภาวะเหล็กเกินทุติยภูมิ (Secondary iron overload หรือ Acquired iron overload): เกิดจากร่างกาย/เลือดมีธาตุเหล็กสูงผิดปกติจากบางโรคหรือจากวิธีรักษาบางโรค เช่น โรคเลือด ไตวายเรื้อรัง โรคตับแข็งจากติดสุรา โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไวรัสตับอักเสบซี โรคไขมันพอกตับ หรือมีการกินธาตุเหล็ก และ/หรือวิตามินซี ในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากธาตุเหล็กจะค่อยๆ สะสมมากขึ้นๆ ในอวัยวะต่างๆ  ดังนั้นทั่วไประยะแรกของโรค ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ จะปรากฏอาการเมื่ออยู่ในวัยกลางคนขึ้นไป ในเพศหญิงมักเกิดอาการในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งอาการทั่วไปที่พบได้ เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง น้ำหนักลดผิดปกติ ปวดท้องเรื้อรัง ส่วนอาการจากเหล็กสะสมในอวัยวะต่างๆ: เช่น

  • สะสมที่ตับ: เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร  คลื่นไส้  ตัวเหลืองตาเหลืองบวมน้ำ  จากโรคตับแข็ง เป็นการสะสมที่พบบ่อยที่สุดและมักจะสะสมมากกว่าอวัยวะอื่น จึงมีโอกาสเกิดตับวายได้สูง ที่รุนแรงอาจถึงตายได้
  • สะสมที่ตับอ่อน: เช่น เบาหวาน
  • สะสมที่หัวใจ: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • สะสมที่ต่อมไทรอยด์: เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • สะสมที่ข้อ: เช่น ปวดข้อเรื้อรังจากข้ออักเสบ
  • สะสมที่กระดูก: เช่น โรคกระดูกพรุน
  • สะสมที่รังไข่: เช่น ภาวะขาดประจำเดือน
  • สะสมที่อัณฑะ: เช่น ภาวะนกเขาไม่ขัน
  • สะสมที่สมอง: เช่น โรคสมองเสื่อม  อาการบ้านหมุน/วิงเวียนศีรษะ
  • สะสมที่ผิวหนัง: เช่น ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีบรอนซ์
  • ผมร่วง
  • เล็บเป็นรูปช้อน (Spoon nail)
  • กรณีมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้: ควรพบแพทย์เพื่อตรวจว่าตนเองมีพันธุกรรมผิดปกติหรือไม่ เพื่อการดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน และเพื่อการวางแผนครอบครัวเมื่อจะแต่งงานหรือจะมีบุตร
  • กรณีเป็นโรคต่างๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุเกิดโรคนี้ การป้องกันโรค/ภาวะเหล็กเกิน คือ รักษาควบคุมโรคนั้นๆ ที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี
  • ดูแลตนเอง ไม่ใช้ยา อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร พร่ำเพื่อโดยไม่รู้ส่วนประกอบและผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเสมอ โดยเฉพาะธาตุเหล็กและวิตามินซี
  • ไม่ดื่ม หรือ ควรจำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: เพราะแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดตับแข็งและมีธาตุเหล็กสะสมในตับสูงเกินปกติ