คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : ซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression)
โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression ( PPD) / Perinatal depression (PND) คือ โรค/ภาวะผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดได้ทั้งกับมารดาและ/หรือบิดา หลังทารกคลอด หรืออาจเกิดในช่วงตั้งครรภ์ก่อนคลอดก็ได้ โดยเป็นอารมณ์ที่รุนแรงที่มักเกิดต่อเนื่องจากอาการมาม่าบลู (ในมารดา) หรือเบบี้บลู (ในบิดา) แต่เป็นอาการที่เกิดยาวนานและรุนแรงกว่า ซึ่งอาการต่างๆ มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนแท้จริงของโรคซึมเศร้าหลังคลอด แต่เชื่อว่าน่ามาจากหลายปัจจัยร่วมกัน ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่
ก. ปัจจัยทางชีวภาพ: มีหลากหลาย ที่สำคัญ เช่น
- การเปลี่ยนแปลงทั้งชนิดและระดับฮอร์โมนต่างๆ อย่างรวดเร็วทั้งในช่วงก่อนคลอดและช่วงหลังคลอด
- พันธุกรรมที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า โรค/ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ อาการมาม่าบลู หรือ เบบี้บลูในผู้ชาย โดยเฉพาะที่เคยเกิดในครรภ์ก่อนๆ
- สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และ/หรือ ใช้สาร/ยาเสพติด
- มีโรคประจำตัวเรื้อรัง โดยเฉพาะกลุ่มโรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคไฟโบรมัยอัลเจีย
- มารดา บิดา อายุน้อย มักต่ำกว่า 20 ปี
- ทารกที่เกิดมีปัญหาด้านสุขภาพหรือพิการแต่กำเนิด ซึ่งมักก่อให้เกิดความเครียดในครอบครัวโดยเฉพาะมารดาบิดา
ข. ปัจจัยทางจิตเวช: มีหลากหลายเช่นกัน เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล นอนไม่หลับ/นอนน้อย ไม่มีเวลาส่วนตัว ไม่มีใครเข้าใจ ประวัติเคยมีอาการซึมเศร้า เคยมีอาการ มาม่าบลู หรือ เบบี้บลูในผู้ชาย ในครรภ์ก่อนๆ มีวิกฤติชีวิตช่วงตั้งครรภ์ เช่น หย่าร้าง ตกงาน สูญเสียคนที่รักผูกพัน ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น
อาการซึมเศร้าหลังคลอด/โรคซึมเศร้าหลังคลอดมีหลากหลายอาการ ทั่วไปเป็นอาการเกิดหลังคลอด แต่หลายคนอาจเกิดในช่วงก่อนคลอด ซึ่งลักษณะ/รูปแบบอาการที่สำคัญของโรค เช่น ซึมเศร้ารุนแรง ร้องไห้โดยไร้เหตุผลบ่อย เหนื่อยล้า หมดแรง สับสน กระวนกระวาย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อารมณ์แปรปรวน ไม่มีสมาธิ โกรธง่าย ซึ่งอาการต่างๆ มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมีอาการต่อเนื่องเป็นอยู่นานเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป (อาการอาจเกิดได้ตั้งแต่ช่วงก่อนคลอด แต่ทั่วไปประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังคลอด กรณีที่เกิดกับบิดาอาจเกิดช่วง 3-6 เดือนหลังคลอด)