คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : คาวาซากิ (Kawasaki Disease)
โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease ย่อว่า KD) คือ โรคที่ทำให้เกิดหลอดเลือดอักเสบโดยเฉพาะหลอดเลือดแดงขนาดกลาง พบบ่อยในเด็กทั่วโลก แต่พบมากในเด็กเอเชีย เฉลี่ยอายุประมาณ 2-3 ปี โดยประมาณ 80% พบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี และที่ควรทราบ คือ 20-25% ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา จะมีความผิดปกติของหลอดเลือดแดงหัวใจ (Coronary arteries) คือมีการโป่งพองของหลอดเลือด (Aneurysm)
หากไม่มีการรักษา โรคคาวาซากิจะมีธรรมชาติ/การดำเนินของโรคเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะไข้เฉียบพลัน (Acute febrile phase): จะมีไข้สูงและมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย โรคระยะนี้กินเวลา 1-2 สัปดาห์
- ระยะกึ่งเฉียบพลัน (Subacute phase): ในระยะนี้จะมีการลอกของผื่น มีเกล็ดเลือดสูง (Thrombocytosis) และในระยะนี้อาจมีการโป่งพองของหลอดเลือดแดงหัวใจ (Coronary aneurysms) ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ป่วยอาจตายได้ในช่วงนี้จากภาวะหลอดเลือดแดงหัวใจโป่งพอง ระยะนี้กินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
- ระยะพักฟื้น (Convalescent phase): ระยะนี้อาการต่างๆ รวมทั้งความผิดปกติของเลือด/ซีบีซี กลับคืนสู่ปกติ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์หลังจากเริ่มอาการของความเจ็บป่วยจากโรคนี้
- ไข้สูง: ไข้ในโรคคาวาซากิจะสูงมากกว่า 101 องศาฟาเรนไฮต์ (Fahrenheit) หรือ 38.3 องศาเซลเซียส (Celsius) และไข้สูงไม่ลดลงแม้จะให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งหากไม่ได้รักษาไข้จะสูง 1-2 สัปดาห์ และอาจมีไข้สูงนานถึง 3-4 สัปดาห์
- นอกจากอาการไข้ จะมีอาการสำคัญหลักๆอีก 5 อาการ ได้แก่
- ตาแดงโดยไม่มีขี้ตาทั้งสองข้าง (Non-exudative bulbar conjunctival injection)
- ริมฝีปาก คอและเยื่อบุปาก แดง ลิ้นเป็นตุ่มแดงนูนดูคล้ายผิวสตรอเบอร์รี (Strawberry tongue) และริมฝีปากแตก
- ในประมาณสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ปลายมือเท้าอาจลอก
- มีผื่นลักษณะต่างๆ กันขึ้นตามตัวและอาจขึ้นมากบริเวรขาหนีบ
- ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอ โต คลำได้ ขนาดต่อมน้ำเหลืองมักโตมากกว่า 1.5 ซม. ไม่เจ็บหรือเจ็บแต่น้อย
นอกจากนั้น อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ในโรคคาวาซากิ เช่น
ก. อาการทางหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ของเยื่อหุ้มหัวใจ และลิ้นหัวใจผิดปกติ มีความผิดปกติที่หลอดเลือดแดงหัวใจ มีการโป่งพองของหลอดเลือดแดงขนาดกลาง มีการอุดตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (แขน ขา นิ้วมือ นิ้วเท้า) ทำให้ปลายนิ้วขาดเลือดไปเลี้ยง
ข. อาการทางระบบทางเดินหายใจ: เช่น น้ำท่วมปอด/ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ปอดอักเสบ/ ปอดบวม
ค. อาการทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ
ง. อาการทางระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง การทำงานของตับผิดปกติ มีน้ำและมีอาการบวมในถุงน้ำดี (Hydrops of gallbladder)
จ. อาการทางระบบประสาท: เช่น มีอาการหงุดหงิดกระสับกระส่ายอย่างมาก มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ (Aseptic meningitis) สูญเสียการได้ยิน/หูดับ
ฉ. อาการทางระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะ
ช. อาการอื่นๆ: เช่น ตัวแดง ม่านตาอักเสบ มีผื่นลอกของผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ มีการบวมนูนของบริเวณที่เคยฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG/วัคซีนป้องกันวัณโรค)
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคคาวาซากิ จึงยังไม่สามารถป้องกันได้ แต่เป็นโรคที่รักษาได้ การรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว จะป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งที่สำคัญ คือ หลอดเลือดแดงหัวใจโป่งพองได้มาก ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์ให้เข้าใจธรรมชาติของโรคเพื่อการร่วมมือกันในการรักษาผู้ป่วย