คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : ความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง คือ ภาวะมีความดันโลหิตที่วัดได้สูงตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอท (mmHg) ขึ้นไป ทั้งนี้ความดันโลหิตปกติ คือ 90-119/60-79 มม.ปรอท โดยโรคความดันโลหิตสูงแบ่งตามสาเหตุได้เป็น 2 ชนิด/กลุ่ม คือ
- ชนิดไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด (Essential hypertension หรือ Primary hypertension) ซึ่งพบได้สูงประมาณ 90-95%ของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าน่าเกิดจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน ที่สำคัญคืออิทธิพลของเอนไซม์และฮอร์โมนที่เรียกว่ากระบวนการ ‘Renin-Angiotensin system’ นอกจากนั้นยังขึ้นกับพันธุกรรม เชื้อชาติ การกินอาหารเค็ม/อาหารมีแกลือโซเดียมสูง
- ชนิดทราบสาเหตุ (Secondary hypertension) พบได้ประมาณ 5-10% ของโรคนี้ มักเกิดจากโรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อหลอดเลือด ต่อหัวใจ ต่อสมดุลของฮอร์โมน และ/หรือเกลือแร่ในร่างกายที่พบบ่อย เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงไต การติดสุรา หรือจากฮอร์โมนบางชนิดในร่างกายที่ผิดปกติ
- พันธุกรรม: โอกาสมีความดันโลหิตสูง จะสูงขึ้นเมื่อมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
- โรคเบาหวาน: เพราะก่อให้เกิดการอักเสบที่ต่อเนื่องเป็นการตีบแคบของหลอดเลือดต่างๆ รวมทั้งของไต
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน: เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของโรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดต่างๆ ตีบจากภาวะไขมันเกาะผนังหลอดเลือด (โรคหลอดเลือดแดงแข็ง)
- โรคไตเรื้อรัง: เพราะจะส่งผลถึงการสร้างเอนไซม์และฮอร์โมนที่ควบคุมความดันโลหิต
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ (Sleep apnea)
- สูบบุหรี่: เพราะสารพิษในควันบุหรี่ส่งผลให้เกิดการอักเสบ ตีบตัน ของหลอดเลือดต่างๆ รวมทั้งหลอดเลือดไต และหลอดเลือดหัวใจ
- การติดสุรา: ซึ่งการศึกษาต่างๆ ให้ผลตรงกันว่า คนที่ติดสุราจะส่งผลให้หัวใจเต้นแรงกว่าปกติ และมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 50% ของผู้ติดสุราทั้งหมด
- กินอาหารเค็มสม่ำเสมอ/ต่อเนื่อง
- ขาดการออกกำลังกาย เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอ้วนและโรคเบาหวาน
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์
ความสำคัญของโรคความดันโลหิตสูงคือเป็นโรคที่มักไม่มีอาการ แพทย์บางท่านจึงเรียกโรคความดันโลหิตสูงว่า “เพชฌฆาตเงียบ (Silent killer)” ทั้งนี้ ถ้ามีอาการส่วนใหญ่ ได้แก่ อาการปวดศีรษะต่อเนื่อง มึนงง วิงเวียน สับสน
การป้องกันโรคความดันโลหิตสูงที่สำคัญ คือ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดย
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน ในปริมาณที่เหมาะสม กล่าวคือ ไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน และจำกัดอาหาร ไขมัน แป้ง น้ำตาล และอาหารเค็ม เพิ่มผักและผลไม้ชนิดไม่หวานให้มากๆ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามสุขภาพ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รักษาสุขภาพจิต
- ไม่สูบบุหรี่
- ไม่ดื่ม/จำกัดสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ตรวจสุขภาพประจำปี