คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : กล้ามเนื้ออ่อนแรง
กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscle weakness) เป็นอาการไม่ใช่โรค ที่มีสาเหตุเกิดได้จากโรคของหลากหลายอวัยวะที่พบได้บ่อย เช่น
- สมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง
- ไขสันหลัง เช่น ไขสันหลังอักเสบหรือมีอุบัติเหตุต่อไขสันหลัง
- เส้นประสาท เช่น เส้นประสาทอักเสบ/โรคเส้นประสาท
- โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น โรคเบาหวานและโรคต่อมหมวกไตทำงานเกินปกติ
- โรคของตัวกล้ามเนื้อเอง เช่น โรคกล้ามเนื้อฟ่อลีบ โรคของกระดูกและข้อ เช่น โรคคาร์ปาล (Carpal tunnel syndrome)
- โรคออโตอิมมูน
- การได้รับสารพิษบางชนิด เช่น สารโบทอก (Botulism) หรือพิษจากโลหะหนักบางชนิด เช่น ตะกั่ว
- ร่างกายขาดสมดุลของเกลือแร่ เช่น ขาดโพแทสเซียม
- การขาดวิตามินต่างๆ เช่น วิตามิน ดี
- ผลข้างเคียงจากการได้รับวิตามินเสริมอาหารบางชนิดในปริมาณสูงต่อเนื่อง เช่น วิตามินอี
- โรคของต่อมไทมัส เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis / MG)
โรคเอแอลเอส (Amyotrophic lateral sclerosis / ALS) /โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส / โรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม ไม่ใช้โรคกล้ามเนื้อโดยตรง แต่เนื่องจากเซลล์ประสาทนำคำสั่งในไขสันหลังส่วนหน้าและมีบางส่วนของเนื้อสมองเสื่อม จึงสูญเสียการนำคำสั่งในการทำงานมายังกล้ามเนื้อ จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อขึ้น ในประเทศไทยไม่มีข้อมูลว่าพบมากน้อยเพียงใด ในยุโรปพบประมาณ 2 รายต่อประชากร 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 หรือ 65 ปีขึ้นไป ผู้ชายพบบ่อยกว่าผู้หญิง แต่ไม่พบการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่แน่ชัด
โรคเอเอฟพี / กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียก (Acute flaccid paralysis / AFP) / กล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนปวกเปียกแบบเฉียบพลัน / กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน คือ อาการอ่อนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันกับกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ข้อมูลของประเทศไทยพบโรค AFP นี้ได้ประมาณ 0.18 รายต่อประชากร 100,000 คน พบเพศชายได้บ่อยกว่าเพศหญิงเล็กน้อย
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis / MG) เป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อลายที่อยู่ในการควบคุมของสมอง (Voluntary muscle หรือ Striated muscle) ที่ร่างกายใช้ในการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อ แขน ขา ดวงตา ใบหน้า ช่องปาก กล่องเสียง และกล้ามเนื้อซี่โครงที่ใช้ในการหายใจ เกิดการอ่อนแรงจนไม่สามารถทำงานหดตัวได้ตามปกติ ทั้งนี้อาการมักเกิดหลังจากที่กล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ทำงานซ้ำๆ แต่หากเมื่อได้รับการพักการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะดีขึ้น และกล้ามเนื้อจะฟื้นตัวกลับมาทำงานได้เป็นปกติ ทั้งนี้ การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อนั้นๆ ไม่ได้เกิดจากโรคของสมอง หรือของไขสันหลังอักเสบบาดเจ็บ หรือจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเรียกว่าโรคอัมพฤกษ์หรือโรคอัมพาต หรือจากโรคของเส้นประสาท ดังนั้น โรคเอมจี จึงไม่ใช่โรคอัมพฤกษ์/อัมพาต เป็นโรคพบได้ไม่บ่อยนัก ประมาณ 10 ราย ต่อประชากร 100,000 คน พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบในพศหญิงมากกว่าในพศชายประมาณ 3:2 เท่า ทั้งนี้พบโรคนี้ในเด็กได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ทั้งหมด ในผู้ใหญ่ผู้หญิงมักพบโรคได้สูงในช่วงอายุ 20-40 ปี แต่ในผู้ใหญ่ผู้ชายมักพบโรคได้สูงในช่วงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเล็มส์ (Lambert-Eaton myasthenic syndrome / LEMS) เกิดจากความผิดปกติด้านภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่มีการสร้างสารต่อต้านการหลั่งสารสื่อประสาทอะซีติลโคลีน (Acetylcholine) เกิดขึ้นจากมีความผิดปกติบริเวณรอยต่อระหว่างเส้นประสาทต่อกับกล้ามเนื้อ (Neuromuscular junction: NMJ) บริเวณเดียวกับที่เกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี พบได้ประมาณ 3% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก ซึ่งความชุกของมะเร็งปอดดังกล่าวประมาณ 5 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ดังนั้นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเล็มส์จึงพบได้น้อยมาก คาดการณ์ว่าในสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยโรคนี้ทั้งประเทศเพียงประมาณ 400 คน พบบ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง พบบ่อยกว่าในวัยกลางคนถึงผู้สูงอายุ
โรคกล้ามเนื้อเสื่อม /โรคกล้ามเนื้อเจริญผิดเพี้ยน (Muscular dystrophy) คือ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เป็นโรคแต่กำเนิดชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เป็นผลให้เส้นใยกล้ามเนื้อลายค่อยๆเสื่อมสภาพ และอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ต่อเนื่องเมื่ออายุมากขึ้น พบได้พอควรแต่ไม่ถึงกับบ่อยมาก พบได้ประมาณ 5-90 รายต่อประชากรล้านคน เนื่องจากเป็นโรคความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครโมโซมเพศ ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจึงมักเป็นเพศชาย