logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ งูสวัด

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : งูสวัด

โรคงูสวัด (Herpes zoster หรือ Shingles หรือเรียกสั้นๆ ว่า Zoster) คือ โรคผื่น/ตุ่มน้ำใส ที่มักเกิดรวมเป็นกระจุกตามแนวยาวของเส้นประสาท เจ็บมาก เกิดตามผิวหนังตำแหน่งใดก็ได้ทั่วตัว แต่มักเกิดที่ลำตัว บริเวณเอว และที่สะโพก/แก้มก้น โดยเกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสที่เป็นสาเหตุโรคอีสุกอีใส เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่ง พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ มักพบในคนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส เมื่อมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอลงจึงเกิดเป็นโรคงูสวัด

  • มีอาการคล้ายไข้หวัด/ โรคหวัด นำก่อน ประมาณ 2-3 วัน เช่น
    • มีไข้ (มีได้ทั้งไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ) หรือ ไม่มีไข้
    • อาจปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดท้อง อ่อนเพลีย ตากลัวแสง
    • มักเจ็บในบริเวณติดเชื้อมาก (ยังไม่มีผื่นขึ้น) หลังจากนั้น 2-3วัน จึงขึ้นผื่น
  • ผื่นจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง คัน เป็นทางยาว และไม่กว้างมากนัก มักเป็นทางยาวตามแนวเส้นประสาทของร่างกาย โดยมักเริ่มในแนวใกล้ๆ กลางลำตัวตามแนวปมประสาท เช่น ตามประสาทของ ลำตัว แขน ขา ตา และหู และมักเกิดเพียงด้านเดียว โดยทั่วไปมักพบที่ลำตัวบ่อยที่สุด
  • ผู้ป่วยจะมีอาการ คันในบริเวณขึ้นผื่น เจ็บปวดมาก อาจร่วมกับปวดแสบปวดร้อน บางคนร่วมกับอาการชาในบริเวณนั้นๆ
  • อาการปวดมักนำมาก่อนเกิดผื่นแดง และเมื่อเกิดผื่นแล้วอาการปวดก็ยังคงอยู่ และบ่อยครั้งเมื่อโรคและผื่นหายแล้วก็ยังปวดได้ต่อเนื่อง อาจเป็นปีๆ แต่อาจปวดมากหรือน้อยไม่เท่ากันในทุกราย

โรคงูสวัด เป็นโรคติดต่อได้จากการสัมผัส ผื่น หรือ ตุ่มพองของโรค โดยผู้สัมผัสไม่เกิดเป็นงูสวัดแต่จะเกิดเป็นโรคอีสุกอีใส เมื่อไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนหรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส หรือบางครั้งแม้เคยฉีดวัคซีนนี้มาแล้วก็ตาม

  • การใช้ยาต้านไวรัส (เช่น ยา Aciclovir) ซึ่งจะได้ผลดี ลดความรุนแรงของอาการ และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้นเมื่อได้รับยาภายใน 3 วันหลังเกิดผื่น ที่มีทั้ง ยาทา ยากิน และ ยาฉีด ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ซึ่งพบว่ายิ่งรักษาเร็วเท่าไร ตุ่มน้ำใสและอาการปวดก็หายเร็วกว่าผู้ป่วยที่รับการรักษาช้า
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ โดยเฉพาะ
    • ยาแก้ปวด และ
    • ยาบรรเทาอาการคัน/ยาแก้คัน

การป้องกันโรคงูสวัด คือ หลีกเลี่ยงสัมผัสผื่นและตุ่มโรคของผู้ป่วยโรคนี้รวมถึงโรคอีสุกอีใส โดยเฉพาะเมื่อไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสหรือไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องมีการฉีดกระตุ้นซ้ำ ถึงแม้ประสิทธิภาพจะไม่สูง 100 % แต่ก็พบว่าได้ประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดอาการงูสวัดได้สูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น