ไอโซพรีนาลีน (Isoprenaline)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 สิงหาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ไอโซพรีนาลีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไอโซพรีนาลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไอโซพรีนาลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไอโซพรีนาลีนมีขนาดบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
- ไอโซพรีนาลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไอโซพรีนาลีนอย่างไร?
- ไอโซพรีนาลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไอโซพรีนาลีนอย่างไร?
- ไอโซพรีนาลีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอฟีดรีน (Ephedrine)
- เบต้า 2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ (Beta2 - adrenergic agonists)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- ซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetic drug)
บทนำ
ยาไอโซพรีนาลีน(Isoprenaline หรืออีกชื่อคือ Isoproterenol)เป็นยาประเภท Beta 2-adrenergic agonist หรือ Sympathomimetics และมีโครงสร้างโมเลกุลใกล้เคียงกับยา Epinephrine ทางคลินิกได้นำยาไอโซพรีนาลีนมารักษา ภาวะหัวใจเต้นช้า ภาวะหัวใจหยุดเต้น และบางกรณีก็นำไปรักษาอาการหอบหืดอีกด้วย อาจกล่าวได้ว่ายาไอโซพรีนาลีนเป็นยาช่วยชีวิตประเภทหนึ่งก็ได้ เราจะพบเห็นการใช้ยานี้ในห้องฉุกเฉิน และห้องไอซียู(ICU, Intensive care unit)ของโรงพยาบาล
ยาไอโซพรีนาลีนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้จะทำให้หัวใจมีแรงบีบตัวได้มากขึ้นจึงส่งผลให้ปริมาณเลือดออกจากหัวใจเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้น ตัวยานี้ยังสามารถออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบบริเวณผนังหลอดลมคลายตัว มีผลให้หลอดลมขยายตัวและเปิดกว้าง ข้อดีประการหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิผลของยาไอโซพรีนาลีนเหนือกว่า ยาEpinephrine คือ ไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเหมือนยา Epinephrine
ข้อห้ามใช้และข้อควรระวังสำหรับการใช้ไอโซ พรีนาลีนที่ควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาไอโซพรีนาลีนขณะผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ ผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเนื่องจากได้รับพิษจากกลุ่มยาDigitalis รวมถึงผู้ป่วยขณะที่กำลังมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ยานี้ทำให้หัวใจมีแรงบีบตัวมากขึ้นก็จริง แต่ก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนเป็นปริมาณมากขึ้นเช่นกัน การใช้ยานี้มากเกินไปหรือผิดขนาดอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้
- โดยทั่วไป แพทย์จะให้ยาไอโซพรีนาลีนแก่ผู้ป่วยในขนาดต่ำที่สุด แต่ที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางการรักษาสูงที่สุด การช่วยเหลือผู้ป่วยโดยการใช้ยานี้แพทย์ต้องใช้สัญญาณชีพ อาทิเช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ค่าออกซิเจนในเลือด เป็นตัวบ่งบอกอาการว่าสภาพร่างกายผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายแล้วหรือไม่
- สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยานี้ที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรง แพทย์เท่านั้นที่จะสามารถพิจารณาการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด
- *ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด สามารถสังเกตได้จากอาการความดันโลหิตต่ำ หรือไม่ก็สูง หัวใจเต้นเร็ว หรืออาจเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชีพจรเต้นผิดปกติ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กรณีพบเห็นอาการเหล่านี้ ต้องรีบจ้งแพทย์/พยาบาล เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยโดยเร็ว
การให้ยาไอโซพรีนาลีนกับผู้ป่วย สามารถฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง หรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ การให้ยาด้วยวิธีดังกล่าวต้องเจือจางยาด้วยสารละลาย Sodium chloride หรือ 5% Dextrose ตามคู่มือหรือคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ส่วนการฉีดไอโซพรีนาลีนเข้าใต้ผิวหนัง หรือเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าหัวใจโดยตรง ไม่จำเป็นต้องเจือจางตัวยาด้วยสารละลายใดๆ
สำหรับประเทศไทยเราจะพบเห็นยาไอโซพรีนาลีนถูกจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Isuprel” และมีการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ขนาดและวิธีการบริหารยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว
ไอโซพรีนาลีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไอโซพรีนาลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดภาวะหัวใจหยุดเต้นที่มีอาการไม่รุนแรง
- บำบัดอาการหัวใจหยุดเต้นที่มีอาการรุนแรง ซึ่งแพทย์ต้องใช้ไฟฟ้าช่วยกระตุ้นให้หัวใจให้กลับมาทำงานเป็นปกติร่วมด้วย
- ใช้เป็นยาขยายหลอดลมขณะที่ผู้ป่วยถูกวางยาสลบ
- ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นช้าหลังจากได้รับการผ่าตัดหัวใจ
- บำบัดรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ไอโซพรีนาลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไอโซพรีนาลีนเป็นยาประเภท Sympathomimetics มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะกระตุ้นสมองและหัวใจ ส่งผลให้หัวใจมีแรงบีบตัวได้มากขึ้น รวมถึงทำให้หลอดลมเกิดการขยายตัว ด้วยกลไกเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ
ไอโซพรีนาลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไอโซพรีนาลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น
- ยาฉีดที่มีส่วนประกอบของ Isoprenaline ขนาด 0.2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ไอโซพรีนาลีนมีขนาดบริหารยาอย่างไร?
ยาไอโซพรีนาลีน มีขนาดบริหารยา/ใช้ยา เช่น กรณีสำหรับบำบัดอาการหัวใจหยุดเต้น:
ก.กรณีฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยา 0.02–0.06 มิลลิกรัม โดยเจือจางตัวยาขนาด 0.2 มิลลิกรัมด้วยสารละลาย Sodium chloride 9 มิลลิลตร กรณีที่จำเป็น แพทย์อาจต้องให้ยาเพิ่มภายหลังอีก 0.01–0.2 มิลลิกรัม
ข. กรณีฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ:
- ผู้ใหญ่: ไม่ต้องเจือจางตัวยา ให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อโดยตรงขนาด 0.2 มิลลิกรัม หากจำเป็น แพทย์อาจต้องให้ยาเพิ่มอีก 0.02– 1 มิลลิกรัม
ค. กรณีฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง:
- ผู้ใหญ่: ไม่ต้องเจือจางตัวยา ให้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังโดยตรงขนาด 0.2 มิลลิกรัม หากจำเป็น แพทย์อาจต้องให้ยาเพิ่มอีก 0.15–0.2 มิลลิกรัม
ง. กรณีฉีดยาเข้าหัวใจ:
- ผู้ใหญ่: ไม่ต้องเจือจางตัวยา ให้ฉีดเข้าหัวใจโดยตรงขนาด 0.02 มิลลิกรัม
อนึ่ง:
- เด็ก: ขนาดยานี้ในเด็ก อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
- การเตรียมยาฉีดนี้สำหรับผู้ป่วย ให้ทำตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอโซพรีนาลีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอโซพรีนาลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
ยาไอโซพรีนาลีนเป็นยาที่ใช้ในสถานพยาบาล/โรงพยาบาล และต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น โอกาสที่จะลืมฉีดยาให้ผู้ป่วยจึงเป็นไปได้น้อยมาก
ไอโซพรีนาลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไอโซพรีนาลีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ วิตกกังวล มีอาการหวาดกลัว ตื่นเต้น
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ตัวสั่น ปวดศีรษะ หูดับ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว
มีข้อควรระวังการใช้ไอโซพรีนาลีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไอโซพรีนาลีน เช่น
- ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้เกินขนาด ด้วยยานี้จะไปเพิ่มความต้องการออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจจนอาจส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจ และผู้ป่วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูง(ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ)
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว
- เฝ้าระวังสัญญาณชีพของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดขณะใช้ยานี้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่งทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไอโซพรีนาลีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไอโซพรีนาลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไอโซพรีนาลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาใช้ยาไอโซพรีนาลีนร่วมกับยา Epinephrine, Digitalis, เพราะสามารถ ส่งผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
- ห้ามใช้ยาไอโซพรีนาลีนร่วมกับยารักษาโรคหัวใจกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์(Beta blocker)เพราะยากลุ่ม Beta blocker จะรบกวนและต่อต้านฤทธิ์ในการรักษาของยาไอโซพรีนาลีน
ควรเก็บรักษาไอโซพรีนาลีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาไอโซพรีนาลีนภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไอโซพรีนาลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไอโซพรีนาลีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Isuprel (ไอซูเพรล) | Hospira, Inc. |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Aleudrina, Asthpul, Iludrin , Isomenyl, Isoprenalin, Isoprenalina, Isoprenalina, Isoprenaline, Isoprenaline hydrochloride , Isoprenaline sulfate , Isoprenaline sulfaat, Isoprenalinsulfat , Isoprenalinum, Isopropydine, Isopropylnoradrenaline, Isoproterenol, Isoproterenol hydrochloride, Isoproterenol sulfate , Isuprel Neo-Epinine, Neodrenal , Proternol, Saventrine, Win 5162