ไพริโดสติกมีน (Pyridostigmine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 ตุลาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ไพริโดสติกมีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไพริโดสติกมีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไพริโดสติกมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไพริโดสติกมีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไพริโดสติกมีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไพริโดสติกมีนอย่างไร?
- ไพริโดสติกมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไพริโดสติกมีนอย่างไร?
- ไพริโดสติกมีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis หรือ MG)
- อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์: เอซีเฮชอีไอ (Acetylcholinesterase inhibitor: AChEI)
- ยาหย่อนกล้ามเนื้อ (Nondepolarizing neuromuscular blocker)
- คาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอร์ (Carbonic anhydrase inhibitor)
- ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants drugs)
- กล้ามเนื้อกระตุก (Tic)
บทนำ: คือยาอะไร?
ไพริโดสติกมีน (Pyridostigmine หรือ Pyridostigmine bromide) คือ ยาที่ใช้บำบัดรักษาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดที่เรียกกันว่า โรคไมแอสทีเนียเกรวิส/โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis/ย่อว่า MG), ยานี้จัดเป็นสาร/ยาประเภทโคลีนเอสเทอเรสอินฮิบิเตอร์ (Cholinesterase inhibitor/Acetylcholinesterase inhibitor), รูปแบบยาแผนปัจจุบันจะมีทั้งชนิดรับประทาน และชนิดฉีด, ชื่ออื่นของยานี้ คือ Pyridostigmine Br, และชื่อย่อยานี้ คือ พีบี/PB
สำหรับยาไพริโดสติกมีนชนิดรับประทาน จะมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ต่ำเพียง 10 - 20% เท่านั้น, ตัวยาในกระแสเลือดสามารถซึมเข้าน้ำนมของมารดาและผ่านรกได้, แต่ซึมผ่านเข้าสมองได้ค่อนข้างน้อย, ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยานี้, และยานี้บางส่วนก็จะถูกทำลายโครงสร้างโดยเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส (Cholinesterases, เอนไซม์ทำลายสาร Acetylcholine), ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาไพริโดสติกมีนชนิดรับประทานออกจากกระแสเลือด,และประมาณ 1.5 ชั่วโมงสำหรับกำจัดยาไพริโดสติกมีนชนิดฉีด
ยาไพริโดสติกมีน ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการลำไส้อุดตัน หรือท่อปัสสาวะอุดตัน รวมถึงผู้ที่มีภาวะหอบหืด, การใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้ป่วยเด็ก ก็ยังไม่มีการศึกษาถึงผลดีผลเสียแต่อย่างใด, ดังนั้นการจะใช้ยาไพริโดสติกมีนกับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว จึงต้องอาศัยดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นสำคัญ
อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยหลังจากได้รับยาไพริโดสติกมีน เช่น มีอาการ ท้องเสีย ปวดท้อง หรือเป็นตะคริวที่หน้าท้อง คลื่นไส้ และประจำเดือน (ในผู้ป่วยสตรี) มาผิดปกติ เป็นต้น
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาไพริโดสติกมีนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีประจำสำหรับให้บริการต่อผู้ป่วย, สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุยาไพริโดสติกมีนชนิดรับประทานอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดอยู่ในประเภทยาอันตรายที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว
ไพริโดสติกมีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไพริโดสติกมีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี
- บำบัดอาการจากการได้รับยาหย่อนกล้ามเนื้อเกินขนาด
ไพริโดสติกมีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไพริโดสติกมีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำลายสารสื่อประสาท ชื่อว่า อะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) โดยตัวยาจะปิดกั้นการทำงานของเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase), ส่งผลให้คำสั่งของกระแสประสาทผ่านไปถึงกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นจึง กระตุ้นให้กล้ามเนื้อเกิดการทำงานได้เป็นปกติมากขึ้น
ไพริโดสติกมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไพริโดสติกมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 60 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีดขนาด 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และ 60 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ไพริโดสติกมีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไพริโดสติกมีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา:เช่น
ก. สำหรับรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี: เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 60 มิลลิกรัม, วันละ 3 ครั้ง, หลังอาหาร, ซึ่งขนาดรับประทานนี้ แพทย์อาจปรับขึ้นเป็น 60 - 1,500 มิลลิกรัม โดยประเมินจากอาการและการตอบสนองต่อยานี้ของผู้ป่วย โดยแบ่งรับประทาน 3 - 6 ครั้ง/วัน
- เด็กทารก (อายุตั้งแต่ 1 ปีลงมา): รับประทาน 5 มิลลิกรัมทุก 4 - 6 ชั่วโมง
- เด็กอายุมากกว่า 1 ปี: รับประทาน 7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน, โดยแบ่งรับประทานเป็น 5 - 6 ครั้ง
อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้ก่อนอาหาร
ข. สำหรับบำบัดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากยาหย่อนกล้ามเนื้อ: เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆขนาด 10 - 20 มิลลิกรัม, *ก่อนให้ยาไพริโดสติกมีน แนะนำให้ฉีดยา Atropine sulfate ก่อน และควรใช้เครื่องช่วยหายใจกับผู้ป่วยขณะฉีดยานี้
- เด็ก: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 0.1 -25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไพริโดสติกมีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไพริโดสติกมีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไพริโดสติกมีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไพริโดสติกมีนตรงเวลา
ไพริโดสติกมีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
การใช้ยาไพริโดสติกมีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืด เป็นตะคริวที่ท้อง น้ำลายมาก
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมอักเสบ หอบหืด
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก เป็นตะคริว ปวดในกระดูก
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า น้ำตาไหลมาก
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน ลมพิษ อาจพบภาวะศีรษะล้าน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดหัว รู้สึกสับสน ประสาทหลอน กระสับกระส่าย ความจำเสื่อม
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะบ่อย
มีข้อควรระวังการใช้ไพริโดสติกมีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไพริโดสติกมีน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะทางเดินอาหาร/ลำไส้อุดตัน หรือระบบทางเดินปัสสาวะอุดตัน
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหืด โรค/ภาวะหัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคไต
- ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไพริโดสติกมีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด สมุนไพรต่างๆ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไพริโดสติกมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไพริโดสติกมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาไพริโดสติกมีน ร่วมกับกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคต้อหิน เช่นยา Carbonic anhydrase inhibitors อาจทำให้การมองเห็นภาพในช่วงเวลากลางคืนผิดปกติ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไพริโดสติกมีนร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อ เช่นยา Pancuronium, Vecuronium, จะเกิดการต้านฤทธิ์ซึ่งกันและกัน จนทำให้ประสิทธิภาพของยาคลายกล้ามเนื้อด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไพริโดสติกมีน ร่วมกับยา Hydrocortisone อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาไพริโดสติกมีนด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาไพริโดสติกมีน ร่วมกับยา Methscopolamine จะทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาไพริโดสติกมีนอย่างไร?
ควรเก็บยาไพริโดสติกมีน: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่ แข็งตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไพริโดสติกมีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไพริโดสติกมีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Mestinon (เมสตินอน) | A.Menarini |
Pyrimine 60 (ไพริมีน 60) | Sriprasit Pharma |
อนึ่ง: ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Distinon, Nestin, Pyrido, Myestin, Gravi tor, Trostigmin
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pyridostigmine [2022,Oct22]
- https://www.drugs.com/dosage/pyridostigmine.html#Usual_Adult_Dose_for_Myasthenia_Gravis [2022,Oct22]
- https://www.drugs.com/dosage/pyridostigmine.html#Usual_Adult_Dose_for_Myasthenia_Gravis [2022,Oct22]
- https://www.medicalnewstoday.com/articles/muscle-relaxers [2022,Oct22]
- https://www.drugs.com/sfx/pyridostigmine-side-effects.html [2022,Oct22]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/pyridostigmine-index.html?filter=2&generic_only= [2022,Oct22]