ไบกัวไนด์ (Biguanide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 กรกฎาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ไบกัวไนด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไบกัวไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไบกัวไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไบกัวไนด์มีขนาดรับประทานและการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ไบกัวไนด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไบกัวไนด์อย่างไร?
- ไบกัวไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไบกัวไนด์อย่างไร?
- ไบกัวไนด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- เบาหวานขึ้นตา เบาหวานกินตา (Diabetic retinopathy)
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
บทนำ
ยาไบกัวไนด์ (Biguanide) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่เป็นของแข็งไม่มีสี ละลายน้ำได้ดี ทางคลินิกได้นำไบกัวไนด์มาใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โดยมีข้อดีไม่ก่อให้เกิดภาวะน้ำ ตาลในเลือดต่ำ นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาต้านโรคมาลาเรียและยายับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียอีกด้วย อาจจำแนกอนุพันธุ์หรือยากลุ่มไบกัวไนด์ออกเป็นรายการย่อยดังนี้เช่น
- Metformin: ใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เป็นยาชนิดรับประทาน ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ประมาณ 50 - 60% มีการขับออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
- Phenformin: เป็นยาต้านเบาหวานที่วางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) แต่ถูกเพิกถอนการใช้ในปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) เนื่องจากก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายโดยทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในเลือดรวมถึงเนื้อเยื่อต่างๆหรือที่เรียกว่า Lactic acidosis
- Buformin: ใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานโดยมีรูปแบบของยารับประทาน การดูดซึมจากทางเดินอาหารอยู่ในช่วงประมาณ 40 - 60% และขับออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
- Proguanil: ใช้เป็นยาป้องกันโรคมาลาเรียชนิดรับประทานที่มักใช้กับเด็ก ตัวยาอยู่ในร่าง กายนานประมาณ 20 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกกำจัดออกจากกระแสเลือดครึ่งหนึ่งโดยกำจัดออกทางปัสสาวะ
- Chlorproguanil: ใช้เป็นยาอีก 1 ตัวของกลุ่มไบกัวไนด์ที่ใช้ต้านโรคมาลาเรีย
- Bisbiguanide: จัดเป็นเคมีภัณฑ์ที่นำมาใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยแบ่งเป็นรายการย่อยได้อีกเช่น Chlorhexidine, Polihexanide, Polyaminopropyl biguanide และ Alexidine
*อนึ่ง การเลือกใช้ยาในกลุ่มไบกัวไนด์ชนิดใดนั้นควรต้องเป็นไปตามความเห็นและผ่านการตรวจคัดกรองจากแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น
ไบกัวไนด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไบกัวไนด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2
- ใช้ป้องกันการติดเชื้อโรคมาลาเรีย
- ใช้เป็นยาป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียโดยใช้เป็นยาภายนอก
ไบกัวไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไบกัวไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์ดังนี้
ก. สำหรับรักษาโรคเบาหวาน: ยากลุ่มไบกัวไนด์เช่น Metformin และ Buformin จะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส (Glucose) จากทางเดินอาหาร และช่วยกระตุ้นให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อของร่างกายมีความไวต่อฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้เกิดการใช้น้ำตาลได้เต็มประสิทธิภาพของเซลล์หรือเนื้อเยื่อของร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการสังเคราะห์น้ำตาลกลูโคสจากตับ และออกฤทธิ์แข่งขันกับฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon, ฮอร์โมนเพิ่มน้ำตาลในเลือด) จากกลไกทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เกิดฤทธิ์รักษาโรคเบาหวาน
ข. สำหรับป้องกันโรคมาลาเรีย: ยากลุ่มไบกัวไนด์พวก Proguanil จะเข้าไปจับกับเอนไซม์ของเชื้อมาลาเรียหรือที่เรียกว่า DHFR (Dihydrofolate reductase) enzyme อีกทั้งยังยับยั้งกระบวนการเผาผลาญกรดโฟลิก (Folic acid) ในตัวเชื้อมาลาเรียส่งผลให้เสียสมดุลทางชีวภาพในการดำรงชีวิตและทำให้เชื้อมาลาเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
ค. สำหรับยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย: เช่น Chlorhexidine และ Polyaminopropyl biguanide จะออกฤทธิ์เข้าจับกับผนังเซลล์ของแบคทีเรียทำให้เกิดความเสียหายต่อผนังเซลล์ อีกทั้งลดความสามารถในการควบคุมการซึมผ่านของน้ำและอาหารในตัวแบคทีเรียส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
ไบกัวไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไบกัวไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานสำหรับรักษาโรคเบาหวาน
- ยาเม็ดชนิดรับประทานสำหรับป้องกันโรคมาลาเรีย
- สารละลายเข้มข้นสำหรับยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียโดยใช้ทาภายนอก
- เป็นส่วนผสมในน้ำยาบ้วนปาก
ไบกัวไนด์มีขนาดรับประทานและการบริหารยาอย่างไร?
ขนาดรับประทานและการบริหารยา/การใช้ยากลุ่มไบกัวไนด์มีแยกย่อยรักษาตามอาการโรค เช่น รักษาโรคเบาหวาน ป้องกันโรคมาลาเรีย และเป็นยาใช้ภายนอก แพทย์จะเป็นผู้บริหารยาได้เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด หรือบริหารยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไบกัวไนด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไบกัวไนด์อาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอาหารเสริมที่รับประทานอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ไบกัวไนด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มไบกัวไนด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ต่างๆดังนี้เช่น มีอา การท้องเสียและอาหารไม่ย่อย ผู้ป่วยบางรายจะเกิดภาวะร่างกายเป็นกรด (Lactic acidosis) ซึ่งเกิดจากการรับประทาน Buformin และ Phenformin มากกว่า Metformin ท้องอืด คลื่นไส้ อา เจียน เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นตะคริว อาจเกิดภาวะขาดวิตามินบี 12 เหงื่อออกมาก ผื่นคัน การรับรู้รสชาติอาหารเปลี่ยนไป
มีข้อควรระวังการใช้ไบกัวไนด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ไบกัวไนด์ดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยา Metformin และ Buformin รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 1
- ห้ามใช้ยากลุ่มไบกัวไนด์กับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยด้วยภาวะร่างกายเป็นกรดชนิด Metabolic acidosis
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
- ระวังการขาดวิตามินบี 12 ระหว่างใช้ยากลุ่มไบกัวไนด์
- ระวังการใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ เด็ก และผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มไบกัวไนด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไบกัวไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไบกัวไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
- การใช้ยา Metformin ร่วมกับยา Sulfonylureas อาจทำให้ฤทธิ์ของ Metformin เพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะ สมเป็นรายบุคคลไป
- การรับประทานยา Proguanil ร่วมกับ Calcium carbonate อาจทำให้ฤทธิ์การรักษาของ Proguanil ด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยา Proguanil ร่วมกับยา Cloxacillin จะทำให้ลดการดูดซึมของยา Cloxacillin หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
ควรเก็บรักษาไบกัวไนด์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาไบกัวไนด์ดังนี้เช่น
- สำหรับยาหมวดไบกัวไนด์ชนิดรับประทาน ให้เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- สำหรับยาหมวดไบกัวไนด์ชนิดใช้เป็นยาใช้ภายนอก สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้องที่เย็น
*อนึ่ง ไม่เก็บยาเหล่านี้ในตู้แช่แข็งของตู้เย็น ในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไบกัวไนด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไบกัวไนด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Actosmet (แอคโทเมท) | Takeda |
Amaryl M (อะมาริล เอ็ม) | sanofi-aventis |
Amaryl M SR (อะมาริล เอ็ม เอสอาร์) | sanofi-aventis |
Ammiformin (แอมมิฟอร์มิน) | MacroPhar |
Deglucos (ดีกลูโคส) | Suphong Bhaesaj |
Deson (ดีซัน) | Unison |
Diamet (ไดอะเมท) | Weifa |
Diaslim (ไดอะสลิม) | Community Pharm PCL |
Formin (ฟอร์มิน) | Pharmaland |
Galvus Met (แกลวุส เมท) | Novartis |
Gluco (กลูโค) | Masa Lab |
Glucoles (กลูโคเลส) | T Man Pharma |
Glucolyte (กลูโคไลท์) | T. O. Chemicals |
Glucophage (กลูโคฟาก์) | Merck |
Glucophage XR (กลูโคฟาก์ เอ็กอาร์) | Merck |
Glugon (กลูกอน) | K.B. Pharma |
Glustress (กลูเทรส) | Charoon Bhesaj |
Maformin (มาฟอร์มิน) | Pharmadica |
ME-F (มี - เอฟ) | Thai Nakorn Patana |
Metfor (เมทฟอร์) | Millimed |
Adebit (อะเดบิท) | Zentiva |
Biforon (ไบฟอรอน) | Meiji |
Bigunal (บิกูนอล) | Shun Hwa |
Ziavetine (ซีเอเวทีน) | Teikoku Kagaku |
Malanil (มาลานิล) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Biguanide [2015,June27]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Metformin [2015,June27]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Buformin [2015,June27]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Proguanil [2015,June27]
- http://www.mims.com/USA/drug/info/Metformin%20Hydrochloride/Metformin%20Hydrochloride%20Tablet,%20Extended%20Release?type=full [2015,June27]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/alkums-with-atovaquone-proguanil-464-3793-278-0.html [2015,June27]
- http://www.mims.com/USA/drug/info/proguanil [2015,June27]