ไนฟูร็อกซาไซด์ (Nifuroxazide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 ธันวาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ไนฟูร็อกซาไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ไนฟูร็อกซาไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไนฟูร็อกซาไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไนฟูร็อกซาไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไนฟูร็อกซาไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไนฟูร็อกซาไซด์อย่างไร?
- ไนฟูร็อกซาไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไนฟูร็อกซาไซด์อย่างไร?
- ไนฟูร็อกซาไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ไนโตรฟูแรน (Nitrofuran)
- ลำไส้ใหญ่อักเสบ (Colitis)
- โรคลมแดด โรคจากความร้อน (Heatstroke/Heat illness)
บทนำ: คือ ยาอะไร?
ไนฟูร็อกซาไซด์ (Nifuroxazide) คือ ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานที่นำมารักษาอาการลำไส้ใหญ่อักเสบ และอาการท้องเสีย ทั้งกับมนุษย์และสัตว์, มีชื่อการค้าต่างๆมากมายในท้องตลาดยา, โดยจัดอยู่ในกลุ่มยา Nitrofuran ได้รับการจดลิขสิทธิ์ยาเมื่อ ปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509)
รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานชนิดแคปซูลและยาน้ำแขวนตะกอน, อดีตเคยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสรรพคุณที่ขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนระหว่างบริษัทยากับองค์กรอิสสระบางองค์กร, อย่างไรก็ตามยาไนฟูร็อกซาไซด์ถือได้ว่าเป็นยาที่มีประโยชน์ทางคลินิก และยังมีการใช้มาจนถึงปัจจุบัน, ซึ่งยาไนฟูร็อกซาไซด์ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยเช่นกัน
หากผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาไนฟูร็อกซาไซด์ก็จะถือเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยานี้ได้, นอกนั้นจะเป็นเรื่องความเห็นของแพทย์ว่าเห็นเหมาะสมปลอดภัยในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยแต่ละราย บุคคลหรือไม่, ระหว่างที่มีการใช้ยานี้หากพบอาการดังต่อไปนี้ต้องไม่เพิกเฉยที่จะรีบพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วก่อนวันนัด เช่น
- ใช้ยาไปแล้ว 3 วัน อาการท้องเสียหรือภาวะลำไส้อักเสบไม่ทุเลาเลย
- มีไข้สูง ร่วมกับอาเจียน
- มีเลือดปนมากับอุจจาระ หรือมีการถ่ายอุจจาระเป็นเมือก/มูกปนออกมา
- เกิดภาวะขาดน้ำของร่างกายโดยสังเกตได้จาก อาการกระหายน้ำ ลิ้นแห้ง
กรณีที่ไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ผู้ป่วยยังคงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การรับประทานอาหารที่เหมาะสมในระหว่างที่ป่วย และงดเว้นอาหารรสจัด อาหารประเภทผัก และผลไม้, รวมถึงอาจต้องดื่มน้ำเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในระหว่างวัน, และเช่นกันการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ถือเป็นข้อห้ามใช้ยานี้นอกจากจะมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น, ทั้งนี้ระยะเวลาของการใช้ยานี้ไม่ควรเกิน 7 วัน
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยาไนฟูร็อกซาไซด์ คือ อาการทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ และผื่นคันที่สามารถเกิดขึ้นได้, นอกจากนี้ การนำยาไนฟูร็อกซาไซด์มารักษาโรคมะเร็ง และยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก แต่ยังต้องรอข้อสรุปและยืนยันในทางคลินิกกันต่อไป
ไนฟูร็อกซาไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไนฟูร็อกซาไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- เพื่อรักษาอาการท้องเสียที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
ไนฟูร็อกซาไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไนฟูร็อกซาไซด์ คือตัวยาจะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้กว้างขวางหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย, ส่งผลให้เชื้อโรคเหล่านั้นหยุดแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด
ไนฟูร็อกซาไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไนฟูร็อกซาไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 200 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน ขนาด 218 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
ไนฟูร็อกซาไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไนฟูร็อกซาไซด์มีขนาดรับประทาน: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ทางคลินิกยังไม่ทราบแน่ชัดถึงผลข้างเคียงจากยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไนฟูร็อกซาไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ฝช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไนฟูร็อกซาไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไนฟูร็อกซาไซด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไนฟูร็อกซาไซด์ตรงเวลา
ไนฟูร็อกซาไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไนฟูร็อกซาไซด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง): เช่น
- มีอาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นคัน ลมพิษ
- *หากพบอาการแพ้ยานี้: อาการ เช่น บวมตามร่างกาย แน่น/เจ็บหน้าอก ฯลฯ ซึ่งเมื่อมีอาการแพ้ยา ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ไนฟูร็อกซาไซด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไนฟูร็อกซาไซด์: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- *ระหว่างการใช้ยานี้ แล้วอาการไม่ดีขึ้น เช่น ยังมีไข้สูง ถ่ายมีอุจจาระเป็นเลือด ให้รีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
- *หยุดการใช้ยานี้ทันที ถ้าพบอาการแพ้ยานี้เกิดขึ้นเช่น หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ผื่นคันขึ้นเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม ตัวบวม และ*ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- เลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทผักผลไม้ในช่วงที่มีอาการท้องเสีย ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำของร่างกาย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไนฟูร็อกซาไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไนฟูร็อกซาไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ข้อมูลทางคลินิก พบปฏิกิริยาระหว่างยาไนฟูร็อกซาไซด์กับยาอื่นค่อนข้างน้อย, อย่างไรก็ตาม หากพบอาการผิดปกติหลังการใช้ยาไนฟูร็อกซาไซด์ร่วมกับยาใดๆก็ตาม ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์/เภสัชกรเพื่อใช้ยาต่างๆได้อย่างถูกต้อง
ควรเก็บรักษาไนฟูร็อกซาไซด์อย่างไร?
ควรเก็บยาไนฟูร็อกซาไซด์: เช่น
- เก็บยาภายในอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไนฟูร็อกซาไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไนฟูร็อกซาไซด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Debby (เด็บบี้) | Thai Nakorn Patana |
Erfuzide (เออร์ฟูไซด์) | Union Drug |
Mifuzide (มิฟูไซด์) | Milano |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nifuroxazide [2022,Dec24]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Erfuzide/ [2022,Dec24]
- https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Nifuroxazide [2022,Dec24]
- https://www.nature.com/articles/cddis201563 [2022,Dec24]
- https://www.mims.com/India/drug/info/nifuroxazide/nifuroxazide?type=full&mtype=generic [2022,Dec24]
- https://www.druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=1768& [2022,Dec24]
- https://www.drugs.com/international/nifuroxazide.html [2022,Dec24]