โรสุวาสแตติน (Rosuvastatin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

โรสุวาสแตติน (Rosuvastatin) คือ ยากลุ่มยาสแตติน/Statin ที่ทางคลินิกนำมาใช้รักษาภาวะไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง(โรคไขมันในเลือดสูง) และช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย,  โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยารับประทาน, นอกจากนี้ แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ ควรควบคุมการรับประทานอาหาร และมีการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย 

ยาโรสุวาสแตติน ถูกพัฒนาและเริ่มวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ.2556) ภายใต้ชื่อการค้าว่า “เครสเตอร์ (Crestor)” และสามารถสร้างยอดจำหน่ายได้มากกว่า5 พันล้านเหรียญสหรัฐ     

ตัวยาโรสุวาสแตติน จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 20%, จากนั้นจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 88%,  ตับ เป็นอวัยวะที่จะคอยทำลายยาโรสุวาสแตตินอย่างต่อเนื่อง,และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 19 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด, และผ่านทิ้งไปกับอุจจาระ 

ความสามารถในการลดคอเลสเตอรอลของยาโรสุวาสแตตินเมื่อเทียบโดยขนาดการใช้ยา จะดีกว่ายา 'Statin' ตัวอื่น เช่น  Atorvastatin,  Simvastatin, และ Pravastatin, นอกจากนั้น ยาโรสุวาสแตติน ยังช่วยให้ไขมันในเลือดชนิดดี คือ เฮชดีแอล (HDL Cholesterol) มีปริมาณมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี มีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาโรสุวาสแตตินได้ เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาโรสุวาสแตติน
  • มีภาวะตับทำงานผิดปกติ
  • อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือภาวะให้นมบุตร

อนึ่ง: ก่อนที่จะได้รับยาโรสุวาสแตติน ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างจะต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบก่อนเสมอ โดยเฉพาะโรคต่อไปนี้ เช่น  ปวดกล้ามเนื้อ, กล้ามเนื้ออ่อนแรงอันมีสาเหตุจากการใช้ยากลุ่มสแตติน,  มีโรคความดันโลหิตต่ำ,  มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง,  มี โรคไต,  โรคตับ,  โรคต่อมไทรอยด์,  โรคเบาหวาน,  โรคลมชัก,  ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ,   เป็นผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ,  รวมถึงเป็นผู้ที่ติดสุรา

นอกจากนี้ ยาโรสุวาสแตติน ยังสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆได้หลายตัว เช่นกับยา  Colchicine,  Cyclosporine,  Daptomycin,  Clofibrate,  Fenofibrate,  Gemfibrozil,  Atazanavir,  Lopinavir,  Ritonavir, Niacin,  ยาที่กล่าวมาทั้งหมด หากใช้ร่วมกับยาโรสุวาสแตติน อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาการทำงานของกล้ามเนื้อและของไตได้                           

ยาโรสุวาสแตติน สามารถใช้ได้ทั้งกับเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)และผู้ใหญ่ โดยการรับประทาน ควรต้องเป็นเวลาเดียวกันในระหว่างวันของทุกๆวัน ทั้งนี้เพื่อให้คงระดับยาในกระแสเลือดมีความเข้มข้นอย่างสม่ำเสมอ 

ยาโรสุวาสแตติน ยังส่งผลให้ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้มีอาการวิงเวียน  กรณีนี้ผู้ป่วยควรเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะใดๆ หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย   

หากผู้ป่วยมีประวัติติดสุราหรือดื่มจัด เมื่อได้รับยาโรสุวาสแตตินจะมีความเสี่ยงทำให้การทำงานของตับผิดปกติมากขึ้น และมีบางรายที่อาจเกิดภาวะตับวายตามมาได้ 

ยาโรสุวาสแตติน สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้,  การใช้ยานี้ต้องมีความต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดจึงจะเห็นประสิทธิผล,  การหยุดรับประทานยานี้เองหรือการลืมรับประทานบ่อยครั้ง อาจทำให้ระดับไขมันในเลือดลดลงเพียงเล็กน้อย หรือไม่ลดลงเลย,  และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับเพิ่มขนาดการรับประทานยานี้ด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ไปจนถึงเกิดพิษต่ออวัยวะสำคัญๆของร่างกาย  เช่น  ตับ เป็นต้น 

สำหรับปัญหาของการใช้ยาโรสุวาสแตตินกับผู้สูงอายุ มักจะเป็นเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อ โดยตัวยานี้อาจทำให้มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ 

โดยทั่วไป การใช้ยาโรสุวาสแตตินไปสักระยะหนึ่ง จะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัด,  อย่างไรก็ตาม *หากผลการรักษาด้วยยานี้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลง  ผู้ป่วยต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาปรับแนวทางการรักษา   

การใช้ยากลุ่มสแตติน จะใช้ยาเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น, และถือเป็นข้อห้ามที่ไม่ให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์โดยเด็ดขาด 

ยาโรสุวาสแตติน ถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น   โดยเราสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาล, และซื้อหาได้ตามร้านขายยาขนาดใหญ่,  ซึ่งหากผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยานี้ก็สามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

โรสุวาสแตตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โรสุวาสแตติน

 

ยาโรสุวาสแตตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น  

  • รักษาภาวะไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง (โรคไขมันในเลือดสูง)
  • ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อันมีสาเหตุจากภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง

โรสุวาสแตตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโรสุวาสแตติน คือ ตัวยาจะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ที่เรียกว่า ‘HMG – CoA reductase (3-hydroxy-3-methyl-glutaryl-coenzyme A reductase ย่อว่า HMGCR’, เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการสร้าง คอเลสเตอรอล)ในตับ ทำให้เกิดการชะลอการสร้างคอเลสเตอรอล,  ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง

โรสุวาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโรสุวาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:    

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5, 10, 20, และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 20, และ 40 มิลลิกรัม/แคปซูล

โรสุวาสแตตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโรสุวาสแตติน มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับภาวะไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง(โรคไขมันในเลือดสูง)ในระยะเริ่มต้น: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 5 – 10 มิลลิกรัม, วันละ1ครั้ง, หลังการใช้ยาไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นเป็น 20 มิลลิกรัม/วัน, โดยทั่วไป ขนาดรับประทานยานี้สูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กที่อายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยา 5 มิลลิกรัม, วันละ1ครั้ง, หากจำเป็นหลังการใช้ยาไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นตามความเห็นแพทย์, ทั่วไป ขนาดรับประทานยานี้สูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

ข. ขนาดที่ใช้ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีสาเหตุจากไขมันในเลือดสูง: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 10 – 20 มิลลิกรัม, วันละ1ครั้ง, ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 5 – 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้, แต่ควรรับประทานในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวัน
  • ยานี้ ยังสามารถใช้ลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ด้วย โดยมีขนาดรับประทานเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เพื่อความปลอดภัยของการใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องคอยตรวจสอบระดับไขมันในเลือดเป็นระยะๆตามคำแนะนำของแพทย์ว่า สอดคล้องกับขนาดรับประทานยานี้หรือไม่

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโรสุวาสแตติน  ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น              

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต  โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง  รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโรสุวาสแตตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน                                           
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโรสุวาสแตติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า 

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาโรสุวาสแตตินบ่อยครั้ง จะทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาด้อยลงไป

โรสุวาสแตตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโรสุวาสแตตินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ  ปวดกล้ามเนื้อ  มีภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น  ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องผูก ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน  ปวดหัว  สูญเสียความจำ ผลต่อตับ: เช่น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง  ตัวเหลือง  ตับอักเสบ  ตับวาย  
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ:  ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด  มีโปรตีนปนมากับปัสสาวะ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง โปรตีนในปัสสาวะ)
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ และอาจเกิดการหยุดหายใจได้
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ฝันร้าย
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ทำให้เต้านมโตในผู้ชาย/ผู้ชายมีนม   ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้โรสุวาสแตตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโรสุวาสแตติน: เช่น             

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • การใช้ยานี้กับ เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์
  • แจ้งแพทย์ถึงโรคประจำตัว รวมถึงยาอื่นใด ที่รับประทานอยู่ก่อนทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา แก่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • *หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น ผื่นคัน ลมพิษขึ้นเต็มตัว  หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก  ตัวบวม  *กรณีเช่นนี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณีใช้ยานี้ไประยะหนึ่ง แล้วตรวจพบว่าระดับไขมันในเลือดไม่ลดลง หรือกลับเพิ่มขึ้น ควรต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งก่อนวันนัด  เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ควรมีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ  และควบคุมการรับประทานอาหารควบคู่ไปกับการใช้ยานี้ ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล และ/หรือ เภสัชกร
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด เพื่อการตรวจเลือดตามแพทย์แนะนำ และเพื่อติดตามผลการรักษาว่ามีความก้าวหน้าเพียงใด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโรสุวาสแตตินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โรสุวาสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโรสุวาสแตติน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโรสุวาสแตติน ร่วมกับยา Amprenavir , Atazanavir, Cyclosporine, Ritonavir,  Tipranavir,  ด้วยจะทำให้ระดับของยาโรสุวาสแตติน เพิ่มมากขึ้น จนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงมากขึ้นของยาโรสุวาสแตตินตามมา เช่น  ปวดกล้ามเนื้อ   ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย, กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • ห้ามใช้ใช้ยาโรสุวาสแตติน ร่วมกับยา Niacin,  Clofibrate,  Fenofibrate, ด้วยอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อหรือที่เรียกว่า ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย, กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน  แพทย์จะพิจารณาถึงผลดี-ผลเสียที่ผู้ป่วยจะได้รับ หรือปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาโรสุวาสแตตินอย่างไร?

ควรเก็บยาโรสุวาสแตติน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซียลเซส (Celsius)
  • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โรสุวาสแตตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโรสุวาสแตติน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Crestor (เครสเตอร์) AstraZeneca
Rosuvastatin GPO (โรสุวาสแตติน) Lek
Rosuvastatin Sandoz (โรสุวาสแตติน แซนดอซ) Sandoz

 

อนึ่ง: ยาชื่อการค้าของยานี้ ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Akroz, Bestor, Fortius, Jprest, Favros, Novastat, Ldnil, Arvast

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Statin   [2022,Oct15]
  2. https://www.drugs.com/mtm/rosuvastatin.html   [2022,Oct15]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Rosuvastatin   [2022,Oct15]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/rosuvastatin/?type=brief&mtype=generic   [2022,Oct15]