โรคไตรั่ว (Nephrotic syndrome)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคไตรั่ว(Nephrotic syndrome ย่อว่า NS หรืออีกชื่อคือ Nephrosis) ซึ่งบางท่านเรียกว่า “กลุ่มอาการเนฟโฟรติค หรือ โรคไตเนฟโฟรติค หรือโรคเนฟโฟรติค หรือ โรคโปรตีนรั่ว หรือโรคโปรตีนรั่วทางปัสสาวะ หรือไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ” เป็นโรคไตที่เนื้อเยื่อไตส่วนที่เป็นกลุ่มหลอดเลือดฝอยที่เรียกว่า Glomerulus(Glomeruli) ซึ่งมีหน้าที่กรองของเสียจากเลือดเพื่อผ่านทิ้งออกจากร่างกายทางปัสสาวะ เกิดความเสียหายขึ้น จนส่งผลให้สารโปรตีน/ไขขาวในเลือด(โดยเฉพาะ แอลบูมิน/Albumin)หลุดหลอดออกมาในปัสสาวะ(ปกติจะไม่มีสารโปรตีนในปัสสาวะ) จึงส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะการขาดแอลบูมิน/ขาดโปรตีน จนก่อให้เกิดกลุ่มอาการผิดปกติต่างๆขึ้น เช่น อาการบวมน้ำที่รอบๆ ตา มือ เท้า แขนขา หรือทั้งตัว

โรคไตรั่ว ถ้าแบ่งตามสาเหตุ จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิดย่อย/กลุ่ม คือ

  • กลุ่มโรคที่ความเสียหาย/พยาธิสภาพของโรคเกิดเฉพาะที่ไต คือจากความเสียหายของเนื้อเยื่อไตโดยตรง ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด จะเรียกโรคไตรั่วชนิดนี้ว่า “โรคไตรั่วปฐมภูมิ (Idiopathic nephrotic syndrome หรือ Primary nephrotic syndrome หรือ Primary glomerulonephrosis)” และ
  • โรคไตรั่วกลุ่มที่เนื้อเยื่อไตเกิดความเสียหายสาเหตุจากโรคต่างๆของร่างกาย(Systemic disease) เช่น โรคเบาหวาน โรคออโตอิมมูน หรืออาการไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิด เช่น จากยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs เรียกไตรั่วกลุ่มนี้ว่า “โรคไตรั่วทุติยภูมิ(Secondary nephrotic syndrome หรือ Secondary glomerulonephrosis)”

โรคไตรั่ว ถ้าแบ่งตามลักษณะทางพยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อไตที่เสียหาย แบ่งได้เป็น 4 ชนิดย่อย/กลุ่ม ได้แก่

  • Minimal change disease(MCD) หรือ Nil disease เป็นชนิดที่มักพบในเด็กอายุน้อย อายุ 2-3 ปี เป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และมีการพยากรณ์โรคที่ดี แต่ ส่วนน้อยมากที่โรคอาจลุกลามรุนแรงจนเกิดไตวายได้
  • Focal segmental glomerulosclerosis (FSGS) เป็นชนิดพบบ่อยในเด็กและวัยรุน แต่ก็พบในผู้ใหญ่ได้ การพยากรณ์โรคไม่ค่อยดีนัก มากกว่า 50%ของผู้ป่วย โรคจะลุกลามไปเป็นโรคไตเรื้อรังในระยะเวลาประมาณ 10 ปี
  • Membranous glomerulonephritis (MGN) เป็นชนิดที่พบบ่อยในผู้ใหญ่ มักพบในคนอายุ 30-50 ปี และในคนผิวขาวจะพบกลุ่มโรคนี้มากกว่าชนิดย่อยอื่น การพยากรณ์โรคจะมี 3 ลักษณะ คือ ประมาณ 30%ของผู้ป่วย การพยากรณ์โรคจะดี โรคจะหายได้เอง อีกประมาณ 30% โรคจะลุกลามช้าๆจนเกิดไตวายที่ต้องรักษาด้วยการล้างไต และอีกประมาณ 30% โรคจะคงที่โดยยังคงมีสารโปรตีนหลุดออกมาในปัสสาวะต่อเนื่องแต่แพทย์ยังสามารถรักษาควบคุมโรคได้
  • Membranoproliferative glomerulonephritis(MPGN) หรือ Mesangiocapillary glomerulonephritis เป็นกลุ่ม/ชนิดที่พบได้น้อยกว่า10%ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ เป็นชนิดที่ตอบสนองได้ไม่ดีต่อการรักษา จึงมักมีการพยากรณ์โรคไม่ดี มักลุกลามเป็นโรคไตเรื้อรังในระยะเวลา 10 ปี

ไตรั่ว เป็นโรคพบได้เรื่อยๆ มีรายงานพบได้ประมาณ 2-7 รายต่อประชากร 1 แสนคน พบได้ทุกเชื้อชาติ ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ แต่พบในผู้ใหญ่สูงกว่าในเด็กประมาณ 26 เท่า และพบในทุกเพศ โดยพบในเพศชายสูงกว่าในเพศหญิงประมาณ 2 เท่า

โรคไตรั่วมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

โรคไตรั่ว

กลไกหลักในการเกิดโรคไตรั่ว คือ การมีความเสียหายเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อ Glomeruli ของไต ซึ่งมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่พบได้ เช่น

  • ไม่ทราบสาเหตุ/แพทย์หาสาเหตุไม่พบ
  • โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคไตรั่วที่พบบ่อย
  • โรคออโตอิมมูน เช่น โรคเอสแอลอี กลุ่มอาการโจเกรน
  • ภาวะเกิดมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำของไต
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาแก้อักเสบกลุ่มNSAIDs ยา Interferon ยา Lithium ยาPamidronate
  • โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น มาลาเรีย เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบ ซี โรคเรื้อน โรคซิฟิลิส โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ โรคเท้าช้าง
  • โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มะเร็งไต มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม
  • โรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะที่เกิดจากพิษสัตว์ เช่น พิษจากงูกัด ผึ้งต่อย
  • อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม
  • อื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูงที่รักษาควบคุมโรคได้ไม่ดี ผลข้างเคียงจากการปลูกถ่ายอวัยวะ

โรคไตรั่วมีอาการอย่างไร?

อาการหลักของโรคไตรั่ว คือ อาการบวมน้ำทั้งตัว โดยเฉพาะบริเวณ รอบๆตา ที่เท้า และที่มือ ที่เกิดจากร่างกายสูญเสียสารโปรตีนชนิด Albumin ในเลือดไปทางปัสสาวะ/ มีโปรตีนในปัสสาวะ ซึ่งสารโปรตีนAlbumin ในเลือด เป็นสารสำคัญที่ช่วยดึงน้ำให้เข้ามาอยู่ในหลอดเลือด เมื่อAlbuminในหลอดเลือดต่ำลง จึงมีน้ำคั่งอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกายจนเกิดเป็นภาวะบวมน้ำขึ้น โดยเฉพาะในอวัยวะที่อยู่ในส่วนที่เป็นส่วนต่ำของร่างกายตามแรงโน้มถ่วงของโลก คือ มือ และเท้า

นอกจากนั้น อาการอื่นที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ภาวะไขมันในเลือดสูง
  • เมื่อมีการตรวจเลือด จะพบมี โปรตีนในเลือดต่ำ โดยเฉพาะ Albumin
  • ปัสสาวะเป็นฟอง จากการมีโปรตีนในปัสสาวะ
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากภาวะบวมน้ำ
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

อนึ่ง อาการอื่นที่อาจพบได้ แต่พบได้น้อย เช่น อาการชัก ผิวหนังขึ้นผื่น ผิวหนังบวม เจ็บ เกิดแผลง่าย

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการผิดปกติ ดังได้กล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” ควรรีบพบแพทย/ไปโรงพยาบาล เสมอ

แพทย์วินิจฉัยโรคไตรั่วได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไตรั่วได้จาก ประวัติอาการผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะดูโปรตีนในปัสสาวะ การตรวจวัดปริมาณสารโปรตีนในปัสสาวะตลอด 24 ชั่วโมง(มากกว่า 3 กรัม/วัน) การตรวจเลือดดู ค่าสารโปรตีน สารแอลบูมิน/Albumin(มักต่ำกว่า 2.5 กรัม/เดซิลิตร) การทำงานของไต การทำงานของตับ ความสมบูรณ์ของเลือด(CBC) ระดับน้ำตาลในเลือด (โรคเบาหวาน) สารภูมิต้านทาน สารก่อภูมิต้านทาน ของโรคต่างๆ(เช่น โรคออโตอิมมูน เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ) ที่แพทย์สงสัยว่าเป็นสาเหตุ และในบางกรณีที่แพทย์ต้องการทราบลักษณะทางพยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อไต แพทย์จะพิจารณาตัดชิ้นเนื้อจากไตเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเป็นกรณีๆไป

รักษาโรคไตรั่วอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคไตรั่ว คือ การรักษาสาเหตุ การรักษาประคับประคองตามอาการ และอื่นๆ

ก. การรักษาสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับแต่ละสาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน โรคออโตอิมมูน โรคความดันโลหิตสูง โรคติดเชื้อต่างๆ โรคไขมันในเลือดสูง ทั้งนี้อ่านเพิ่มเติมการรักษาในแต่ละโรคได้จากบทความแต่ละโรคในเว็บ haamor.com

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ ที่ทั่วไปจะเหมือนกันในทุกผู้ป่วย เช่น การใช้ยาขับปัสสาวะในกรณีมีการบวมน้ำ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกรณีเกิดมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด การใช้ยาลดไขมันในเลือด การกินอาหารไขมันต่ำ การกินอาหารจืด/เกลือต่ำ(ลดอาการบวมน้ำ)

ค. อื่นๆ เช่น การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยา Corticosteroid และการป้องกันการติดเชื้อต่างๆเนื่องจากการสูญเสียโปรตีนของร่างกายจะส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไป เช่น การให้วัคซีนต่างๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่

โรคไตรั่วก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคไตรั่ว เช่น

  • เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำได้ง่าย จากการสูญเสียโปรตีนในเลือดไปกับปัสสาวะ ซึ่งโปรตีนจะเป็นสารช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด
  • มีไขมันในเลือดสูง เพราะการสูญเสียโปรตีนของร่างกาย จะกระตุ้นการสร้างโปรตีนเพิ่มขึ้นของตับ ซึ่งในกระบวนการนี้ จะส่งผลให้ตับปล่อยไขมันออกมาในเลือดสูงขึ้น
  • เกิดภาวะทุโภชนาการ จากร่างกายสูญเสียโปรตีนมาก จะส่งผลให้เกิดภาวะติดเชื้อต่างๆได้ง่าย และสูญเสียเกลือแร่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานของโปรตีนตามไปด้วย เช่น แคลเซียม และวิตามินดี
  • น้ำท่วมปอด จากภาวะร่างกายบวมน้ำ
  • โรคไตเรื้อรัง ไตล้มเหลว
  • โรคหลอดเลือดแดงแข็งจากไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

โรคไตรั่วมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคไตรั่ว จะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย บางรายโรคจะหายได้เป็นปกติ บางรายโรคจะเหลืออาการเพียงเล็กน้อยที่แพทย์สามารถให้ยารักษาควบคุมอาการได้ดี ส่วนบางรายจะไม่ตอบสนองต่อการรักษา โรคจะค่อยๆลุกลามไปเรื่อยๆจนในที่สุดเกิดโรคไตเรื้อรัง ไตวาย ที่ต้องรักษาด้วยการล้างไต และ/หรือการปลูกถ่ายไต ทั้งนี้การพยากรณ์โรคจะขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ สาเหตุ ชนิด/ลักษณะทางพยาธิวิทยาของโรคไตรั่ว สุขภาพดั่งเดิมของผู้ป่วย ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาจึงจะเป็นผู้ให้การพยากรณ์โรคไตรั่วได้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไตรั่ว ได้แก่

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ ครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขอนามันพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพร่างกาย และจิตใจแข็งแรง ลดการติดเชื้อต่างๆ และลดการเกิดโรคซึมเศร้าสาเหตุจากมีโรคประจำตัวเรื้อรัง
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ลดอาหารไขมัน ลดอาหารเค็ม(ลดเกลือในอาหาร เครื่องดื่ม)
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ฉีดวัคซีนต่างๆตามแพทย์แนะนำ
  • ไม่ซื้อยาต่างๆใช้เองโดยไม่ปรึกษา แพทย์ พยาบาล เภสัชกรก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

เมื่อเป็นโรคไตรั่ว ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • อาการต่างๆไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยาและปฏิบัติตามแพทย์สั่ง
  • อาการต่างๆเลวลง
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่ง จนส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมาก คลื่นไส้มาก วิงเวียนศีรษะมาก
  • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคไตรั่วได้อย่างไร?

โดยทั่วไป ไม่สามารถป้องกันโรคไตรั่วได้ 100% เพราะบางสาเหตุก็ป้องกันไม่ได้(เช่นกรณี เกิดจากพันธุกรรม หรือจากไม่ทราบสาเหตุ) แต่กรณี ที่ทราบสาเหตุ การหลีกเลี่ยง/การป้องกันสาเหตุนั้นๆก็จะป้องกันโรคไตรั่วได้ เช่น

  • การลดสาเหตุจากการติดเชื้อต่างๆ สามารถลดโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ และกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวันในปริมาณพอเหมาะที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน จำกัดอาหารเค็ม หวาน และอาหารไขมันสูง เพื่อลดโอกาสเกิด โรคเบาหวาน โรคไต โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง
  • ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง/ อาการไม่พึงประสงค์จากยา โดยไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ และควรปรึกษาเภสัชกรเสมอเมื่อซื้อยาใช้เอง

บรรณานุกรม

  1. Kodner, C. Am Fam Phyician. 2016;93(6):479-485
  2. http://emedicine.medscape.com/article/244631-overview#showall [2018,June2]
  3. https://www.kidney.org/atoz/content/nephrotic [2018,June2]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Nephrotic_syndrome [2018,June2]
  5. https://www.uptodate.com/contents/the-nephrotic-syndrome-beyond-the-basics [2018,June2]
  6. http://www.wikidoc.org/index.php/Nephrotic_syndrome_epidemiology_and_demographics [2018,June2]
  7. http://unckidneycenter.org/kidneyhealthlibrary/glomerular-disease/minimal-change-disease [2018,June2]
  8. https://medlineplus.gov/ency/article/000478.html [2018,June2]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Membranous_glomerulonephritis [2018,June2]
  10. http://emedicine.medscape.com/article/240056-overview#showall [2018,June2]