โรคเบอร์เกอร์ (Buerger’s disease)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 27 มกราคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- โรคเบอร์เกอร์มีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเบอร์เกอร์?
- โรคเบอร์เกอร์มีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคเบอร์เกอร์ได้อย่างไร?
- รักษาโรคเบอร์เกอร์อย่างไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการโรคเบอร์เกอร์แย่ลง?
- โรคเบอร์เกอร์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- โรคเบอร์เกอร์มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันโรคเบอร์เกอร์อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคหลอดเลือด โรคเส้นเลือด (Blood vessel disease)
- หลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- โรคเรเนาด์ (Raynaud disease) หรือ ปรากฏการณ์เรเนาด์ (Raynaud phenomenon)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
บทนำ
โรคเบอร์เกอร์(Buerger’s disease) มีชื่อเรียกได้หลายชื่อ ได้แก่ Thromboangitis obliterans(ย่อว่า TAO) หรือ Occlusive peripheral vascular disease หรือ Inflammatory occlusive peripheral vascular disease เป็นโรคหลอดเลือดอักเสบทีพบได้น้อย โดยเป็นการอักเสบของผนังหลอดเลือดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เป็นการอักเสบที่เกิดกับทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ และมักเป็นการอักเสบของหลอดเลือดที่มีขนาดปานกลางถึงขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเกือบทุกราย คือ กับหลอดเลือดส่วนปลาย ได้แก่ หลอดเลือด แขน มือ ขา เท้า ที่พบมากที่สุด คือ เกิดกับหลอดเลือดเท้า ซึ่งโดยทั่วไปจะเกิดพร้อมกันทั้งด้านซ้ายและด้านขวา แต่ความรุนแรงของทั้ง 2 ข้างไม่จำเป็นต้องเท่ากัน นอกจากนั้น ที่มีรายงานพบได้บ้างประปราย คือการอักเสบของหลอดเลือดในช่องท้อง หรือในสมอง
โรคเบอร์เกอร์ ได้รับการตั้งชื่อตามพยาธิแพทย์ชาวออสเตรียนอเมริกัน ชื่อ Leo Buerger ที่ได้รายงานถึงพยาธิสภาพของโรคนี้เมื่อปี ค.ศ. 1908(พ.ศ.2451)
โรคเบอร์เกอร์ พบไดทั่วโลกในทุกเชื้อชาติ ทุกวัย โดยมักพบในผู้หญิงและในผู้ชายที่สูบบุหรี่จัด พบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณ 3 เท่า (แต่เชื่อว่าเป็นเพราะผู้ชายสูบบุหรี่จัดและสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิง) พบได้สูงในช่วงอายุ 20-45 ปี(ไม่ค่อยพบในผู้ที่อายุมากกว่า 45 ปี) และพบได้สูงกว่าในคนเชื้อชาติตะวันออกกลาง และตะวันออกไกล ในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบโรคนี้ได้ประมาณ 12.6-20 รายต่อประชากร 1 แสนคน
โรคเบอร์เกอร์มีสาเหตุจากอะไร?
แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดที่แน่นอนของโรคเบอร์เกอร์ แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่พบในผู้ป่วยทุกคน คือ การสูบบุหรี่จัดต่อเนื่อง ซึ่งการสูบบุหรี่จัดนี้รวมถึงการได้รับควันบุหรี่ในลักษณะบุหรี่มือสอง หรือเสพบุหรี่ในลักษณะต่างๆ เช่น สูบยาเส้น(ใบยาสูบตากแห้งที่นำมาหั่นฝอยแล้วมวนเป็นบุหรี่) หรือการเคี้ยว/อมใบยาสูบ ดังนั้นแพทย์จึงตั้งข้อสังเกตุว่า ผู้ป่วยโรคนี้อาจมีพันธุกรรมที่ตอบสนองผิดปกติกับสารบางชนิดในบุหรี่ หรืออาจจากสารในบุหรี่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านต่อตนเอง/ต้านต่อหลอดเลือด กล่าวคือ อาจเป็นโรคออโตอิมมูนชนิดหนึ่ง
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเบอร์เกอร์?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเบอร์เกอร์ที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ที่สูบบุหรี่จัด และต่อเนื่อง ปัจจัยอื่นๆนอกจากนั้น อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้บ้าง แต่หลักฐานทางการแพทย์ไม่ชัดเจนเหมือนการสูบบุหรี่จัด ปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่
- อาจมีความผิดปกติทางพันธุกรรม: เพราะพบโรคนี้ในคนเชื้อชาติตะวันออกกลาง หรือ ตะวันออกไกล ได้สูงกว่าเชื้อชาติอื่น
- ผู้ชาย: เพราะพบโรคนี้ได้สูงในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ข้อโต้แย้งคือ โดยทั่วไป ผู้ชายมักติดบุหรี่มากกว่าในผู้หญิง
- มีบางการศึกษาพบว่า คนที่มีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคเบาหวาน และ/หรือ โรคความดันโลหิคสูง เกิดเป็นโรคเบอร์เกอร์มากกว่าคนทั่วไปที่ไม่มีโรคต่างๆดังกล่าว
โรคเบอร์เกอร์มีอาการอย่างไร?
อาการของโรคเบอร์เกอร์เกิดจาก การอักเสบที่ไม่ใช่จากการติดเชื้อที่ผนังหลอดเลือดจนส่งผลให้ผนังหลอดเลือด บวม ทำให้ท่อทางไหลเวียนเลือดตีบแคบลง ร่วมกับการอักเสบส่งผลให้เกล็ดเลือดจับตัวกันเป็นลิ่มเลือดที่ผนังหลอดเลือด จนเป็นอีกเหตุที่ทำให้หลอดเลือดอุดตัน กลไกการเกิดโรคดังกล่าว ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีในบริเวณเนื่อเยื่อ/อวัยวะที่เกิดโรค ดังนั้นอาการของผู้ป่วยจึงเป็นอาการที่เกิดจากการที่เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่หล่อเลี้ยงโดยหลอดเลือดที่อักเสบนั้น ขาดเลือดและขาดออกซิเจน จนส่งผลต่อการทำงานของเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆ ซึ่งในกรณีโรคเบอร์เกอร์ อาการที่พบในผู้ป่วยส่วนใหญ่เกือบทุกรายคือ อาการผิดปกติที่เกิดกับมือและเท้า(อาการของเท้า เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด)รวมถึงแขนและขาด้วย
อาการต่างๆที่พบบ่อย ได้แก่
- ปวดในตำแหน่งอวัยวะที่ขาดเลือด ทั่วไปคือ ปวดขา ปวดแขน ปวดทั้งขณะพัก และขณะใช้งานอวัยวะเหล่านั้น(เช่น เดิน) อาจรวมกับการเป็นตะคริว โดยอาการจะเป็นๆหายๆ และค่อยๆเป็นบ่อยขึ้นเมื่อหลอดเลือดอักเสบ/ตีบมากขึ้น จนอาจถึงขั้นปวดตลอดเวลา
- มือ เท้า เย็น โดยเฉพาะเวลามีอากาศเย็น
- ปลายนิ้วเท้า นิ้วมือ เท้า มือ มีสีซีด จนถึงเขียวคล้ำจากขาดเลือด
- ถ้าอาการรุนแรง จะมีแผลเนื้อตายเน่าเป็นจุดเล็กๆกระจายทั่วไปตามปลายนิ้วเท้า นิ้วมือ
- ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้นอีก อาการเนื้อตายเน่าจะเพิ่มมากขึ้นๆ จนการรักษา อาจต้องเป็นการตัดขา หรือ ตัดแขน เพราะหลอดเลือดเท้า มือ อักเสบหมดแล้ว จึงตัดเฉพาะเท้า/ มือ ไม่ได้ ต้องตัดถึง ขา/ แขนที่หลอดเลือดยังไม่เกิดการอักเสบ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าว โดยเฉพาะเป็นผู้สูบบุหรี่จัด และเกิดอาการต่อเนื่อง หรือ เป็นๆหายๆ หรือไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรักษาได้ทันท่วงทีที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการตัดขา/แขนได้
แพทย์วินิจฉัยโรคเบอร์เกอร์ได้อย่างไร?
โรคเบอร์เกอร์เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก การวินิจฉัยมักต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคอื่น เช่น โรคหลอดเลือดอักเสบจากโรคออโตอิมมูน โรค Raynaud's disease และ โรคScleroderma อย่างไรก็ตาม ทั่วไปแพทย์วินิจฉัยโรคเบอร์เกอร์ ได้จาก ประวัติอาการ อายุผู้ป่วยที่เริ่มเกิดอาการ ประวัติการสูบบุหรี่ ประวัติการใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทาน หรือดูสารก่อภูมิต้านทาน กรณีที่จะแยกจากโรคออโตอิมมูนต่างๆ และอาจต้องภาพตรวจหลอดเลือดด้วยเทคนิคทางรังสีวินิจฉัย ที่เรียกว่า Angiogram คือ การตรวจภาพหลอดเลือดด้วยการฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือดเพื่อดูลักษณะการอักเสบของหลอดเลือด
สรุป: โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคนี้ได้จาก
- ผู้ป่วยสูบบุหรี่ โดยเฉพาะสูบบุหรี่ต่อเนื่อง
- อายุต่ำกว่า 45 ปี
- มีประวัติอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการ”
- ไม่เป็นโรคดังต่อไปนี้ ได้แก่ โรคออโตอิมมูน โรคเบาหวานที่ควบคุมโรคไม่ได้ โรคเลือดชนิดที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด
- ตรวจไม่พบสิ่งอุดกั้น(Emboli)หรือลิ่มเลือดในหลอดเลือด
- ผลการตรวจภาพหลอดเลือดด้วย Angiogram สอดคล้องกับโรคเบอร์เกอร์
รักษาโรคเบอร์เกอร์อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษา หรือยารักษาเจาะจงเฉพาะโรคเบอร์เกอร์ แต่วิธีรักษาที่ได้ผลที่สุดและทำให้ลดโอกาสเกิดแผลเนื้อตายเน่าจนต้องตัดขา/ตัดแขนลงได้เหลือเกือบ 0% คือ การเลิกสูบบุหรี่ตั้งแต่เริ่มมีอาการหรือตั้งแต่การวินิจฉัยโรคได้
ส่วนการรักษาวิธีอื่นๆ จะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ที่เป็นเพียงการบรรเทาอาการ และบางวิธีการหรือยาที่ใช้ ก็ไม่ได้ผลในผู้ป่วยทุกคน หรือได้ผลเพียงระยะเวลาสั้นๆ วิธีรักษาต่างๆเหล่านั้น เช่น
ก. ยาแก้ปวด: เช่น ยาในกลุ่ม Prostaglandin inhibitor
ข. ยาต้านการอักเสบ
ค. ยาขยายหลอดเลือด
ง. ยาละลายลิ่มเลือด และ/หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
จ. การให้ยาสลบทางน้ำไขสันหลัง(Epidural anesthesia)เพื่อต้านการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำให้หลอดเลือดตีบ เพื่อช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว
ฉ. การผ่าตัดเส้นประสาทอัตโนมัติ(Lumbar sympathectomy)
ช. การผ่าตัดเล็กเพื่อเอาเนื้อที่ตายเน่าออก(Debridement)
ซ. การตัดขา หรือ ตัดมือ
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการโรคเบอร์เกอร์แย่ลง?
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้อาการของโรคเบอร์เกอร์แย่ลง คือ การยังคงสูบบุหรี่ต่อเนื่อง หรือการสูบบุหรี่ปริมาณมาก หลายๆมวนต่อวัน ทั้งนี้รวมถึงการได้รับบุหรี่มือสอง หรือการเสพใบยาสูบในลักษณะอื่นๆ
โรคเบอร์เกอร์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โรคเบอร์เกอร์มีการพยากรณ์โรค คือ เป็นโรคที่ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่เป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการเป็นๆหายๆ และอาการจะเลวลงเรื่อยๆเมื่อยังสูบบุหรี่ จนในที่สุดเกิดภาวะเนื้อตายเน่าของเท้า และมือ จนต้องรักษาด้วยการตัดขา/แขน
ทั้งนี้ ถ้ารีบพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ และเลิกสูบบุหรี่ได้ จะลดโอกาสตัดขา/แขนลงเหลือประมาณ 5-6% แต่ถ้าผู้ป่วยยังสูบบุหรี่ต่อไป โอกาสต้องตัดขา/แขนจะประมาณ 43%ที่ 8 ปี
โรคเบอร์เกอร์มีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่พบได้จากโรคเบอร์เกอร์ คือ
- อาการปวด แขน ขา เป็นๆหายๆ อาจร่วมกับเป็นตะคริว จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- เกิดแผลเนื้อตายเน่าที่นิ้วมือ นิ้วเท้า ที่อาจลุกลามจนต้องรักษาด้วยการตัดขา ตัดแขน
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเบอร์เกอร์ ที่สำคัญที่สุด คือ เลิกสูบุหรี่ที่จะช่วยลดอาการต่างๆลงได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และสามารถลดโอกาสตัดแขน ตัดขาลงได้ นอกจากนั้น ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
- รักษาความสะอาด นิ้ว มือ เท้า เสมอ และคอยสังเกตการเกิดแผล
- ถ้ารู้สึกชา และ/หรือสังเกตเห็น แผลที่ นิ้ว มือ เท้า ต้องรีบด่วนพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด
- ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงในทุกวันอย่างน้อย 8-10 แก้ว และออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพทุกวัน เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต
- สวมรองเท้าที่ใส่สบาย ไม่รัดเท้า และรักษาความสะอาดรองเท้าเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
เมื่อเป็นโรคเบอร์เกอร์ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดเท้า ขา แขน มือ มากขึ้น
- กลับมามีอาการที่ที่เคยหายไปแล้ว เช่น มื้อ เท้า กลับมามีอาการ ชา ซีด หรือ เขียวคล้ำ
- มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น เกิดแผลที่ ปลาย นิ้วเท้า นิ้วมือ โดยหาสาเหตุไม่ได้
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมาก คลื่นไส้อาเจียนมาก ปวดศีรษะผิดปกติ
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคเบอร์เกอร์อย่างไร?
การป้องกันโรคเบอร์เกอร์ให้ได้เต็มร้อยยังเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุ แต่สามารถป้องกันโรคเบอร์เกอร์ได้เกือบเต็มร้อยจากการไม่สูบบุหรี่ เพราะปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคนี้ทั้งในผู้ชายและในผู้หญิง คือ การสูบบุหรี่
บรรณานุกรม
- Arkkila, P. Orphanet Journal of Rare Disease 2006,1:14. https://ojrd.biomedcentral.com/articles/10.1186/1750-1172-1-14 [2017,Jan7]
- http://emedicine.medscape.com/article/460027-overview#showall [2017,Jan7]
- https://rarediseases.org/rare-diseases/buergers-disease/ [2017,Jan7]
- https://medlineplus.gov/ency/article/000172.html [2017,Jan7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Thromboangiitis_obliterans [2017,Jan7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Leo_Buerger [2017,Jan7]