โรคหลอดลมพอง (Bronchiectasis)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 1 กรกฎาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดลมพอง?
- โรคหลอดลมพองมีกลไกการเกิดโรคอย่างไร?
- โรคหลอดลมพองมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดลมพองอย่างไร?
- มีแนวทางรักษาโรคหลอดลมพองอย่างไร?
- โรคหลอดลมพองมีผลข้างเคียงและความรุนแรงโรคอย่างไร?
- ดูแลตนเอง และป้องกันโรคหลอดลมพองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
- โรคปอด (Lung disease)
- โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)
- โรคหืด (Asthma)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคซีโอพีดี (COPD, Chronic obstructive pulmonary disease)
บทนำ
โรคหลอดลมพอง หรือบางครั้งเรียกว่า โรคมองคร่อ (Bronchiectasis) คือโรคที่หลอด ลมภายในปอดมีการขยายตัวถาวร ซึ่งอาจเกิดขึ้นแบบเฉพาะที่หรือเกิดขึ้นทั่วทั้งปอด อาจปอดข้างเดียว หรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปอด/หลอดลมมีการติดเชื้อซ้ำๆหลายครั้ง ส่งผลให้เยื่อบุของหลอดลมซึ่งยืดหดได้ ถูกทำลาย หลอดลมจึงเกิดการขยายตัวถา วร ทำให้สารคัดหลั่งต่างๆ/เสมหะเกิดการคั่งอยู่ในหลอดลม หลอดลมไม่สามารถหดบีบกำจัดออกมาได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดมีอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะ ซึ่งเป็นอาการสำคัญของโรคหลอด ลมพอง
การรักษาโรคหลอดลมพองขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิด ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ และการรักษาภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ/หลอดลมอักเสบติดเชื้อที่มักเกิดแทรกซ้อน
ไม่มีสถิติจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดลมพองที่ชัดเจน แต่พบว่าอัตราการเกิดโรคลดลงตั้งแต่มีการคิดค้นการใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อและวัคซีนป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ในประเทศด้อยพัฒนาพบอัตราการเกิดโรคมากกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงและใช้ยาปฏิชีวนะและวัคซีนนั่นเอง
พบผู้ป่วยได้ในทุกเชื้อชาติ ผู้ป่วยประมาณ 2 ใน 3 เป็นเพศหญิง ในปัจจุบันพบในผู้สูง อายุมากกว่าวัยอื่นๆ โดยในสมัยก่อนที่จะมีวัคซีน พบในวัยเด็กได้ค่อนข้างบ่อย
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดลมพอง?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดลมพองแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. สาเหตุจากการติดเชื้อ พบได้บ่อยที่สุด โดย
เชื้อไวรัสในกลุ่ม Adenovirus และ Influenza virus (เชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้มักทำให้เกิดโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรค
ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคนี้ มักเป็นชนิดที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ/หลอด ลมอักเสบรุนแรง ได้แก่ แบคทีเรียชื่อ Staphylococcus aureus, และ Klebsiella pneumonia, เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคไอกรนในเด็กก็พบเป็นสาเหตุสำคัญในยุคก่อนที่จะมีวัคซีนป้องกันโรคไอโกรน เชื้อวัณโรค ก็เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยอีกสาเหตุหนึ่ง โดยมักทำให้เกิดหลอดลมพองเฉพาะที่ในกลีบปอดด้านบน และเชื้อในกลุ่มที่ใกล้เคียงกับเชื้อวัณโรค ที่เรียกว่า Non tuberculous mycobacteria ก็พบเป็นสาเหตุได้เช่นกัน
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักเกิดการติดเชื้อเป็น ปอด /หลอดลมอักเสบซ้ำๆ แล้วตามมาด้วยการเป็นโรคหลอดลมพอง ในบางครั้งผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อเพียงครั้งเดียวที่ทำให้เกิดปอด/หลอดลมอักเสบรุนแรง มีการทำลายเนื้อปอดและหลอดลมค่อนข้างมาก อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคหลอดลมพองขึ้นได้
เมื่อเกิดการติดเชื้อซ้ำๆอีก ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส หรือ แบคทีเรีย ชนิดที่เชื้อรุนแรงหรือ ไม่รุนแรง ก็จะทำให้โรคหลอดลมพองเป็นรุนแรงมากขึ้นๆ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีโรคหรือภาวะบางอย่าง จะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อเป็นปอด/หลอด ลมอักเสบได้ง่ายและบ่อย ทำให้มีโอกาสเป็นโรคหลอดลมพองได้สูง ได้แก่
- โรค Cystic fibrosis เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมซึ่งพบได้บ่อยในคนเชื้อชาติผิวขาว คือ ประมาณ 1 ใน 2,500 คน ดังนั้นในชนผิวขาว โรคนี้จึงเป็นสาเหตุโรคหลอด ลมพองที่พบบ่อยกว่าสาเหตุอื่นๆ โดยผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของการขนส่งเกลือแร่ ชนิดคลอไรด์ (Chloride) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างเมือกของต่อมในเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้อง คือ (เนื้อเยื่อปอด หลอดลม และเนื้อเยื่ออวัยวะระบบทางเดินอาหาร) จึงส่งผลให้ต่อมผลิตเมือกในหลอดลม ผลิตเมือกซึ่งมีความเหนียวข้นกว่าปกติ ทำให้เมือกกำจัดออกได้ยาก จึงคั่งค้างอยู่ในหลอดลม เชื้อโรคต่างๆที่เข้ามาในหลอดลม จึงไม่ถูกกำจัดออกไป ส่งผลทำให้ติดเชื้อเป็นปอด/หลอดลมอักเสบได้บ่อยๆ
- โรค Primary ciliary dyskinesia เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอีกโรคหนึ่ง แต่พบได้น้อย ในโรคนี้เซลล์เยื่อบุอวัยวะระบบทางเดินหายใจจะสูญเสียหน้าที่ในการพัดโบกกำจัดเชื้อโรคต่างๆออกไป ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ง่ายและเกิดการติดเชื้อขึ้นได้ซ้ำบ่อยๆ ผู้ป่วยจะเกิดไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ รวมทั้ง ปอด/หลอดลมอักเสบติดเชื้อซ้ำบ่อยๆ จนกลายเป็นหลอดลมพองในที่สุด
- โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดต่างๆ เช่น ในโรค Panhypogammaglobuline mia ซึ่งผู้ป่วยจะมีการติดเชื้อตามผิวหนัง ไซนัส รวมทั้งปอด/หลอดลม เกิดขึ้นซ้ำบ่อยๆ และในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดลมพองเช่นกัน
- โรคระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติชนิดต่างๆ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี (SLE) เป็นต้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งรวมทั้งการติดเชื้อของ ปอด/หลอดลมด้วย
- โรคความผิดปกติแต่กำเนิดของปอดและหลอดลม ซึ่งส่งผลให้เกิดการติดเชื้อเป็นปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบได้ง่าย เนื่องจากเป็นมาแต่กำเนิด โรคหลอดลมพองจากสาเหตุนี้ จึงพบได้ตั้งแต่วัยทารก
- เกิดการอุดตันของหลอดลมเฉพาะที่จากสาเหตุต่างๆ เช่น
- มีก้อนเนื้องอกโตอุดกั้นหลอดลม
- มีสิ่งแปลกปลอมเล็กๆหลุดเข้าไปอุดยังหลอดลม
- มีต่อมน้ำเหลืองในปอดโตจนกดทับหลอดลมซึ่งมักพบในโรควัณโรค
การที่หลอดลมถูกอุดตัน ทำให้การกำจัดเชื้อโรคของหลอดลมนั้นๆเสียไป ปอดที่ถูกเลี้ยงด้วยหลอดลมแขนงนั้นๆ จะเกิดปอดอักเสบได้ง่าย และกลายเป็นโรคหลอดลมพองแบบที่เป็นเฉพาะที่ต่อไป
- การสำลักเอาอาหารและน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารลงสู่ปอด/หลอดลม เศษอาหารอาจเข้าไปอุดตันหลอดลมบางแขนงและทำให้เกิดผลตามมาเหมือนข้างต้น (การอุดตันเฉพาะที่ของหลอดลม) ส่วนน้ำย่อยซึ่งเป็นกรดจะทำลายหลอดลมได้โดยตรง หากการสำ ลักเกิดขึ้นบ่อยๆ เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ปอด/หลอดลมและทำให้เกิดปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบได้ซ้ำๆ โดยมักจะพบในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมจากสาเหตุต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือเป็นโรคกรดไหลย้อน
2. สาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อซึ่งพบได้น้อยกว่ามาก ได้แก่ การหายใจเอาแก๊สพิษเข้าไปในปริมาณมาก เช่น แก๊สแอมโมเนีย (Ammonia) แก๊สคลอรีน (Chlorine) หรือการติดเชื้อราชนิด Aspergillus ในปอด ซึ่งเชื้อไม่ได้ลุกลามทำลายเนื้อปอด/หลอดลม แต่ปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายที่มีต่อเชื้อรานี้ จะทำลายหลอดลมของปอดและทำให้เกิดโรคหลอดลมพองตามมาได้ เป็นต้น
โรคหลอดลมพองมีกลไกการเกิดโรคอย่างไร?
เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ปอด/หลอดลมและทำให้ปอด/หลอดลมติดเชื้อ เชื้อจะปล่อยสารพิษออกมาทำลายเนื้อเยื่อต่างๆของปอดรวมถึงหลอดลม เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ที่สำคัญคือ ชนิดนิวโตรฟิว (Neutrophil) จะเข้ามาเพื่อจับกินและทำลายเชื้อโรคโดยผลิตเอนไซม์ (Enzyme) ชนิดต่างๆออกมา ซึ่งก็จะมีผลทำลายหลอดลมด้วย หากเชื้อโรคมีพิษไม่รุนแรงหรือได้รับยาปฏิ ชีวนะฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง เนื้อเยื่อก็จะถูกทำลายไม่มาก ร่างกายก็จะสามารถซ่อมแซมให้กลับ มาทำงานได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงเดิม แต่หากเชื้อโรคมีพิษรุนแรง หรือไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ หรือได้ยาไม่ถูกต้องเหมาะสม หลอดลมก็จะถูกทำลายมาก และชั้นผนังของหลอดลมซึ่งประ กอบไปด้วย เยื่อบุ ชั้นกระดูกอ่อน กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อ อิลาสติก/เนื้อเยื่อที่ยืดหยุ่นที่สร้างจากโปรตีนบางชนิด (Elastic fiber) ก็จะถูกแทนที่ด้วยพังผืด ทำให้สูญเสียความยืดหยุ่น มีการพองตัวขยายออก ต่อมผลิตเมือกจะมีปริมาณมากขึ้นและผลิตเมือกออกมาอยู่ในท่อหลอดลมมากขึ้น ชั้นของเยื่อบุเมื่อถูกทำลาย เซลล์เยื่อบุปกติที่มีขน ก็จะถูกแทนที่ด้วยเซลล์ชนิดไม่มีขน ซึ่งไม่สามารถทำหน้าที่พัดโบกกำ จัดเชื้อโรคต่างๆที่อาจเล็ดลอดผ่านทางเดินหายใจส่วนต้นเข้ามาได้ เชื้อโรคชนิดต่างๆจะมีโอ กาสเข้าสู่ปอด/หลอดลมได้ง่ายขึ้น ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเป็นปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบซ้ำแทรกซ้อนขึ้นมา และทำให้ปอด/หลอดลมในบริเวณที่ปกติหรือยังถูกทำลายไม่มาก ถูกทำลายเพิ่มเติมขึ้นไปอีก กลายเป็นวงจรทำลายปอด/หลอดลมซ้ำซาก จนกลายเป็นโรคหลอดลมพองในที่สุด
อีกทั้งผู้ป่วยเหล่านี้ ก็จะมีโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนขึ้นได้อีกเรื่อยๆ และทำให้เนื้อเยื่อปอด/หลอดลมถูกทำลายมากขึ้นๆต่อไป เนื้อปอด/หลอดลมก็จะกลายเป็นภาวะปอดแฟบ กลาย เป็นพังผืด ปอด/หลอดลมขยายตัวไม่ได้ และมีถุงลมโป่งพองปนเปกันไป
โรคหลอดลมพองมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคหลอดลมพอง จะประกอบด้วยอาการที่เกิดจากหลอดลมพอง และอาการของการติดเชื้อเป็นปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบแทรกซ้อน (Exacerbation of infection)
1. อาการของหลอดลมพอง อาการหลักคือ ไอเรื้อรังร่วมกับมีเสมหะ เสมหะมักจะเหนียวข้น หรือเป็นหนอง ผู้ป่วยประมาณ 50-70% อาจมีเลือดปนเสมหะ (เสมหะเป็นเลือด) ได้เล็กน้อย ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงชั้นเยื่อบุผิวของหลอดลมเกิดฉีกขาด ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจเกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดแดงที่ผนังหลอดลม และทำให้ไอเป็นเลือดปริมาณมากได้
ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจจะพบได้ คือ อาการเหนื่อย หอบ อ่อนเพลีย การตรวจร่างกายจะฟังเสียงปอดได้ผิดปกติหลายรูปแบบ ตรวจพบปลายนิ้วมีลักษณะเป็นปุ้ม/นูนกลม (Clubbing finger) ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ในโรคปอดเรื้อรังชนิดต่างๆ ในรายที่เป็นรุนแรงแล้ว จะมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หัวใจห้องล่างขวาจะโต เนื่องจากต้องออกแรงบีบเลือดส่งไปยังปอดมากกว่าปกติ และทำให้เกิดภาวะหัวใจวายตามมาได้ ผู้ป่วยก็จะมีมือเท้าบวม ตับโต ท้องมาน (มีน้ำในท้อง)
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไอโดยไม่มีเสมหะ โดยจะพบในผู้ที่เป็นหลอดลมพองบริเวณกลีบปอดด้านบน
2. อาการของการติดเชื้อเป็นปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีไข้ เสมหะจากเดิมที่เคยมีอยู่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น และมีลักษณะเป็นหนองข้นชัดเจน มีปริมาณเลือดปนมาในเสมหะ (เสมหะเป็นเลือด) มากขึ้น
แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดลมพองอย่างไร?
การวินิจฉัยโรคหลอดลมพอง แบ่งออกเป็น การวินิจฉัยโรคหลอดลมพอง และการวินิจ ฉัยหาสาเหตุ รวมไปถึงการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเกิดภาวะปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบ แทรกซ้อนด้วยหรือไม่
- การวินิจฉัยโรคหลอดลมพอง เริ่มต้นจากประวัติของอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะดังกล่าวข้างต้น รวมไปถึงประวัติการเป็นปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบ มาก่อนที่จะเกิดอาการไอเรื้อรัง และ/หรือประวัติการเป็นปอด/หลอดลมอักเสบหลายๆครั้ง ก็จะช่วยทำให้นึกถึงโรคนี้ แพทย์ก็จะอาศัยการตรวจร่างกายและการเอกซเรย์ปอดมาช่วยยืนยันการวินิจฉัย หากการเอกซเรย์ธรรมดาพบความผิดปกติ แพทย์ก็จะให้การวินิจฉัยได้ หากยังไม่พบความผิดปกติ ต้องอาศัยการตรวจการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรืออาจใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นการตรวจตั้งแต่แรกในผู้ป่วยที่มีอาการ ซึ่งถือเป็นวิธีมาตรฐานในการให้การวินิจฉัยโรคหลอดลมพอง
- การวินิจฉัยหาสาเหตุ เช่น เคยมีประวัติเป็นโรคปอดอักเสบ/หลอดลมอัก เสบ รุนแรงมาในอดีต ก็ช่วยทำให้นึกถึงว่าอาจเป็นสาเหตุได้ หากเป็นโรคหลอดลมพองเฉพาะ ที่ต้องใช้วิธีส่องกล้องหลอดลม เพื่อดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมอุดตันอยู่หรือไม่ หากเป็นที่กลีบปอดด้านบน ต้องนึกถึงสาเหตุจากเชื้อวัณโรคและนำเสมหะไปตรวจหาเชื้อ หากมีความผิดปกติอื่นๆ ร่วม เช่น เอนไซม์จากตับอ่อนผลิตได้ลดลง มีภาวะลำไส้อุดตันบ่อยๆ การเป็นหมันในผู้ชาย หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหลอดลมพอง ต้องตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมเพราะอาจเป็นโรค Cystic fibrosis หรือหากมีการติดเชื้อในอวัยวะอื่นร่วมด้วยบ่อยๆ ผู้ป่วยอาจมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่ เป็นต้น แต่ในบางครั้งก็อาจหาสาเหตุไม่พบได้
- การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเกิดภาวะปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบแทรกซ้อน อาศัยจากอาการ ที่เป็นมากขึ้นฉับพลัน ร่วมกับการตรวจเอกซเรย์ปอด หรือเอกซเรย์คอม พิวเตอร์ พบความผิดปกติที่บ่งว่าเป็นปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบ นอกจากนี้ ต้องตรวจหาชนิดเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ เพื่อให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมรักษา โดยการนำเสมหะไปตรวจย้อมหาเชื้อและเพาะเชื้อ
มีแนวทางรักษาโรคหลอดลมพองอย่างไร?
ผู้ที่เป็นโรคหลอดลมพองแล้ว ไม่มีวิธีรักษาให้หลอดลมกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้ ยกเว้นการผ่าตัดเปลี่ยนปอด การรักษาเป็นไปเพื่อหยุดหรือชะลอการดำเนินของโรคไม่ให้รุน แรงขึ้น โดยการรักษาแบ่งออกได้เป็น
1. การรักษาสาเหตุของการเกิดโรคหลอดลมพอง สาเหตุบางอย่างก็รักษาได้ เช่น สาเหตุจากการมีสิ่งแปลกปลอมอุดตัน การเป็นโรคกรดไหลย้อน การติดเชื้อเป็นวัณโรค เป็นต้น สาเหตุบางอย่างก็รักษาไม่ได้ เช่น สาเหตุจากโรคพันธุกรรม โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผิดปกติชนิดต่างๆ เป็นต้น
2. การรักษาอาการของโรคหลอดลมพอง เป็นการรักษาตามอาการเพื่อให้ผู้ ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การให้ยาขยายหลอดลมในผู้ป่วยที่มีอาการหายใจหอบเหนื่อย ซึ่งยา มีทั้งรูปแบบพ่นและรูปแบบกิน การทำกายภาพฟื้นฟูปอดด้วยการเคาะปอดเพื่อขับเสมหะออก การใช้ออกซิเจนในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ส่วนการให้ยาละลายเสมหะ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัด เจนว่าได้ประโยชน์ ในผู้ป่วยที่เป็นโรค Cystic fibrosis อาจใช้ยาพ่นที่เป็นเอนไซม์ เพื่อทำให้เสมหะมีความเหนียวลดลงและขับออกได้ง่ายขึ้น แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในโรคหลอดลมพองจากสาเหตุอื่นๆ และ สำหรับการให้ยาต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ เช่น ยากลุ่ม สเตียรอยด์ ข้อมูลยังไม่ชัดเจน
3. การรักษาปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบแทรกซ้อน เมื่อผู้ป่วยมีปอด/หลอด ลมอักเสบติดเชื้อแทรกซ้อนขึ้นมา ต้องให้ยาปฏิชีวนะรักษาตามเชื้อที่เป็นต้นเหตุ โดยอาจให้ในรูปแบบกินหรือฉีด ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
โรคหลอดลมพองมีผลข้างเคียงและความรุนแรงโรคอย่างไร?
ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรคหลอดลมพอง ในสมัยก่อนที่จะมียาปฏิชีวนะรักษา อัตราการเสียชีวิต จากโรคหลอดลมพองค่อนข้างสูง คือมักเสียชีวิตภายใน 5 ปีนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ แต่ปัจจุบัน เนื่องจากมีทั้งวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อบางชนิดที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบ และยาปฏิชีวนะรักษาที่มีประสิทธิภาพ อัตราการเสียชีวิตก็ลดลงไปมาก แต่ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุของโรคด้วย โดยโรค Cystic fibrosis มีการพยากรณ์โรคที่แย่สุด
ดูแลตนเอง และป้องกันโรคหลอดลมพองอย่างไร?
การดูแลตนเองและการป้องกันโรคหลอดลมพอง ที่สำคัญ คือ
1. ในคนปกติ การป้องกันการเกิดโรค คือการป้องกันการติดเชื้อเป็นปอดอัก เสบ/หลอดลมอักเสบ ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคไอกรน โรคไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcus) รวมถึงการดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงด้วยการ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสมทุกวัน พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่สูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ควันบุหรี่ และหากมีอาการของปอด/หลอดลมอักเสบเกิดขึ้น ควรพบแพทย์โดยเร็วเพื่อรับยาปฏิชีวนะรักษา
2. ในผู้ที่เป็นโรคต่างๆ ซึ่งมีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นปอดอักเสบ/หลอด ลมอักเสบง่าย ต้องระวังการติดเชื้ออย่างเข้มงวด หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่มีคนแออัดพลุกพล่าน ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก (หน้ากากอนามัย) ทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน ล้างมือบ่อยๆ และไปพบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อติดตามโรคที่เป็นอยู่
3. ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมพองแล้ว ต้องระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดปอดอักเสบ/หลอดลมอักเสบ แทรกซ้อนขึ้นมาอีก โดยการกระทำดังข้างต้นที่กล่าวมาแล้วทั้งในข้อ 1และ 2 การใช้ยาบรรเทาอาการต่างๆ ควรให้ถูกต้องเหมาะสม รวมไปถึงการพยายามกำจัดเสมหะไม่ให้คั่งค้างในปอด โดยต้องอาศัยคนใกล้ชิดช่วยเคาะปอดอย่างสม่ำเสมอ (เรียนวิธีการจากพยาบาล และ/หรือนักกายภาพบำบัดโรคปอด) การดื่มน้ำมากๆ ไม่อยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานานๆ เพราะอากาศจะแห้ง ทำให้เสมหะยิ่งเหนียวข้น และหากอาการแย่ลงโดยฉับ พลัน และ/หรือ มีไข้ ควรพบแพทย์โดยเร็ว/พบแพทย์ก่อนนัด เพื่อรับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม เพราะอาจเกิดปอด/หลอดลมอักเสบแทรกซ้อนได้
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะเหนียวข้น ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเพื่อวินิจฉัยและหาสาเหตุ
ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหลอดลมพอง หากมีอาการไข้ ไอมากขึ้น เสมหะเป็นหนองมากขึ้น มีเลือดปนมากขึ้น (เสมหะเป็นเลือด) ควรพบแพทย์โดยเร็ว/พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
บรรณานุกรม
- ศัพท์แพทย์ศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2547. ห้างหุ้นส่วนจำกัด. กรุงเทพฯ. อรุณการพิมพ์
- Steven E. Eeinberger. Bronchiectasis, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald, Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
- http://emedicine.medscape.com/article/296961-overview#showall [2018,June9]
Updated 2018,June9