โรคตาในหญิงตั้งครรภ์ (Eye problem in Pregnancy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หญิงตั้งครรภ์ จะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนต่างๆในร่างกาย การไหลเวียนของเลือดในร่างกายเปลี่ยนไป ต้องมีเลือดไปสู่รกและทารก ทำให้การเผาผลาญพลังงานของร่าง กาย (Metabolism) เปลี่ยนไป เป็นเหตุให้เกิดความผิดปกติเล็กๆน้อยๆต่ออวัยวะต่างๆของร่าง กาย รวมถึงของตา แต่บางราย อาจมีภาวะบางอย่างที่รุนแรงต่อสายตาและต่อตาได้ ดังจะกล่าวต่อไป

การเปลี่ยนแปลงทางตาในขณะตั้งครรภ์มีอะไรได้บ้าง?

โรคตาในหญิงตั้งครรภ์

การเปลี่ยนแปลงทางตา/โรคตา/ภาวะผิดปกติทางตา ที่อาจพบได้ในขณะตั้งครรภ์ ผู้ เขียนขอแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่ 1 เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียมากนัก มักจะหายไปได้เองหลังคลอด
  • กลุ่มที่ 2 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจทำให้สายตาเสื่อมลง มีความผิดปกติชนิดที่แพทย์จำเป็นต้องติดตามอาการ ให้การดูแล และให้การรักษา
  • กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่มีโรคตาอยู่เก่าก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งจะลุกลามหรือมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อตั้งครรภ์

การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยทางตาเมื่อตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?

การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยทางตาเมื่อตั้งครรภ์ ที่อาจพบได้ ได้แก่

  • บริเวณเปลือกตา/หนังตา: อาจพบหนังตาบวมจากมีน้ำขัง/บวมน้ำ (Water retention) บางรายอาจมีหนังตาตก หรืออาจมีสีคล้ำเป็นรอยด่างดำ เชื่อว่าเป็นผลจากการเพิ่มของฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจน (Estrogen) บางรายอาจพบภาวะ Chloasma (แผ่นเล็กๆ สีน้ำตาลที่เกิดกับผิวหนังส่วนต่างๆของร่างกายรวมทั้งหนังตา ที่เป็นผลจากฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์) อย่างไรก็ตาม อาการบริเวณเปลือกตาดังกล่าวไม่ได้ให้โทษอะไร หลังคลอดจะหายไปเองช้าๆ เมื่อฮอร์ โมนร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ แต่หากหนังตาบวมมาก ร่วมกับมีอาการบวมทั่วร่างกาย ควรปรึก ษาสูติแพทย์ตรวจด้วย เพื่อเฝ้าระวังโรค/ภาวะพิษแห่งครรภ์ (Toxemia of pregnancy)
  • กระจกตา: กระจกตาจะมีการรับความรู้สึก (Sensitivity) ลดลงจากมีการบวมน้ำของกระ จกตา ทำให้กระจกตาโค้งมากขึ้น จึงทำให้มีค่าสายตาเปลี่ยนไปเป็นสายตาสั้นมากขึ้น หากผู้ ป่วยมีแว่นสายตาสั้น จะรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแว่น เพราะสายตาสั้นเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปจึงแนะนำว่า หากมีสายตาสั้นเพิ่มระหว่างตั้งครรภ์ และถ้าไม่มีปัญหาสายตา/การมองเห็นมากนัก ไม่จำเป็น ต้องเปลี่ยนแว่นตา เพราะหลังคลอด สายตาจะกลับมาเหมือนเดิม แต่หากมีปัญหาการใช้สาย ตามากก็เปลี่ยนกำลังของเลนส์แว่นสายตาได้ แต่ต้องทำใจว่า หลังคลอดจะต้องเปลี่ยนเลนส์แว่นตาอีกครั้ง

    ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกและกระจกตาบวม ทำให้หญิงตั้งครรภ์มัก จะมีปัญหาในการใช้คอนแทคเลนส์ แนะนำให้งดใช้คอนแทคเลนส์ชั่วคราวจนถึงหลังคลอด ภายหลังเมื่อสายตากลับมาเห็นเหมือนเดิมเมื่อก่อนคลอด

  • น้ำตา: ด้วยระดับของฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป ทำให้น้ำตาลดลง โดยจากการศึกษาพบว่าประมาณ 80% ของหญิงตั้งครรภ์จะมีน้ำตาลดลง ทำให้เกิดอาการ ตาแห้ง แสบตา เคืองตา ใช้สายตาไม่ทน/ไม่ได้นาน ซึ่งอาจแก้ไขได้โดยใช้หยอดตาด้วยน้ำตาเทียม หรือพักการใช้สายตาลง จักษุแพทย์บางท่านอาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโอเมกา 3 มากขึ้น ที่อาจช่วยให้ตาแห้งน้อยลง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ตาแห้ง และใน Blog สาระน่ารู้จากหมอตา ตอนที่ 31 Omega 3 กับตาแห้ง) และภาวะตาแห้งนี้เองเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีปัญหาในการใช้คอนแทคเลนส์
  • แก้วตา: แก้วตาหญิงตั้งครรภ์จะโค้งมากขึ้น สาเหตุจากฮอร์โมนเช่นกัน ที่ทำให้แก้วตาบวมน้ำ จึงทำให้ค่าสายตาเปลี่ยนเป็นสายตาสั้นมากขึ้น อีกทั้งความสามารถในการเพ่ง/จ้องดูสิ่งของลดลง ซึ่งทั้งหมดจะกลับสู่ปกติหลังคลอด ไม่ต้องแก้ไข นอกจากปรับตัวในการใช้สาย ตา หรือเปลี่ยนเลนส์แว่นตาตามความจำเป็นของแต่ละคน
  • ความดันในลูกตา/ความดันตา มักจะลดลง เชื่อว่าเกิดจากการไหลออกจากลูกตาของ สารน้ำในลูกตา (Aqueous) เพิ่มขึ้น แต่ด้วยกลไกอะไรยังไม่แน่ชัด บ้างก็ว่าเป็นผลจากการเพิ่มของฮอร์โมนเพศหญิง โพรเจสเทอโรน (Progesterone) และ Relaxin (ฮอร์โมนสร้างจากรังไข่ช่วงตั้งครรภ์ มีหน้าที่ทำให้ปากมดลูก และกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานผ่อนคลาย) อีกทั้งพบความดันของหลอดเลือดดำเล็กๆที่อยู่ในตาขาวที่เรียกว่า Episclera vein ลดลงด้วย ความดันที่ลดลงทำให้ดูเหมือนการควบคุมความดันตาในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นต้อหินอยู่เดิม ควบคุมได้ง่ายขึ้น แต่หลังคลอดความดันในลูกตาจะกลับมาปกติเองในเวลาประมาณ 2 เดือน

การเปลี่ยนแปลงที่อาจทำให้สายตาเสื่อมลงเมื่อตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?

การเปลี่ยนแปลงที่อาจทำให้สายตาเสื่อมลงเมื่อตั้งครรภ์ที่อาจพบได้ ได้แก่

  • ภาวะ Central serous retinopathy (CSR) คือภาวะที่เป็นการบวมของจุดรับภาพในจอตา (โดยทั่วไป เป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ มักพบโรคนี้ในผู้ชาย โดยเฉพาะในวัยทำงาน อายุ 25-55 ปี โดยผู้ป่วยมักมีความเครียดง่าย พักผ่อนน้อย มาพบแพทย์ด้วยอาการตาพร่า/ตามัวบริเวณตรงกลางภาพ อาจเห็นเป็นเงาดำ บางครั้ง สายตาอาจมัวลงไม่มาก เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นสีผิดเพี้ยนไป ภาพที่เห็นอาจมีขนาดเล็กลง) ทั้งนี้ ในหญิงตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของระ ดับฮอร์โมน ทำให้เกิดจอตาบวมได้ ทำให้พบภาวะนี้มากกว่าหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

    หากหญิงตั้งครรภ์ มีตาพร่ามัว ควรรับการตรวจจากจักษุแพทย์ เพื่อตรวจตาหาพยาธิสภาพ หากจอตาบวมมากอาจต้องพิจารณารักษาด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ไม่มีปัญหาในหญิงตั้งครรภ์ แต่ก่อนรักษาด้วยเลเซอร์มักจะต้องตรวจตา โดยวิธีฉีดสีเข้าหลอดเลือดที่เรียกว่า Fundus fluorescein angiography ต้องมีการฉีดสารเรื่องแสง Fluorescein ซึ่งอาจมีปัญหาในหญิงตั้งครรภ์ได้ (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และ/หรือ ทารกในครรภ์อาจเกิดความพิ การแต่กำเนิด) จึงต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในการตรวจด้วย

  • ผลจากการมีความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยที่เป็นภาวะพิษแห่งครรภ์ จะพบหลอดเลือดแดงในจอตาตีบเล็กลง โดยบางรายงานว่าพบได้ถึง 25% ของผู้ป่วยที่มีภาวะพิษแห่งครรภ์ และ 50% ของผู้ป่วยภาวะพิษแห่งครรภ์ที่มีอาการชักร่วมด้วย โดยผู้ป่วยจะมีอาการ ตามัว เห็นจุดบอด/จุดดำตรงกลางภาพ (Central scotoma) บางรายมีอาการเห็นภาพซ้อน เห็นแสงแปลบๆ การตรวจตาจะพบลักษณะของหลอดเลือดแดงจอตาตีบ มีเลือดออกเป็นจุดๆ (Cotton wool spot) ในจอตา จอตาบวม จอตาลอกชนิดที่เรียกว่า Serous retinal detachment บางรายอาจพบขั้วประสาทตา/จานประสาทตาบวมได้

    นอกจากนี้ ในภาวะพิษแห่งครรภ์นี้ ยังมีรายงานพบภาวะประสาทตาขาดเลือดฉับพลัน (Acute ischemic optic neuropathy) หรือหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนควบคุมการเห็นตีบ ทำให้เกิดภาวะตาบอดเหตุจากสมอง (Cortical blind) ได้ แม้ว่าจะพบได้น้อยมาก

    และในภาวะพิษแห่งครรภ์นี้ ยังมีผู้รายงานพบภาวะที่เรียกว่า HELPP syndrome (Hemolysis, Elevated Liver enzyme, Low platelet, Poor maternal and fetal outcome) คือ ภาวะที่จอตาหลุดลอกทั้ง 2 ตา และ/หรือมีเลือดออกในวุ้นตาได้

    ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ที่เกิดภาวะพิษแห่งครรภ์ และ/หรือภาวะพิษแห่งครรภ์ที่มีอาการชักร่วมด้วย จึงควรได้รับการตรวจจอตาอย่างละเอียด และควบคุมภาวะเหล่านี้ ตลอดจนความดันโลหิตให้ดี และให้การรักษาทางตาตามพยาธิสภาพและความจำเป็น อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปพยาธิสภาพของจอตามักจะดีขึ้นหลังคลอด

  • ภาวะหลอดเลือดจอตาอุดตัน สืบเนื่องมาจากหลอดเลือดตีบ ร่วมกับมีภาวะ Hyper coagulability (เลือดจับตัวเป็นลิ่มเลือดได้ง่าย) มากขึ้น ทำให้หลอดเลือดจอตาถึงขั้นอุดตัน ทำให้ขั้วประสาทตาบวม มี Cotton wool spot สลับกับจุดเลือดออก ที่มีลักษณะที่เรียกกันว่า Purtcher – like retinopathy ในบางรายอาจเกิดภาวะที่เรียกกันว่า Disseminated intravascu lar coagulation (DIC, มีลิ่มเลือดเกิดในหลอดเลือดทั่วร่างกาย) ที่รวมถึงหลอดเลือดในลูกตา

    ภาวะหลอดเลือดจอตาอุดตันนี้ ยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง คงต้องดูพยาธิสภาพที่แพทย์ตรวจพบ ร่วมกับการควบคุมภาวะพิษแห่งครรภ์ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะหลอดเลือดจอตาอุดตันให้ได้ดี

  • ความผิดปกติทางจักษุประสาท (โรคทางตาที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาท) โดยมีรายงานพบภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Pseudotumor cere bri) ทำให้มีอาการตามัว มีเส้นประสาทสมองที่ 6 เป็นอัมพาต ที่ทำให้เกิด ตาเข ปวดศีรษะ โดยแพทย์จะตรวจพบ มีความดันในสมอง/ขมองสูง แต่ไม่พบความผิดปกติ/พยาธิสภาพอื่นๆของระบบประสาทแต่อย่างใด นอกจากนั้น ยังมีรายงานพบโรคไมเกรนในหญิงตั้งครรภ์ได้เช่น กัน

การเปลี่ยนแปลงทางตาเมื่อมีโรคตาอยู่ก่อนตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?

โรคต่างๆที่เป็นอยู่ก่อนตั้งครรภ์ และอาจกำเริบเมื่อตั้งครรภ์ และอาจก่อปัญหาทางตาได้ ได้แก่

  • โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ จะมีอาการมากขึ้น ควบคุมโรคได้ยากขึ้น นำมาซึ่งความผิดปกติต่างๆ จากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เช่น ตาโปนมากขึ้น
  • โรคจอตาเสื่อม (โรคของจอตา) ชนิด Retinitis pigmentosa ซึ่งเป็นโรคที่เซลล์รับรู้การเห็นของจอตาเสื่อมลงอย่างช้าๆ ซึ่งหากมีการตั้งครรภ์ จะพบว่า การเสื่อมลงของจอตาจะเร็วขึ้น
  • เนื้องอกในลูกตาที่มีอยู่เดิม อาจเพิ่มขนาดโตเร็วขึ้น เช่น มะเร็งลูกตาเมลาโนมา (Ocular melanoma), เนื้องอกลูกตาชนิด Choroidal osteoma, เนื้องอกลูกตาชนิด Choroid al hemangioma, เนื้องอกเส้นประสาทตาชนิด Meningioma, เนื้องอกของต่อมใต้สมอง (Pitui tary adenoma) ที่เนื้องอกอาจโตขึ้น จนเบียดกดประสาทตาที่อยู่ข้างเคียง จนทำให้ตามัวลง ในหญิงตั้งครรภ์บางราย อาจต้องมีการตรวจลานสายตาบ่อยๆ เพื่อดูว่าก้อนเนื้อ/เนื้องอกขยายใหญ่ขึ้นหรือไม่ ซึ่งการรักษาเนื้องอกต่างๆ จะให้การรักษาตามพยาธิสภาพของเนื้องอกแต่ละชนิดที่แพทย์ต้องคำนึงถึงผลเสีย อันอาจจะเกิดแก่ทารกในครรภ์ด้วย
  • มารดาที่เป็นโรคติดเชื้อปรสิตที่เรียกว่า Ocular toxoplasmosis (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส) ในขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อนี้ (อาจเสียชีวิต หรือเกิดความพิการแต่กำเนิด) ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องให้การรักษาโรคนี้ก่อนจะมีการตั้งครรภ์
  • มารดาที่เป็นโรคต้อหินอยู่ก่อน แม้ว่าความดันตาระหว่างตั้งครรภ์จะลดต่ำลงได้ ทำให้การควบคุมความดันตาได้ดีขึ้น แต่ต้องระมัดระวังยาที่ใช้รักษา ถ้าอยู่ในกลุ่ม Carbonic anhy drase inhibitor โดยเฉพาะชนิดรับประทาน เพราะมีรายงานว่า เป็นยาที่อาจก่อให้เกิดความพิ การในทารกได้
  • มารดาที่การอักเสบของผนังลูกตาชั้นกลาง (Uveitis) อยู่ก่อนเมื่อตั้งครรภ์ อาการจะดีขึ้น เข้าใจว่าเป็นเพราะระดับฮอร์โมนชนิดเป็นสเตียรอยด์ในร่างกายสูงขึ้น
  • ในโรคเบาหวาน มารดาที่เป็นเบาหวาน การควบคุมเบาหวานให้ดีเป็นสิ่งจำเป็นมาก ทั้งนี้เพราะฮอร์โมนที่มีในหญิงตั้งครรภ์ นอกจากมีผลโดยตรงต่อหลอดเลือดที่จอตา นำมาซึ่งหลอดเลือดจอตาอุดตัน ที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังกระตุ้นให้เกิดการรั่วซึมของสารจากหลอดเลือดและเซลล์เกิดใหม่ ที่พบในภาวะจอตาเสื่อมรุนแรง ที่รักษาควบคุมได้ยาก (Proliferative diabe tic retinopathy,PDR) นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หากมีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ยิ่งเสริมให้มีภาวะพิษแห่งครรภ์ จนอาจมีอาการชักได้ โดยพบว่าแม่ที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเกิดภาวะพิษแห่งครรภ์มากกว่าแม่ทั่วไปถึง 3 เท่า การคุมเบาหวานและความดันโลหิตสูงจึงเป็นสิ่ง จำเป็น

    ทั้งนี้ โดยทั่วไปพบว่า

    • ถ้ามารดาเป็นเบาหวาน แต่แพทย์ตรวจไม่พบภาวะจอตาเสื่อมจากเบาหวาน (Diabe tic retinopathy, DR) ขณะเริ่มตั้งครรภ์ และมีน้ำตาลสะสมในเลือด (Hb A1c/Hemoglobin A1c) น้อยกว่า 7 หมายความว่า ควบคุมเบาหวานได้ดี มักจะปลอดภัยโรคของจอตา แต่ควรรับการตรวจจอตาทุก 2 – 3 เดือน
    • ถ้ามารดาเป็นเบาหวานโดยที่ไม่มีภาวะ DR เลย แต่คุมเบาหวานไม่ได้ระหว่างตั้ง ครรภ์ มีโอกาสเกิดภาวะ DR ได้ และมักจะลุกลามรวดเร็วไปถึงระยะจอตาเสื่อมที่รุนแรง ที่ควบ คุมรักษาได้ยาก (ภาวะ PDR) ได้
    • ถ้าพบภาวะ DR ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ มีแนวโน้มที่โรคจะกำเริบและลุกลามเป็นภาวะ PDR ได้ จักษุแพทย์จึงมักแนะนำให้ทำการรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser) ตั้งแต่ก่อน หรือเมื่อเริ่มตั้งครรภ์

อนึ่ง การรักษาภาวะ DR ด้วยเลเซอร์ เป็นการใช้แสงเลเซอร์ฉายไปยังจอตา ซึ่งไม่มีโทษอะไรในหญิงตั้งครรภ์รวมถึงทารกในครรภ์ ดังนั้นหากตรวจพบภาวะนี้ ผู้ป่วยก็ควรยอมรับการรักษาไปเลย

การเปลี่ยนแปลงทางตาที่อาจเกิดในระหว่างคลอดมีอะไรบ้าง?

ความผิดปกติ/การเปลี่ยนแปลงทางตาที่อาจเกิดในระหว่างคลอด ทีมีรายงาน ได้แก่

  • เกิดภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงของจอตาที่เรียกว่า ภาวะ Purtscher like retinopathy ส่งผลถึงการมองเห็นลดลง ดังนั้นมารดาหลังคลอด จึงพึงสังเกตสายตาของตน เองทั้ง 2 ข้าง และรีบปรึกษาจักษุแพทย์เมื่อมีปัญหาทางสายตาเสมอ
  • อาจพบมีการอุดตันของหลอดเลือดจอตา ที่เกิดจากน้ำคร่ำหลุดลอดเข้าไปในหลอดเลือด (Bilateral retinal arteriolar occlusion)ได้ เกิดการเห็นภาพลดลง
  • ระหว่างเบ่งคลอด มีการเพิ่มของความดันในร่างกาย รวมถึงในลูกตา ส่งผลทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดจอตาแตก (Valsava retinal haemorrhage) ได้ การเห็นภาพจึงลดลง
  • มีรายงานพบเกิดภาวะหลอดเลือดดำในเบ้าตาโป่งพอง (Orbital varice) หรือมีก้อนเลือดขัง (Hematoma/ก้อนเลือดที่เกิดหลังมีเลือดออก) ในเบ้าตาได้
  • ถ้าหญิงตั้งครรภ์เคยมีจอตาหลุดลอก (Serous retinal detachment) อยู่ก่อน ไม่ควรให้ผู้ป่วยเบ่งมากเวลาคลอด เพราะจอตาจะหลุดลอดมากจนอาจตาบอดได้ อาจจะต้องเปลี่ยนไปทำคลอดแบบผ่าท้องคลอด

ความผิดปกติทางตาที่อาจเกิดในระยะหลังคลอดมีอะไรบ้าง?

ส่วนใหญ่ความผิดปกติ/การเปลี่ยนแปลงต่างๆทางตาที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์จะค่อยๆหาย ไป ละกลับมาสู่ปกติ เมื่อฮอร์โมนในร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ คือประมาณ 1-2 เดือนหลังคลอด แต่มีบางภาวะ/การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจยังคงอยู่ในระยะหลังคลอดได้ เช่น

  • การอักเสบของผนังลูกตาชั้นกลาง ซึ่งเคยสงบ อาจกำเริบเมื่อหลังคลอด ดังนั้นควรรับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ เมื่อมีอาการผิดปกติทางตาเสมอ
  • มีรายงานภาวะอักเสบติดเชื้อภายในลูกตาหลังคลอด (Postpartum endogenous endophthalmitis) ซึ่งจะต้องรีบให้การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ เพราะเป็นสาเหตุตาบอดได้
  • ปัญหาของผู้ป่วยที่เป็นต้อหินอยู่ก่อนตั้งครรภ์ หากผู้ป่วยต้องรับยาหยอดตาประจำ เพื่อลดความดันลูกตา ควรจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะยาหยอดตาสำหรับต้อหินส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มที่ ใช้ได้ คือ ยาไม่ทำให้ทารกเสียชีวิต หรือมีความพิการแต่กำเนิด แต่อาจเกิดผล ข้างเคียงอื่นๆจากยาได้ เช่น
    • ยากลุ่ม Betablock อาจจะกดการหายใจของทารก ลดการเต้นของหัวใจ อีกทั้งพบว่ายามีอยู่ในน้ำนมของหญิงที่หยอดยาตัวนี้ได้ค่อนข้างมาก
    • ยา Brimonidine เป็นกลุ่มยาที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่มีรายงานว่า ระยะใกล้คลอด ยาตัวนี้อาจทำให้มีการกดระบบการทำงานของสมองในทารกแรกเกิด จึงมีแพทย์บางท่านแนะนำงดยาตัวนี้ระยะสั้นๆตอนใกล้คลอด
    • ยา Carbonic anhydrase inhibition โดยเฉพาะชนิดรับประทาน ไม่ควรใช้ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้
    • ยากลุ่ม Prostaglandin เนื่องจากมีคุณสมบัติคล้าย ยา Oxytocin ซึ่งใช้ในการกระตุ้นให้เกิดการคลอด ให้มดลูกหดตัว จึงควรระวังในการใช้ อาจก่อให้เกิดการแท้งบุตร หรือคลอดก่อนกำหนดได้

    ผลข้างเคียงที่กล่าวข้างต้น เป็นการประเมินทางทฤษฎี จึงมีโอกาสเกิดได้แต่ไม่ใช่ในทุกราย ทั้งนี้การใช้ยาต่างๆจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา ทั้งนี้โดย

    • แพทย์จะใช้ยาที่จำเป็นจริงๆ และใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
    • แพทย์จะแนะนำลดการดูดซึมของยาเข้าสู่กระแสเลือด โดยให้ผู้ป่วยกดบริเวณหัวตาไว้ 3 – 4 นาที หลังหยอดยา
    • แพทย์อาจพิจารณาลดความดันลูกตาด้วยแสงเลเซอร์ หลีกเลี่ยงการใช้ยา (ทำการรัก ษาโดยเทคนิค Selective laser trabeculoplasty) ซึ่งสามารถลดความดันลูกตาได้ชั่วคราว
    • หากเป็นไปได้ ผู้ป่วยโรคต้อหิน ควรรักษาและควบคุมความดันลูกตาให้ได้ก่อนตัดสิน ใจตั้งครรภ์ และอาจต้องทำผ่าตัดด้วยเลเซอร์ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Selective laser trabeculoplasty ก่อนตั้งครรภ์ ในกรณีความดันลูกตาควบคุมยาก ต้องใช้ยาควบคุมรักษาหลายตัว ซึ่งอาจมีปัญหาการใช้ยาช่วงตั้งครรภ์ได้

เมื่อไรควรพบแพทย์

ขณะตั้งครรภ์ เมื่อมีอาการทางตา โดยเฉพาะในการเห็นภาพ ควรรีบพบจักษุแพทย์เสมอ ส่วนกรณีเป็นโรคตาอยู่ก่อนตั้งครรภ์แล้ว ควรปรึกษาจักษุแพทย์เสมอ เพื่อวางแผนการรักษาตั้ง แต่ก่อนการตั้งครรภ์

แพทย์วินิจฉัยโรคตาในหญิงตั้งครรภ์อย่างไร?

การวินิจฉัยหาสาเหตุอาการทางตา/โรคตาในช่วงตั้งครรภ์ จะเช่นเดียวกับการวินิจฉัยโรคตาในช่วงก่อนตั้งครรภ์ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคตา) โดยแพทย์จะเริ่มจากการสอบถามประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ อายุครรภ์ การฝากครรภ์ การใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจตา แต่ที่แตกต่างไปบ้าง คือ แพทย์จะต้องคำนึงถึงผลข้าง เคียง/ผลกระทบจากการตรวจต่อทารกในครรภ์ด้วยเสมอ เช่น การเอกซเรย์ ซึ่งถ้าพบว่า วิธีตรวจอาจกระทบต่อทารกในครรภ์ แพทย์จะปรึกษาผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยก่อนเสมอ ถึงความจำเป็นในการตรวจ หรือความจำเป็นในการต้องเลื่อนการตรวจ

รักษาโรคตาในหญิงตั้งครรภ์อย่างไร?

การรักษาโรคตา/การเปลี่ยนแปลงทางตาในหญิงตั้งครรภ์ ขึ้นกับสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกัน

โดยทั่วไปถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย อาการจะหายไปได้เองหลังคลอด ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยทางตาเมื่อตั้งครรภ์ จึงไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ถ้ากังวลก็ควรพบจักษุแพทย์ ซึ่งมักให้คำแนะนำ และ/หรือให้การรักษาประคับประคองตามอาการ

ถ้าอาการเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่อาจทำให้สายตาเสื่อมลง จักษุแพทย์จะให้การรัก ษาตามสาเหตุ โดยใช้วิธีรักษาที่คำนึงถึงผลกระทบต่อทารกในครรภ์ร่วมด้วยเสมอ ดังได้กล่าวแล้ว ในหัวข้อ การเปลี่ยนแปลงที่อาจทำให้สายตาเสื่อมลงเมื่อตั้งครรภ์

ถ้าอาการมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงทางตา เมื่อมีโรคตาอยู่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเกิดจากโรคร่วมอื่นๆก่อนตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน คือ การรักษา ดูแล ควบคุม โรคร่วมนั้นๆ ที่รวมถึงโรคตาที่เป็นอยู่ก่อนตั้งครรภ์ เช่น ต้อหิน ให้ได้ดี และร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอา การ อย่างไรก็ตาม การเลือกวิธีรักษาจะคำนึงถึงผลกระทบต่อทารกในครรภ์ด้วยเสมอ

ถ้าอาการทางตาเกิดช่วงระหว่างคลอด หรือในระยะหลังคลอด การรักษาจะเป็นไปตามสาเหตุ เหมือนในคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่คลอดทารกแล้ว แต่ถ้ามารดาให้นมบุตร การเลือกยาในการรักษาของจักษุแพทย์ ก็ต้องคำนึงถึงว่า เป็นยาชนิดที่ผ่านออกทางน้ำนมได้หรือไม่ ซึ่งถ้าจำเป็น ก็จะแนะนำให้มารดาหยุดให้นมบุตรในช่วงการรักษาด้วยยาเหล่านั้น

โรคตาในหญิงตั้งครรภ์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคตา/การเปลี่ยนแปลงทางตาในหญิงตั้งครรภ์ จะขึ้นกับสาเหตุ และความรุนแรงของอาการ

โดยทั่วไป เป็นอาการไม่มาก ซึ่งจะหายได้เองหลังคลอดบุตร เมื่อร่างกายกลับมามีภาวะฮอร์โมนตามปกติ คือในระยะประมาณ 1-2 เดือนหลังคลอด

ส่วนถ้าสาเหตุของอาการทางตา ที่เกิดจากโรคตาที่เป็นอยู่ก่อนตั้งครรภ์ หรือจากโรคร่วม /โรคประจำตัวต่างๆของมารดา การพยากรณ์โรคก็จะขึ้นกับโรคที่เป็นสาเหตุ และการที่ผู้ป่วยรัก ษา ควบคุมสาเหตุนั้นๆได้ดีหรือไม่

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีโรคตาขณะตั้งครรภ์?

การดูแลตนเองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางตา/โรคตาขณะตั้งครรภ์ คือ

  • รีบพบจักษุแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เมื่อมีอาการทางตา
  • เมื่อได้พบจักษุแพทย์แล้ว ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ และสูตินรีแพทย์ที่ฝากครรภ์ไว้
  • ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พบแพทย์ทุกท่านตามนัดเสมอ
  • พบจักษุแพทย์ก่อนนัด เมื่ออาการทางตาเลวลง หรือเมื่อกังวลในอาการทางตา

โรคตาขณะตั้งครรภ์มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์อย่างไร?

โดยทั่วไปโรคตา/การเปลี่ยนแปลงทางตา มักไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ยกเว้น เป็นโรคทางตาที่เกิดจากการติดเชื้อ ที่จะส่งผลให้ทารกติดเชื้อไปด้วย ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ การเปลี่ยนแปลงทางตาเมื่อมีโรคตาอยู่ก่อนแล้ว หรือมีโรคตาที่เกิดจากโรคร่วม/โรคประจำตัวบางโรคของมารดา เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรค/ภาวะพิษแห่งครรภ์ ที่อาจส่งผลให้เกิด การแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด หรือ ภาวะทารกมีน้ำหนักตัวเกิน ที่อาจก่อปัญหาในการคลอดได้

ป้องกันโรคตาในหญิงตั้งครรภ์ได้อย่างไร?

การป้องกันโรคตา/การเปลี่ยนแปลงทางตาขณะตั้งครรภ์ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ป้องกันไม่ได้ เพราะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ แต่สามารถควบคุม รักษา และลดความรุนแรงลงได้ จากเมื่อมีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งการมีโรคทางตาอยู่แล้ว ก่อนตั้ง ครรภ์ควรต้องวางแผน โดยต้องปรึกษาจักษุแพทย์และสูตินรีแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อควบคุมโรคเหล่านั้นให้ได้ดีก่อนตั้งครรภ์เสมอ