โรคตับอ่อน โรคของตับอ่อน (Pncreatic disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคตับอ่อน หรือ โรคของตับอ่อน (Pancreatic disease) คือ โรคที่เกิดจากเซลล์/เนื้อเยื่อของตับอ่อนมีการอักเสบ หรือมีการเจริญเติบโต แบ่งตัว ผิดปกติ (เช่น โรคมะเร็ง) หรือจากมีการทำงานผิดปกติ เช่น ในโรคเบาหวาน จึงส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น

ตับอ่อน(Pancreas) เป็นอวัยวะเดี่ยว และไม่ได้เป็นส่วนประกอบหรือเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับตับ โดยตับอ่อน อยู่ลึกตรงกลางและอยู่ด้านหลังสุดในช่องท้องส่วนบน ใต้ต่อกระเพาะอาหาร มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร หนาประมาณ 1-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร และหนักประมาณ 60-140 กรัม

ตับอ่อน เป็นอวัยวะประกอบด้วยเนื้อเยื่อทีแตกต่างกัน 2 ชนิดหลัก คือ ชนิดที่เป็นต่อมขับออก (Exocrine gland), และชนิดที่เป็นต่อมไร้ท่อ (Endocrine gland)

ก. เนื้อเยื่อตับอ่อนที่ทำหน้าที่เป็นต่อมขับออก จะสร้างน้ำย่อยอาหาร ทั้ง ชนิดย่อยโปรตีน (เช่น Proteinase หรือ Peptidase), ชนิดย่อยคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล เช่น Amylase), และที่สำคัญคือชนิดย่อยไขมัน (เช่น Lipase), ซึ่งจะช่วยย่อยอาหารเหล่านี้ในส่วนของลำไส้เล็ก ดังนั้น ถ้าโรคของตับอ่อนเกิดกับเนื้อเยื่อต่อมส่วนนี้ จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดอาหาร น้ำหนักลด/ผอมลงอย่างมาก และอุจจาระจะมีลักษณะเป็นอุจจาระที่ปนกับไขมัน ซึ่งแพทย์ใช้เป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยโรคของตับอ่อน

ข. เนื้อเยื่อตับอ่อนส่วนที่ทำหน้าที่เป็นต่อมไร้ท่อ จะสร้างฮอร์โมนหลัก 3 ชนิด คือ

1. อินซูลิน (Insulin): ที่มีหน้าที่ในการใช้น้ำตาลของเซลล์ต่างๆของร่างกายเพื่อนำน้ำตาลไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน ถ้าขาดฮอร์โมนนี้ หรือฮอร์โมนนี้ทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลเกิดเป็นโรค คือ โรคเบาหวาน

2. กลูคากอน (Glucagon): เป็นฮอร์โมนที่เพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด ถ้าขาดฮอร์โมนนี้ น้ำตาลในเลือดจะต่ำ ส่งผลเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

อนึ่ง ในภาวะปกติ ฮอร์โมนทั้ง 2 ตัวดังกล่าว จะต้องอยู่ในสมดุล เพื่อการรักษาปริมาณน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ และ

3. โซมาโตสแตติน (Somatostatin): เป็นฮอร์โมนมีหน้าที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนและน้ำย่อยอาหารของตับอ่อนให้อยู่ในสมดุล

โรคของตับอ่อน พบทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิด ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยทั่วไป ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่ไม่ค่อยเกิดโรค และเป็นอวัยวะที่สามารถตัดออกได้ (ไม่ใช่อวัยวะสำคัญต่อการเป็นชีวิต/ Vital organ) แต่หลังผ่าตัดตับอ่อนออกไปแล้ว ผู้ป่วยต้องใช้ยาฮอร์โมนและยาช่วยการย่อยอาหาร ต่อเนื่องตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีการปลูกถ่ายตับอ่อน และได้รับความสำเร็จในการปลูกถ่ายเพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีต และอาจพัฒนาเป็นการรักษามาตรฐานเมื่อต้องผ่าตัดตับอ่อนได้ในอนาคต

ตับอ่อนเป็นโรคอะไรได้บ้าง?

โรคตับอ่อน

โรคตับอ่อนที่พบได้บ่อย คือ

  • โรคเบาหวาน
  • โรคตับอ่อนอักเสบ จากนิ่วถุงน้ำดีหลุดเข้ามาในระบบทางเดินน้ำดีจนก่อการอุดตันท่อตับอ่อนที่อยู่ติดกับรูเปิดท่อน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็ก
  • โรคถุงน้ำในตับอ่อน (Pseudopancreatic cyst) ที่เป็นผลข้างเคียงจากการเกิดโรคตับอ่อนอักเสบ
  • โรคมะเร็งตับอ่อน
  • โรคเนื้องอกตับอ่อนที่ไม่ใช่มะเร็ง เป็นโรคพบน้อย ทั่วไปรักษาให้หายด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้อออก
  • โรคทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ที่เรียกว่า โรค Cystic fibrosis ซึ่งมักพบในคนเชื้อชาติตะวันตก
  • โรคความพิการแต่กำเนิดของตับอ่อนที่ส่งผลให้ตับอ่อนมีรูปร่างผิดปกติ แต่เป็นโรคพบไดน้อยๆมากๆ

โรคตับอ่อนมีสาเหตุจากอะไร?

โรคของตับอ่อนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อย คือ

  • จากนิ่วในถุงน้ำดีหลุดอุดตันในระบบทางเดินน้ำดีและ/หรือในท่อน้ำย่อยจากตับอ่อน น้ำย่อยตับอ่อนจึงไม่สามารถไหลลงสู่ลำไส้เล็กได้ จึงท้นเข้าไปในตับอ่อน และย่อยสลายเซลล์ตับอ่อนเอง ส่งผลให้เกิด โรค/ภาวะ ตับอ่อนอักเสบ
  • โรคจากการเสื่อมของเซลล์ตับอ่อนตามอายุ เช่น โรคเบาหวานชนิด 2
  • โรคทางพันธุกรรม หรือโรคโอโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง ที่ส่งผลให้มีความผิดปกติของตับอ่อน จนตับอ่อนไม่สร้างอินซูลิน เช่น โรคเบาหวานชนิด 1 (โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น)
  • โรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้เกิดตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ที่เรียกว่า โรค Cystic fibrosis
  • โรคเนื้องอกตับอ่อน ชนิดไม่ใช่มะเร็ง
  • โรคมะเร็งตับอ่อน
  • โรคมะเร็งตับอ่อนชนิดเอ็นโดคราย

โรคตับอ่อนมีอาการอย่างไร?

โรคตับอ่อนในระยะเริ่มแรก มักไม่มีอาการ โดยจะมีอาการต่อเมื่อเป็นมากแล้ว ยกเว้นในโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ที่จะมีอาการปวดท้องตอนบนรุนแรงเฉียบพลันร่วมกับมี ไข้ คลื่นไส้ อาเจียน

อาการของโรคตับอ่อนจากทุกสาเหตุ จะเหมือนกัน คือ ปวดท้องตอนบน และมักปวดร้าวไปด้านหลัง (เพราะตับอ่อนเป็นอวัยวะอยู่ติดกับด้านหลัง) ผู้ป่วยบางคนจึงให้อาการว่า เป็นการปวดหลังมากกว่าปวดท้อง

นอกจากนั้น อาจมีอาการ ตัว/ตาเหลือง (โรคดีซ่าน) ร่วมด้วยได้ เพราะโรคของตับอ่อนอาจส่งผลให้เกิดการอุดกั้น/อุดตันทางเดินน้ำดี (ท่อน้ำดี)จากตับที่จะเข้าสู่ลำไส้เล็กในตำแหน่งที่ติดกับท่อน้ำย่อยของตับอ่อน ส่งผลให้สารสีเหลืองในน้ำดีท้นเข้าสู่กระแสเลือดสูงกว่าปกติ

แพทย์วินิจฉัยโรคตับอ่อนได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคตับอ่อนค่อนข้างยากมาก เพราะไม่มีอาการเฉพาะ และยังเป็นอวัยวะที่อยู่ลึก รอบล้อมด้วยกระเพาะอาหาร ลำไส้ และ ม้าม เหตุผลดังกล่าวจึงส่งผลให้การวินิจฉัยโรคตับอ่อนมักล่าช้า และผิดพลาดได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม แพทย์จะวินิจฉัยโรคตับอ่อนจาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือดดู ค่าน้ำย่อย(Enzyme)ของตับอ่อน เช่น Amylase
  • การตรวจภาพตับอ่อนด้วย อัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การส่องกล้องตรวจท่อตับอ่อนที่เรียกว่า อีอาร์ซีพี (ERCP, Endoscopic retrograde cholangiopancreatography)
    • และบางครั้งอาจต้องตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคในตับอ่อนเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

มีแนวทางรักษาโรคตับอ่อนอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคตับอ่อน คือ การรักษาสาเหตุ, และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ เช่น

  • การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี
  • การผ่าตัดตับอ่อนเมื่อ มีเนื้องอก หรือโรคมะเร็งตับอ่อน
  • การรักษามะเร็งตับอ่อน กรณีเป็นมะเร็งตับอ่อน เช่น การผ่าตัด อาจร่วมกับ ยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา
  • และในอนาคตอาจมีการปลูกถ่ายตับอ่อนในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ:

  • ที่สำคัญที่สุด คือ การให้ยาแก้ปวด ซึ่งอาจถึงขั้นต้องใช้ยาในกลุ่มมอร์ฟีน (Morphine)
  • การให้สารน้ำและให้อาหารทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่กินอาหารไม่ได้ หรือกินได้น้อยจากอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือจากการที่อาหารย่อยไม่ได้จากการขาดน้ำย่อยอาหาร เป็นต้น

โรคตับอ่อนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โดยทั่วไปโรคตับอ่อน จัดอยู่ในโรคที่ค่อนข้างรุนแรง(มีการพยากรณ์โรคไม่ค่อยดี) เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ ไปจนถึง โรคที่รุนแรงมาก คือ โรคมะเร็งตับอ่อน ซึ่งโรคของตับอ่อนมักมีผลข้างเคียงที่ส่งผลถึงคุณภาพชีวิต จากอาการปวดท้อง และปวดหลังเรื้อรัง และ ภาวะอาหารไม่ย่อย ส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะขาดอาหารจนมีโอกาสเสียชีวิตได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเอง ที่สำคัญคือ เมื่อมีอาการปวดท้อง ปวดหลังเรื้อรัง หรือ มีตา/ตัวเหลือง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

ส่วนเมื่อทราบแล้วว่าเป็นโรคของตับอ่อน การดูแลตนเองและการพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • จำกัดอาหารไขมัน กินผักผลไม้ ให้มากขึ้น
  • สังเกต ประเภท และปริมาณอาหารที่กินเสมอว่า ก่อให้เกิดอาการอะไรบ้าง และปรับตัวไปตามนั้น
  • กินอาหารครั้งละน้อยๆ แต่ให้บ่อยขึ้น เพื่อให้มีน้ำย่อยเพียงพอต่อการย่อยอาหารในแต่ละครั้ง เป็นการช่วยลดอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรืออาการต่างๆเลวลง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง
    • เมื่อกังวลในอาการ

มีการตรวจคัดกรองโรคตับอ่อนไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองโรคทุกชนิดของตับอ่อน ดังนั้นผู้ป่วยโรคตับอ่อนจึงมักพบแพทย์เมื่อโรคลุกลามแล้ว ดังได้กล่าวแล้วว่า เมื่อเริ่มเป็นโรค ผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการ

ป้องกันโรคตับอ่อนได้อย่างไร?

โดยทั่วไป ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคของตับอ่อน ยกเว้นการป้องกัน หรือลดโอกาสเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งที่สำคัญคือ

  • การจำกัดอาหารไขมัน
  • และเพิ่มอาหารที่มีใยอาหารสูง ที่ได้แก่ ผัก และผลไม้ ชนิดต่างๆ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความ เรื่อง ‘นิ่วในถุงน้ำดี’)

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pancreas [2019,Aug24]
  2. http://www.pathologyoutlines.com/pancreas.html [2019,Aug24]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Pancreatic_disease [2019,Aug24]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Somatostatin[2019,Aug24]