โลหิตจาง เลือดจาง ซีด (Anemia)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะซีดคืออะไร?

โรคซีด หรือ ภาวะซีด หรือ โลหิตจาง หรือ เลือดจาง(Anemia) คือ ภาวะ/ โรคที่ร่างกายหรือเลือดมีเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ จึงส่งผลให้ทุกเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะในร่างกายขาดเลือด(ขาดออกซิเจนที่ได้จากเม็ดเลือดแดงเพื่อใช้ก่อพลังงานในการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ) ทุกๆเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะจึงขาดพลังงาน ส่งผลให้ ร่างกายอ่อนแอ, อ่อนเพลีย, เหนื่อง่าย, ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย, ซึ่งถ้าเป็นเด็กจะส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตช้ากว่าเกณฑ์อีกด้วย

อนึ่ง เม็ดเลือดแดง(Red blood cell ย่อว่า rbc) คือ เม็ดเลือดชนิดหนึ่งสร้างจาก ไขกระดูก เม็ดเลือดแดงประกอบด้วยสารสำคัญมีสีแดงที่เรียกว่า ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin ย่อว่า Hb) ซึ่งประกอบด้วยธาตุเหล็กและโปรตีน มีหน้าที่สำคัญในการนำออกซิเจนจากปอดหล่อเลี้ยงเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เพื่อให้เซลล์นำออกซิเจนเผาผลาญพลังงาน เพื่อการทำงานต่างๆของเซลล์ และนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้พลังงานของเซลล์กลับสู่ปอด เพื่อกำจัดออกนอกร่างกายทางการหายใจ

ทั้งนี้ โรคซีด, ภาวะซีด, โลหิตจาง, หรือ เลือดจาง เป็น ภาวะ/ โรค หรืออาการที่พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ และพบเกิดได้ใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยเป็นภาวะที่พบได้บ่อยพอควร ทั้งนี้ขึ้นกับในแต่ละประเทศที่มีปัจจัยเกิดภาวะนี้ที่แตกต่างกัน เช่น เป็นถิ่นของพยาธิปากขอ หรือโรคธาลัสซีเมีย ที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดภาวะซีด/โรคซีด เป็นต้น

ภาวะซีดเกิดจากอะไร?

ภาวะซีด

โรคซีด/ ภาวะซีด /เลือดจาง เกิดได้จาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ จากการเสียเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุด, จากไขกระดูกลดการสร้างเม็ดเลือด, และจากเม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติ (ปกติทั่วไป ‘เม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ 100-120 วัน’)

ก. สาเหตุจากการเสียเลือด: อาจเกิดเฉียบพลัน เช่น เลือดออกจากแผลจากอุบัติเหตุต่างๆ หรือมีประจำเดือนผิดปกติ และจากเลือดออกเรื้อรัง เช่น มีแผลเรื้อรังในร่างกาย เช่น แผลในกระเพาะอาหาร, แผลมะเร็งลำไส้ใหญ่, มีประจำเดือนผิดปกติ (เป็นได้ทั้งสาเหตุซีดเฉียบพลัน และซีดเรื้อรัง เมื่อไม่ได้รับการรักษา), ริดสีดวงทวาร

ข. สาเหตุจากไขกระดูกลดการสร้างเม็ดเลือดแดง: เช่น

  • จากโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง (โดยเฉพาะโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว), โรคติดเชื้อเรื้อรัง (เช่น วัณโรค), โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV/AIDS) และโรคไตเรื้อรัง)
  • จากภาวะขาดอาหาร โดยเฉพาะ โปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินบี6 วิตามินบี9 (กรดโฟลิก/Folic acid/ โฟเลท/Folate) และวิตามินบี12 ซึ่งใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดง
  • จากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง
  • จากร่างกายขาดฮอร์โมนบางชนิดที่ช่วยการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น ฮอร์โมนเพศ และฮอร์โมนจากไต
  • ในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งต้องการใช้เลือดมากขึ้นจากการเลี้ยงดูทารกในครรภ์ จึงทำให้ดูเหมือนไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดไม่พอ เหมือนสร้างได้ลดลง
  • จากโรคเลือดบางชนิดที่ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยกว่าปกติ ทั้งนี้ อาจจากพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย

ค. สาเหตุจากเม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติ: เช่น

  • โรคเลือดบางชนิดที่พบบ่อย คือ โรคธาลัสซีเมีย, โรคภูมิแพ้ตนเอง (ภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน)
  • การแพ้ยาบางชนิด เช่นยา ลีโวฟลอกซาซิน, ควินิดีน
  • การแพ้สารในเลือดจากการให้เลือด หรือ
  • การติดเชื้อรุนแรงบางชนิด เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด/ ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ

ภาวะซีดมีอาการอย่างไร?

อาการจาก โรคซีด/ ภาวะซีด/ เลือดจาง ที่พบบ่อย คือ

  • ถ้าซีดไม่มาก มักไม่มีอาการ แต่อาจรู้สึกอ่อนเพลียง่ายกว่าคนปกติ มือเท้าเย็นง่าย
    • แต่เมื่อซีดมากขึ้น อาการที่อาจพบได้ เช่น ริมฝีปาก ผิวหนัง ใบหน้า เยื่อตา มือ เท้า เล็บ ซีด
    • เหนื่อยง่าย ใจสั่น จากหัวใจเต้นเร็ว เพื่อทำงานมากขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้ออกซิเจนจากเลือดมากขึ้น บวมตามร่างกาย วิงเวียน เป็นลมง่าย
  • เมื่อซีดรุนแรง มักมี
    • ภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย (หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อย/ หอบเมื่อออกแรง หัวใจโต บวมใบหน้า มือ และเท้า)
    • ติดเชื้อต่างๆง่าย เพราะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลง
  • เมื่อซีดมากและเรื้อรัง อาจมีปัญหาทางสมองได้ เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง สติปัญญาด้อยกว่าเกณฑ์ ขาดสมาธิง่าย ความจำลดลง จากสมองขาดออกซิเจนเรื้อรัง

แพทย์วินิจฉัยภาวะซีดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัย โรคซีด /ภาวะซีด/ เลือดจาง ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • และการตรวจเลือด ซีบีซี ดูค่า เม็ดเลือดแดง, ค่าฮีโมโกลบิน, ค่าฮีมาโทคริต
  • นอกจากนั้น อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การเจาะตรวจไขกระดูกเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือ การตรวจทางพยาธิวิทยา

แพทย์รักษาภาวะซีดได้อย่างไร?

แนวทางการรักษา โรคซีด/ ภาวะซีด/ เลือดจาง คือ การรักษาสาเหตุ, การรักษาผลข้างเคียงจากภาวะซีด, และการรักษาประคับประคองตามอาการ (การรักษาตามอาการ)

ก. การรักษาสาเหตุ: เช่น

  • รักษาโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ: (แนะนำอ่านรายละเอียดของโรคต่างๆแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงวิธีรักษาได้ในเว็บ haamor.com) เช่น
    • โรคธาลัสซีเมีย
    • โรคแผลในกระเพาะอาหาร
    • โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
    • โรคลำไส้อักเสบ
    • โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (URL=ลำไส้ใหญ่อักเสบ1)
    • ริดสีดวงทวาร
  • การให้ยากลุ่มธาตุเหล็กเสริมอาหารกรณีขาดธาตุเหล็กจากบริโภคอาหารขาดธาตุเหล็ก ซึ่งอาจเป็นยากิน หรือยาฉีด ตามความรุนแรงของโรค และดุลพินิจของแพทย์ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง จากโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก ( โลหิตจาง), เรื่อง ภาวะขาดธาตุเหล็ก ,และเรื่อง ยาบำรุงเลือด )

ข. การรักษาผลข้างเคียงจากโรคซีด/ เลือดจาง : เช่น รักษาโรคหัวใจ เมื่อเกิดมีโรคหัวใจร่วมด้วย

ค. การรักษาตามอาการ: เช่น

    • ให้เลือดในกรณีซีดมาก
    • เพิ่มการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง(เช่น เนื้อแดง ผักใบเขียวเข็ม นม หรือ อาหารเช้าที่เสริมธาตุเหล็ก)
    • ให้วิตามิน และเกลือแร่เสริมอาหารเพื่อช่วย การสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น วิตามินบีรวม, วิตามินบี6, วิตามินบี9 (กรดโฟลิก), เกลือแร่/ธาตุเหล็ก ฯลฯ (อย่าซื้อกินเอง เพราะอาจเกิดอันตรายจากกินเกินขนาดได้)

ภาวะซีดมีผลข้างเคียงไหม?

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จาก ภาวะซีด/โรคซีด/ เลือดจาง โดยเฉพาะการซีดเรื้อรัง เช่น

  • คุณภาพชีวิตด้อยลง เช่น
    • เหนื่อยง่าย
    • สติปัญญาลดลง
    • คุณภาพงานและการเรียนด้อยลง
  • ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย จากมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ต่ำลง
  • โรคหัวใจ ที่อาจรุนแรงจนถึงขั้นหัวใจวาย/ภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะซีดรุนแรงไหม?

ความรุนแรงของ ภาวะซีด/ โรคซีด/ เลือดจาง ขึ้นกับ สาเหตุ เช่น ไม่รุนแรงเมื่อเกิดจากขาดอาหาร แต่ความรุนแรงสูงเมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง

ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่นนัดเมื่อไหร่?

เมื่อมี ภาวะซีด/ โรคซีด/ เลือดจาง คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ’หัวข้อ อาการฯ’ หรือสงสัย หรือกังวลว่า มีโรคซีด ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล (พบได้ทั้งแพทย์ทั่วไป หรือ แพทย์เฉพาะทางโรคเลือด) เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ส่วนการดูแลตนเองเมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีโรคซีด/ เลือดจาง ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์/พยาบาล แนะนำ
  • กินยาให้ถูกต้องตามแพทย์สั่ง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ให้ครบในทุกวัน เพื่อได้สารอาหารช่วยสร้างไขกระดูกครบ ถ้วน และให้ร่างกายแข็งแรง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ และ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น เหนื่อยมากขึ้น บวมตามร่างกายมากขึ้น เป็นลมบ่อยขึ้น หรือ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น บวมตามร่างกายทั้งๆที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง หรือ
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะซีดได้อย่างไร?

การป้องกัน ภาวะซีด/ โรคซีด /เลือดจาง ที่สำคัญ เช่น

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ครบทุกมื้ออาหารและในทุกๆวัน เพื่อป้องกันภาวะซีดจากขาดอาหาร
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เริ่มได้ตั้งแต่ อายุ 18 ปี
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อดูความเสี่ยงของโรคเลือดต่างๆทางพันธุกรรมที่อาจเกิดกับลูก เช่น โรคธาลัสซีเมีย
  • เมื่อมีเลือดออกเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เช่น ประจำเดือนมามากผิดปกติบ่อยๆ หรืออุจจาระเป็นเลือดเรื้อรัง หรืออุจจาระเป็นเลือดในปริมาณมาก เช่นจากโรคริดสีดวงทวาร
  • ดูแล รักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุโรคซีด

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Anemia [2019,Jan19]
  3. http://www.hematology.org/Patients/Anemia/ [2019,Jan19]
  4. http://www.who.int/topics/anaemia/en/ [2019,Jan19]