โรคคุชชิง (Cushing Disease)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 4 มิถุนายน 2563
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
- โรคคุชชิงเกิดจากอะไร?
- โรคคุชชิงมีอาการอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคคุชชิง?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคคุชชิงอย่างไร?
- รักษาโรคคุชชิงอย่างไร?
- โรคคุชชิงมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคคุชชิงมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด
- ป้องกันโรคคุชชิงอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
- เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)
- กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome)
- ขนดก ภาวะมีขนแบบชาย (Hisutism)
- โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง (Pituitary tumor)
- ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (Pituitary hormones)
- ฮอร์โมนต่อมหมวกไต (Adrenal gland hormones)
- กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid)
บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
โรคคุชชิง (Cushing disease หรือ Cushing’s disease)คือ โรคที่เกิดจากร่างกายมี ฮอร์โมน ‘Glucocorticoid (ย่อว่า GC, จีซี)’ หรืออีกชื่อคือ ฮอร์โมน ‘Cortisol’ ที่ปกติสร้างจากต่อมหมวกไตมากเกินปกติจากมีโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองที่ส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกชนิด Basophilic adenoma ซึ่งเซลล์เนื้องอกนี้สามารถสร้างฮอร์โมนชื่อ ACTH/เอซีทีเอช (Adrenocorticotropic hormone หรือ Corticotropin, ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง)ได้ และฮอร์โมน ACTH นี้จะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้สร้างฮอร์โมน Glucocorticoid เพิ่มมากขึ้นจน ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆที่เรียกว่า ‘โรคคุชชิง’
โรคคุชชิง พบน้อยมาก สถิติการเกิดโรคจึงไม่ค่อยมีรายงาน ที่พอมีรายงานคือ พบโรคนี้ในแต่ละปีประมาณ 2.4 รายต่อประชากร 1 ล้านคน มักพบในช่วงอายุ 20 - 50 ปี แต่พบได้ในทุกอายุรวมทั้งในเด็ก(แต่พบในเด็กน้อยมาก) พบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชายประมาณ 3 - 6 เท่า
Glucocorticoid เป็นฮอร์โมนสำคัญของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะเกือบทุกระบบ เช่น
- การทำงานของเกลือแร่/ แร่ธาตุต่างๆโดยเฉพาะแคลเซียม
- ควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
- การทำงานและการสร้างมวลกล้ามเนื้อ
- การใช้พลังงานของร่างกายจากน้ำตาลกลูโคลส (Glucose), จากโปรตีน, และจากไขมัน
- การทำงานของรังไข่ (ในผู้หญิง) หรือของอัณฑะ (ในผู้ชาย)
- การเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆโดยเฉพาะในช่วงวัยเด็ก
- อารมณ์และการรับรู้
- การอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ
- และรวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย
ซึ่งจากหน้าที่ที่หลากหลายของฮอร์โมนGlucocorticoid/Cortisol จึงส่งผลให้เกิดอาการ/กลุ่มอาการผิดปกติต่างๆได้ในทุกระบบอวัยวะของร่างกายจากมีปริมาณฮอร์โมนนี้สูงผิดปกติ โดยเฉพาะการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง
คุชชิง (Cushing) เป็นชื่อศัลยแพทย์ระบบประสาทชาวอเมริกันคือ Harvey Cushing ที่ได้รายงานในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ถึงโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดหนึ่งที่สร้างฮอร์โมน ACTH ที่กระตุ้นให้ต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมน Glucocorticoid/Cortisol ร่างกายจึงเกิดอาการผิดปกติจากมีฮอร์โมน Glucocorticoid สูง และเพื่อเป็นเกียรติกับ นพ. Cushing จึงเรียกโรคจากมีฮอร์โมนGlucocorticoid สูง’เฉพาะสาเหตุจากโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง’นี้ว่า “โรคคุชชิง (Cushing disease หรือ Cushing’s disease)” และเรียกกลุ่มอาการ/ภาวะที่มีอาการผิดปกติต่างๆสาเหตุจากฮอร์โมน Glucocorticoid สูงที่เกิดในภาพรวมจากหลากหลายสาเหตุ(รวมทั้งจาก’โรคคุชชิง/Cushing disease’) ว่า “กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome หรือ Cushing’s syndrome)” ดังนั้น “โรคคุชชิงจึงเป็นเพียงโรคหนึ่งที่รวมอยู่ในกลุ่มโรค ”กลุ่มอาการคุชชิง” แต่อย่างไรก็ตาม หลายๆท่านก็เรียกโรคทั้ง2กลุ่มนี้ สลับกันไปมา
โรคคุชชิงเกิดจากอะไร?
โรคคุชชิง มีสาเหตุเกิดจากโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดที่เซลล์เนื้องอกสร้างฮอร์โมนชื่อ เอซีทีเอช(ACTH)ซึ่งมักเป็นเนื้องอกชนิด Basophilic adenoma แต่อาจเกิดจากมะเร็งต่อมใต้สมองได้บ้าง(พบน้อยมากๆ)
ACTH เป็นฮอร์โมนที่สร้างตามปกติของต่อมใต้สมองโดยมีหน้าที่กำกับการสร้างฮอร์โมน Glucocorticoid/Cortisol ของต่อมหมวกไต(อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com เรื่อง ‘ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต’) ซึ่งถ้ามีฮอร์โมน Glucocorticoid มากเกินไปจากสาเหตุต่างๆที่มีได้หลากหลายสาเหตุจะก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆที่เรียกรวมว่า “กลุ่มอาการคุชชิง” ยกเว้นแต่เมื่อมีการสร้าง ACTH มากขึ้นจากสาเหตุโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง จึงจะเรียกว่า “โรคคุชชิง” ดังนั้น ‘โรคคุชชิง’ จึงเป็นโรคหนึ่งของ’กลุ่มอาการคุชชิง’ ซึ่งหลายท่านก็เรียกโรคทั้ง2กลุ่มนี้ สลับกันไปมา
โรคคุชชิงมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคคุชชิงจะเช่นเดียวกับอาการของ “กลุ่มอาการคุชชิง” คือ มี 2 กลุ่มอาการหลักได้แก่ อาการทั่วไป และอาการเฉพาะที่
ก. อาการทั่วๆไป: เป็นอาการเกิดจากผลของ Glucocorticoid ต่อเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ เช่น
- อาการทั่วไป: เช่น หิวบ่อย, กินจุ, ใบหน้าอ้วนกลมเหมือนพระจันทร์เต็มดวง, อ้วนโดย เฉพาะส่วนกลางลำตัวคือ บริเวณไหปลาร้า ลำตัวส่วนบน พุง แต่แขน – ขาลีบ, มีก้อนไขมันที่ด้านหลังคอ, ปัสสาวะมากและปัสสาวะบ่อย
- อาการทางผิวหนัง: เช่น ผิวแห้ง, ผิวหนังบางจนเห็นหลอดเลือด, ผิวหนังแตกง่าย, เป็นแผลง่าย, แผลหายยาก, ผิวหนังแตกลายเป็นสีชมพูหรือสีม่วง, เป็นสิวทั่วตัวและใบหน้า
- อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีความดันโลหิตสูง
- อาการทางระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง/เป็นเบาหวาน
- อาการทางกระดูก: เช่น มีภาวะกระดูกพรุน, กระดูกหักง่าย
- อาการทางกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อแขนขาโดยเฉพาะต้นแขน ต้นขา ลีบ ไม่มีแรง
- อาการด้านสมอง อารมณ์ จิตใจ: เช่น สับสน, ความจำ/ความเข้าใจด้อยลง, ไม่มีสมาธิ, อารมณ์แปรปรวน, ซึมเศร้า
- อาการทางอวัยวะสืบพันธุ์: เช่น ผู้หญิงมีประจำเดือนผิดปกติ (เช่น ประจำเดือนมีปริมาณน้อยหรือมากและ/หรือไม่สม่ำเสมอ), มีขนดกหนาทั่วตัวและใบหน้า, เกิดภาวะมีบุตรยาก ผู้ชายจะมีความรู้สึกทางเพศลดลงและนกเขาไม่ขัน
- อาการทางระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: ฮอร์โมนตัวนี้จะกดการทำงานของระบบภูมิคุ้ม กันฯจึงส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อต่างๆได้ง่ายและมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง
ข. อาการเฉพาะที่: เป็นอาการจากก้อนเนื้อที่โตจนกดเบียดทับเนื้อเยื่อข้าง เคียงต่อมใต้สมองคือ เนื้อเยื่อสมองและประสาทตา แต่โดยทั่วไปเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดเซลล์สร้าง ACTH มักมีขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตร (ซม.) จึงมักไม่ก่ออาการเฉพาะที่ มีแต่อาการทั่วไป ซึ่งแพทย์ตรวจพบเนื้องอกฯได้จากการสงสัยว่า อาการผู้ป่วยอาจเกิดจากเนื้องอกนี้ จึงตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอเพื่อดูก้อนเนื้องอกต่อมใต้สมอง
แต่ถ้าก้อนเนื้อโตมากกว่า 1.5 ซม. ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเฉพาะที่ซึ่งอาการพบบ่อยคือ ปวดหัวเรื้อรัง, และมีความผิดปกติในการเห็นภาพ, ที่เป็นอาการที่ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นย่ำขึ้น โดยผู้ป่วยมักมองเห็นภาพเฉพาะตรงหน้า มองไม่เห็นภาพด้านข้างทั้งซ้าย - ขวา ซึ่งแพทย์จะตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อการยืนยันโดยการตรวจลานสายตาของผู้ป่วย ร่วมกับตรวจซีทีสแกนและ/หรือเอมอาร์ไอภาพต่อมใต้สมอง/ภาพสมอง
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคคุชชิง?
เนื่องจากโรคคุชชิง พบน้อยมากๆ จึงยังไม่มีการศึกษาที่ระบุได้แน่ชัดว่า อะไรเป็นสาเหตุหรือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดเซลล์สร้าง ACTH
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’
แพทย์วินิจฉัยโรคคุชชิงอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคคุชชิงได้ด้วยวิธีเช่นเดียวกับในการวินิจฉัย “กลุ่มอาการคุชชิง” โดย วินิจฉัยจาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญเช่น อาการ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ รวมทั้งสมุนไพร ยาชุด ยาพื้น บ้าน
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจเลือด และ การตรวจปัสสาวะ (ปัสสาวะ-การตรวจปัสสาวะ) ดูค่า Glucorticoid และฮอร์โมนต่างๆตามดุลพินิจของแพทย์
- อาจตรวจเลือดด้วยวิธีเฉพาะที่ใช้เทคโนโลยีสูงเพื่อประเมินฮอร์โมน Glucorticoid/ ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต เช่นวิธี Low dose dexamethasone suppression test, Dexamethasone corticotrophin releasing hormone test
- นอกจากนั้น เช่น
- การตรวจตาเพื่อตรวจลานสายตา ดูว่าโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองโตจนกดเบียดทับเส้นประสาทตาหรือไม่
- ตรวจภาพสมองและต่อมใต้สมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ
รักษาโรคคุชชิงอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคคุชชิง ได้แก่ การรักษาสาเหตุ และการรักษาตามอาการ
ก. การรักษาสาเหตุ: การรักษาหลักคือ การผ่าตัดก้อนเนื้องอกในต่อมใต้สมองออก ซึ่งมีเทคนิคการผ่าตัดหลายวิธี ขึ้นกับขนาด, ตำแหน่งของเนื้องอก, และดุลพินิจของแพทย์ผ่า ตัด, เช่น อาจผ่าตัดผ่านทางช่องโพรงไซนัส/โพรงอากาศใต้กระดูกฐานสมอง (Trasphenoid hypophysectomy), หรือผ่าตัดผ่านกะโหลกศีรษะ (Craniotomy), แต่ในกรณีที่ทำผ่าตัดไม่ได้ แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการฉายรังสีรักษา
กรณีผ่าตัดและ/หรือฉายรังสีฯไม่ได้ แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยการให้ยาเพื่อลดการสร้างฮอร์โมน Glucocorticoid ของต่อมหมวกไต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยาที่ต้องรับประทานต่อเนื่อง ตัวอย่างยาเช่น Ketoconazole, Aminogluethimide, Mitotane, Metyrapone, Mifepristone, Pasireotide
นอกจากนี้ กรณีที่ให้การรักษาด้วยวิธีต่างๆแล้วยังควบคุมปริมาณ Glucocorticoid ไม่ได้ แพทย์จะปรึกษาผู้ป่วยและครอบครัว พิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเอาต่อมหมวกไตที่เป็นตัวสร้างฮอร์โมนตัวนี้ออกไป
อนึ่ง บางครั้งในผู้ป่วยบางราย หลังผ่าตัดเนื้องอกนี้ ระดับปริมาณ Glucocorticoid ในเลือดจะลดต่ำลงทันที จนร่างกายขาดฮอร์โมนตัวนี้จนอาจส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “Adrenal crisis” อาการเช่น ไข้สูง, เหงื่อออกท่วมตัว, ปวดท้องมาก, ท้องเสียรุนแรง, หัวใจเต้นเร็ว, คลื่นไส้-อาเจียน, ความดันโลหิตต่ำ, อ่อนเพลียมาก, อาจเกิดภาวะช็อก, ดังนั้นหลังผ่าตัดแพทย์มักให้ยา Glucocorticoid ต่อเนื่องกับผู้ป่วย แต่จะค่อยๆปรับลดปริมาณยาลงเรื่อยๆจนถึงระดับที่ร่างกายกลับมาเป็นปกติ จึงจะหยุดการให้ยานี้
ข. การรักษาตามอาการ: คือ รักษาโรค/อาการต่างๆที่เป็นผลจาก Glucocorticoid เช่น ให้ยารักษาโรคเบาหวานเมื่อมีน้ำตาลในเลือดสูง, และ/หรือให้ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูงเมื่อมีความดันโลหิตสูง เป็นต้น
โรคคุชชิงมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากโรคคุชชิงจะเช่นเดียวกับใน “กลุ่มอาการคุชชิง” ที่พบบ่อยคือ
- กระดูกหักง่ายจากโรคกระดูกพรุน
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากกล้ามเนื้อลีบ
- ติดเชื้อต่างๆได้ง่ายจากฮอร์โมน Glucocorticoid กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
- เกิด โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง จากการทำงานที่ผิดปกติของน้ำตาลกลูโคลสและเกลือแร่/แร่ธาตุต่างๆ ที่มักรุนแรงจนก่อให้เกิดอาการทางโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการตาย ที่พบบ่อยที่สุดของผู้ป่วยโรคคุชชิง
โรคคุชชิงมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โรคคุชชิง มีการพยากรณ์โรคดีปานกลาง เป็นโรคที่ย้อนกลับเป็นซ้ำได้เสมอ ซึ่งอาจต้องผ่าตัดรักษาหลายครั้ง และเป็นโรคที่ธรรมชาติของโรคมีผลข้างเคียงที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะมีอายุไขเฉลี่ยสั้นกว่าคนปกติทั่วไป
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคคุชชิง คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- ไม่ซื้อยาสเตียรอยด์กินเอง ปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ เพราะดังกล่าวแล้วว่าโรคนี้จะมีผลให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจึงติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
- ดูแลควบคุมน้ำหนักตัว ไม่กินมากเกินไป
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน
- ดูแลรักษาควบคุมโรคต่างๆที่เกิดร่วมด้วยให้ได้ดี
- ไม่ซื้อยากินเองพร่ำเพรื่อ
- ไม่ใช้ยาพื้นบ้าน ยาลูกกลอน สมุนไพร ยาชุด ที่ไม่ได้มีการรับรองความปลอดภัยจาก อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) กระทรวงสาธารณสุข
- ระมัดระวังการเคลื่อนไหว อุบัติเหตุ เพราะกระดูกจะหักง่าย
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ
- อาการต่างๆเป็นมากขึ้นเช่น ปวดหัวมากขึ้น คลื่นไส้-อาเจียน อ่อนเพลียมาก
- อาการที่เคยเป็นและรักษาหายแล้วกลับมาเป็นอีกเช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลับมาเป็นสิวทั่วตัวอีก
- มีอาการใหม่เกิดขึ้นเช่น ไข้สูง เหงื่อออกท่วมตัว ปวดท้องมาก ท้องเสียรุนแรง หัวใจ เต้นเร็ว คลื่นไส้-อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะช็อกที่มักเป็นอาการจากการขาด Glucocorticoid (Adrenal crisis) ที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันทีเพราเป็นเหตุให้ผู้ป่วย ตายได้
ป้องกันโรคคุชชิงอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคคุชชิง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือหมั่นสังเกตตนเอง ถ้ามีอาการผิด ปกติดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อได้รับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงเรื้อรังต่างๆจากโรคดังได้กล่าวใน’หัวข้อ ผลข้างเคียงฯ’ ที่จะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
บรรณานุกรม
- Castinetti,F. et al. (2012). Orphanet Journal of Rare Disease. 7,41-50
- Fleseriu, M., and Petersenn, S. (2013). J Neuro Oncol. 114, 1-11
- Kirk,L. et al. (2000). Am Fam Physician. 62, 1119-1127
- http://en.wikipedia.org/wiki/Cushing%27s_disease [2020,May30]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Glucocorticoid[2020,May30]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Adrenocorticotropic_hormone[2020,May30]