โรคขี้เต็มท้อง โรคอุจจาระอุดตัน (Fecal impaction)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคอุจจาระอุดตัน/โรคขี้เต็มท้อง(Fecal impaction) คือ โรคที่มีอุจจาระแข็งและแห้งปริมาณมากมายขังคั่งค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่อย่างต่อเนื่องจนก่ออาการเรื้อรังผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่น แน่นอึดอัดท้อง ปวดท้องแบบปวดบีบ  ท้องผูกเรื้อรัง  ปวดเบ่ง ทุกครั้งที่ถ่ายอุจจาระ  อุจจาระเป็นเลือด ฯลฯ  ซึ่งสาเหตุหลักเกิดเพราะท้องผูกเรื้อรังจากกลั้นอุจจาระต่อเนื่อง, ใช้ชีวิตแบบนั่งๆนอนๆ, และกินอาหารขาดใยอาหารที่เพียงพอ  

โรคอุจจาระอุดตัน หรือ คนไทยมักเรียก ‘โรคขี้เต็มท้อง’ เป็นโรค/ภาวะพบทั่วโลกบ่อยพอประมาณ แต่ยังไม่มีรายงานการศึกษาสถิติเกิด พบสูงในผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแล/ในบ้านพักคนชรา/ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุซึ่งมีรายงานจากสหรัฐอเมริกาในกลุ่มดังกล่าวพบสูงถึงประมาณ 70% และมักพบในเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย, อย่างไรก็ตาม  พบได้ทุกเพศทุกวัย, โดยสาเหตุหลักคือท้องผูกเรื้อรังจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและ/หรือจากโรคระบบทางเดินอาหารเรื้อรัง

อนึ่ง: ชื่ออื่นของโรคนี้ เช่น  Fecal impaction of colon, Impacted bowel, Impacted colon

โรคขี้เต็มท้อง-01

 

โรคอุจจาระอุดตันเกิดได้อย่างไร?อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง?

โรคอุจจาระอุดตัน/โรคขี้เต็มท้อง คือโรคที่เกิดเพราะมีภาวะท้องผูกเรื้อรัง มักร่วมกับการใช้ยาแก้ท้องผูกเรื้อรังจนกล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่โดยเฉพาะไส้ตรงทำงานด้อยประสิทธิภาพลง การบีบตัวขับอุจจาระออกจึงลดลงมาก  อุจจาระจึงเหลือกักขังคั่งค้างในลำไส้ใหญ่โดยเฉพาะส่วนไส้ตรง(ส่วนปลายลำไส้ใหญ่ที่ใช้กักอุจจาระก่อนปล่อยออกนอกร่างกาย)ที่ส่งผลให้อุจจาระ แห้ง แข็ง จึงยิ่งขับถ่ายได้ยาก ถ่ายไม่ออก ส่งผลเกิดการสะสมของอุจจาระต่อเนื่องจนท้นเข้าในลำไส้ใหญ่ส่วนอื่นๆที่ต่อเนื่องกับไส้ตรง จนในที่สุดกักค้างในทุกส่วนของลำไส้ใหญ่ เกิดเป็น ’ภาวะ/โรคขี้เต็มท้อง หรือ อุจจาระอุดตัน’

         ทั้งนี้ ปัจจัยทำให้เกิดท้องผูกเรื้อรัง หรือกล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่ขาดประสิทธิภาพในการบีบตัวมีหลายปัจจัย ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ: เพราะเซลล์ผนังลำไส้จะเสื่อมตามธรรมชาติ/ตามวัย จึงทำงานถดถอย
  • การใช้ชีวิตแบบนั่งๆนอนๆ เคลื่อนไหวน้อย ไม่ออกกำลังกาย ลำไส้จึงบีบตัวเคลื่อนไหวลดลงต่อเนื่อง
  • กินอาหารที่มีใยอาหารน้อย เช่น ขาด ผัก ผลไม้ ส่งผลขาดตัวกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัว
  • ดื่มน้ำน้อยส่งผลเกิดภาวะขาดน้ำเรื้อรัง ก้อนอุจจาระจึงแห้งแข็งเคลื่อนที่ลำบาก
  • มีโรคสมองหรือโรคไขสันหลังที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ เช่น โรคอัมพาต, โรคสมองเสื่อม, อุบัติเหตุที่ไขสันหลัง
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดที่ใช้เป็นประจำที่ส่งผลให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวลดลง เช่น
    • ยาแก้ท้องเสีย
    • ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกที่ใช้รักษาบางโรคใน โรคสมอง, โรคระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ (อ่านเพิ่มเติมจากเว็บcom)
    • ยาแก้ปวดที่ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ เช่น ยาในกลุ่มโอปิออยด์
    • กินธาตุเหล็ก และ/หรือ แคลเซียม เสริมอาหารมากเกินไป
    • ยาลดความดันกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์, กลุ่มยาขับปัสสาวะ
    • ยาจิตเวชบางชนิด เช่น ยาต้านเศร้าบางชนิด, ยากันชักบางชนิด
  • โรคต่างๆบางโรค เช่น
    • โรคระบบทางเดินอาหารเรื้อรังบางโรค เช่น โรคโครห์น, โรคลำไส้แปรปรวน, โรคซีลิแอก,  กระเพาะอาหารบีบตัวช้า, โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่, โรคลำไส้ใหญ่พอง
    • โรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี ฯลฯ
    • ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
    • โรคเบาหวาน
    • มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ มะเร็งไส้ตรง
  • ผลข้างเคียงจากผ่าตัดลำไส้ใหญ่โดยเฉพาะบริเวณไส้ตรงที่ส่งผลให้ลำไส้ใหญ่ตีบ

อุจจาระอุดตันมีอาการอย่างไร?

อาการโรคอุจจาระอุดตัน/โรคขี้เต็มท้อง มีหลายอาการร่วมกัน   ซึ่งทั่วไปทุกอาการเป็นอาการเรื้อรัง แต่ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ ได้แก่

  • ท้องอืด แน่นท้อง  ร่วมกับ ปวดท้องแบบปวดบีบ
  • ท้องเสียเป็นน้ำเป็นครั้งคราว ที่เกิดจากอุจจาระใหม่ที่ยังเป็นน้ำอยู่ไหลซึมผ่านก้อนอุจจาระที่แข็งออกมา
  • ปวดเบ่งเมื่อถ่ายอุจจาระ
  • ปวดอุจจาระตลอดเวลาแต่ถ่ายไม่ออก
  • อุจจาระเป็น ก้อนแข็ง แห้ง ลำอุจจาระขนาดเล็กผิดปกติ
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • ขณะถ่ายอุจจาระ อาจรู้สึกเป็นลมจากเบ่งอุจจาระเพราะการเบ่งฯจะกระตุ้นให้เกิด หัวใจเต้นเร็วและ/หรือความดันโลหิตต่ำ
  • ปัสสาวะบ่อย มักร่วมกับปัสสาวะเล็ด หรือ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จากก้อนอุจจาระในลำไส้ฯกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะเพราะเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกัน
  • อื่นๆ เช่น
    • คลื่นไส้ อาจมี อาเจียนร่วมด้วย
    • ปวดหัว
    • เบื่ออาหาร
    • น้ำหนักลดผิดปกติ
    • ปวดหลังช่วงล่าง จากเพิ่มแรงดันของก้อนอุจจาระในท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ’หัวข้อ อาการฯ’ และโดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯ ดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพราะถ้าปล่อยไว้นาน อาจเกิดอันตรายถึงตายได้จากลำไส้ทะลุ

แพทย์วินิจฉัยโรคอุจจาระอุดตันได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคอุจจาระอุดตัน/โรคขี้เต็มท้องได้จาก การตรวจวินิจฉัยทางคลินิก โดยไม่มีวิธีเฉพาะ  ได้แก่

  • ซักถาม อาการต่างๆ และ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกาย และที่สำคัญคือ การตรวจทางทวารหนัก ซึ่งจะพบก้อนอุจจาระแห้ง แข็ง อัดค้างในในทวารหนัก
  • เอกซ์เรย์ภาพช่องท้อง จะพบช่องท้องเห็นเป็นก้อนสีขาว(ก้อนอุจจาระ)กระจายเต็มในทุกส่วนของลำไส้ใหญ่โดยเฉพาะในลำไส้ตรงซึ่งจะขยายใหญ่ขึ้นด้วย

 

นอกจากนี้ อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อ วินิจฉัยแยกโรค, ยืนยันโรค, วินิจฉัยหาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง, ฯลฯ ตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น

  • ตรวจเลือด, การตรวจปัสสาวะ
  • ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ อาจร่วมกับตัดชิ้นเนื้อเมื่อพบมีรอยโรคในลำไส้ใหญ่เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • ตรวจภาพลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์สวนแป้ง(Barium enema)
  • ตรวจภาพช่องท้องด้วย อัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกน

รักษาโรคอุจจาระอุดตันอย่างไร?

หลักการรักษาโรคอุจจาระอุดตัน/โรคขี้เต็มท้อง  ประการแรก คือ กำจัดอุจจาระให้ออกให้หมดจากลำไส้ ร่วมกับป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมใหม่ของอุจจาระ(ดูแลรักษาและป้องกันสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง) และรักษาผลข้างเคียง

ก. การกำจัดอุจจาระออกจากลำไส้ใหญ่: ซึ่งมีหลายวิธี แพทย์จะเลือกใช้ตามความรุนแรงของการสะสมของอุจจาระ, อาการผู้ป่วย, สุขภาพโดยรวม, และอายุของผู้ป่วย, และอาจใช้หลายวิธีร่วมกัน ซึ่งการรักษาต้องต่อเนื่องและใช้ระยะเวลานานอาจถึง3-4สัปดาห์   บางวิธีเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก บางวิธีอาจจำเป็นต้องรักษาแบบผู้ป่วยใน    โดยวิธีต่างๆ เช่น

  • ใช้นิ้วมือสอดผ่านทวารหนักเพื่อบี้อุจจาระให้ขนาดเล็กลงพอที่จะล้วงควักออกทาง ทวารหนักได้(Manual disimpaction)
  • กินยาแก้ท้องผูก
  • เหน็บยาแก้ท้องผูก
  • สวนอุจจาระ: อาจสวนล้างด้วยน้ำ และ/หรือ ด้วยน้ำยาสวนทวาร
  • ผ่าตัดลำไส้ มักใช้กรณีมีผลข้างเคียง เช่น  เกิด ก้อนอุจจาระแข็งคล้ายก้อนเนื้อ (Fecaloma)อุดตันลำไส้,  ลำไส้อุดตัน,  ลำไส้ทะลุ
  • รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ: เช่น โรคโครห์น, โรคลำไส้ใหญ่พอง  (อ่านรายละเอียดโรคต่างๆเหล่านี้ได้จากเว็บcom)

 

ข.ป้องกันการสะสมกักค้างของอุจจาระ: ที่สำคัญที่สุด คือ  ป้องกันท้องผูก ซึ่งดูแลรักษาโดย การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการใช้ยาตามแพทย์แนะนำ

  • การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต: ที่สำคัญ คือ
    • หาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของท้องผูกเรื้อรังให้ได้เพื่อดูแลรักษาและป้องกันท้องผูกเรื้อรังเกิดซ้ำ
    • ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรเข้าใจและตระหนักถึงสาเหตุที่ทำให้ท้องผูก/การเกิดโรคนี้(ขอคำอธิบายแนะนำ จากแพทย์ พยาบาล)เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการรักษาพยาบาลกับแพทย์ พยาบาล ในการปฏิบัติ
    • การขับถ่าย:
      • เมื่อปวดอุจจาระ ควรต้องรีบเข้าห้องส้วม ไม่กลั้นอุจจาระ
      • และ/หรือ ฝึกเข้าห้องส้วมให้เป็นเวลา(สอนโดยพยาบาล)เพื่อให้สามารถควบคุมเวลาขับถ่ายที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวันได้ดี
      • ไม่ใช้ยาแก้ท้องผูก/ยาระบายเป็นประจำ เพราะจะทำให้ลำไส้เคยชินจนจะบีบตัวได้ต้องใช้ยาฯซึ่งจะต้องเพิ่มขนาดยาไปเรื่อยๆ จึงส่งผลให้เกิดท้องผูกเรื้อรังจากลำไส้ลดการบีบตัว
    • อาหาร น้ำดื่ม เครื่องดื่ม:
      • กินอาหารที่มีใยอาหารสูงในทุกมื้ออาหารเพื่อเพิ่มมวลอุจจาระให้ขับถ่ายได้ง่าย เช่น ผักในเขียวเข็ม(รวม ดอก ก้านใบ เช่น คะน้า, บร็อคโคลี, กะหล่ำ)
      • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน ดื่มที่ละน้อยๆตลอดวันไม่ต้องรอให้กระหาย, ในผู้ใหญ่ไทย ประมาณวันละประมาณ 5-2ลิตร, ส่วนในเด็กควรปรึกษาแพทย์เพราะต้องขึ้นกับอายุเด็ก, เพราะน้ำจะช่วยให้อุจจาระนุ่มจึงขับถ่ายสะดวก
      • จำกัดปริมาณเครื่องดื่มที่มี’คาเฟอีน และ/หรือ แอลกอฮอล์’ เพราะจะเพิ่มปริมาณและจำนวนครั้งของการปัสสาวะและปัสสาวะบ่อย ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้ง่าย
    • ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ และเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ไม่นั่งๆนอนๆ เพราะจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดและเพิ่มการเคลื่อนไหวบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงช่วยไม่ให้ท้องผูก
    • ควรนอนหลับให้พอดีในแต่ละวัน การนอนไม่พอ หรือการนอนมากเกินไปจะส่งผลให้กระเพาะอาหารและลำไส้บีบตัวเคลื่อนไหวลดลง ส่งผลเกิดท้องผูกได้ง่าย, ระยะเวลาการนอนในแต่ละคืนจะขึ้นกับอายุ, ในผู้ใหญ่การนอนอย่างเพียงพอตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา(US CDC) อยู่ในช่วง 7-9ชั่วโมง/คืน
  • การใช้ยาเพื่อการขับถ่ายอุจจาระ: ควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนใช้ และควรขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรซื้อยากลุ่มนี้ใช้เองเพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคนี้ เช่น
    • ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร: เช่น เมโทโคลพราไมด์    ยาดอมเพอริโดน  แมคโครไลด์  (อ่านรายละเอียดยาจากเว็บhaamor)
    • ยาช่วยทำให้อุจจาระนุ่ม ขับถ่ายออกง่าย เช่นยา แลคตูโลส, บิซาโคดิล, ด็อกคูเสทโซเดียม (อ่านรายละเอียดยาจากเว็บhaamor)
    • ยาแก้ท้องผูก/ยาระบาย

ค. ดูแลรักษาโรคที่เป็นผลข้างเคียงจากโรคขี้เต็มท้อง: ดังกล่าวในหัวข้อถัดไป ‘หัวข้อ ความรุนแรงโรคและผลข้างเคียงฯ’ (แนะนำอ่านวิธีดูแลรักษาและรายละเอียดโรคเหล่านั้นจากเว็บ haamor)

 

โรคอุจจาระอุดตันรุนแรงไหม?มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคอุจจาระอุดตัน/โรคขี้เต็มท้อง ถ้าได้รับการรักษา โรคมักจะหายเป็นปกติเสมอ แต่ต้องใช้ระยะเวลารักษา อาจนานเป็นเดือนโดยเฉพาะกรณีพบแพทย์ล่าช้า

 อย่างไรก็ตาม โรคนี้กลับเป็นซ้ำได้เสมอโดยเฉพาะเมื่อยังคงมีปัจจัยสี่ยงที่กล่าวใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ และ/หรือ ไม่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตดังกล่าวใน’หัวข้อ การรักษาฯ ข้อย่อย ข. ’

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่รีบดูแลรักษา เมื่อเกิดผลข้างเคียง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงถึงตายได้ถ้ารักษาไม่ทันหรือการรักษาไม่ได้ผล ซึ่งผลข้างเคียง เช่น

  • ภาวะลำไส้อุดตันจากก้อนอุจจาระ โดยเฉพาะเมื่ออาการรุนแรงมากจนอุจจาระแข็งมากรวมตัวกันเป็นก้อนแข็งเหมือนก้อนเนื้อ ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า ‘ฟีคะโลมา (Fecaloma)’ ที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดลำไส้เพื่อเอาก้อนอุจจาระนี้ออก
  • ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ภาวะลำไส้ทะลุ จากการขยายยืดจนบางของผนังลำไส้ร่วมกับแรงดันของก้อนอุจจาระ ผนังลำไส้จึงทะลุได้ง่าย
  • ริดสีดวงทวาร
  • ฝีคัณฑสูตร

(อนึ่ง: แนะนำอ่านเพิ่มเติมโรค/ภาวะที่เป็นผลข้างเคียงดังกล่าวได้จากเว็บ haamor.com)

ป้องกันโรคอุจจาระอุดตันอย่างไร?

โรคอุจจาระอุดตัน/โรคขี้เต็มท้อง สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพโดย ป้องกันเกิดท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งคือ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังกล่าวใน’หัวข้อ การรักษาฯ ข้อย่อย ข.’

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK448094/ [2022,April2]
  2. https://www.healthline.com/health/fecal-impaction  [2022,April2]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Fecal_impaction [2022,April2]
  4. https://www.medicalnewstoday.com/articles/322150 [2022,April2]
  5. https://www.bbuk.org.uk/wp-content/uploads/2020/09/Understanding-Management-of-Constipation-and-Disimpaction.pdf [2022,April2]
  6. https://www.eatright.org/fitness/sports-and-performance/hydrate-right/water-go-with-the-flow [2022,April2]
  7. https://www.cdc.gov/sleep/about_sleep/how_much_sleep.html [2022,April2]
  8. https://www.healthline.com/health/how-much-water-should-I-drink#recommendations [2022,April2]