โพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ (Prostaglandin inhibitors)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

โพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ (Prostaglandin inhibitor,หรือ โพรสตาแกลนดิน แอนตาโกนิสต์/Prostaglandin antagonist) คือ กลุ่มยาที่นำมาใช้ได้หลากหลายวัตถุประสงค์ เช่น  ยาแก้ปวด, ยาแก้อักเสบชนิดไม่ได้เกิดจากติดเชื้อ (อ่านเพิ่มเติมใน’หัวข้อ สรรพคุณรักษาโรคอะไร’)  โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารโพรสตาแกลนดิน(แต่ละชนิดย่อย)ซึ่งมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับตัวยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์นั่นเอง

โพรสตาแกลนดิน:                        

โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin)  คือ สารประกอบประเภทไขมันที่มีโครงสร้างเหมือนฮอร์โมน ซึ่งสารนี้มีอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย  หน้าที่ของโพรสตาแกลนดินมีหลากหลาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดย่อยของโพรสตาแกลนดินเอง เช่น

  • ทำให้หลอดเลือดหดหรือขยายตัว
  • ทำให้มีการรวมตัวของเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ลดลง
  • กระตุ้นเส้นประสาทบริเวณไขสันหลังในด้านรับรู้ความเจ็บปวด
  • เร่งการคลอด(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด)
  • ลดแรงดันภายในลูกตา(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง ความดันตาสูง)
  • ควบคุมกลไกการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ
  • ควบคุมการเคลื่อนย้าย เกลือแคลเซียม ปริมาณฮอร์โมนต่างๆในเลือด  รวมถึงเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์ในร่างกาย
  • ออกฤทธิ์ต่อสมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ส่งผลทำให้เกิดอาการไข้
  • ออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบในหน่วยไต ส่งผลให้เพิ่มอัตราการกรองของเสียออกจากเลือดที่ผ่านไต
  • ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร

ทั้งนี้ อนุพันธ์หรือชนิดย่อยของโพรสตาแกลนดิน แบ่งออกเป็น 2กลุ่ม คือ Prostacyclins (หน้าที่ส่วนใหญ่จะต้านการทำงานของเกล็ดเลือด และช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว), และThromboxanes(หน้าที่ส่วนใหญ่คือ ทำให้เกล็ดเลือดจับรวมตัวกัน เกิดเป็นลิ่มเลือด และช่วยทำให้หลอดเลือดหดตัว), ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดย่อยจะทำหน้าที่ตรงกันข้ามกัน เพื่อสร้างสมดุลของกระบวนการทางเคมีต่างๆภายในร่างกาย

ทั่วไป อาจจำแนกยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ เป็นกลุ่มย่อย ได้ดังนี้

ก. เอ็นเสด/NSAIDs (Non steroidal anti inflammatory drugs): เป็นกลุ่มยาที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า ไซโคลออกซิจิเนส (Cyclooxygenase) ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญที่ใช้สังเคราะห์สารโพรสตาแกลนดินทั้งชนิด  Thromboxane และ Prostacyclins   ผลที่ตามมาคือ  ช่วยบรรเทาอาการอักเสบของร่างกาย   ตัวยาในกลุ่ม NSAIDs ยังถูกแบ่งออกเป็นหมวด/กลุ่มย่อย คือ กลุ่ม 

  • Cyclooxygenase-2 inhibitor ย่อว่า คอกทูอินฮิบิเตอร์/COX-2 inhibitor   
  • Acetic acid
  • Fenamates
  • อนุพันธ์ของออกซิแคม (Oxicam derivatives)
  • Propionic acid และ
  • ซาลิไซเลต/Salicylates

ข. คอร์ติโคสเตียรอยด์(Corticosteroids): เป็นยากลุ่มสเตียรอยด์ที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อว่า Phospholipase A2 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ควบคุมการเกิดของสารที่กระตุ้นให้มีการอักเสบอย่างเช่น  Prostaglandins และ Leukotrienes  ตลอดจน Cyclooxygenase และ Lipoxygenase

ยาในกลุ่ม Corticosteroids ยังถูกแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ย่อยลงไปอีกได้หลากหลายที่มีโครงสร้างโมเลกุลและการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป  มักนำมาใช้รักษาอาการแพ้ต่างๆของร่างกาย เช่น  โรคหืด อาการแพ้ทางผิวหนัง  อาการอักเสบของข้อกระดูก/ข้ออักเสบ   การอักเสบของระบบทางเดินอาหาร  บำบัดอาการบวมของอวัยวะต่างๆในร่างกาย

ค. Cyclopentenone prostaglandin: เป็นสารประกอบที่สามารถยับยั้งการทำงานของสารพันธุกรรมในเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T cell) ซึ่งจะทำงานในบริเวณเนื้อเยื่อของร่างกายที่มีการอักเสบเกิดขึ้น  ทางคลินิกมักนำ Cyclopentenone prostaglandin มาบำบัด             โรคภูมิต้านทานตนเอง/โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease) อย่างเช่น ภาวะผมร่วงของบุรุษ  นอกจากจะใช้เป็นยาต่อต้านการอักเสบแล้ว ยังกำลังถูกพัฒนาเป็นยาต่อต้านโรคมะเร็งบางชนิดอีกด้วย เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่

ยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ ยังมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละชนิดย่อย/กลุ่มย่อย เช่น  ทำให้เกิดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร แต่บางกลุ่มก็ทำให้เกิดการระคายเคืองน้อย หรือส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ  ต่อความดันโลหิต   ต่อสภาพจิตใจ  และต่อการทำงานของไต   ซึ่งอาการข้างเคียงต่างๆเหล่านั้นจะขึ้นกับตัวยาของแต่ละกลุ่มย่อยของยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์แต่ละชนิดย่อยนั่นเอง

ในท้องตลาด อาจพบยาต่างๆของกลุ่มโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ ได้มากมายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดรับประทาน ยาฉีด  ยาพ่นสเปรย์  ยาหยอดตา  หรือ ยาทาเฉพาะที่   จึงอาจกล่าวได้ว่ายาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ เป็นยากลุ่มใหญ่ และมีจำนวนตัวยาย่อยหลากหลายรายการ  มีการออกฤทธิ์และระยะเวลาของการใช้ยาแต่ละชนิดย่อยๆเหล่านี้ที่แตกต่างกัน  ยาบางกลุ่ม อย่างเช่น Corticosteroid จะถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษเสียเป็นส่วนมากที่การใช้ต้องมีใบสั่งจากแพทย์มากำกับ 

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคต่อการเลือกใช้ยาใดๆ ในกลุ่มโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์  ควรต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ หรือจากเภสัชกร ก่อนเลือกใช้ยาเสมอ

โพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โพรสตาแกลนดินอินฮิบิเตอร์-01

ยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาอาการปวดจาก โรคข้ออักเสบ โรคข้อรูมาตอย โรคเกาต์
  • รักษาอาการปวด หลังผ่าตัด
  • รักษาอาการปวดประจำเดือน
  • รักษาอาการอักเสบ และอาการแพ้ของผิวหนัง
  • บรรเทาอาการ โรคหืด  และอาการแพ้ของระบบทางเดินหายใจ เช่น  โรคภูมิแพ้
  • บรรเทาและรักษาอาการอักเสบของระบบขับถ่ายอุจจาระ เช่น บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
  • รักษาและป้องกันภาวะเกลือโซเดียมในเลือดสูงมากผิดปกติ (Hypernatremia)
  • รักษาอาการบวมของบางอวัยวะของร่างกาย เช่น สมอง

โพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ คือ  ตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์สารโพรสตาแกลนดินชนิดต่างๆ ซึ่งขึ้นกับธรรมชาติของรายการยาย่อยแต่ละรายการยา ทำให้กระบวนการอักเสบภายในร่างกายถูกปิดกั้น, นอกจากนี้ตัวยาหลายรายการ จะยังยับยั้งการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T cell) ส่งผลไม่ให้เกิดการทำลายเซลล์ของร่างกาย, และช่วยสนับสนุนบรรเทาอาการอักเสบ, จากกลไกโดยย่อดังกล่าว ส่งผลให้ยากลุ่มโพรสตาแกลนดินอินฮิบิเตอร์มีฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ

โพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยารับประทานชนิด ยาเม็ด ยาแคปซูล และยาน้ำ   
  • ยาฉีด
  • ยาพ่นจมูก
  • ยาพ่นปาก
  • ยาหยอดตา
  • ยาทาเฉพาะที่

โพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการใช้/การบริหารยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยต้องนำข้อมูลประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยมาประกอบ เพื่อการสั่งจ่ายนี้ให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุดต่อผู้ป่วย  ซึ่งผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสืบค้นข้อมูลรายละเอียดของการใช้ยา ข้อควรระวัง ข้อห้ามใช้ ได้จากเอกสารกำกับยา/ ฉลากยา ที่แนบมากับผลิตภัณฑ์ยา

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น                

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก  ขึ้นผื่น  หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ  โรคความดันโลหิตสูง  โรคไต  โรคหืด รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน                                                      
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีที่ลืมรับประทานยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้  ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ อาจทำให้อาการของโรคกำเริบ หรือไม่ก็อาจเกิดภาวะถอนยา/ลงแดงตามมา  ดังนั้นเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ ตรงตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

โพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย   เช่น                                                                                                                              

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายภายในท้อง  เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และในลำไส้  เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร  การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด  ปากคอแห้ง  ปากเป็นแผล  คลื่นไส้อาเจียน 
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว ตัวบวม เจ็บหน้าอก 
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น  ปวดหัว   วิงเวียน  ง่วงนอน  มีไข้   กระตุ้นให้เกิดการชัก
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น  สับสน  ซึมเศร้า  นอนไม่หลับ 
  • ผลต่อไต: เช่น เป็นพิษกับไต/ไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น  กดภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย (เช่น ติดเชื้อได้ง่าย) มีไข้คล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่
  • ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น เกิดภาวะของกระดูกบางลง/โรคกระดูกพรุน กระดูกบาง ปวดหลัง   
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เจ็บคอ  /คออักเสบ  คัดจมูก
  • ผลต่อตา: เช่น  สามารถกระตุ้นให้เกิด   ต้อกระจก  ต้อหิน

มีข้อควรระวังการใช้โพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคลำไส้อักเสบ หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะโรคหัวใจล้มเหลวขั้นรุนแรง ผู้ป่วยที่มีอัมพาต:โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง   
  • ห้ามปรับขนาดรับประทาน โดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ COX-2 inhibitor ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยา Sulfonamides
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคต่อมไทรอยด์ ทั้งชนิด ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน  และโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน   รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis, MG)
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ   เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยา Cyclooxygenase-2 inhibitor ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ยา Corticosteroids,  หรือ แอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย  หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยากลุ่ม Corticosteroids ร่วมกับยาเบาหวาน  สามารถทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยากลุ่ม Salicylates ร่วมกับยา Corticosteroids  อาจทำให้ความเข้มของ ยากลุ่ม Salicylates ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนอาจส่งผลต่อการรักษา  หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน   แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

ควรเก็บยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์แต่ละชนิดย่อย: เช่น

  • เก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด  ความร้อนและความชื้น  
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโพรสตาแกลนดิน อินฮิบิเตอร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Arcoxia (อาร์โคเซีย) MSD
Celebrex (เซเลเบรค)  Pfizer
Zobrex  (โซเบรค) MacroPhar
Cortef (คอร์เทฟ) Pfizer
H-Cort (เฮช-คอร์ท) HOE Pharmaceuticals
LactiCare-HC (แล็คติแคร์-เฮชซี) Stiefel
Solu-Cortef (โซลู-คอร์เทฟ) Pfizer
HC 1% (เฮชซี 1%) Chinta
Hytisone (ไฮทิโซน) Atlantic Lab
Clinipred (คลินิเพรด) Bangkok Lab & Cosmetic
Di-Adreson F (ดิ-แอดเดรซัน เอฟ) MSD
Fortisone (ฟอร์ติโซน) The Forty-Two
Inf-Oph (ไอเอ็นเอฟ-ออฟ) Seng Thai
Neosolone-C (นีโอโซโลน-ซี) Chew Brothers
Opredsone (โอเพรดโซน) Greater Pharma
Polypred(โพลีเพรด) Pharmasant Lab
Predcap (เพรดแคพ) Bangkok Lab & Cosmetic
Pred-Forte/Pred-Mild(เพรด-ฟอร์ท/ เพรด-มายด์) Allergan
Predi K.B. (เพรดิ เค.บี.) K.B. Pharma
Predisole (เพรดิโซน) P P Lab
Asatab (อะซาแท็บ) T. O. Chemicals
Aspent (แอสเพนท์) Ranbaxy
Aspent-M (แอสเพนท์-เอ็ม) Ranbaxy
Aspilets (แอสไพเลทส์) Great Eastern
Aspirin BD (แอสไพริน บีดี) British Dispensary (L.P.)
B-Aspirin 81 (บี-แอสไพริน 81) Osoth Interlab
Cardiprin 100 (คาร์ดิพริน 100) Reckitt Benckiser
Sodium Salicylate A.N.H. (โซเดียม ซาลิไซเลต เอ.เอ็น.เฮช.) A.N.H.

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Prostaglandin#Inhibition [2022, Aug6]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Prostaglandin_antagonist [2022, Aug6]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Nonsteroidal_anti-inflammatory_drug [2022, Aug6]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Corticosteroid [2022, Aug6]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Cyclopentenone_prostaglandins [2022, Aug6]