โปรเมทาซีน (Promethazine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 มกราคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาโปรเมทาซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ยาโปรเมทาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโปรเมทาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโปรเมทาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาโปรเมทาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโปรเมทาซีนอย่างไร?
- ยาโปรเมทาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโปรเมทาซีนอย่างไร?
- ยาโปรเมทาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)
- ยาแก้ไอ (Tips cough)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ไมเกรน (Migraine)
- ไข้ละอองฟาง (Hay fever)
บทนำ: คือยาอะไร?
โปรเมทาซีน (Promethazine) คือ กลุ่มยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) รุ่นแรกๆที่วงการแพทย์นำมาใช้รักษา อาการทางจิตประสาท, ช่วยสงบประสาท, ป้องกันอาการเมารถ -เมาเรือซึ่งมักมีอาการอาเจียนร่วมด้วย บางประเทศมีการสั่งจ่ายโปรเมทาซีนเป็นยาช่วยให้นอนหลับแทนยากลุ่ม เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine: ยาจิตเวช, ยาคลายเครียดชนิดหนึ่ง) การบริหารยา/ใช้ยากับผู้ป่วยมีทั้งลักษณะของ ยารับประทาน ยาเหน็บทวาร ยาทาเฉพาะที่ และยาฉีด
ยาโปรเมทาซีน จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 88% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนถึงประมาณ 93% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลา 16 - 19 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
สำหรับประเทศไทย เรามักจะพบเห็นยาโปรเมทาซีนเป็นยาผสมร่วมกับยาอื่น เช่นยา Codeine และระบุสรรพคุณการรักษาเป็นยาแก้ไอ มีบางสูตรตำรับที่ใช้ยาโปรเมทาซีนเดี่ยวๆในรูปแบบของยาฉีดและยารับประทาน โดยระบุสรรพคุณของการรักษาในลักษณะของยาแก้แพ้, ยาช่วยสงบประสาท (ยาคลายเครียด), และยานอนหลับ *การเลือกใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ยาโปรเมทาซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโปรเมทาซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการจากการแพ้ต่างๆ เช่น ไข้ละอองฟาง (Hay fever)
- ป้องกันอาการเมารถ-เมาเรือ
- ใช้เป็นยาช่วยให้นอนหลับโดยมีระยะเวลาการใช้ยาที่สั้นๆไม่นานนัก
- ใช้เป็นยาสงบประสาทก่อนการผ่าตัด
- ใช้เป็นยารักษาอาการทางจิตประสาท
- รักษาและบรรเทาอาการโรคไมเกรน
ยาโปรเมทาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโปรเมทาซีนคือ ตัวยาจะเข้าปิดกั้นกระแสประสาทในสมองตรงบริเวณตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า Postsynatic dopaminergic receptors และยังทำตัวเป็นตัวปิดกั้นตัวรับอีกหนึ่งประเภทที่เรียกว่า Alpha-adrenergic blocking effect (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง แอลฟา-บล็อกเกอร์/Alpha blocker) ด้วยกลไกที่กล่าวมาทำให้ยาโปรเมทาซีนมีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
ยาโปรเมทาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโปรเมทาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเดี่ยวชนิดฉีด ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
- ยาน้ำที่ผสมยาโคเดอีน ขนาดความแรง 3.6 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (Promethazine HCl 3.6 mg + Codeine phosphate 9 mg per 5 ml)
- ยาเดี่ยวชนิดน้ำสำหรับรับประทาน ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
ยาโปรเมทาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโปรเมทาซีนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับการแพ้ต่างๆ: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง ก่อนนอน, หากจำเป็น แพทย์สามารถเพิ่มขนาดรับประทาน 25 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น หรือรับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น หรือ วันละ 3 ครั้งเช้า - กลางวัน - เย็น
- เด็กอายุ 5 - 10 ปี: รับประทาน 10 - 25 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานก็ได้
- เด็กอายุ 2 - 5 ปี: รับประทาน 5 - 15 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานก็ได้
ข.สำหรับป้องกันอาการเมารถ-เมาเรือ: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 20 - 25 มิลลิกรัมก่อนนอน หากจำเป็นสามารถรับประทานยาในตอนเช้าอีก 1 ครั้งก่อนเริ่มเดินทาง
- เด็กอายุ 5 - 10 ปี: รับประทาน 10 มิลลิกรัมก่อนนอน หากจำเป็นสามารถรับประทานยาในตอนเช้าได้อีก 1 ครั้งก่อนเริ่มเดินทาง
- เด็กอายุ 2 - 5 ปี: รับประทาน 5 มิลลิกรัมก่อนนอน หากจำเป็นสามารถรับประทานยาในตอนเช้าได้อีก 1 ครั้งก่อนเริ่มเดินทาง
ค. สำหรับเป็นยานอนหลับ (ใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ 2 - 3 วันเท่านั้น): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 20 - 50 มิลลิกรัมก่อนนอน
- เด็กอายุ 5 - 10 ปี: รับประทาน 20 - 25 มิลลิกรัมก่อนนอน
- เด็กอายุ 2 - 5 ปี: รับประทาน 15 - 20 มิลลิกรัมก่อนนอน
อนึ่ง:
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานลดลง
- สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือหลัง อาหารก็ได้
- ไม่มีข้อมูลการศึกษาที่ชัดเจนถึงการใช้ยานี้ในเด็กอายุอายุต่ำกว่า 2 ปี ดังนั้นการใช้ยานี้ใน เด็กกลุ่มนี้จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือ เภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโปรเมทาซีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโปรเมทาซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโปรเมทาซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาโปรเมทาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโปรเมทาซีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- กดระบบประสาทส่วนกลาง หรือ กดการทำงานของสมอง
- ปากคอแห้ง
- การมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน
- ปัสสาวะขัด
- ท้องผูก
- โรคต้อหิน
- หัวใจเต้นเร็ว
- ปวดหัว
- ความดันโลหิตต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้ยาโปรเมทาซีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโปรเมทาซีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะโคม่า
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (อาการเช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ)
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับ เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต และผู้มีอาการปัสสาวะขัด
- สำหรับยาฉีด ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง การฉีดผิดวิธีสามารถทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ฉีดยาได้รับบาดเจ็บอักเสบได้
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโปรเมทาซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาโปรเมทาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโปรเมทาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาโปรเมทาซีน ร่วมกับ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะสามารถทำให้เกิดอาการง่วงนอน และมีฤทธิ์สงบประสาทอย่างมาก ควรหลีกเลี่ยงและห้ามรับประทานร่วมกัน
- การใช้โปรเมทาซีน ร่วมกับ ยาปฏิชีวนะ กลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside) สามารถทำให้เกิดพิษต่อเส้นประสาทหูและส่งผลต่อการได้ยิน หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาโปรเมทาซีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาโปรเมทาซีน: เช่น
- เก็บยาภายในอุณหภูมิห้อง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาโปรเมทาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโปรเมทาซีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Codyl Cough Linctus (โคดิล คอช ลินตัส) | Medicpharma |
Cofcodyl (คอฟโคดิล) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Comodine Cough (โคโมดีน คอช) | A N H Products |
Phenergan (เฟนเนอร์แกน) | sanofi-aventis |
Phensedyl (เฟนซีดิล) | Aventis |
Procodyl (พรอกโคดิล) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Tussidyl (ทัซซีดิล) | V S Pharma |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/promethazine?mtype=generic [2022,Jan8]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Phenergan/ [2022,Jan8]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Procodyl/ [2022,Jan8]
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682284.html#storage-conditions [2022,Jan8]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Promethazine [2022,Jan8]
- https://www.drugs.com/promethazine.html [2022,Jan8]