โคลมีฟีน (Clomiphene)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 27 กุมภาพันธ์ 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือยาอะไร?
- ยาโคลมีฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาโคลมีฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโคลมีฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโคลมีฟีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาโคลมีฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลมีฟีนอย่างไร?
- ยาโคลมีฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโคลมีฟีนอย่างไร?
- ยาโคลมีฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- ภาวะไข่ไม่ตก ภาวะไม่ตกไข่ (Anovulation)
- ครรภ์แฝด (Multiple pregnancy)
- เซิร์ม: กลุ่มยาเซิร์ม (SERMs: Selective Estrogen Receptor Modulators)
- ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (Pituitary hormones)
บทนำ:คือยาอะไร?
โคลมีฟีน (Clomiphene) จัดอยู่ในกลุ่มยา Selective estrogen receptor modulators หรือเรียกสั้นๆว่า ‘เซิร์ม (SERMs)’ ยาในกลุ่มนี้จะเป็นสารในกลุ่มฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) ซึ่งเอส โทรเจนเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่มีผลต่อระบบอวัยวะสืบพันธุ์
ยาโคลมีฟีนมีข้อบ่งใช้ในการเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่สำหรับหญิงที่มีบุตรยาก (อ่านเพิ่ม เติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะมีบุตรยาก) ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะไข่ไม่ตก การใช้ยาโคลมีฟีนจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตกไข่มากขึ้น เพิ่มโอกาสในการมีบุตรได้มากขึ้น
วิธีการใช้ยาโคลมีฟีน มีวิธีการบริหารยา/ใช้ยาที่แตกต่างกันในผู้ป่วยหญิงแต่ละราย รวมถึงยาโคลมีฟีนมีข้อห้ามใช้ซึ่งควรได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยา ดังนั้นการใช้ยาโคลมีฟีนควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแลรักษาตลอดการรักษา
ยาโคลมีฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโคลมีฟีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่ในหญิงที่มีภาวะไข่ไม่ตก (Ovulatory failure) และต้องการ มีบุตรโดยที่สามีไม่เป็นหมัน
นอกจากนี้ ยังมีการนำยาโคลมีฟีนไปใช้ใน
- หญิงที่มีการตกไข่ไม่สม่ำเสมอ
- และ/หรือมีการทำงานของคอร์ปัส ลูเทียม (Corpus luteum: กลุ่มเนื้อเยื่อภายในรังไข่ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิง)บกพร่อง
- และนำมาใช้ในการกำหนดระยะเวลาการตกไข่ในเทคโนโลยีผสมเทียม (Artificial insemina tion)
ยาโคลมีฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโคลมีฟีนคือ ตัวยาจะเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่โดยการกระตุ้นการ หลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปริน (Gonadotropins) ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง เมื่อฮอร์โมนโกนาโดโทรปรินหลั่งเพิ่มขึ้นจะมีผลกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอื่นๆที่ส่งผลทำให้เกิดการตกไข่ขึ้น เช่น ฮอร์โมนเพศหญิง
ยาโคลมีฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาโคลมีฟีน:
- ยาเม็ด (Tablet)สำหรับรับประทาน ขนาด 50 มิลลิกรัม
ยาโคลมีฟีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาโคลมีฟีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ขนาดยาในผู้ใหญ่สำหรับการเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่: ขนาดยาขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยปกติแล้วขนาดยาสูงสุดคือ 100 มิลลิกรัมต่อวันรับประทานวันละ 1 ครั้ง
- ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่องในผู้ใหญ่: ยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอด ภัย จึงไม่มีขนาดยาที่แนะนำในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีการทำงานของไตบกพร่อง จึงใช้ขนาดยาตามปกติ แต่ควรให้ความระมัดระวังพิเศษในผู้ป่วยกลุ่มที่มีการทำงานของไตบกพร่องรุนแรงหรือกำลังได้รับการบำบัดทดแทนไต (การล้างไต)
- ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่องในผู้ใหญ่: ห้ามใช้ยานี้ในป่วยที่มีปัญหาโรคตับหรือมีภาวะตับทำงานบกพร่อง
อนึ่ง: โดยทั่วไปยานี้ไม่ใช้ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาโคลมีฟีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- แจ้งเรื่องการตรวจสอบการตั้งครรภ์ของผู้ป่วยก่อนเริ่มใช้ยาโคลมีฟีน
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลมีฟีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่
- แจ้งแพทย์ของท่านให้ทราบหากท่านมีประวัติความเจ็บป่วยในปัจจุบัน เช่น มีซีสต์ที่รังไข่ (ถุงน้ำรังไข่), มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ, การทำงานของตับผิดปกติรุนแรง หรือเป็น โรคตับ โรคไต
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
ยาโคลมีฟีน เป็นยาที่มีวิธีการรับประทานยาวันละ 1 ครั้งต่อวัน โดยสามารถรับประทานเวลาใดก็ได้เนื่องจากอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยานี้ เพื่อให้การรับประทานยานี้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอและป้องกันการลืมรับประทานยา ผู้ป่วยควรเลือกช่วงเวลาในการรับประทานยาเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน
กรณีลืมรับประทานยาโคลมีฟีน ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อคือ เกิน 12 ชั่วโมงจากเวลารับ ประทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 1 ครั้งเวลา 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 20.00 น. ตอนเวลา 7.00 น. วันรุ่งขึ้น ก็ให้รับประทานยามื้อ 20.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไปเช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 20.00 น. เมื่อคืน ตอนเวลา 13.00 น.วันถัดมา ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือ 20.00 น. ในขนาดยาปกติตามแพทย์สั่ง โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม
ยาโคลมีฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา)ของยาโคลมีฟีนพบว่าสัมพันธ์กับขนาดการใช้ยา หมายถึง ขนาดยาที่สูงขึ้นจะยิ่งเพิ่มโอกาสการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯได้มากขึ้น
- อาการไม่พึงประสงค์ฯที่พบได้บ่อย: เช่น
- อาการร้อนวูบวาบบริเวณใบหน้า (Hot flushes) พบว่าอาการร้อนวูบวาบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกของการเริ่มใช้ยานี้และจะหายไปเมื่อหยุดใช้ยา
- รังไข่ขยายขนาด/ขนาดใหญ่ขึ้น (Ovarian enlargement) อาจทำให้มีความรู้สึกไม่สบายในช่องท้องและในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย เช่น รู้สึกปวดหน่วงบริเวณอุ้งเชิงกราน, ปวดท้องน้อย, รู้สึกอืดแน่นท้อง, อาหารไม่ย่อย, คลื่นไส้อาเจียน
- นอกจากนี้อาจเกิด
- เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
- ความรู้สึกไม่สบาย
- เต้านมคัดตึง
- อาการทางสายตา ซึ่งจะหายไปเมื่อหยุดใช้ยา เช่น
- มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
- ตากลัวแสง(ตาไม่สู้แสง)
- มองเห็นแสงแฟลช (แสงแวบๆ)
- ปวดหัว
- อาการไม่พึงประสงค์ของยาโคลมีฟีนที่พบได้น้อย: เช่น
- พบว่ายาโคลมีฟีนกระตุ้นการเกิดภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- เกิดผื่นบริเวณผิวหนัง
- ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy)
- ถ่ายปัสสาวะบ่อยครั้งขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลมีฟีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลมีฟีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่กำลังให้นมบุตร เนื่องจากยามีผลพิษต่อทารกในครรภ์และยาสามารถขับผ่านทางน้ำนมได้
- การใช้ยานี้สามารถเพิ่มโอกาสการเกิดครรภ์แฝด (Multiple births) ได้
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคตับหรือมีภาวะตับทำงานบกพร่อง
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติการเกิดเนื้องอกจากฮอร์โมน หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ และควรได้รับการวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดเลือดออกทางช่องคลอด
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่กำลังมีซิสต์/ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian cyst) แต่มีซิสต์บางชนิดที่สามารถใช้ยาได้ (แพทย์จะเป็นผู้ประเมิน) อย่างไรก็ตามควรได้รับการตรวจยืนยันจากสูตินรีแพทย์ก่อนใช้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติและภาวะต่อมหมวกไตผิดปกติ
- หญิงที่กำลังใช้ยานี้อยู่อาจเกิดภาวะรังไข่ขยายขนาด (Ovarian enlargement) โดยมักจะเกิดอาการท้องบวม (Abdominal distension) หรือปวดท้อง อาการมักหายไปใน 2 - 3 สัปดาห์โดยไม่ได้รับการรักษา ดังนั้นผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาหากเกิดอาการดังที่กล่าวมาเพื่อรับการตรวจร่างกายและป้องกันการเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า ‘OHSS หรือ Ovarian hyperstimulation syndrome’ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่รังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่มากเกินไปจนเกิดการหลั่งของฮอร์โมนเพศหญิงออกมาทำให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติเช่น ท้องบวม ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะออกน้อย การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะสมดุลของน้ำและเกลือแร่ผิดปกติ ดังนั้นเพื่อลดอันตรายจากการเกิดกลุ่มอาการ OHSS จากยาโคลมีฟีน แพทย์จึงอาจพิจารณาใช้ขนาดยาต่ำที่สุดที่มีประสิทธิภาพในการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลมีฟีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาโคลมีฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโคลมีฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาโคลมีฟีน ร่วมกับยาออสพีมิฟีน (Ospemifene: ยารักษาภาวะเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ (Dyspareunia) เนื่องจากเป็นยาในกลุ่ม เซิร์ม (SERMs) เช่นเดียวกัน ซึ่งการใช้ยาร่วมกันจะเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาทั้งคู่ร่วมกันให้สูงขึ้น
ควรเก็บรักษายาโคลมีฟีนอย่างไร?
แนะนำเก็บยาโคลมีฟีน:
- เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นจาก แสงแดด และแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
- หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน)
- ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำหรือห้องครัว
- ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาโคลมีฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโคลมีฟีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Clomid 50 mg | Sanofo-aventis |
Clomiphene ysp industries 50 mg | Ysp industries |
Ovamit 50 mg | Remedica |
Ovinum 50 mg | Biolab |
Serophene 50 mg | Merck Serono |
Zimaquin 50 mg | Sinensix Pharma |
บรรณานุกรม
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12
- Product Information: Clomid, Clomiphene, Sanofo-aventis
- ภาวิน พัวพรพงษ์. ยาที่ใช้ในภาวะมีบุตรยาก.http://www.guruobgyn.com/wp-content/pdf/pdf16.pdf [2022,Feb26]