แมกนีเซียมซิเตรท (Magnesium citrate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 ตุลาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- แมกนีเซียมซิเตรทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- แมกนีเซียมซิเตรทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แมกนีเซียมซิเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แมกนีเซียมซิเตรทมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แมกนีเซียมซิเตรทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แมกนีเซียมซิเตรทอย่างไร?
- แมกนีเซียมซิเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแมกนีเซียมซิเตรทอย่างไร?
- แมกนีเซียมซิเตรทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาแก้ท้องผูก (Anticonstipation)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- ท้องผูก (Constipation)
- ท้องเสีย ท้องร่วง ท้องเดิน (Diarrhea)
- ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction)
- ยาต้านเอชไอวี ยาสูตรฮาร์ท (HAART: Highly Active Antiretroviral Therapy)
บทนำ: คือยาอะไร?
แมกนีเซียมซิเตรท (Magnesium citrate) คือ ยาระบายชนิดน้ำ ทางคลินิกใช้เป็นยาแก้ท้องผูก, ยานี้จัดเป็นสารประกอบที่เตรียมได้จากเกลือของแมกนีเซียมเข้าทำปฏิกิริยากับกรดซิตริก (Citric acid)
อนึ่ง: ชื่ออื่น เช่น Citrate of Magnesia หรือชื่อการค้าอื่น ในต่างประเทศ คือ Citroma
แมกนีเซียมซิเตรท ถูกนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารเสริม และใช้ปรับค่าความเป็นกรดด่างในอาหาร
ส่วนทางเภสัชภัณฑ์ได้ใช้แมกนีเซียมซิเตรทเป็นยาระบายชนิดน้ำ ด้วยมีกลไกออกฤทธิ์ในลำไส้ของคนเราโดยแมกนีเซียมซิเตรทจะดึง/ดูดน้ำตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายเข้ามาอยู่ในลำไส้หรือที่เรียกกันว่ากระบวนการออสโมซิส (Osmosis) นั่นเอง, การมีน้ำในลำไส้เป็นปริมาณมากจะเกิดการกระตุ้นให้อยากขับถ่ายขึ้นมา
ทางคลินิก ยังพบข้อมูลว่าแมกนีเซียมซิเตรทสามารถป้องกันการเกิดนิ่วในไตได้อีกด้วย ทั้งนี้มีเงื่อนไขของการใช้ยาแมกนีเซียมซิเตรทบางประการที่ควรทราบ เช่น
- ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน หรือถ่ายมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด
- ผู้ป่วยต้องไม่ใช่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ด้วยยังมิได้มีการศึกษาถึงความปลอดภัยการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างเพียงพอ
- ผู้ป่วยสตรีต้องไม่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของตนเอง
นอกจากนี้ กรณีที่แพทย์สั่งจ่ายยาแมกนีเซียมซิเตรทให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังมีสิ่งที่พึงปฏิบัติและข้อมูลบางประการที่ควรต้องทราบเพิ่มเติม เช่น
- ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- *หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น แน่นหน้าอก/หายใจลำบาก มีผื่นขึ้นเต็มตัว บวมตามใบหน้า-มือ-เท้า ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ผู้ป่วยจะมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) เกิดขึ้นบ้าง เช่น รู้สึกไม่สบายในท้องร่วมกับมีอาการท้องเสียติดตามมา, อาการข้างเคียงเหล่านี้สามารถหายได้เองด้วยร่างกายจะมีการปรับตัวหลังการใช้ยานี้, *แต่หากเกิดอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงต่อเนื่อง และรบกวนการดำเนินของชีวิตประจำวัน ต้องหยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
อนึ่ง: การที่ร่างกายได้รับเกลือแมกนีเซียมมากเกินไปสามารถส่งผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกาย เช่น
- ต่อระบบประสาท: เช่น ทำให้รู้สึกสับสน ซึมเศร้า ง่วงนอน มีการหายใจลำบาก
- ต่อการทำงานของหัวใจ: โดยทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ การนำคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ และเกิดภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติติดตามมา
- ต่อระบบทางเดินอาหาร: จะกระตุ้นให้อยากอาเจียน หรือกดระบบการหลั่งพาราไทรอยด์ฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ และทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำอีกด้วย
การใช้แมกนีเซียมซิเตรทในรูปของยาระบายเป็นเรื่องปลายทาง ผู้ป่วยควรหาสาเหตุของอาการท้องผูกร่วมกับ การปรับพฤติกรรมของการบริโภค, การออกกำลังกาย, การพักผ่อนอย่างเหมาะสม, ขอแนะนำอ่านบทความทางสุขภาพในเว็บไซด์ หาหมอ.com เรื่อง ท้องผูก
แมกนีเซียมซิเตรทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาแมกนีเซียมซิเตรทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ใช้เป็นยาระบายบรรเทาอาการท้องผูกทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก
แมกนีเซียมซิเตรทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแมกนีเซียมซิเตรทมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะออกฤทธิ์โดยมีกระบวนการดึงน้ำตามเนื้อเยื่อของร่างกายเข้าสู่ลำไส้ ปริมาณน้ำในลำไส้ที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นจะสร้างแรงดันและเกิดการกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวและเกิดการขับถ่ายอุจจาระติดตามมา
แมกนีเซียมซิเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแมกนีเซียมซิเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 1.745 กรัม/30 มิลลิลิตร
แมกนีเซียมซิเตรทมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแมกนีเซียมซิเตรทมีขนาดรับประทาน: เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี: รับประทานยาครั้งละ 240 มิลลิลิตร, ครั้งเดียว, จากนั้นให้รอการขับถ่าย
- เด็กอายุ 6 - 12 ปี: รับประทานครั้งละ 100 - 150 มิลลิลิตร, ครั้งเดียว
- เด็กอายุ 2 - 5 ปี : รับประทาน 0.5 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม, ขนาดรับประทานสูง สุดไม่เกิน 200 มิลลิลิตร, หากยังไม่ขับถ่ายให้ทำตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
*อนึ่ง:
- หากผู้ป่วยมีภาวะโรคไตหรือมีค่าครีอะตินีนเคลียแรนซ์น้อยกว่า 50 มิลลิลิตร/นาที ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ ด้วยอาจทำให้เกลือแมกนีเซียมในเลือดมีระดับสูงเกินปกติ
- หลังการรับประทานยานี้ แพทย์มักจะแนะนำให้ดื่มน้ำตามด้วย, ควรดื่มน้ำตามปริมาณที่แพทย์แนะนำ
- ควรรับประทานยานี้ช่วงท้องว่าง คือ ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนอาหาร หรือประมาณ 2 ชั่วโมง หลังอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแมกนีเซียมซิเตรท ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแมกนีเซียมซิเตรทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแมกนีเซียมซิเตรท สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาแมกนีเซียมซิเตรทตรงเวลา
แมกนีเซียมซิเตรทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแมกนีเซียมซิเตรท สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง): เช่น
- คลื่นไส้
- ท้องเสีย
- รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- รู้สึกสับสน
- ง่วงนอน
- ซึมเศร้า
- ระบบหายใจล้มเหลว
- ไตทำงานผิดปกติ
- อาจพบ ความดันโลหิตต่ำ , หัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ, และเกิดภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้แมกนีเซียมซิเตรทอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแมกนีเซียมซิเตรท: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาแมกนีเซียมซิเตรท
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้ด้วยตนเองเป็นประจำ ด้วยจะเสี่ยงต่อภาวะเกลือแมกนีเซียมในร่างกายเกินมาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของ ระบบประสาท หัวใจ รวมถึงกระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ที่มีภาวะลำไส้อุดตัน, ผู้ที่ถ่ายเป็นเลือด/อุจจาระเป็นเลือด, ผู้ที่อยู่ในภาวะคลื่นไส้อาเจียน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากับผู้ป่วยโรคไต
- ควรเตรียม-รอการขับถ่ายหลังรับประทานยาไปแล้วภายใน ½ - 6 ชั่วโมง
- การใช้ยานี้ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- *หากหลังรับประทานยานี้ แล้วพบอาการถ่ายมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด ให้รีบนำตัวผู้ ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- หากอาการท้องผูกไม่ดีขึ้นหลังใช้ยานี้ ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ควรค้นหาสาเหตุของอาการท้องผูกและรักษาที่ต้นเหตุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแมกนีเซียมซิเตรทด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
แมกนีเซียมซิเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแมกนีเซียมซิเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแมกนีเซียมซิเตรท ร่วมกับยาต้านเอชไอวี เช่นยา Dolutegravir ด้วยเกลือแมกนีเซียมจะรบกวนการดูดซึมของยา Dolutegravir และทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาด้อยลงไป
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแมกนีเซียมซิเตรท ร่วมกับยา Hydrocortisone ด้วยจะเพิ่ม ความเสี่ยงของภาวะขาดน้ำของร่างกาย, มีระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ, และทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง, หายใจลำบาก, จนถึงขั้นหัวใจเต้นผิดจังหวะติดตามมา
- ห้ามรับประทานยาแมกนีเซียมซิเตรท ร่วมกับยา Ciprofloxacin ด้วยจะทำให้การดูดซึมยา Ciprofloxacin ลดน้อยลงจนส่งผลต่อการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ, หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรเว้นระยะเวลาของการรับประทานยาให้ห่างกันประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแมกนีเซียมซิเตรท ร่วมกับยา Ergocalciferol/ Vitamin D โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ต้องทำการล้างไต จะทำให้ระดับเกลือแมกนีเซียมในร่างกายเพิ่มสูงจนเป็นเหตุให้เกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน ใบหน้าแดง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า ง่วงนอน จนถึงขั้นภาวะโคม่าติดตามมา
ควรเก็บรักษาแมกนีเซียมซิเตรทอย่างไร?
ควรเก็บยาแมกนีเซียมซิเตรท: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แมกนีเซียมซิเตรทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแมกนีเซียมซิเตรท มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Magnesium citrate oral solution (แมกนีเซียมซิเตรท ออรอล โซลูชั่น) | CVS Pharmacy |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Magnesium_citrate#Use_and_dosage [2022,Oct8]
- https://www.drugs.com/dosage/magnesium-citrate.html [2022,Oct8]
- https://www.drugs.com/dosage/magnesium-citrate.html#Usual_Adult_Dose_for_Constipation [2022,Oct8]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/magnesium-citrate.html [2022,Oct8]
- https://www.drugs.com/pro/magnesium-citrate-liquid.html [2022,Oct8]