แบมบิวเทอรอล (Bambuterol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 สิงหาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- แบมบิวเทอรอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แบมบิวเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แบมบิวเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แบมบิวเทอรอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แบมบิวเทอรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แบมบิวเทอรอลอย่างไร?
- แบมบิวเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแบมบิวเทอรอลอย่างไร?
- แบมบิวเทอรอลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบต้า 2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ (Beta2 - adrenergic agonists)
- เทอร์บูทาลีน (Terbutaline)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- ยาหย่อนกล้ามเนื้อ (Nondepolarizing neuromuscular blocker)
- นอนซีเล็กทีฟเบต้าบลอกเกอร์ หรือ ยาปิดกั้นตัวรับเบต้า (Nonselective beta blockers)
บทนำ
ยาแบมบิวเทอรอล (Bambuterol หรือ Bambuterol hydrochloride หรือ Bambuterol HCl) เป็นยาในกลุ่ม เบต้า แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์(Beta adrenergic agonist) ประเภทออกฤทธิ์นาน (Long-acting) ทางคลินิกใช้เป็นยาขยายหลอดลมและช่วยบำบัดอาการหอบหืด ยาแบมบิวเทอรอลมีลักษณะการออกฤทธิ์แบบที่เรียกว่า โปรดรัก(Prodrug)กล่าวคือ จะไม่ออกฤทธิ์ในการรักษาทันทีจนกระทั่งถูกเมตาโบไลซ์(Metabolize,กระบวนการทางเคมีที่มักใช้เอนไซม์เพื่อเปลี่ยนแปลงสารเคมีในร่างกายจากรูปแบบหนึ่งให้เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง)ในร่างกายและเปลี่ยนรูปเป็นยาที่ออกฤทธิ์ คือ Terbutaline
ยาแบมบิวเทอรอลถูกออกแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ซึ่งมีการ ดูดซึมของตัวยาจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้เพียงประมาณ 20 % จากนั้นตับจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีไปเป็นสารออกฤทธิ์ ร่างกายต้องใช้เวลานานประมาณ 21 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยาแบมบิวเทอรอลในรูปของสารออกฤทธิ์ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
มีข้อห้ามใช้ยาแบมบิวเทอรอลกับผู้ป่วยที่มีสภาพตับผิดปกติอย่างรุนแรง สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของสูตรตำรับยานี้ นอกจากนี้ ยังต้องระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต เพราะไตเป็นอวัยวะที่คอยกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย
ยาแบมบิวเทอรอลยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้อีก อาทิเช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ ระบบการหายใจ ระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย รวมถึง สมดุลของอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)/สมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
การใช้ยาแบมบิวเทอรอลต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ห้ามผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
*กรณีเกิดข้อผิดพลาดทำให้ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาดสามารถสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้ เช่น มีอาการปวดศีรษะต่อเนื่อง วิตกกังวล ตัวสั่น คลื่นไส้ เป็นตะคริว ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นเร็ว การช่วยเหลือคือ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที โดยการรักษาคือแพทย์จะทำการล้างท้องให้ผู้ป่วย ในกรณีที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจต้องให้ยาถ่านกัมมันต์ร่วมในการรักษาด้วย
ยาแบมบิวเทอรอลเป็นยาใช้ควบคุมและป้องกันการเกิดอาการหอบหืด แต่ไม่สามารถลดอาการหอบแบบเฉียบพลันได้ และการรับประทานยานี้ต้องอาศัยความต่อเนื่องจึงจะควบคุมอาการหอบหืดได้ ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาแบมบิวเทอรอลอยู่ในประเภทยาอันตราย โดยสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยาชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Bambec”
แบมบิวเทอรอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาแบมบิวเทอรอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาบำบัดและป้องกันอาการหอบหืด
แบมบิวเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแบมบิวเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะถูกตับเปลี่ยนไปเป็นตัวยาTerbutaline ซึ่งจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ในระดับเซลล์หลอดลมที่เรียกว่า เบต้า แอดริเนอร์จิก รีเซ็ปเตอร์ (Beta adrenergic receptors) ทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่หลอดลม ส่งผลให้ช่องทางเดินหายใจเปิดกว้าง จึงช่วยบรรเทาอาการหอบหืดได้ตามสรรพคุณ
แบมบิวเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแบมบิวเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีส่วนประกอบของ Bambuterol HCl ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
แบมบิวเทอรอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแบมบิวเทอรอลมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 6–12 ปี: รับประทานยาเริ่มต้นที่ 10 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้งก่อนนอน อีก 1–2 สัปดาห์ต่อมา แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 20 มิลลิกรัม โดยสังเกตจากอาการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย
- เด็กอายุ 2–5 ปี: รับประทานยา 10 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้งก่อนนอน
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ยานี้ เป็นยาที่ใช้ควบคุมป้องกันอาการหอบหืดมิให้กำเริบ ผู้ป่วยจึงควรมียาบำบัดอาการหอบหืดแบบเฉียบพลันติดตัวเพื่อใช้ในกรณีที่ได้เกิดอาการขึ้นแล้ว
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่ เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแบมบิวเทอรอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแบมบิวเทอรอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีที่ลืมรับประทานยาแบมบิวเทอรอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาแบมบิวเทอรอลบ่อยครั้ง อาจทำให้อาการหอบหืดกลับมาเป็นใหม่ ซึ่งนอกจากไม่ทำให้อาการดีขึ้นแล้ว อาจทำให้อาการโรคกำเริบหรือแย่ลงกว่าเดิม
แบมบิวเทอรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแบมบิวเทอรอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อหัวใจ: เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ทำให้กล้ามเนื้อมีอาการสั่น/กล้ามเนื้อกระตุก เกิดตะคริว
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดสูง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการคลื่นไส้
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
มีข้อควรระวังการใช้แบมบิวเทอรอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแบมบิวเทอรอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- ห้ามซื้อยานี้มาใช้เองโดยมิได้รับการตรวจคัดกรอง/การตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อน
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้วควบคุมป้องกันอาการหอบหืดไม่ได้ผล เช่น มีอาการหอบหืดบ่อย ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแบมบิวเทอรอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แบมบิวเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแบมบิวเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาแบมบิวเทอรอลร่วมกับยากลุ่ม Sympathomimetics อย่างเช่น Suxamethonium ซึ่งเป็นยาหย่อนกล้ามเนื้อ จะทำให้ระยะเวลาการหย่อนกล้ามเนื้อยาวนานขึ้นจนอาจเกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาแบมบิวเทอรอลร่วมกับยากลุ่ม Corticosteroids , ยาขับปัสสาวะ หรือ ยากลุ่มอนุพันธ์แซนทีน(Xanthine derivatives) ด้วยจะทำให้ระดับเกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ
- ห้ามใช้ยาแบมบิวเทอรอลร่วมกับกลุ่มยา Non-selective beta-blockers ด้วยจะออกฤทธิ์ต่อต้านการทำงานซึ่งกันและกันจนด้อยประสิทธิภาพการรักษาจากยาทั้ง 2 กลุ่ม
ควรเก็บรักษาแบมบิวเทอรอลอย่างไร?
ควรเก็บยาแบมบิวเทอรอลภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แบมบิวเทอรอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแบมบิวเทอรอล ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bambec (แบมเบ็ก) | AstraZeneca |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Oxeol, Betaday, Abel, Asthafree, Baburol, Bamberol, Buterol, Venterol