แท้งติดเชื้อ (Septic abortion)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะแท้งติดเชื้อคืออะไร?

การแท้งติดเชื้อ หรือ ภาวะแท้งติดเชื้อ (Septic abortion) เป็นภาวะแทรกซ้อนของการแท้ง คือ เกิดมีการอักเสบและติดเชื้อร่วมกับการแท้ง ซึ่งการอักเสบติดเชื้อนี้ สามารถเกิดก่อนที่จะมีการแท้ง หรือเกิดหลังทารกในครรภ์เสียชีวิตก่อนแล้วค่อยติดเชื้อก็ได้ ภาวะแทรกซ้อนนี้สา มารถเกิดขึ้นทั้งในการแท้งเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการไปทำแท้งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งการไปทำแท้งฯมักทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างมาก

อันตรายของการแท้งติดเชื้อคืออะไร?

แท้งติดเชื้อ

อันตราย หรือ ผลข้างเคียง หรือ การพยากรณ์โรค จากการแท้งติดเชื้อ มีได้ตั้งแต่อาการน้อยๆที่รักษาได้หาย ไปจนถึงอาการรุนแรงมากจนถึงขั้นเสียชีวิต (ตาย) ได้ (ขึ้นกับ ความรุน แรงของเชื้อ, ผลข้างเคียงจากโรค เช่น การเสียเลือด การทำงานของไตล้มเหลว, สุขภาพพื้น ฐานของผู้ป่วย, และการพบแพทย์ได้เร็วหรือช้า) การแท้งติดเชื้อเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สตรีตั้งครรภ์ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาเสียชีวิตในอัตราที่สูง อันตรายที่พบได้มีดังนี้

  • มีการอักเสบในโพรงมดลูก ทำให้ปวดท้อง ตกขาว มีไข้ ในกรณีที่รุนแรงและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล อาจทำให้แพทย์จำเป็นต้องตัดมดลูกเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้
  • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ทำให้ปวดท้องน้อย/ปวดอุ้งเชิงกราน ตกขาว มีไข้
  • เกิดฝีหนองในอุ้งเชิงกราน เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สืบต่อจากการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) โดยเชื้อลุกลามจากโพรงมดลูก หากให้การรักษาไม่ทันท่วงที อาจรุนแรงถึงตายได้
  • เกิดมีพังผืดในโพรงมดลูก ทำให้ประจำเดือนมาน้อยหรือไม่มาเลยในอนาคต
  • ทำให้มีภาวะมีบุตรยากหรือไม่มีบุตรในอนาคต
  • มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังในอนาคต

สาเหตุของการแท้งติดเชื้อมีอะไรบ้าง?

สาเหตุของการแท้งติดเชื้อ ได้แก่

1. การแท้งไม่สมบูรณ์หรือแท้งไม่ครบ ทำให้ปากมดลูกเปิด ทำให้เชื้อโรคจากบริเวณ ช่องคลอดแพร่เข้าไปในมดลูก ทำให้มีโอกาสติดเชื้อง่าย ทั้งนี้ การแท้งไม่สมบูรณ์เกิดได้จาก

2. การไปทำแท้งอย่างผิดกฎหมายหรือลักลอบทำแท้ง จะชักนำให้มีการติดเชื้อจากช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูก จึงเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงในมดลูกตามมา

ปัจจัยเสี่ยงต่อการแท้งติดเชื้อมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการแท้งติดเชื้อมีดังนี้ คือ

1. การไปทำแท้ง โดยการใส่อุปกรณ์บางอย่างเข้าไปในช่องคลอด เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อมากที่สุด

2. ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด/แตกก่อนกำหนด ทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าไปในถุงการตั้งครรภ์ได้

3. การติดเชื้อในช่องคลอด/ช่องคลอดอักเสบ ทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าไปในถุงการตั้งครรภ์ได้

4. สตรีตั้งครรภ์มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เช่น ติดเชื้อเอชไอวี โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง)

5. การใส่ห่วงอนามัย/ การใส่ห่วงคุมกำเนิด แล้วเกิดการตั้งครรภ์ร่วมกับการใส่ห่วง

สตรีตั้งครรภ์จะรู้ได้อย่างไรว่าเกิดการแท้งติดเชื้อกับตนเอง?

สตรีตั้งครรภ์จะรู้ได้ว่าเกิดการแท้งติดเชื้อกับตนเอง โดยสังเกตจากอาการที่แสดงว่าอาจ จะเกิดการแท้ง คือ

  • มีอาการปวดท้องน้อยหน่วงๆ
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด อาจออกกะปริบกะปรอยหรือออกปริมาณมาก
  • หากมีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย จะทำให้เกิดอาการ
    • ไข้
    • ปวดบริเวณท้องน้อยมากขึ้น และ
    • เลือดหรือสารคัดหลั่งที่ออกทางช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น

แพทย์มีวิธีวินิจฉัยภาวะแท้งติดเชื้ออย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะแท้งติดเชื้อได้โดย

ก. ประวัติอาการ: เช่น มีการตั้งครรภ์แล้ว

  • มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • มีน้ำ/ของเหลวออกทางช่องคลอด
  • มีเศษชิ้นเนื้อหลุดออกมาก
  • มักมีไข้ร่วมด้วย
  • ปวดท้องน้อย
  • เลือดหรือน้ำที่ออกจากช่องคลอดมีกลิ่น และ/หรือ
  • มีประวัติไปทำแท้งมา

ข. การตรวจร่างกาย: เช่น

  • วัดอุณหภูมิร่างกายพบว่ามีไข้
  • มีชีพจรเต้นเร็ว
  • มีความดันโลหิตต่ำในรายที่มีอาการมาก
  • กดเจ็บบริเวณท้องน้อย กล้ามเนื้อหน้าท้องหดเกร็ง
  • เสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง (ตรวจได้จากการใช้หูฟัง)

ค. การตรวจภายใน: เช่น ตรวจพบ

  • เลือดหรือสิ่งคัดหลั่งที่ออกในช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น
  • ปากมดลูกเปิด
  • กดเจ็บที่ ปีกมดลูก และมดลูก
  • หากเกิดก้อนฝี/หนองที่ปีกมดลูก จะคลำได้ก้อนหนองที่ปีกมดลูกร่วมด้วย

ง. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เช่น

  • มีการตรวจเลือด เพื่อดูร่องรอยการติดเชื้อและดูภาวะซีด (ตรวจ Complete blood count/CBC/ ซีบีซี) และ ดูการทำงานของไต
  • การตรวจเพาะเชื้อจากเลือด (Hemoculture)
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อรุนแรง ต้องตรวจเลือดดูระบบการแข็งตัวของเลือดด้วย
  • นอกจากนี้
    • อาจมีการตรวจเครื่องเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์)ทางช่องคลอด เพื่อดูว่ามีชิ้นส่วนของการตั้งครรภ์หรือเศษรกค้างอยู่ในมดลูกหรือไม่

การรักษาภาวะแท้งติดเชื้อมีอะไรบ้าง?

การรักษาภาวะแท้งติดเชื้อ โดยทั่วไปในระยะแรกมักเป็นการรักษาโดยรับผู้ป่วยไว้ในโรง พยาบาล

1. การรักษาทั่วไป: มักเป็นการรักษาโดยรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล

  • ประเมินสัญญาณชีพของผู้ป่วยเป็นระยะๆเพื่อดูความรุนแรงของโรค
  • ให้ออกซิเจนหากมีอาการมาก
  • แพทย์จะให้งดน้ำและอาหารทางปากในช่วงแรก
  • ให้สารน้ำ (น้ำเกลือ) ทางหลอดเลือดดำให้เพียงพอ
  • ให้เลือดกรณีที่มีการเสียเลือดมาก
  • ให้ยาแก้ปวด ยาลดไข้ แบบฉีดในช่วงที่ต้องงดอาหาร
  • ฉีดวัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ ในกรณีที่มีประวัติไปทำแท้งผิดกฎหมาย หรือมีการสอดใส่อุปกรณ์เข้าไปในช่องคลอด
  • ฉีดยาสาร Tetanus antitoxin (ยาที่เป็นสารต้านสารพิษจากเชื้อบาดทะยัก) ควบ คู่ไปกับวัคซีนบาดทะยัก ในกรณีที่มีประวัติไปทำแท้งผิดกฎหมาย หรือมีการสอดใส่อุป กรณ์เข้าไปในช่องคลอด

2. การรักษาเฉพาะ:

  • ให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำใน 48 ชั่วโมงแรก มักต้องให้ยา 2 - 3 ขนานเพื่อ ให้ครอบคลุมเชื้อได้อย่างกว้างขวาง เมื่ออาการดีขึ้นจะเปลี่ยนเป็นยาชนิดรับประทาน เนื่องจากเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหลายกลุ่ม การให้ยาปฎิชีวนะจึงต้องให้ยาหลายขนาน
  • พิจารณาขูดมดลูกหากยังมีเศษรกเหลืออยู่หลังจากให้ยาปฏิชีวะนะไปแล้ว หรือยังมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ

การดูแลตนเองหลังแท้งติดเชื้อควรทำอย่างไร?

การดูแลตนเองหลังแท้งติดเชื้อเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว ได้แก่

1. รับประทานยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งจนครบ ห้ามหยุดยาเอง

2. งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หลังจากไม่มีน้ำคาวปลาแล้ว

3. เริ่มคุมกำเนิดหลังแท้งได้ 2 สัปดาห์

4. งดการว่ายน้ำในสระหรืออ่างอาบน้ำอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าสิ่งคัดหลั่ง(น้ำคาวปลา) หยุดไหล

5. พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัด

6. ไปพบแพทย์/โรงพยาบาลก่อนนัดหากมีอาการผิดปกติ เช่น เลือดที่ออกทางช่องคลอดหยุดไปแล้ว กลับมามีเลือดออกอีก มีไข้ ปวดท้องมากขึ้น

หากครรภ์แรกแท้งติดเชื้อ ตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจะมีปัญหาหรือไม่?

หากได้รับการรักษาทันท่วงทีและรักษาถูกต้อง ไม่มีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียงดัง กล่าวแล้วในหัวข้อ อันตราย/ผลข้างเคียง) การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปน่าจะไม่มีปัญหา แต่ก็ต้องระวังภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด/แตกก่อนกำหนด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อในโพรงมดลูกได้ง่าย และมีการคลอดก่อนกำหนดตามมา ดังนั้นเมื่อตั้งครรภ์ควรรีบไปพบแพทย์

ตั้งครรภ์ครั้งต่อไปได้เมื่อไร?

การวางแผนการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ควรรอให้สภาพมดลูกและปีกมดลูกกลับมาเป็นปกติก่อน ไม่สามารถบอกระยะเวลาได้แน่นอน

แต่โดยทั่วไปแนะนำให้คุมกำเนิดไปประมาณ 3 เดือนหลังจากการแท้งบุตร รอให้ประจำเดือนมาปกติเสียก่อน

ในกรณีที่ต้องการตั้งครรภ์เร็ว ควรใช้การคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยชายเพื่อที่จะไม่ไปรบกวนระดับฮอร์โมน

อนึ่ง สำหรับการคุมกำเนิดด้วยยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นวิธีที่ดี มีประสิทธิภาพสูง สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย เพียงแต่หลังจากหยุดรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด อาจต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อยก่อนที่ระดับฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์จะกลับมาปกติ

ป้องกันภาวะแท้งติดเชื้อได้อย่างไร?

ป้องกันแท้งติดเชื้อได้โดย

1. หลีกเลี่ยงการไปทำแท้งหรือการตั้งครรภ์ที่ยังไม่พร้อม

2. มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพ

3. เมื่อจะแต่งงานหรือแต่งงานแล้ว ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เรื่อง การวางแผนครอบครัว

บรรณานุกรม

1. http://emedicine.medscape.com/article/795001-overview [2020,Sept26]
2. http://www.glowm.com/section_view/heading/Septic%20Abortion:%20Prevention%20and%20Management/item/437 [2020,Sept26]