แกรมิซิดิน (Gramicidin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 เมษายน 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- แกรมิซิดินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- แกรมิซิดินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แกรมิซิดินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แกรมิซิดินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมหยอดตาควรทำอย่างไร?
- แกรมิซิดินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แกรมิซิดินอย่างไร?
- แกรมิซิดินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแกรมิซิดินอย่างไร?
- แกรมิซิดินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
บทนำ: คือยาอะไร?
แกรมิซิดิน (Gramicidin) คือ ยาปฏิชีวนะ/ยาต่อต้านแบคทีเรียที่สกัดได้จากแบคทีเรียซึ่งอาศัยอยู่ในดินที่ชื่อว่า Bacillus brevis เมื่อปี ค.ศ.1939 (พ.ศ. 2482), จัดเป็นยามีพิษต่อระบบต่างๆภายในร่างกายอย่างมาก, ด้วยเหตุผลนี้ จึงใช้แกรมีซิดินเป็นยาต่อต้านแบคทีเรียเฉพาะที่เท่านั้น เช่น ยาหยอดหู, ยาหยอดตา
ในต่างประเทศ จะพบเห็นการใช้เป็นรูปแบบของยาหยอดตาหรือไม่ก็ขี้ผึ้งป้ายตาโดยใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่นเช่น Neomycin, Polymyxin B และบ่อยครั้งที่สูตรตำรับจะผสมยากลุ่ม Corticosteroid ลงไปด้วย
สำหรับประเทศไทยมีสูตรตำรับยาแกรมิซิดิน:
- ผสมร่วมกับยา Dexamethasone และ Framycetin sulfate โดยใช้เป็นยาหยอดหูใช้รักษาการติดเชื้อของหูชั้นกลางและชั้นนอก
- หากผสมร่วมกับ Polymyxin B และ Neomycin ใช้สำหรับหยอดตา
ทั้ง 2 สูตรตำรับถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยสามารถซื้อหาได้ตามร้านขายยาทั่วไป และพบเห็นการใช้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน
แกรมิซิดินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาแกรมิซิดินมีสรรพคุณ เช่น
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ ตา หู และผิวหนัง
- ใช้กับผู้ป่วยก่อนหรือหลังการผ่าตัดตา
- ป้องกันการติดเชื้อเมื่อเกิดบาดแผลกับตา
แกรมิซิดินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแกรมิซิดินมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะทำให้ผนังหุ้มเซลล์แบคทีเรียมีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกลือที่มีประจุบวกเช่น โซเดียมไอออน (Sodium ion) ซึมผ่านเข้าไปในตัวแบคที เรีย และทำให้ประจุไฟฟ้า (ไอออน) ที่มีอยู่ในไซโตพลาสซึม (Cytoplasm, ของเหลวภายในเซลล์) ของแบคทีเรียกับประจุไฟฟ้านอกตัวแบคทีเรียเสียสมดุล ด้วยสภาวะดังกล่าวทำให้แบคที เรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
แกรมิซิดินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแกรมิซิดินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
ก. ยาหยอดตา: ที่มีส่วนประกอบของ
- Neomycin sulfate 2 มิลลิกรัม + Polymyxin B sulfate 5,000 IU + Gramicidin 0.025 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- Dexamethasone 500 ไมโครกรัม + Framycetin sulfate 5 มิลลิกรัม + Gramicidin 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
- Neomycin sulfate 1.75 มิลลิกรัม + Polymyxin B 5,000 ยูนิต + Gramicidin 0.025 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ข. ยาหยอดหู: ที่มีส่วนประกอบของ Framycetin sulfate BP 5 มิลลิกรัม + Gramicidin 0.05 มิลลิกรัม + Dexamethasone 0.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ค. ยาครีมทาผิวหนัง: ที่มีส่วนประกอบของ Desoximetasone 0.25% + Framycetin sulfate 0.75% + Gramicidin 0.025%
แกรมิซิดินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดการบริหารยา/การใช้ยาแกรมิซิดินเฉพาะสำหรับการติดเชื้อที่ตา เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): เช่น หยดยา 1 - 2 หยดวันละ 2 - 4 ครั้งในตาข้างติดเชื้อหรือตามคำสั่งแพทย์
*อนึ่ง: การใช้ยาหยอดหูหรือยาทาผิวหนังสามารถอ่านขนาดใช้ยาได้ในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา ที่ให้มากับบรรจุภัณฑ์ยานั้นๆ
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแกรมิซิดิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแกรมิซิดินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้ อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมหยอดตาควรทำอย่างไร?
หากลืมหยอดตา/ลืมใช้ยาแกรมิซิดิน สามารถหยอดตา/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการหยอดตา/การใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แกรมิซิดินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแกรมิซิดินอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- อาจเกิดอาการแพ้ยานี้ หรือ เกิดการติดเชื้อโรคที่ดื้อต่อยากลุ่มนี้ตามมา
มีข้อควรระวังการใช้แกรมิซิดินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแกรมิซิดิน เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้ หรือ แพ้ส่วนผสมในยานี้
- ห้ามใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์
- ห้ามใช้ยานี้กับการติดเชื้อเหล่านี้ที่ตา เช่น เริม หรือ โรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น รวมถึง วัณโรค และโรคเชื้อรา
- ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยโรค พอร์ฟิเรีย/Porphyria (โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมากที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง)
- หากเกิดอาการแพ้ยาเช่น ปวดแสบบริเวณที่ใช้ยา อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ให้หยุดการใช้ยาทันที แล้วรีบนำตัวส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาล
- การใช้ยาหยอดตาของสูตรตำรับแกรมิซิดีนกับเด็ก สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ยังมิได้ระบุการใช้อย่างเป็นทางการในทางคลินิก หากต้องการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของจักษุแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแกรมิซิดิน) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
แกรมิซิดินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากยาแกรมิซิดินเป็นเภสัชภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะที่ จึงยังไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใดๆ
ควรเก็บรักษาแกรมิซิดินอย่างไร?
สามารถเก็บยาแกรมิซิดิน: เช่น
- เก็บยาภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
แกรมิซิดินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแกรมิซิดิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dermacombin (เดอร์มาคอมบิน) | Taro |
Polyoph (โพลีออฟ) | Seng Thai |
Sofradex (โซฟราเด็กซ์) | sanofi-aventis |
Sofracort (โซฟราคอร์ท) | sanofi-aventis |
Topifram (ทอพิฟราม) | sanofi-aventis |
Xanalin (ซานาลิน) | Silom Medical |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Gramicidin [2023,April22]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/gramicidin?mtype=generic [2023,April22]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB00027 [2023,April22]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Xanalin/?type=brief [2023,April22]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=2A&rcno=4900038&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2023,April22]
- https://www.drugs.com/cons/neomycin-polymyxin-b-and-gramicidin-ophthalmic.html [2023,April22]
- https://www.mims.com/India/drug/info/SOFRACORT/SOFRACORT%20eye-ear%20drops [2023,April22]