เฮกซามิโนเลวูลิเนท (Hexaminolevulinate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 พฤษภาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- เฮกซามิโนเลวูลิเนทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เฮกซามิโนเลวูลิเนทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เฮกซามิโนเลวูลิเนทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เฮกซามิโนเลวูลิเนทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- เฮกซามิโนเลวูลิเนทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เฮกซามิโนเลวูลิเนทอย่างไร?
- เฮกซามิโนเลวูลิเนทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเฮกซามิโนเลวูลิเนทอย่างไร?
- เฮกซามิโนเลวูลิเนทมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบทางเดินปัสสาวะ (Anatomy and physiology of Urinary tract)
- มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder cancer)
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
- วัคซีนบีซีจี (BCG vaccine)
- พอร์ฟิเรีย (Porphyria)
- ปัสสาวะเป็นเลือด (Hematuria)
บทนำ
ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนท (Hexaminolevulinate) เป็นสารประกอบที่ได้รับการออกแบบและพัฒนามาสำหรับหัตถการการส่องกล้องในกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เพื่อใช้ตรวจหามะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่ยังไม่ลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ (NMIBC /Non-muscle invasive bladder cancer)
ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนท มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นผงปราศจากเชื้อ การใช้งานต้องเตรียมตัวยาเป็นสารละลายเพื่อฉีดเข้ากระเพาะปัสสาวะโดยผ่านหลอดสวน(Catheter) ที่สอดอยู่ในท่อปัสสาวะเสียก่อน แพทย์อาจปล่อยให้ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนทค้างในกระเพาะปัสสาวะอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ขณะที่ตัวยา เฮกซามิโนเลวูลิเนทอยู่ในกระเพาะปัสสาวะผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเหมือนอยากถ่ายปัสสาวะ แต่แพทย์จะให้กลั้นการปัสสาวะไว้เพื่อให้ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนทเข้าไปจับกับเซลล์ของผนังกระเพาะปัสสาวะ สิ่งสำคัญสำหรับการตรวจมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิด NMIBC เมื่อใช้ตัวยาชนิดนี้จะต้องมีแหล่งกำเนิดแสงสีฟ้าที่ถูกสอดผ่านหลอดสวนไปพร้อมกับกล้องที่ส่องตรวจผนังกระเพาะปัสสาวะ อดีตของการส่องกล้องเพื่อตรวจมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีเพียงแสงสีขาวอย่างเดียวทำให้การแยกความแตกต่างระหว่างเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติ ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ ในปี ค.ศ.2008(พ.ศ.2551) มีการเปรียบเทียบระหว่างการใช้ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนทร่วมกับแสงสีฟ้าเทียบกับการส่องกล้องด้วยแสงสีขาวเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ พบว่าการใช้แสงสีขาวเพียงอย่างเดียวจะมีประสิทธิภาพการตรวจสอบที่ต่ำกว่า หรืออาจกล่าวว่ายาเฮกซามิโนเลวูลิเนท + แสงสีฟ้าทำให้การตรวจมะเร็งกระเพาะปัสสาวะโดยการส่องกล้องมีความชัดเจนและเห็นความแตกต่างระหว่างเนื้อดีและเนื้อร้ายในกระเพาะปัสสาวะได้ดีมากยิ่งขึ้น และในปี ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) สหรัฐอเมริกาได้ขึ้นยาทะเบียนเฮกซามิโนเลวูลิเนท และเริ่มนำมาใช้ในการตรวจหามะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดNMIBC มาจนกระทั่งปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทย อาจยังต้องรอการนำเข้าเฮกซามิโนเลวูลิเนท+เทคนิคการใช้แสงสีฟ้าเพื่อใช้ตรวจหาเซลล์มะเร็งกระเพาะปัสสาวะอีกสักระยะหนึ่ง ในต่างประเทศตัวยาเฮกซามิโนเลวูลิเนทผลิตจากบริษัทโฟโต้เคียว(Photocure,) ประเทศนอร์เวย์ และจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Cysview
เฮกซามิโนเลวูลิเนทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนท มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ คือ
- ใช้เป็นสารที่ใช้ช่วยตรวจสอบหามะเร็งกระเพาะปัสสาวะในระยะที่ยังไม่ได้ลุกลามเข้าชั้นกล้ามเนื้อของผนังกระเพาะปัสสาวะ (NMIBC/ Non-muscle invasive bladder cancer)
เฮกซามิโนเลวูลิเนทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนท เป็นสารประกอบที่มีคุณสมบัติคล้ายกับสารตั้งต้นของฮีม (Heme precursor) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของ ฮีโมโกลบิน(Hemoglobin) ขณะที่ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนทกระจายตัวในกระเพาะปัสสาวะ ก็จะเริ่มแทรกซึมเข้าสู่ เยื่อเมือกของผนังกระเพาะปัสสาวะที่เป็นปกติและเยื่อเมือกของเซลล์มะเร็ง ขณะเปิดแสงสีฟ้าจากกล้องเพื่อส่องตรวจเซลล์ของผนังกระเพาะปัสสาวะที่ปกติ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบไปเป็นสารที่สะท้อนแสงสีฟ้าออกมา แต่ถ้าเป็นเซลล์มะเร็งจะเกิดปฏิกิริยาตรงกันข้ามโดยมีการดูดกลืนแสงสีฟ้าและสะท้อนแสงสีแดงออกมาแทน จึงทำให้รู้ว่านั่นคือก้อน/เซลล์มะเร็ง
เฮกซามิโนเลวูลิเนทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายโดย
- มีลักษณะเป็นผงปราศจากเชื้อที่บรรจุขวดไวอัล(Vial) คล้ายกับยาฉีด โดยมีส่วนประกอบของ Hexaminolevulinate HCl / Hexaminolevulinate hydrochloride ขนาด 100 มิลลิกรัม/ขวด(Vial)
เฮกซามิโนเลวูลิเนทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนท สามารถใช้ได้ทั้งในเพศชายและหญิง โดยมีขนาดการใช้ยา/บริหารยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ละลายยาเฮกซามิโนเลวูลิเนทโดยใช้ตัวทำละลายที่กำหนดตามเอกสารกำกับยาในสัดส่วนตัวยา 100 มิลลิกรัมต่อตัวทำละลาย 100 มิลลิลิตร เขย่าจนได้สารละลายที่ใส และฉีดผ่านหลอดสวน(Catheter) เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ทิ้งระยะเวลาค้างไว้ตามที่แพทย์กำหนด และห้ามถ่ายปัสสาวะขณะที่รอทำหัตถการส่องตรวจผนังกระเพาะปัสสาวะ
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดด้าน ประสิทธิภาพ ขนาดยา และผลข้างเคียง ของยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- ผู้ป่วย จะต้องเตรียมตัวตามคำแนะนำของแพทย์ก่อนฉีดยาเฮกซามิโนเลวูลิเนท
- มีข้อห้ามใช้ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนทกับผู้ป่วย
- โรคพอร์ฟีเรีย/ (Porphyria)
- ผู้ที่รักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โดยใช้ BCG/ วัคซีนบีซีจี กระตุ้นภูมิต้านทานต่อมะเร็ง
- ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดมาภายใน 90 วัน
- ผู้ป่วยที่ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
- รวมถึงผู้ที่มีประวัติ แพ้ยา เฮกซามิโนเลวูลิเนท
- การใช้ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนท เพื่อตรวจสอบหาเซลล์มะเร็งในผนังกระเพาะปัสสาวะ อาจเกิดความล้มเหลวได้ประมาณ 10% ดังนั้นแพทย์มักใช้วิธีอื่นในการตรวจสอบร่วมด้วย เช่น การตัดชิ้นเนื้อไปทดสอบด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเฮกซามิโนเลวูลิเนท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น มีเลือดออกในกระเพาะปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเฮกซามิโนเลวูลิเนทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เฮกซามิโนเลวูลิเนทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาการไม่พึงประสงค์จากยา /ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง ที่อาจตรวจพบหลังจากได้รับยาเฮกซามิโนเลวูลิเนท เช่น /p>
- กระเพาะปัสสาวะเกร็งตัว ส่งผลให้ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
- มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ปวดกระเพาะปัสสาวะ
มีข้อควรระวังการใช้เฮกซามิโนเลวูลิเนทอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้เฮกซามิโนเลวูลิเนท เช่น
- ห้ามใช้การผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
- การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล ก่อนได้รับยาเฮกซามิโนเลวูลิเนท และมารับการตรวจตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเฮกซามิโนเลวูลิเนทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เฮกซามิโนเลวูลิเนทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนท อาจทำให้ผิวหนังของผู้ป่วยเกิดอาการผื่นแพ้แสงแดด และ อาจทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนทร่วมกับยาต่างๆบางชนิด ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยาต่างๆดังกล่าว เช่นยา
- Acetohexamide
- Acitretin
- Alectinib
- Hydrochlorothiazide
- Perphenazine
- Amiodarone
- และ Coal tar topical
- ห้ามใช้ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนท ร่วมกับ วัคซีนบีซีจี (BCG) ด้วยจะทำให้ กระเพาะปัสสาวะเกิดการอักเสบ/กระเพาะปัสสาวะอักเสบมากยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษาเฮกซามิโนเลวูลิเนทอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเฮกซามิโนเลวูลิเนท เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
*หมายเหตุ: กรณีเตรียมยานี้เป็นสารละลาย ต้องเก็บภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส และต้องใช้ยาที่ละลายแล้วนี้ภายใน 2 ชั่วโมง
เฮกซามิโนเลวูลิเนทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเฮกซามิโนเลวูลิเนท มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cysview (ไซส์วิว) | Photocure |
บรรณานุกรม
- https://www.youtube.com/watch?v=0aa-6WQLaPM[2019,April27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cysview[2019,April27]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/hexaminolevulinate.html [2019,April27]