เออร์โกโนวีน (Ergonovine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 ตุลาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาเออร์โกโนวีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาเออร์โกโนวีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเออร์โกโนวีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเออร์โกโนวีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเออร์โกโนวีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเออร์โกโนวีนอย่างไร?
- ยาเออร์โกโนวีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเออร์โกโนวีนอย่างไร?
- ยาเออร์โกโนวีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- การคลอด การคลอดบุตร (Childbirth)
- ตกเลือดหลังคลอด (Postpartum hemorrhage)
- การแท้งบุตร (Miscarriage)
- พอร์ฟิเรีย (Porphyria)
บทนำ: คือยาอะไร?
เออร์โกโนวีน (Ergonovine) คือ ยาใช้ป้องกันและรักษาอาการตกเลือดหลังการคลอดบุตร(ภาวะตกเลือดหลังคลอดบุตร) โดยจะกระตุ้นให้มดลูกของมารดาหดตัว ทำให้ลดการสูญเสียเลือดหลังคลอดบุตร ยานี้มีข้อห้ามใช้กับสตรีที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์
เออร์โกโนวีน เป็นอนุพันธุ์หนึ่งของสารประเภทอัลคาลอยด์ (Alkaloid, สารตั้งต้นของยาหลายชนิด เช่น ยาทางจิตเวช ทางสูตินรีเวช ทางระบบประสาท และยาแก้ปวด) ในบางท่านจะใช้คำว่า ‘เออร์โกเมตรีน (Ergometrine)’ ก็ได้เพราะเป็นสารตัวเดียวกัน
ในด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่าง กาย) ของเออร์โกโนวีนพบว่า หลังรับประทานตัวยาจะออกฤทธิ์ภายใน 5 - 15 นาที ตับจะเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ก่อนถูกขับออกไปกับปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้เออร์โกโนวีนเป็นยาจำเป็นต่อระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่ควรมีใช้ในชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุเออร์โกโนวีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ การบริหารยา/การใช้ยานี้กับผู้ป่วยมักจะอยู่ในสถานพยาบาลและอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว
ยาเออร์โกโนวีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเออร์โกโนวีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ป้องกันและรักษาอาการตกเลือดของมารดาหลังการคลอดบุตร (ภาวะตกเลือดหลังคลอดบุตร) หรือหลังการแท้งบุตร
- เป็นยาที่แพทย์ใช้ช่วยในการทำคลอดบุตร (Active management of the 3rd stage of labour)
ยาเออร์โกโนวีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเออร์โกโนวีน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยทำให้กล้ามเนื้อของมดลูกหดตัวเมื่อใช้ยาเพียงขนาดต่ำๆ หากเพิ่มปริมาณยามากขึ้นจะยิ่งทำให้มดลูกบีบตัวแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆรวมถึงหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงที่มดลูกและที่สมองมีการหดตัวอีกด้วย จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยาเออร์โกโนวีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเออร์โกโนวีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาชนิดเม็ด ประกอบด้วย Ergotamine 0.25 มิลลิกรัม + Ergometrine 0.125 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีดบรรจุ Methyl ergometrine maleate ที่ความแรง 0.2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ยาเออร์โกโนวีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
สำหรับป้องกันและรักษาอาการตกเลือดหลังคลอด ยาเออร์โกโนวีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 1 - 2 เม็ดวันละ 3 ครั้ง รับประทานจนกระทั่งอาการดีขึ้นแต่ห้ามเกิน 1 สัปดาห์
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัด ในความปลอดภัย ผลข้างเคียง ขนาดยา และประสิทธิผล การใช้ยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- ยานี้สามารถรับประทาน ก่อน หรือ พร้อมอาหาร ก็ได้
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้พร้อม ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะผลข้างเคียงจากยานี้อาจสูงขึ้นได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเออร์โกโนวีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเออร์โกโนวีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเออร์โกโนวีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาเออร์โกโนวีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเออร์โกโนวีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- เจ็บหน้าอก
- ชีพจรเต้นผิดปกติ
- หัวใจเต้นช้า
- มีความดันโลหิตสูง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หายใจลำบาก
- บางครั้งมีผื่นขึ้น
- บางคนอาจพบ ภาวะช็อก เกิดขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้ยาเออร์โกโนวีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเออร์โกโนวีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 1 และที่ 2 หรือผู้ป่วยที่มีครรภ์เป็นพิษ หรือ ผู้ป่วยด้วยโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria) (โรคทางพันธุกรรม พบน้อย เป็นโรคเกิดจากมีความผิดปกติของเอนไซม์สร้างเม็ดเลือดแดง ส่งผลให้เกิดอาการทางตับร่วมกับทางสมองและทางผิวหนัง)
- ห้ามปรับหรือเพิ่มขนาดการรับประทานยาเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง/ โรคซีด ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การจะใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายยาเท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเออร์โกโนวีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเออร์โกโนวีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเออร์โกโนวีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาเออร์โกโนวีน ร่วมกับยาบางกลุ่ม ด้วยยาเหล่านั้นจะทำให้ฤทธิ์ของเออร์โกโนวีนเพิ่มสูงขึ้นจนอาจเกิดอาการข้างเคียงสูงขึ้น เช่น หลอดเลือดตีบและเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง จนถึงขั้นภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งเป็นอันตรายมาก ยากลุ่มดังกล่าว เช่น
- ยาต้านเอชไอวี: เช่นยา Amprenevir, Indinavir, Ritonavir
- ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ: เช่นยา Erythromycin, Tetracycline
- ยาต้านเชื้อรา: เช่นยา Fluconazole, Ketoconazole, Itraconazol
- การใช้ยาเออร์โกโนวีน ร่วมกับยารักษาอาการโรคหวัด เช่นยา Phenylephrine อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง, อาจก่อให้เกิดอาการตัวเย็น ซีด อ่อนเพลีย ปวดหัว ตาพร่า หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ไม่ควรใช้ยาทั้งคู่ร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาเออร์โกโนวีนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเออร์โกโนวีน: เช่น
- ยาเออร์โกโนวีนชนิดรับประทาน:
- ควรเก็บภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- หากเป็นยาฉีด:
- ให้เก็บที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส
- ควรเก็บยานี้ทุกประเภทยา:
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
ยาออริสแตทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเออร์โกโนวีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Gynaemine (กายเนมีน) | Sriprasit Pharma |
Expogin (เอ็กซ์โปกิน) | L.B.S. |
Metrine (เมทรีน) | T P Drug |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ergometrine [2021,Sept25]
- https://www.drugs.com/cdi/ergonovine.html [2021,Sept25]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/ergometrine?mtype=generic[2021,Sept25]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/ergometrine?mtype=generic [2021,Sept25]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Gynaemine/ [2021,Sept25]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Expogin/ [2021,Sept25]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Metrine/?type=brief [2021,Sept25]
- MIMS Thailand 110TH Edition 2008 [2021,Sept25]