เอสโตรเจน (Estrogen)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 กรกฎาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร? และเอสโตรเจนคืออะไร?
- เอสโตรเจนมีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?
- เอสโตรเจนออกฤทธิ์อย่างไร?
- เอสโตรเจนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เอสโตรเจนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาเอสโตรเจนควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานเอสโตรเจนควรทำอย่างไร?
- เอสโตรเจนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เอสโตรเจนอย่างไร?
- เอสโตรเจนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเอสโตรเจนอย่างไร?
- เอสโตรเจนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ประจำเดือน (Menstruation)
- วัยหมดประจำเดือน(Menopause)
- โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis and Osteopenia)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง (Birth control patch or contraceptive patch)
- ยาฉีดคุมกำเนิด(Injectable contraceptive)
- ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive implant)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
- ก้อนในเต้านม (Breast mass)
บทนำ: คือยาอะไร? และเอสโตรเจนคืออะไร?
ยาเอสโตรเจน (Estrogen) ทางการแพทย์นำมาใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์/ยาคุมกำเนิดชนิดต่างๆ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด , หรือรักษาสมดุลในผู้ที่อยู่ในภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
เอสโตรเจน: คือ
เอสโตรเจน คือ กลุ่มฮอร์โมนเพศที่พบได้ทั้งในเพศหญิงและในเพศชาย แต่จะมีปริมาณมากกว่ามากในเพศหญิง มีหน้าที่ทำให้ร่างกายพัฒนาเจริญเติบโตพร้อมแสดงลักษณะเด่นของเพศหญิง, ทำให้ร่างกายสะสมไขมัน, ช่วยให้ตับสร้างโปรตีน, เพิ่มการสะสมแคลเซียมในกระดูก, เร่งกระบวนเผาผลาญของร่างกาย
ฮอร์โมนนี้สามารถละลายในสารละลายน้ำเกลือและสารละลายน้ำตาลได้ดี แต่อาจเกิดการตกตะกอนหากนำไปละลายในสารละลายที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น กรดวิตามินซี หรือสารละลายที่มีโปรตีนในปริมาณมากๆ
อนึ่ง ทั่วไป เอสโตรเจนถูกจัดเป็นฮอร์โมนเพศหญิง (ฮอร์โมนจากรังไข่)ซึ่งเป็นกลุ่มฮอร์โมนที่ประกอบด้วย ฮอร์โมนสำคัญ คือ Estradiol, Estriol, และ เอสโทรน(Estrone)
เอสโตรเจนมีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?
ฮอร์โมนเอสโตรเจนได้นำมาสังเคราะห์ใช้เป็นยาได้ โดยยาเอสโตรเจนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- ใช้เป็นยาคุมกำเนิด เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด
- ใช้รักษาสภาวะพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจนในวัยหมดประจำเดือน
- ใช้รักษาสภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
- ใช้รักษาการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อในอวัยวะเพศของสตรี
- ใช้ป้องกันกระดูกพรุนในเพศหญิง
เอสโตรเจนออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเอสโตรเจนเพิ่มการสังเคราะห์ทางพันธุกรรม (DNA, RNA), และกระตุ้นการสร้างเนื้อ เยื่อต่างๆ, ในด้านการคุมกำเนิดจะทำให้ท่อนำไข่หดเกร็งจนทำให้ไข่เดินทางไปสู่มดลูกได้ยาก, เอสโตรเจนสามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหารและเปลี่ยนรูปภายในตับ ร่างกายสามารถ ขับเอสโตรเจนส่วนเกินออกโดยทางปัสสาวะและทางอุจจาระ
เอสโตรเจนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอสโตรเจนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ชนิดเม็ดรับประทาน ขนาด 0.30, 0.625, 0.90, 1.25, 2.50 มิลลิกรัม
- ชนิดฉีดเข้ากล้าม ขนาด 25 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด ขนาด 25 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ชนิดครีมทา ขนาด 0.625 มิลลิกรัม/กรัม
เอสโตรเจนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดต่างๆรวมทั้งยาเอสโตรเจน จะมีวิธีรับประทานที่แตก ต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของแพทย์, ขนาด, และปริมาณฮอร์โมน ที่ประกอบอยู่ในยานั้นๆ
ปกติทั่วไป สามารถรับประทานยาเอสโตรเจนก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ที่สำคัญต้องได้รับคำแนะนำและวิธีรับประทานที่ถูกต้องจากแพทย์หรือจากเภสัชกร
เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการคุมกำเนิด ผู้บริโภคควรอ่านข้อแนะนำ และรายละเอียดปลีกย่อยได้จากเอกสารกำกับยา/ฉลากยา การรับประทานยาเอสโตรเจนผิดวิธีหรือผิดขนาด นอกจากจะไม่ได้รับประสิทธิผลของการคุมกำเนิดหรือของการรักษาแล้ว ยังอาจได้รับผลอันไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงติดตามมา
ก. สำหรับเพศชาย: ใช้รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลามและระยะแพร่กระจาย โดยขนาดรับประทานสูง สุดไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัม/ครั้ง วันละไม่เกิน 3 ครั้ง
ข. สำหรับเพศหญิง:
- ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis): ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 0.625 มิลลิกรัม/วันโดยรับประทาน 3 สัปดาห์หยุด 1 สัปดาห์
- รักษาการขาดประจำเดือน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1.25 มิลลิกรัม/ครั้ง ไม่เกินวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 21 วัน หากรับประทานแล้วเกิดภาวะเลือดไหลชึม (Bleeding Persis) แพทย์อาจให้เพิ่มขนาดการรับประทานเป็น 2.5 มิลลิกรัม/ครั้ง วันละ 4 ครั้ง
- รักษาอาการร้อนวูบวาบในวัยที่ใกล้หมดและในวัยหมดประจำเดือน (Vasomotor Symtoms) ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1.25 มิลลิกรัม/วัน
*****หมายเหตุ:
- ขนาดการใช้เอสโตรเจนในการรักษาต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่า นั้น และเอสโตรเจนเป็นยาอันตราย มีผลข้างเคียงได้หลายอย่าง ดังจะกล่าวในหัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์ และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ ดังนั้นห้ามซื้อยาใช้เอง
- ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาเอสโตรเจนควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งเอสโตรเจน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น/หายใจติดขัด/ หอบเหนื่อย
- การมีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหืด โรคไมเกรน โรคลมชัก และอื่นๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอสโตรเจนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- สุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดมักผ่าน รก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และส่งผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานเอสโตรเจนควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเอสโตรเจน สามารถรับประทานทันทีที่นึกได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า ในกรณีที่ใช้รับประทานเป็นยาคุมกำเนิดให้ดูรายละเอียดจากบทความของสูตินรีแพทย์ พญ.กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา เรื่อง ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill) ในเว็ปไซด์ หาหมอ.com ของเรา
เอสโตรเจนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา หรือ ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง จากยาเอสโตรเจน เช่น
- มีอาการทางระบบสืบพันธุ์สตรี เช่น ประจำเดือนมากระปริดกระปรอย ประจำเดือนขาดหรือไม่มีประจำเดือน
- อาเจียน
- ท้องเสีย
- วิตกกังวล
- มีก้อนในเต้านม
- เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
- ซึมเศร้า
- เวียนศีรษะ
- ความดันโลหิตสูง
- ร่างกายอาจติดเชื้อรากลุ่มแคนดิดา/ แคนดิไดอะซิส (Candidiasis) ได้ง่าย
- ไขมันในเลือดสูง เช่น ไตรกลีเซไรด์ (Triglyceride), แอลดีแอล (LDL)
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial Infarction)
มีข้อควรระวังการใช้เอสโตรเจนอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาเอสโตรเจน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยด้วย โรคหืด โรคลมชัก โรคไมเกรน
- ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยด้วย โรคหัวใจ และผู้ป่วยที่มีภาวะไตทำงานผิดปกติ
- ห้ามใช้กับสตรีที่มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดสังเคราะห์
- ห้ามใช้กับผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยเนื้องอกที่ตอบสนองกับฮอร์โมนเอสโตรเจนเช่น เนื้องอกมดลูก
- ห้ามใช้กับหญิงมีครรภ์
- ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เอสโตรเจนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เอสโตรเจนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นๆ เช่น
- การกินยาเอสโตรเจน ร่วมกับ ยาวัณโรคบางชนิดจะไปลดปริมาณความเข้มข้นของเอสโตรเจนในกระแสเลือด อาจทำให้ฤทธิ์ในการคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลงยาวัณโรคดังกล่าวเช่น ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
- การกินยาเอสโตรเจนร่วมกับยาสเตรอยด์อาจทำให้พิษของยาสเตรอยด์มีมากขึ้น ยาสเตรอยด์ดังกล่าว เช่น ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone)
- การกินยาเอสโตรเจน ร่วมกับ วิตามินบางชนิดจะไปลดการทำงานของยาเอสโตรเจนในกระแสเลือดและทำให้ฤทธิ์ในการคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลง วิตามินดังกล่าว เช่น วิตามินซี
ควรเก็บรักษายาเอสโตรเจนอย่างไร?
ควรเก็บยาเอสโตรเจน:
- เก็บยาให้พ้นแสงแดด
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เลี่ยงการเก็บยาในที่ชื้น
- ไม่ควรเก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เอสโตรเจนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอสโตรเจน มีชื่อทางการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
- Ediol (อีไดออล) จากบริษัท Synmosa
- Estrofem (เอสโตเฟม) จากบริษัท Standard Chem & Pharm
- Divigel (ดิวิเจล) จากบริษัท Orion
- Femoston (เฟมอสตอน) จากบริษัท Solvay Pharma
- Havina (ฮาวินา) จากบริษัท Synmosa
- Indivina (อินดิวินา) จากบริษัท Orion
- Premarin (พรีมาริน) จากบริษัท Wyeth
- Progynon Depot (โปรไกนอน ดีพอท) จากบริษัท Bayer Schering Pharma AG
- Progynova (โปรไกโนวา) จากบริษัท Bayer Schering Pharma
- Vagifem (วากิเฟม) จากบริษัท Novo Nordisk
บรรณานุกรม
- บุษบา จินดาวิจักษณ์. (2533). การใช้ยาในสตรีเพศ
- Charles F.Lacy,RPh, Pharm D ,FCSHP Lora L. Armstrong ,RPh .Pharm D,BCPS Moton P. Goldman, Pharm D, BCPS Leonard L. Lance,RPh, BSPharm. Drug Information Hand Book 8th Edition 2000-2001 (p 446-447).
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/estrogens?mtype=generic [2021,June26]