เอตโทโทอิน (Ethotoin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เอตโทโทอินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เอตโทโทอินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เอตโทโทอินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เอตโทโทอินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เอตโทโทอินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เอตโทโทอินอย่างไร?
- เอตโทโทอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเอตโทโทอินอย่างไร?
- เอตโทโทอินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- ลมชัก (Epilepsy)
- ไฮแดนโทอิน (Hydantoin)
- ชักเกร็งกระตุก (Generalised tonic-clonic seizures)
- อาการชักเฉพาะที่แบบขาดสติ (Complex partial seizure)
บทนำ: คือยาอะไร?
เอตโทโทอิน (Ethotoin) คือ ยากลุ่ม Hydantoin ที่ใช้รักษาอาการโรคลมชัก โดยสามารถใช้เป็นยาเดี่ยวๆหรือจะใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาก็ได้ การออกฤทธิ์ของยานี้จะเกิดที่บริเวณสมองส่วนที่เรียกว่า Motor cortex (สมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย) โดยมีการยับยั้งคำสั่งของกระแสประสาทที่เป็นต้นเหตุให้เกิดอาการชัก
ข้อดีบางประการของยาเอตโทโทอิน คือ ยานี้จะไม่ออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง
ยาเอตโทโทอิน ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคตับและโรคเลือด (เช่น โรคซีด /Anemia, โรคฮีโมฟิเลีย/Hemophillia, เป็นต้น) รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยามีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้พอประมาณ เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีไปเป็นสาร N-deethyl และสาร P-hydroxyl ethotoin ก่อนกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะและร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 9 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้จำนวน 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ
อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) โดยทั่วไปของยาเอตโทโทอินคือ อาจทำให้ผู้ที่รับประทานยานี้มีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนไปเช่น เกิดภาวะซึมเศร้า หรือ วิตกกังวล และมีอาการวิงเวียน
ข้อมูลบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนการใช้ยาเอตโทโทอินซึ่งแพทย์จะเป็นผู้สื่อสารและชี้แจงได้เป็นอย่างดี เช่น
- ยาเอตโทโทอิน อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียน หากพบอาการเหล่านี้ให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- หากมีอาการแพ้ยานี้เกิดขึ้นหรืออาการผิดปกติอื่นๆ เช่น เจ็บคอคล้ายกับมีอาการติดเชื้อ หรือมีภาวะเลือดออกง่าย ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ญาติต้องคอยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วยว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์มากน้อยเพียงใด หากพบพฤติกรรมที่อยากทำร้ายตัวเองหรืออยากฆ่าตัวตาย ต้องพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ผู้ป่วยต้องไม่หยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเองทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวการณ์ถอนยา(ลงแดง)
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องคอยตรวจการทำงานของระบบเลือดเป็นระยะๆตามคำแนะนำของแพทย์ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันความผิดปกติต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อระบบเลือด
- หากเป็นสตรีที่ตั้งครรภ์หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ ด้วยตัวยานี้อาจส่งผ่านไปถึงทารกได้
- กรณีผู้ป่วยเป็นเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ต้องมีอายุถึงเกณฑ์ 1 ปีขึ้นไปจึงจะใช้ยาเอตโทโทอินได้
*อนึ่งเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค การจะใช้ยาชนิดใดๆรวมถึงยาเอตโทโทอินจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ผู้ป่วยไม่สมควรไปซื้อหายามารับประทานเอง
เอตโทโทอินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเอตโทโทอินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการลมชักชนิด Tonic-clonic seizure (ชักเกร็งกระตุก) และชนิด Complex partial seizures (อาการชักเฉพาะที่แบบขาดสติ)
เอตโทโทอินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเอตโทโทอินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่สมองส่วน Motor cortex โดยยับยั้งกระแสประสาทที่ก่อให้เกิดอาการลมชักแต่ไม่ได้เพิ่ม Seizure threshold (การทนได้ต่อตัวกระตุ้นให้เกิดอาการชัก) ของร่างกายแต่อย่างใด จากฤทธิ์ดังกล่าวจึงช่วยป้องกันอาการชัก และทำให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติ
เอตโทโทอินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอตโทโทอินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด
เอตโทโทอินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเอตโทโทอินมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1 กรัม/วันหลังอาหารโดยแบ่งเป็น 4 - 6 ครั้ง หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 2 - 3 กรัม/วันโดยรับประทานหลังอาหาร
- เด็กที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป: ขนาดรับประทานเบื้องต้นต้องไม่เกิน 750 มิลลิกรัม/วันหลังอาหาร โดยแบ่งรับประทาน 4 - 6 ครั้ง หากจำเป็นแพทย์อาจให้รับประทานได้ 500 มิลลิกรัม - 1 กรัม/วัน โดยคำนวณขนาดยาตามความเหมาะสมจากใช้น้ำหนักตัวเด็กเป็นเกณฑ์
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มอายุนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มอายุนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเอตโทโทอิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเอตโทโทอินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเอตโทโทอิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเอตโทโทอินให้ตรงเวลา
เอตโทโทอินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอตโทโทอินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เจ็บหน้าอก
- ไอ
- ท้องเสีย
- มีไข้
- หนาวสั่น
- ปวดหัว
- ระคายเคืองที่ตา
- พบผื่นคันตามผิวหนัง
- ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ
- เจ็บคอ/ คออักเสบ
- เป็นแผลในปาก
*อนึ่ง: สำหรับอาการผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: อาการข้างเคียงที่อาจพบ เช่น ตาพร่า เห็นภาพซ้อน คลื่นไส้ ตาบอดกลางคืน หมดสติ หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้เอตโทโทอินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอตโทโทอิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ หรือผู้ที่มีความผิดปกติของระบบเลือด
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- เฝ้าระวังพฤติกรรมของผู้ป่วยระหว่างการใช้ยานี้ด้วยยานี้มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้ ป่วยโดยเฉพาะทำให้เกิดความรู้สึกอยากทำร้ายตนเองขึ้นได้
- ระวังระบบการทำงานของเลือด/ระบบโรคเลือดผิดปกติ ดังนั้นผู้ป่วยต้องมาตรวจ/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ระหว่างที่ใช้ยานี้หากพบว่ามีจุดเล็กๆคล้ายเลือดออกใต้ผิวหนังรวมถึงมีไข้ เจ็บคอคล้ายมีอาการติดเชื้อ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอตโทโทอินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เอตโทโทอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเอตโทโทอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเอตโทโทอิน ร่วมกับยา Acetaminophen/ Paracetamol อาจก่อความเสี่ยงทำให้ตับทำงานหนักและเกิดความผิดปกติได้ง่ายขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาเอตโทโทอิน ร่วมกับยา Propoxyphene สามารถทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน ขาดสมาธิ หรือมีอาการทางระบบประสาทได้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันอาการดัง กล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอตโทโทอิน ร่วมกับยา Warfarin ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายได้มากยิ่งขึ้น
- ห้ามรับประทานายาเอตโทโทอิน ร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้ประ สิทธิภาพของยานี้ด้อยลงไป
ควรเก็บรักษาเอตโทโทอินอย่างไร?
ควรเก็บยาเอตโทโทอิน: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เอตโทโทอินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอตโทโทอิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Peganone (เพกาโนน) | Ovation Pharmaceuticals Inc |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/imprints/logo-ad-2869.html [2022,July16]
- https://www.drugs.com/sfx/ethotoin-side-effects.html [2022,July16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hydantoin [2022,July16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ethotoin [2022,July16]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/010841s021lbl.pdf [2022,July16]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/ethotoin-index.html?filter=3&generic_only= [2022,July16]