อาการชักเฉพาะที่แบบขาดสติ (Complex partial seizure)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

“คุณหมอครับ ช่วยผมหน่อย ลูกสาวผมเป็นอะไรก็ไม่รู้ ชอบเหม่อ เดินไปเดินมา เรียกก็ไม่รู้ตัว ไม่ตอบ พอสักพักก็หายเป็นปกติ พอผมถามว่าเป็นอะไร ก็บอกว่าไม่ได้เป็นอะไร เป็นบ่อยๆช่วงนี้ครับ พาไปหาหมอมาหลายที่ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์คอมพิว เตอร์สมองก็ปกติ” อาการที่เล่ามานี้เป็นลักษณะที่เฉพาะของโรคลมชักชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ชักเฉพาะที่แบบขาดสติ (Complex partial seizure)” ลองติดตามดูครับว่าอาการชักแบบนี้มีลักษณะเด่นอย่างไร เกิดจากอะไร รักษาหายหรือไม่ มีอันตรายมากหรือเปล่า ต้องติดตามครับ

ชักเฉพาะที่แบบขาดสติมีลักษณะอาการอย่างไร?

ชักเฉพาะที่แบบขาดสติ

การชัก/ลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติมีลักษณะสำคัญที่ไว้สังเกตสำหรับคนใกล้เคียงคือ

  • อาการผู้ป่วยจะเริ่มจากมี อาการนำ (Aura) คือความรู้สึกผิดปกติคล้ายๆจะแน่นหน้าอกหรือปั่นป่วนในท้อง ที่อาการเป็นไม่นาน ผู้ป่วยก็จะเริ่มเหม่อ นิ่ง เรียกไม่ตอบ (Motor arrest) หรือบางคนก็จะกระพริบตาถี่ๆ ถูมือไปมา (Hand automatism) อาจเดินไปมาได้โดยที่ไม่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน ไม่สามารถควบคุมอาการได้ ไม่มีสติ แต่ไม่เสียการทรงตัว ไม่มีอาการล้ม อาจได้ยินเสียงคนเรียก แต่ไม่ตอบสนองได้ อาการจะเป็นนานประมาณ 30 - 45 วินาทีแล้วหยุดได้เอง
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่แตกต่างออกไปจากลักษณะที่เคยเป็นปกติ เช่น พฤติกรรมผิดปกติ ทำกิจกรรมต่างๆได้โดยไม่รู้ตัว เป็นๆหายๆ

อาการผิดปกติสาเหตุอื่นอะไรบ้างที่คล้ายชักเฉพาะที่แบบขาดสติ?

อาการจากสาเหตุอื่นที่คล้ายการชัก/ลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติคือ

  • การละเมอเดิน(Sleepwalking) คือ เกิดอาการขณะนอนหลับแล้วลุกขึ้นมาเดินไปมาโดยที่ไม่รู้ตัว
  • พฤติกรรมผิดปกติในผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตที่มีพฤติกรรมแปลกๆ เดินไปมา ทำอะไรที่แปลกๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมตนเองได้

ทั้งนี้ การแยกอาการที่คล้ายคลึงกันคือ

  • ระยะเวลาที่มีอาการ: กรณีที่เป็นการชักจะมีอาการเพียงสั้นๆไม่เกิน 45 วินาที เกิดได้ทุกเวลา มักเกิดช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน
  • แต่ถ้าเป็นการละเมอเดิน: จะเกิดอาการนานกว่ามาก แตกต่างกันในแต่ละบุคคล เกิดเฉพาะตอนนอนกลางคืนเท่านั้น
  • ส่วนอาการทางจิตนั้นก็จะเป็นตลอดเวลา ไม่ได้เป็นๆหายๆ และผู้ป่วยจะมีปัญหาทางจิตอยู่ก่อนแล้ว

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

ถ้ามีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ หรือสงสัยอาการชักเฉพาะที่แบบขาดสติ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลให้เร็ว เพื่อแพทย์ให้การวินิจฉัย เพราะการปล่อยให้มีอาการชักแบบนี้ไว้นานๆอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และถ้าถ่ายคลิปขณะมีอาการไว้ด้วยจะดีมาก และนำมาให้แพทย์ดูเมื่อมาพบแพทย์ จะช่วยการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น

แพทย์ให้การวินิจฉัยได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติได้โดย

  • การพิจารณาข้อมูลอาการที่ญาติเล่าให้ฟัง และถ้ามีคลิปให้ดูด้วยก็จะทำให้การวินิจฉัยทำได้ดียิ่งขึ้น
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
  • และยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง

จำเป็นต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือไม่?

ในการวินิจฉัยลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติ การตรวจสมองทางรังสีวินิจฉัย (เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ /ซีทีสแกน และ/หรือเอมอาร์ไอ) มีความจำเป็นในผู้ป่วยทุกราย เพื่อหาสาเหตุว่าอาการเกิดจากสาเหตุอะไร เช่น การฝ่อลีบของสมองส่วนกลีบขมับ เป็นต้น

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติ?

ลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติ พบได้เรื่อยๆไม่ถึงกับพบบ่อย พบได้ในทุกวัย ทั้งหญิงและชาย โดยผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติคือ

  • ผู้ที่มีประวัติการชักเมื่อมีไข้สูงตอนวัยเด็ก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไข้ชัก)
  • มีประวิติการติดเชื้อในสมองเช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

อะไรเป็นสาเหตุของลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติ?

สาเหตุพบบ่อยของลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติ คือ

  • เนื้อเยื่อสมองส่วนกลีบขมับ (Temporal lobe) ฝ่อ
  • การติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ)
  • สมองขาดเลือดจากหลอดเลือดขนาดเล็กๆบริเวณสมองส่วนกลีบขมับ

รักษาลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติอย่างไร?

การรักษาลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติประกอบด้วย

  • การรักษาสาเหตุ เช่น ถ้ามีเนื้องอก/มะเร็งสมองต้องผ่าตัดเอาเนื้องอก /มะเร็งออก
  • การใช้ยากันชัก/ยาต้านชักเป็นการรักษาหลัก ซึ่งต้องรักษานานประมาณ 3 ปี
  • และการผ่าตัดสมอง (อ่านเพิ่มเติมในข้อถัดไป)

การผ่าตัดสมองมีข้อบ่งชี้อย่างไร?

ผู้ป่วยลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติที่มีข้อบ่งชี้ที่จะผ่าตัดสมองรักษาได้แก่

  • ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากันชักฯ 3 ชนิดและใช้ยาฯควบคุมอาการด้วยขนาดยาที่เหมาะสมเป็นระยะเวลานานพอสมควร ตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • และผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่สมอง เช่น เนื้องอก/มะเร็งสมอง

ลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติมีอันตรายหรือไม่?

ลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติเป็นโรคอันตราย เพราะผู้ป่วยขาดสติขณะเกิดอาการ จึงก่อให้ เกิดอุบัติเหตุได้ถ้าเกิดอาการขณะมีกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมที่อาจก่ออุบัติเหตุรุนแรงเช่น การขับรถ นอกจากนี้การชักบ่อยๆก็ส่งผลต่อเซลล์สมองถูกทำลายด้วย

ลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติ คือ

  • ผู้ป่วยประมาณ 60% ตอบสนองดีต่อการรักษา สามารถหยุดยากันชักได้หลังควบคุมอาการด้วยการใช้ยานาน 3 ปี
  • ผู้ป่วยที่เหลืออาจต้องรักษาด้วยยากันชักหลายชนิด
  • และผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาฯ อาจต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัดสมอง

กิจกรรมใดต้องห้ามสำหรับลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติ?

ผู้ที่เป็นโรคลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติ ไม่ควรทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติ เหตุที่รุนแรงเช่น การขับรถ ขี่จักรยาน ทำกับข้าวด้วยเตาแก๊สหรือเตาไฟ เล่นกีฬาผาดโผน ทำ งานกับเครื่องจักรกล ทำงานบนที่สูง หรือใกล้แหล่งน้ำ

ส่วนกิจกรรมอื่นๆที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่ำ สามารถทำได้เช่น การทำงานประ กอบอาชีพด้านเอกสาร ค้าขาย เกษตรกรรม งานบ้านอื่นๆ

ผู้ป่วยสามารถแต่งงาน มีบุตรได้หรือไม่?

ผู้ป่วยลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติ สามารถแต่งงานได้ มีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ต้องวางแผนครอบครัว (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การวางแผนครอบครัว)

*แต่ถ้าทานยากันชักขนาดสูง หรือ หลายชนิดร่วมกัน ยังไม่ควรมีบุตร เพราะยากันชักฯที่ทานมีโอกาสก่อให้เกิดความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ได้ แต่จะสามารถมีบุตรได้เมื่อหยุดยากันชักฯหรือลดยาฯลงมาเหลือขนาดต่ำๆ

*****ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคนี้ทุกคนรวมถึงคู่ครองควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนการตั้งครรภ์เสมอ

ดูแลตนเองอย่างไร?

ผู้ป่วยลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติควรดูแลตนเอง ดังนี้เช่น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำอย่างเคร่งครัด
  • กินยากันชัก/ยาต้านชักที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่ปรับขนาดยาเอง ไม่หยุดยาเอง
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีผลต่อการทำงานของสมอง
  • ไม่ทำงานหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงดังกล่าวแล้วในหัวข้อก่อนหน้า นี้
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • มีอาการชักบ่อยขึ้นกว่าเดิม
  • อาการชักที่รุนแรงขึ้น เช่น จากการชักเฉพาะที่แบบขาดสติ เป็นแบบการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว
  • มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการชัก
  • สงสัยการแพ้ยากันชักฯ เช่น กินยาฯแล้วขึ้นผื่น ท้องเสีย ปวดหัว วิงเวียนมาก
  • กังวลในอาการ

ป้องกันลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติได้อย่างไร?

ปัจจัยเสี่ยงเกิดลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติ (ดังกล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’) ที่สามารถป้องกันได้คือ

  • ป้องกันการติดเชื้อที่สมอง (สมองอักเสบ) ด้วยการรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆที่อาจลุกลามกลายเป็นการติดเชื้อที่สมองได้เช่น เชื้อแบคทีเรีย (เช่น ฝีสมอง วัณโรคสมอง) เชื้อไวรัส (เช่น ไวรัสสมองอักเสบ) โรคเชื้อรา โรคติดเชื้อปรสิต

นอกจากนั้นคือ การป้องกันการเกิดภาวะไข้ชัก แนะนำอ่านรายละเอียดได้ในบทความในเว็บ haamor.com 3 บทความได้แก่เรื่อง ไข้ชัก, วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้, และการเช็ดตัวลดไข้

สรุป

การชัก/ลมชักเฉพาะที่แบบขาดสตินั้นเป็นการชักรูปแบบหนึ่งที่พบบ่อย แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก ผมหวังว่าตอนนี้ท่านคงเข้าใจการชักเฉพาะที่แบบขาดสติดีขึ้น ผมฝากให้สังเกตคนใกล้ ชิดว่ามีอาการผิดปกติแบบนี้หรือไม่ ถ้าสงสัยแนะนำให้พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลด้วยครับ