อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์: เอซีเฮชอีไอ (Acetylcholinesterase inhibitor: AChEI)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
- อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
- อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?บรรณานุกรม
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis หรือ MG)
- เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
- ต้อหิน (Glaucoma)
- โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคของกระเพาะอาหาร (Stomach disease)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ (Acetylcholinesterase inhibitor) หรือ เรียกแบบย่อๆว่า เอซีเฮชอีไอ (AChEI) หรือ Anticholinesterase drug หรือ Cholinesterase inhibitor หรือ Anti-cholinesterase คือ สารเคมี/ยาที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในสมองของมนุษย์ที่มีชื่อว่า ‘อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส เอนไซม์ (Acetylcholinesterase enzyme)’ ซึ่งมีหน้าที่ทำให้สารสื่อประสาทในสมองทำงานและออกฤทธิ์ได้
ยาเอซีเฮชอีไอยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งแบบผันกลับได้ (Reversible inhibitor): ประกอบด้วยกลุ่มยาที่เป็นสารเคมีที่แบ่งย่อยอีก ดังนี้
- กลุ่ม Carbamates เช่น ยา Physostigmine, Neostigmine, Pyridostigmine, Ambenonium, Demecarium, Rivastigmine
- กลุ่มอนุพันธ์ของ Phenanthrene เช่นยา Galantamine
- สารเคมีอื่นๆ เช่น คาเฟอีน/Caffeine, Donepezil, Tacrine, Edrophonium, Huperzine A, Ladostigil, Ungeremine, Lactucopicrin
2. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งแบบไม่สามารถผันกลับได้ (Irreversible inhibitor): เป็นสารที่ทางกองทัพนำไปผลิตเป็นอาวุธเคมีหรือนำไปผลิตยาฆ่าแมลงเช่น Organophosphates
อนึ่ง ในบทความนี้จะบอกกล่าวถึง ยาเอซีเฮชอีไอ ประเภท Reversible inhibitor เท่านั้น ด้วยมีประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำมารักษาโรคต่างๆ เช่น อาการป่วยของกล้ามเนื้อ, การเต้นของหัว ใจ, อาการทางสมอง, เป็นต้น
มีสารเคมีบางรายการของ เอซีเฮชอีไอ ได้ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น Neostigmine และ Pyridostigmine
การนำสาร/ยา เอซีเฮชอีไอ มารักษาโรคนั้นต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยแพทย์จะพิจารณาถึงความเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด
อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- บำบัดรักษาอาการโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis) เช่นยา Neostigmine, Ambenonium, Pyridostigmine, Edrophonium
- บำบัดรักษาโรคต้อหิน เช่นยา Physostigmine
- รักษาอาการปัสสาวะขัด เช่นยา Neostigmine
- รักษาโรคความดันโลหิตต่ำ เช่นยา Pyridostigmine
- รักษากลุ่มอาการหัวใจเต้นเร็ว เช่นยา Pyridostigmine
- รักษาอาการโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) เช่นยา Rivastigmine, Galantamine, Donepezil, Tacrine, Huperzine A
- รักษาอาการโรคพาร์กินสัน เช่นยา Ladostigil
อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์/เอซีเฮชอีไอ จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Acetylcholineterase ซึ่งจะเป็นตัวสลายสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Acetylcholine (สารสื่อประสาทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ) โดยเฉพาะสารเคมีเอซีเฮชอีไอประเภทยับยั้งแบบผันกลับได้ จะถูกนำมาใช้รักษาอาการโรคตามที่ระบุไว้ในสรรพคุณ
อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาชนิดรับประทานเช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ
- ยาฉีด และ
- ยาแผ่นพลาสเตอร์ปิดผิวหนัง
อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ด้วยยาในกลุ่มยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีหลากหลายรายการ ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาของตัวยาแต่ละรายการจึงขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลทางการ แพทย์ของตัวผู้ป่วยมาประกอบการเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและเกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยมากที่สุด
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีกลุ่มยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ที่เป็นยาชนิดรับประทานเช่น Pyridostigmine, Rivastigmine, Galantamine, Donepezil, Tacrine, Huperzine A, Ladostigil หากลืมรับประทานยาเหล่านี้สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์/เอซีเฮชอีไอ สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- หัวใจเต้นช้า
- ความดันโลหิตต่ำ
- ร่างกายหลั่งสารคัดหลั่งต่างๆมากขึ้น เช่น น้ำลาย น้ำมูก
- หลอดลมหดเกร็งตัว ทำให้หายใจลำบาก
- กระเพาะอาหาร - ลำไส้มีการเคลื่อนไหว/บีบตัวเพิ่มมากขึ้น
- กล้ามเนื้อมีการหดตัวค้างเป็นเวลานาน
- ท้องเสีย
- วิงเวียน
- ปวดหัว
- ความดันลูกตาต่ำ
- นอนไม่หลับ
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ปวดท้อง
- เบื่ออาหาร
- ตัวเหลือง
- น้ำหนักตัวลด
- อ่อนเพลีย
มีข้อควรระวังการใช้อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ใน สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคกระเพาะอาหารหรือโรคของกระเพาะอาหาร และ/หรือโรคลำไส้อุดตัน หรือผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดอวัยวะในช่องทางเดินอาหาร
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็กและผู้สูงอายุ หากจำเป็นต้องใช้ยากับผู้ป่วยดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้น ฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์/เอซีเฮชอีไอ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากลุ่มเอซีเฮชอีไอ ร่วมกับ ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามาก จึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยากลุ่มเอซีเฮชอีไอ ร่วมกับ ยาโรคหัวใจ เช่นยา Digoxin และยาในกลุ่ม Beta bolckers จะเกิดความเสี่ยงให้มีภาวะหัวใจเต้นช้า หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยากลุ่มเอซีเฮชอีไอ ร่วมกับยา Anticholinergic drug อาจส่งผลให้การออกฤทธิ์ของยากลุ่มเอซีเฮชอีไอด้อยประสิทธิภาพลงจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
สามารถเก็บยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา /ฉลากยา
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Neostigmine GPO (นีโอสติกมีน จีพีโอ) | GPO |
Neostigmine Chi Sheng (นีโอสติกมีน ไชเชง) | Chi Sheng |
Prostigmin (โพรสติกมิน) | A.Menarini |
Mestinon (เมสทินอน) | A.Menarini |
Pyrimine 60 (ไพริมีน 60) | Sriprasit Pharma |
Exelon Patch (เอ็กเซลอน แพช) | Novartis |
Exelon (เอ็กเซลอน) | Novartis |
Rivasta (ไรเวสตา) | Siam Bheasach |
Reminyl (เรมินิล) | Janssen-Cilag |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Acetylcholinesterase_inhibitor#Reversible_inhibitor [2021,Feb6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Acetylcholinesterase [2021,Feb6]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=neostigmine%20[ [2021,Feb6]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/donepezil%20stada?type=full [2021,Feb6]