เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 ตุลาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
- ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเอซีอี อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
- ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ (Intracranial hemorrhage)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
- เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)
- แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ
ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ หรือ ยาต้านเอนไซม์ เอซีอี (ACE inhibitor: Angiotensin-converting -enzyme inhibitor) โดย ACE คือ เอนไซม์ที่สร้างจากไตและปอด มีหน้าที่ในกระบวนการที่ทำให้หลอดเลือดหด/ตีบตัว) เป็นกลุ่มยาที่นำมารักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจล้มเหลว โดยฤทธิ์ของการขยายหลอดเลือดทำให้ความดันโลหิตลดลง สำหรับการรักษาโรคหัวใจ มักจะใช้ยาอีกกลุ่มที่เรียกว่า เบตา-บล็อกเกอร์ (Beta blocker) หรือแคลเซียม ชาแนล บล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker) มาร่วมในการรักษา
เอซีอี อินฮิบิเตอร์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามโครงสร้างทางเคมีของโมเลกุลยา คือ
1. Sulfhydryl - containing agents ประกอบด้วยตัวยา Captopril และ Zofenopril
2. Dicarboxylate - containing agents ประกอบด้วยตัวยา Enalapril, Ramipril, Quinapril, Perindopril, Lisinopril, Benazepril, Imidapril, Trandolapril, Cilazapril
3. Phosphonate - containg agents มียาเพียงตัวเดียว คือ Fosinopril
จากการศึกษาเรื่องเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์พบว่า ตัวยาถูกดูดซึมได้ระดับปานกลางจากระบบทางเดินอาหาร และสามารถจับกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือด ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ย 1.7 - 11 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ และบางส่วนผ่านไปกับอุจจาระ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุ Captopril และ Enalapril อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในหมวดยาอันตราย
การใช้ยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์มักต้องใช้ต่อเนื่อง อาจมีการปรับเปลี่ยนขนาดการรับประ ทานหรือเปลี่ยนตัวยาเพื่อความเหมาะสมกับอาการผู้ป่วย ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่สามารถปรับขนาดรับประทาน ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานยาเอง
ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาความดันโลหิตสูง สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวหรือจะใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของคนไข้
- รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว/หัวใจวาย
- รักษาโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน
ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการ เปลี่ยนสาร Angiotensin I ไปเป็น Angiotensin II (Angiotensin เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับที่ ทำให้หลอดเลือดหด/ตีบตัว) มีผลทำให้หลอดเลือดแดงลดความต้านทานโดยมีการขยายตัวและ เพิ่มการไหลเวียนเลือดได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณเลือดที่ถูกบีบออกจากหัวใจทำให้ ความดันโลหิตในหลอดเลือดลดตามไปเช่นกัน สำหรับที่อวัยวะไต ตัวยานี้ยังเพิ่มการขับออกของเกลือโซเดียมไปกับปัสสาวะอีกด้วย จากกลไกที่กล่าวมาทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดขนาด 2.5, 5, 10, 20, 25 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
เนื่องจากยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีหลายรายการ ความเหมาะสมของตัวยากับกลุ่มโรค มีความแตกต่างกันออกไป ยังมีข้อห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์และกับผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดง ของไตตีบแข็ง จึงต้องมีการปรับขนาดการรับทานเป็นกรณีๆไป การใช้ยาจึงขึ้นกับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาที่จะสามารถบริหารยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาในกลุ่มยา เออีซี อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก / หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาในกลุ่มยาเออีซีอินฮิบิเตอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาในกลุ่มยา เอซีอี อินฮิบิเตอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- อาการไอ ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่เด่นในยากลุ่มนี้
- ความดันโลหิตต่ำ
- วิงเวียน
- ปวดศีรษะ /ปวดหัว
- มีระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงผิดปกติ (อาการเช่น คลื่นไส้ หัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง)
- ง่วงนอน
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- การรับรสชาติผิดปกติ
- มีอาการผื่นคัน
- อาจพบ เม็ดเลือดขาวต่ำ
- มีอาการบวมตามเนื้อตัว เห็นได้ชัดที่เท้า/ข้อเท้า
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต ชนิด Renal artery stenosis
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยไตทำงานผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีการสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจไม่ดี
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะขาดน้ำ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาที่มีเกลือโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบ เช่น ยา Potassium iodide
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ร่วมกับยาหรืออาหารเสริมที่มีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบหลัก อาจส่งผลให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การรับประทานยากลุ่มเอซีอีอินฮิบิเตอร์ร่วมกับยารักษาผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เช่นยา Lithium อาจส่งผลให้ระดับของ Lithium ในร่างกายสูงขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาLithiumสูงขึ้นติดตามมา ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การรับประทานยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ร่วมกับยาแก้ปวด เช่นยา Aspirin หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)อื่นๆ เช่น Ibuprofen, Indomethacin, และ Naproxen สามารถลดประสิทธิภาพการรักษาของยากลุ่มเอซีอีอินฮิบิเตอร์ หากไม่มีความจำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาเอซีอี อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
ควรเก็บยาในกลุ่มยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
กลุ่มยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Capril (คาพริล) | Boryung Pharma |
Epsitron (แอพซิทรอน) | Remedica |
Gemzil (เจมซิล) | Pharmasant Lab |
Tensiomin (เทนซิโอมิน) | Egis |
Anapril (อะนาพริล) | Berlin Pharm |
Enace (เอเนซ) | Unique |
Enam (เอนาม) | Dr Reddy’s Lab |
Enaril (เอนาริล) | Biolab |
Envas (เอนวาส) | Cadila |
Lecatec (เลกาเทก) | Meiji |
Invoril (อินโวริล) | Ranbaxy |
Korandil (โคแรนดิล) | Remedica |
Lapril (ลาพริล) | Pharmasant Lab |
Myopril (มายโอพริล) | Unique |
Nalopril (นาโลพริล) | Siam Bheasach |
Acetate (เอซีเทต) | Pond’s Chemical |
Corpril (คอร์พริล) | Ranbaxy |
Gempril (เจมพริล) | M. J. Biopharm |
Mediram (มิดิแรม) | Mediorals |
Ramicard (รามิคาร์ด) | J.B. Chemicals |
Tritace (ไตรเทส) | sanofi-aventis |
Accupril (แอคคูพริล) | Pfizer |
Quinsil (ควินซิล) | Silom Medical |
Coversyl Arginine (โคเวอร์ซิล อาร์จินิน) | Servier |
Covrix (โควริกซ์) | Sinensix Pharma |
Lisdene (ลิสดีน) | Sandoz |
Lisir (ลิเซอร์) | Kopran |
Lispril (ลิสพริล) | Siam Bheasach |
Zestril (เซสทริล) | AstraZeneca |
Tanatril (ทานาทริล) | Mitsubishi Tanabe Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/ACE_inhibitor [2020,Oct3]
- https://www.ahajournals.org/doi/full/10.1161/01.cir.97.14.1411 [2020,Oct3]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ace%20inhibitor&page=0 [2020,Oct3]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=enalapril [2020,Oct3]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=captopril [2020,Oct3]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=quinapril [2020,Oct3]
- https://www.medicinenet.com/captopril/article.htm [2020,Oct3]
- https://www.medicinenet.com/ace_inhibitors/article.htm [2020,Oct3]
- https://www.medicinenet.com/enalapril/article.htm [2020,Oct3]